ผู้เชี่ยวชาญในออสเตรเลียเรียกร้องให้มีการเตรียมพร้อมวัคซีนเพื่อรับมือโรคฝีดาษลิง

โรคฝีดาษลิง (Monkeypox ) ถูกประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลกโดยองค์การอนามัยโลก ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์สองคนกล่าวว่าออสเตรเลียจำเป็นต้องดำเนินการเรื่องนี้ในทันที

มีผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงกว่า 16,000 รายใน 75 ประเทศ

มีผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงกว่า 16,000 รายใน 75 ประเทศ Source: SBS News

ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์กล่าวว่า รัฐบาลควรเร่งดำเนินการอย่างรวดเร็วเกี่ยวกับวัคซีนฝีดาษลิงในออสเตรเลีย หลังจากที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้ไวรัสชนิดนี้เป็นภาวะฉุกเฉินระดับโลกเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (24 ก.ค.)

พวกเขากล่าวว่าประเทศต่างๆ ต้องเรียนรู้จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นระหว่างการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ในการจัดเตรียมให้มีวัคซีนพร้อมฉีดให้ผู้คนอย่างรวดเร็ว

ศาสตราจารย์และนักระบาดวิทยา แอนดรูว์ กรูลิช จากสถาบันเคอร์บี (Kirby Institute) กล่าวว่า โรคนี้กำลังแพร่ระบาดอย่างที่ "เราไม่เคยเห็นมาก่อน"

“ในขณะที่เชื้อนี้แพร่กระจายไปในบางส่วนของแอฟริกา จากการแพร่เชื้อจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิดสู่มนุษย์ นี่เป็นการระบาดครั้งใหญ่ครั้งแรกที่มีการระบาดในหลายกรณีจากคนสู่คน” ศาสตราจารย์ กรูลิช กล่าว

"การประกาศครั้งนี้จริงๆ แล้วเป็นการเรียกร้องให้ดำเนินการ เป็นการยอมรับว่าโรคใหม่นี้ได้แพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างมีนัยสำคัญ และประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลกจำเป็นต้องตอบสนองต่อเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน"

ศาสตราจารย์ กรูลิช กล่าวว่า ออสเตรเลียควรดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อหลีกเลี่ยงการระบาดต่างๆ ของเชื้อนี้ที่กำลังเกิดขึ้นในยุโรป

“หากเราดำเนินการอย่างรวดเร็วในออสเตรเลีย เราก็มีโอกาสที่จะหลีกเลี่ยงการระบาดที่เราเห็นในยุโรปและอเมริกาเหนือได้เกือบทั้งหมด”

ศาสตราจารย์ กรูลิช กล่าวว่า วัคซีนโรคฝีฝีดาษลิงยังไม่ได้รับการอนุมัติในออสเตรเลีย และเรียกร้องให้คณะกรรมการควบคุมดูแลผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพของออสเตรเลีย (Therapeutic Goods Administration) เร่งอนุมัติวัคซีนชนิดนี้ให้ "เร็วที่สุด"
นายแพทย์ คริส มอย รองประธานแพทยสมาคมแห่งออสเตรเลีย กล่าวว่า วัคซีนไข้ทรพิษ (หรือฝีดาษ) สามารถใช้ป้องกันโรคฝีดาษในลิงได้ แต่เนื่องจากไข้ทรพิษถูกกำจัดให้หมดไปในช่วงปีทศวรรษ 1980 จึงขาดแคลนวัคซีนดังกล่าวทั่วโลก

"มีวัคซีนป้องกันมันได้ ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วคือวัคซีนไข้ทรพิษ และจริงๆ แล้วมีวัคซีนไข้ทรพิษชนิดต่างๆ มากมาย”

“แต่วัคซีนไข้ทรพิษไม่ได้มีให้ฉีดทั่วไปมาเป็นเวลานานแล้ว และสาเหตุหลักก็เพราะโรคไข้ทรพิษได้หมดไปแล้ว”

"ไข้ทรพิษเคยเป็นฆาตกรร้ายแรงในอดีต แต่เนื่องจากมันหมดไปแล้ว เราจึงไม่จำเป็นต้องเก็บวัคซีนไว้มากมายอีกต่อไป ยกเว้นเพื่อป้องกันสิ่งต่างๆ เช่น สงครามชีวภาพ และสิ่งต่างๆ ทำนองนั้น"

เขากล่าวว่าระยะฟักตัวของเชื้อในตัวผู้ป่วยอาจกินเวลาหลายสัปดาห์

“หลังจากติดเชื้อ คุณมีระยะฟักตัวซึ่งอาจกินเวลานานถึงหลายสัปดาห์” นพ.มอย กล่าว

“แต่หลังช่วงนี้ไปแล้ว ผู้คนจะมีไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง มีต่อมน้ำเหลืองโต และหลังจากนั้นจะมีตุ่มขนาดใหญ่ตามร่างกาย”

"ในกรณีที่พบล่าสุด ตุ่มเหล่านั้นเกิดขึ้นที่ฝ่ามือและฝ่าเท้าด้วย"

นพ.มอย กล่าวว่า การประกาศขององค์การอนามัยโลกควรส่งเสริมให้รัฐบาลต่างๆ เรียนรู้จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นระหว่างการระบาดใหญ่ของโควิด-19 เกี่ยวกับการประสานงานระหว่างประเทศ

“หากคุณได้อ่านคำประกาศขององค์การอนามัยโลก จริงๆ แล้วเป็นการประกาศให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วโลกร่วมมือกันและทำงานร่วมกัน เนื่องจากพวกเขาไม่ได้ทำเช่นนั้นในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19”

นพ.มอย แนะนำให้ทุกคนในออสเตรเลียที่ได้พบปะใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นโรคฝีดาษลิง ให้โทรศัพท์หาแพทย์จีพี หรือแพทย์ประจำตัวของตนเพื่อขอคำแนะนำ

มีผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงกว่า 16,000 รายใน 75 ประเทศ และมีผู้เสียชีวิต 5 รายในแอฟริกาจากการระบาดครั้งปัจจุบัน

กระทรวงสาธารณสุขของออสเตรเลียกล่าวว่าคนส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลสำหรับโรคฝีดาษลิง และมักหายเป็นปกติภายในไม่กี่สัปดาห์

“เรากำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐและมณฑลต่างๆ ของเราเพื่อให้แน่ใจว่าจะมีการตอบสนองต่อสถานการณ์อย่างรวดเร็วและประสานงานในการดำเนินการเป็นอย่างดี” กระทรวงระบุในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม

คณะที่ปรึกษาด้านเทคนิคเกี่ยวกับการสร้างภูมิคุ้มกันโรคแห่งออสเตรเลีย (Australian Technical Advisory Group on Immunization หรือ ATAGI) มีการประชุมกันทุกสัปดาห์ในวันพุธ

เอสบีเอส ได้ขอความคิดเห็นจากกระทรวงสาธารณสุขของสหพันธรัฐและ ATAGI ในเรื่องนี้


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 25 July 2022 2:55pm
Updated 12 August 2022 2:57pm
By Tom Canetti, Ben Terry
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS News

Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand