ออสเตรเลียผลักดันไทยเป็นตลาดใหม่ส่งออกกุ้งล็อบสเตอร์

การส่งออกกุ้งร็อกล็อบสเตอร์ (rock lobster) ของออสเตรเลียนำรายได้เข้าประเทศราว 1.6 พันล้านดอลลาร์ต่อปี จนกระทั่งเกิดวิกฤตโควิด-19 และความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกับจีนชะลอการนำเข้ากุ้งร็อกล็อบสเตอร์ไปยังจีน แต่ตอนนี้ชาวประมงผู้จับกุ้งล็อบสเตอร์กำลังพยายามมองหาช่องทางใหม่ๆ

กุ้งเวสเทิร์น ร็อก ล็อบสเตอร์ (Western Rock Lobsters) ของ GFC

กุ้งเวสเทิร์น ร็อก ล็อบสเตอร์ (Western Rock Lobsters) ของ GFC Source: SBS / Rachel Cary

คุณแมตต์ รัตเทอร์ เดินไปตามอ่างขนาดใหญ่ที่ตั้งเรียงรายเป็นแถว ภายในอ่างเหล่านั้นมีน้ำทะเลหมุนวนและเต็มไปด้วยกุ้งเวสเทิร์น ร็อก ล็อบสเตอร์ (Western Rock Lobsters) ในโรงเก็บสินค้าที่รอการส่งออกแห่งใหม่ ใกล้สนามบินเพิร์ท

“กุ้งล็อบสเตอร์ของออสเตรเลียเหล่านี้ถูกมองว่ามีคุณภาพดีที่สุดในบรรดากุ้งล็อบสเตอร์จากทั่วโลก” คุณรัตเทอร์ ซีอีโอของสหกรณ์ชาวประมงของพื้นที่เจอรัลด์ตัน (Geraldton Fishermen's Co-operative หรือ GFC) กล่าว

“กุ้งล็อบสเตอร์เหล่านี้เป็นที่ต้องการอย่างมากจากทั่วโลก เนื่องจากสี ความแน่นของเนื้อ และรสชาติ และเนื่องจากพวกมันไม่มีก้าม จึงมีส่วนประกอบของเนื้อในปริมาณที่สูงกว่ามากเมื่อเทียบกับกุ้งล็อบสเตอร์ของสหรัฐฯ”

จีเอฟซี (Geraldton Fishermen's Co-operative หรือ GFC) เป็นตัวแทนของครอบครัวชาวประมงมากกว่า 300 ครอบครัว ในแนวชายฝั่ง 1,000 กิโลเมตรในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย เซาท์ออสเตรเลีย และวิกตอเรีย

ระยะเวลาเที่ยวบินที่สั้นเพื่อไปยังเอเชียทำให้มีความต้องการมากขึ้นสำหรับการส่งออกกุ้งล็อบสเตอร์แบบเป็นๆ ของ GFC จนกระทั่งสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ทำให้การส่งออกกุ้งล็อบสเตอร์ประสบภาวะถดถอย

“ช่วงสองสามปีที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับเรา” คุณรัตเทอร์ กล่าว
คุณแมตต์ รัตเทอร์ ซีอีโอของสหกรณ์ชาวประมงของพื้นที่เจอรัลด์ตัน (Geraldton Fishermen's Co-operative หรือ GFC)
คุณแมตต์ รัตเทอร์ ซีอีโอของสหกรณ์ชาวประมงของพื้นที่เจอรัลด์ตัน (Geraldton Fishermen's Co-operative หรือ GFC) Source: SBS / Rachel Cary
“เห็นได้ชัดว่าในช่วงโควิด เราเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบเมื่ออุตสาหกรรมภาคการบริการปิดตัวลง และเมื่อไม่นานมานี้ เรายังมีปัญหาเกี่ยวกับข้อพิพาททางการค้าในภูมิภาคของเราอีกด้วย”

คุณรัตเทอร์ กำลังหมายถึงการห้ามนำเข้ากุ้งร็อกล็อบสเตอร์จากออสเตรเลีย ซึ่งลดปริมาณการส่งออกกุ้งร็อกล็อบสเตอร์ของประเทศลงอย่างรุนแรง

“ก่อนโควิด ราว 95 เปอร์เซ็นต์ของกุ้งล็อบสเตอร์ของเราถูกส่งออกไปยังประเทศจีน” คุณรัตเทอร์ กล่าว

“ตั้งแต่เริ่มต้นของการระบาดใหญ่ของโควิด รายได้จากการส่งออกสำหรับอุตสาหกรรมนี้ลดลง 50 ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหมายความว่าเงินที่ไหลเข้ามาในภูมิภาคนี้และไปสู่ครอบครัวชาวประมงต่างๆ น้อยลงมาก” คุณรัตเทอร์ กล่าว

ราคาเฉลี่ยของกุ้งร็อกล็อบสเตอร์ลดลงไป 1 ใน 4 ของราคา นับตั้งแต่ปี 2017 จากระดับสูงสุดที่ 81.67 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม เป็น 60.94 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัมในปี 2021

จีเอฟซีเป็นสหกรณ์ที่จัดการ 70 เปอร์เซ็นต์ของกุ้งเวสเทิร์น ร็อก ล็อบสเตอร์ (Western Rock Lobsters) ของออสเตรเลีย ที่ถูกส่งออกไปยังต่างประเทศ และแปรรูปกุ้งล็อบเตอร์ราว 10 ล้านตัวต่อปีผ่านโรงงานในเครือที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เจอรัลด์ตัน เพิร์ท และฟรีแมนเทิล
กุ้งเวสเทิร์น ร็อก ล็อบสเตอร์ (Western Rock Lobsters) ของ GFC
กุ้งเวสเทิร์น ร็อก ล็อบสเตอร์ (Western Rock Lobsters) ของ GFC Source: SBS / Rachel Cary
สหกรณ์แห่งนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 1950 โดยกลุ่มชาวประมงที่ต้องการควบคุมซัพพลายเชน (supply chain หรือ ห่วงโซ่อุปทาน) ของตน

“ตอนนี้สหกรณ์ของเรามีอายุมากกว่า 70 ปีแล้วและน่าภาคภูมิใจที่ยังคงมีชาวประมงต่างๆ เป็นเจ้าของสหกรณ์อยู่” คุณรัตเทอร์ กล่าว

“และในฐานะสหกรณ์ ไม่ใช่บริษัท เราดำเนินการเพียงเพื่อประโยชน์ของชาวประมงของเราเท่านั้น”

สัตว์ทะเลที่เรือประมงของพวกเขาจับได้จากทะเลนั้นวางตลาดภายใต้แบรนด์ Brolos (โบรโลส) ซึ่งตั้งชื่อตามหมู่เกาะอะโบรห์โลส ในทะเลนอกชายฝั่งเมืองเจอรัลด์ตัน ทางตอนเหนือของพื้นที่ประมงของสหกรณ์

นอกจากนี้ สหกรณ์จีเอฟซี ยังได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการบริการตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากทะเล (Marine Stewardship Council) ในด้านการปฏิบัติที่ยั่งยืนอีกด้วย

“อุตสาหกรรมการจับกุ้งเวสเทิร์น ร็อก ล็อบสเตอร์ มีการบริหารจัดการโควตา ซึ่งหมายความว่าการจับประจำปีมีปริมาณคงที่และถูกควบคุมอย่างเข้มงวดโดยรัฐบาลของรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย” คุณรัตเทอร์ กล่าว

เช่นเดียวกับผู้ส่งออกหลายๆ ราย คุณรัตเทอร์ทำงานอย่างใกล้ชิดกับออสเทรด (Austrade) ซึ่งเป็นสำนักงานคณะกรรมการการค้าและการลงทุนของออสเตรเลีย เพื่อหาทางก้าวต่อไปข้างหน้า

“ประเทศไทยเป็นประเทศที่รัฐบาลสหพันธรัฐให้ความช่วยเหลือเรามากมาย” คุณรัตเทอร์ กล่าว

คุณเดวิด เจมิสัน ผู้จัดการอาวุโสด้านโอกาสทางธุรกิจระดับโลกของออสเทรด (Austrade) กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในตลาดหลักที่มีการเติบโตสำหรับการส่งออกกุ้งล็อบสเตอร์จากออสเตรเลีย

“มีความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากภาคการบริการและการท่องเที่ยว ซึ่งได้รับแรงหนุนจากโรงแรมและร้านอาหารจำนวนมาก” คุณ เจมิสัน กล่าว
คุณเดวิด เจมิสัน ผู้จัดการอาวุโสด้านโอกาสทางธุรกิจระดับโลกของออสเทรด (Austrade)
คุณเดวิด เจมิสัน ผู้จัดการอาวุโสด้านโอกาสทางธุรกิจระดับโลกของออสเทรด (Austrade) Source: SBS / Rachel Cary
ประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การส่งออกกุ้งล็อบสเตอร์ของออสเตรเลียไปยังประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 42,000 ดอลลาร์ในปี 2020 เป็น 9.4 ล้านดอลลาร์ในปี 2021

เมื่อเร็วๆ นี้ ออสเตรเลียและไทยได้ข้อตกลงขั้นสุดท้ายสำหรับใบรับรองด้านสุขภาพฉบับใหม่ เพื่อให้สามารถนำเข้ากุ้งล็อบสเตอร์เป็นๆ จากออสเตรเลีย เพื่อการบริโภคของมนุษย์ได้

ใบรับรองใหม่นี้จะทำให้ออสเตรเลียส่งออกกุ้งเวสเทิร์น ร็อก ล็อบสเตอร์ แบบเป็นๆ ไปยังประเทศไทยได้เป็นครั้งแรก

ความต้องการอาหารระดับพรีเมียมในประเทศไทยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากการเดินทางทั่วโลกกลับมาเริ่มต้นอีกครั้ง และภาคการบริการฟื้นตัวจากข้อจำกัดโควิด-19

คุณรัตเทอร์ ขอบคุณออสเทรดที่ช่วยสหกรณ์จีเอฟซีหาตลาดใหม่ๆ ได้ในประเทศไทย

“การมีทีมเจ้าหน้าที่ออสเทรด (Austrade) ลงพื้นที่ ซึ่งช่วยเราค้นคว้าหาข้อมูลและพูดคุยกับลูกค้า เพื่อชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปในระหว่างการระบาดใหญ่ของโควิดเป็นเรื่องสำคัญมาก” คุณรัตเทอร์ กล่าวเสริม
การส่งออกกุ้งล็อบสเตอร์ของออสเตรเลียไปยังประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 42,000 ดอลลาร์ในปี 2020 เป็น 9.4 ล้านดอลลาร์ในปี 2021
การส่งออกกุ้งล็อบสเตอร์ของออสเตรเลียไปยังประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 42,000 ดอลลาร์ในปี 2020 เป็น 9.4 ล้านดอลลาร์ในปี 2021 Source: SBS / Rachel Cary
ทั้งออสเทรดและสหกรณ์จีเอฟซีมีความหวังอย่างเต็มเปี่ยมเกี่ยวกับปี 2022

“มันดูมีแนวโน้มในทางที่ดีขึ้นสำหรับเรา ขณะนี้เรากำลังส่งออกสินค้าที่มีความหลากหลายมากขึ้น ไปยังประเทศต่างๆ หลากหลายประเทศมากขึ้น” คุณรัตเทอร์ กล่าว

“ผมอาจพูดได้ว่าดำเนินการเพื่อป้องกันความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น ไม่ว่าโลกจะก่อให้เกิดสถานการณ์อย่างไรกับเรา เราก็จะสามารถรับมือได้และปรับตัวไปตามสถานการณ์นั้นได้”

คุณเดวิด เจมิสัน จาก ออสเทรด (Austrade) ก็เห็นด้วย

“หากมีสิ่งที่ดีที่ซ่อนอยู่จากการหยุดชะงักเหล่านี้และจากการระบาดใหญ่ของโควิด ก็อาจเป็นว่า เรากำลังเข้าถึงผู้บริโภคในระดับสากลมากขึ้นสำหรับอาหารทะเลอันโอชะนี้”

“และหวังว่านั่นจะช่วยให้เราสามารถยืนหยัดได้ในระยะยาว”




คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ sbs.com.au/thai บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ facebook.com/sbsthai



Share
Published 4 April 2022 11:56am
Updated 4 April 2022 1:59pm
By SBS Small Business Secrets
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS

Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand