สถิติชี้ค่าจ้างกำลังเพิ่มขึ้น แต่ทำไมเราอาจไม่รู้สึกว่าเป็นเช่นนั้น

ขณะที่สถิติต่างๆ ชี้ว่า ค่าจ้างกำลังเพิ่มสูงขึ้น แต่สำหรับผู้คนจำนวนมากในออสเตรเลีย นั่นไม่ได้ทำให้ชีวิตง่ายขึ้น

สถิติชี้ค่าจ้างกำลังเพิ่มขึ้น แต่ทำไมเราอาจไม่รู้สึกว่าเป็นเช่นนั้น

สถิติชี้ค่าจ้างกำลังเพิ่มขึ้น แต่ทำไมเราอาจไม่รู้สึกว่าเป็นเช่นนั้น Source: SBS News

คุณ เอ็ดวาร์โด ใช้เวลาส่วนใหญ่ของวันทำอาหารในครัวที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่ง ซึ่งมีลูกค้ามากมาย ทางใต้ของโกลด์โคสต์

เขามีรายได้ประมาณ 28 ดอลลาร์ต่อชั่วโมงในวันธรรมดา และ 32 ดอลลาร์ในวันหยุดสุดสัปดาห์ แต่หลังจากทำงานมาได้ราวหนึ่งปี การที่ร้านเปลี่ยนเจ้าของใหม่ก็หมายความว่า ค่าจ้างของเขาจึงไม่ได้เพิ่มขึ้น

“พวกเขาแค่ถามผมว่า 28 ดอลลาร์โอเคไหม … ผมไม่ได้มีโอกาสต่อรองกับเจ้าของร้านคนใหม่ จึงได้ค่าจ้างในอัตราเท่าเดิม” คุณ เอ็ดวาร์โด กล่าว

เขากล่าวว่า เขายอมรับกับค่าจ้าง แต่ตอนนี้ของกินของใช้ในชีวิตประจำวันมีราคาสูงขึ้น เขาก็เห็นใจเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กต่างๆ แต่ขณะเดียวกันเขาคิดว่าค่าจ้างก็ควรเพิ่มขึ้นด้วยเพื่อให้เพียงพอกับค่าครองชีพ

“ทุกอย่างมีราคาแพง แม้กระทั่งสำหรับเจ้านายของผม ผมทำงานในร้านกาแฟเล็กๆ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่พวกเขาที่จะขึ้นเงินเดือนให้ผม”

“เพราะผมมาจากชิลี ผมจึงยังคงคิดว่ารายได้นั้นดีอยู่ แต่ถ้าทุกอย่างแพงขึ้น ก็ต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่มขึ้น”

ดัชนีราคาค่าจ้าง (Wage Price Index) จากสำนักสถิติแห่งออสเตรเลีย (ABS) ชี้ว่าค่าจ้างพื้นฐาน (base pay) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 ในปี 2021 โดยอุตสาหกรรมที่พักและบริการอาหารนั้นมีอัตราการเติบโตของค่าจ้างพื้นฐานสูงสุดในช่วงเวลาดังกล่าวที่ร้อยละ 3.5 อย่างไรก็ตาม การเติบโตของค่าจ้างในปี 2020 อยู่ที่เพียงร้อยละ 1.4

ลูกจ้างชาวชิลีผู้นี้กล่าวว่าแม้ว่าเขาจะไม่เห็นการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างจากงานหลักของเขา แต่ค่าจ้างของเขาเพิ่มขึ้น 2-3 ดอลลาร์ต่อชั่วโมงในปีที่แล้วสำหรับงานที่สองของเขาที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในท้องถิ่น
คุณ เอ็ดวาร์โด กล่าวว่า เขาต้องทำงานในร้านอาหาร 2 แห่งเพื่อจ่ายค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ
คุณ เอ็ดวาร์โด กล่าวว่า เขาต้องทำงานในร้านอาหาร 2 แห่งเพื่อให้พอกับจ่ายค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ Source: SBS News
“ผมจำเป็นต้องทำงานสองงานเพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายของผม ไม่เช่นนั้นก็จะไม่พอ ผมต้องทำงานในร้านอาหาร 2 แห่งเพื่อจ่ายค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ เช่น ค่าของกินของใช้ ค่าน้ำมันรถ และค่าเช่าบ้าน” คุณ เอ็ดวาร์โด กล่าว

สหภาพแรงงานต่างๆ เป็นห่วงเกี่ยวกับการเติบโตของค่าจ้าง ที่ระบุชี้ในสถิติและการคาดคะเนต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความแตกต่างเมื่อเปรียบเทียบกับ 'อำนาจการซื้อของค่าจ้าง' (real wage) หรือกำลังซื้อของเงินเดือนของประชาชน

“โดยเฉลี่ยลูกจ้างธรรมดาทั่วไปในออสเตรเลียมีรายได้ราว 68,000 ดอลลาร์ต่อปี (จากสถิติปีที่แล้ว) และอำนาจการซื้อของค่าจ้างที่ลดลง (real wage cut) 800 ดอลลาร์” คุณ แซลลี แมคมานัส เลขาธิการสภาสหภาพแรงงานแห่งออสเตรเลีย (ACTU) กล่าว

“10 ดอลลาร์ในวันนี้ซื้อได้น้อยกว่า 10 ดอลลาร์เมื่อก่อนนี้ หากคุณไม่ได้รับการขึ้นค่าจ้างที่ปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.5 คุณก็จะตามไม่ทันราคาสิ่งต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นทุกที่"

“คุณอาจได้เงินเท่าเดิม แต่เงินนั้นมีค่าน้อยลง” คุณ แมคมานัส เลขาธิการ  ACTU กล่าว
คุณอาจได้เงินเท่าเดิม แต่เงินนั้นมีค่าน้อยลง
การเติบโตของค่าจ้างประจำปีในแต่ละภาคอุตสาหกรรมตั้งแต่ 2020-2021 และสำหรับไตรมาสเดือนธันวาคมปีที่แล้ว
การเติบโตของค่าจ้างประจำปีในแต่ละภาคอุตสาหกรรมตั้งแต่ 2020-2021 และสำหรับไตรมาสเดือนธันวาคมปีที่แล้ว Source: SBS / ABS Wage Price Index
ออสเตรเลียมีการเติบโตของค่าจ้างที่ต่ำอย่างเห็นได้ชัดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คุณไดอานา มูซินา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของเอเอ็มพี แคพิทอล (AMP Capital) กล่าว

“ในอดีตนั้น ในสภาพแวดล้อมที่ปกติกว่านี้ อัตราการเติบโตของค่าจ้างจะอยู่ที่ราวร้อยละ 3 ต่อปี ในขณะที่เรามีค่าจ้างที่เติบโตราวร้อยละ 2 ต่อปีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา” คุณ มูซินา กล่าว

นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสผู้นี้กล่าวว่า เหตุผลที่บางคนอาจไม่รู้สึกว่าค่าจ้างหรือเงินเดือนของพวกเขาเพิ่มขึ้นนั้นเกิดจากทั้งการเติบโตของค่าจ้างที่เชื่องช้าและเงินเฟ้อ

จากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) นั้น อัตราเงินเฟ้อของออสเตรเลียเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 ในช่วง 12 เดือนจนถึงไตรมาสเดือนธันวาคม 2021

“เรายังไม่ได้เห็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าจะมีการเติบโตของค่าจ้างในระดับที่แข็งแกร่งเกิดขึ้น แต่ฉันคิดว่ามันจะเกิดขึ้นอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า”

“หวังว่าสิ่งนี้จะช่วยกระตุ้นความมั่นใจของผู้บริโภคได้บ้าง” คุณ มูซินา กล่าว พร้อมเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมเกี่ยวกับสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้จะเกิดขึ้น

ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นทำให้ประชากรอีกกลุ่มหนึ่งรู้สึกถึงแรงกดดัน นั่นคือ เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กต่างๆ

คุณ มารีอานา ฟาทาคคิโอลิ เจ้าของ Elysian Cartel ซึ่งเป็นสตูดิโอสำหรับทำคิ้วและขนตา ในบริสเบน บอกกับเอสบีเอส นิวส์ ว่า ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ของธุรกิจของเธอนั้นเป็นค่าจ้างพนักงาน
คุณ มารีอานา ฟาทาคคิโอลิ กล่าวว่า ธุรกิจของเธอกำลังรู้สึกได้ถึงแรงกดดันจากต้นทุนต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น
คุณ มารีอานา ฟาทาคคิโอลิ กล่าวว่า ธุรกิจของเธอกำลังรู้สึกได้ถึงแรงกดดันจากต้นทุนต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น Source: SBS News
คุณ ฟาทาคคิโอลิ ต้องขึ้นค่าจ้างพนักงานสามครั้งในปี 2021 ภายใต้ข้อกำหนดขององค์กรแฟร์เวิร์กเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างมาตรฐานของอุตสาหกรรม (Fair Work Award) ซึ่งเธอกล่าว "การขึ้นค่าจ้างทุกครั้งอยู่ที่ประมาณ 70 เซ็นต์ถึง 1 ดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นตลอดทั้งปีและพอๆ กับจ้างคนเพิ่มอีกคน ดังนั้นแม้เราจะมีพนักงาน 5 คน แต่เราก็จ่ายเงินสำหรับ 6 คน”

คุณ ฟาทาคคิโอลิ ยังกล่าวอีกว่า ไม่ใช่เธอคนเดียวที่ต้องดิ้นรนกับต้นทุนทางธุรกิจที่สูงขึ้น ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นจากเหตุการณ์ล่าสุด เช่น น้ำท่วม กระบวนการฟื้นตัวจากโควิด-19 และสงครามในยูเครน

“ฉันมีเพื่อนๆ ในธุรกิจด้านการขนส่ง ด้านการบริการ (hospitality) อสังหาริมทรัพย์ และการก่อสร้าง ทุกคนประสบปัญหาทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ต้องเผชิญกับการขึ้นราคาโดยตรงสำหรับสิ่งต่างๆ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง วัสดุก่อสร้างที่มีราคาแพงขึ้น และค่าขนส่งสินค้าเหล่านั้น” คุณ ฟาทาคคิโอลิ กล่าว

“ดังนั้น แม้มันจะตึงเครียด แต่ฉันก็รู้สึกโชคดีอยู่บ้าง ฉันยังคงต้องจ่ายค่าเช่าและค่าน้ำมันที่เพิ่มขึ้น เราอยู่ในยุคที่ทุกอย่างขึ้นราคา ดังนั้นเงินเดือนก็ต้องขึ้น และในฐานะเจ้าของธุรกิจ เราต้องดำเนินการไปตามสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในโลกในขณะนี้"


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 1 April 2022 2:41pm
Updated 1 April 2022 4:33pm
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS News

Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand