รัฐบาลประกาศไม่เปลี่ยนแปลงระยะห่างวัคซีนเข็มกระตุ้น

ศาสตราจารย์ พอล เคลลี ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ของสหพันธรัฐ ได้ประกาศว่า ระยะห่างของการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหลังฉีดวัคซีนโดสที่สองแล้วจะไม่ถูกร่นเวลาให้เร็วขึ้น ขณะผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ยังคงประเมินผลกระทบของเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนต่อไป

Chief Medical Officer, Professor Paul Kelly

Chief Medical Officer Professor Paul Kelly. Source: AAP

วัคซีนเข็มกระตุ้น (Booster shots) สำหรับวัคซีนต้านโควิด-19 จะยังคงฉีดให้ประชาชน 6 เดือนหลังจากฉีดวัคซีนโดสที่สองแล้วต่อไป หลังหน่วยงานด้านสุขภาพของรัฐบาลกลางได้ตรวจสอบเรื่องนี้ เนื่องมาจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน (Omicron)

ศาสตราจารย์ พอล เคลลี ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ของสหพันธรัฐกล่าวว่า คำแนะนำจากกลุ่มที่ปรึกษาด้านเทคนิคเกี่ยวกับการสร้างภูมิคุ้มกันโรคแห่งออสเตรเลีย (Australian Technical Advisory Group on Immunisation หรือ ATAGI) เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนยังคงไม่เปลี่ยนแปลง หลังมีการพิจารณาทบทวนว่า ควรร่นระยะห่างการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้มให้เร็วขึ้นจากเดิมหรือไม่

การตัดสินใจเรื่องนี้มีขึ้นในขณะที่หน่วยงานด้านสุขภาพยังคงประเมินความรุนแรงของเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนและประสิทธิภาพของวัคซีนต่อเชื้อสายพันธุ์นี้

“ไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าการให้วัคซีนเข็มกระตุ้นให้เร็วขึ้นสำหรับวัคซีนโควิด-19 ที่ใช้ในปัจจุบันจะเพิ่มการป้องกันเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน” ศาสตราจารย์เคลลีบอกกับผู้สื่อข่าวที่กรุงแคนเบอร์ราในการแถลงข่าววันนี้ (3 ธ.ค.)
คำแนะนำจาก ATAGI ยังคงให้เว้นระยะห่าง 6 เดือนสำหรับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหลังฉีดวัคซีนโดสที่สองแล้ว ดังนั้นโดยสรุปคือ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
มีการพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนในออสเตรเลีย 9 ราย โดยในจำนวนนั้น 8 รายอยู่ในนิวเซาท์เวลส์
ศาสตราจารย์เคลลีกล่าวว่า เขาได้จัดประชุมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ของรัฐบาลในแอฟริกาใต้เมื่อคืนที่ผ่านมา โดยแอฟริกาใต้เป็นประเทศที่มีการระบุการพบเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนเป็นครั้งแรก

เขากล่าวว่าเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนถูกระบุว่า "แพร่กระจายได้ง่าย" แต่จนถึงตอนนี้ "ยังไม่มีหลักฐานที่หนักแน่นในขณะนี้ว่าเชื้อก่อให้เกิดการเจ็บป่วยที่รุนแรงมากขึ้น"

“ผมขอเน้นว่าขณะนี้เป็นช่วงวันแรกๆ เพิ่งไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้เองที่เชื้อสายพันธุ์นี้เริ่มแพร่ระบาดในแอฟริกาใต้และที่อื่นๆ และมีความล่าช้าอยู่สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลและและการเสียชีวิต” ศ.เคลลี กล่าว

“ผมยังคงมองในแง่ดี พร้อมกับมองอย่างระมัดระวัง แต่เราจำเป็นต้องมีข้อมูลเพิ่มเติม”

ขณะนี้ มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนแล้ว 419 รายใน 30 ประเทศทั่วโลก

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์เคลลีกล่าวว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดในการทดลองเชิงคลินิก (efficacy) ต่อเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน ยังแสดงให้เห็นว่า "ยังคงใช้งานได้" แต่ประสิทธิภาพของวัคซีนจากการฉีดให้ประชาชนในวงกว้าง (effectiveness) ต้องทำการประเมินต่อไป

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้วิพากษ์วิจารณ์ประเทศที่พัฒนาแล้วที่ผลักดันการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นสำหรับประชากรส่วนใหญ่ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบสองโดสแล้ว ในขณะที่ประชาชนที่มีความเปราะบางในในภูมิภาคที่ยากจนไม่ได้รับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 เลย

รัฐบาลสหพันธรัฐของออสเตรเลียได้สั่งระงับเที่ยวบินจาก 8 ประเทศทางตอนใต้ของแอฟริกา ซึ่งเป็นพื้นที่แรกที่ตรวจพบเชื้อสายพันธุ์ใหม่ดังกล่าว และออกข้อกำหนดการกักตัวผู้ที่เพิ่งเดินทางจากภูมิภาคนี้เข้ามายังออสเตรเลีย
คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย

การสำรวจชี้ผู้ถือวีซ่าชั่วคราวมักถูกเอาเปรียบ


Share
Published 3 December 2021 12:31pm
Updated 3 December 2021 2:24pm
By Tom Stayner
Presented by Parisuth Sodsai
Source: Reuters, SBS


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand