หมอไทยในออสฯ สาธิตการใช้ชุดตรวจโควิดด้วยตนเอง

พญ.ศิราภรณ์ ทาเกิด แพทย์ไทยในเมลเบิร์น

พญ.ศิราภรณ์ ทาเกิด แพทย์ไทยในเมลเบิร์น Source: SBS Thai/Tinrawat Banyat/Unsplash

พญ.ศิราภรณ์ ทาเกิด แพทย์ไทยในเมลเบิร์น อธิบายพร้อมสาธิตวิธีการใช้ชุดอุปกรณ์ตรวจเชื้อโควิดด้วยตนเองแบบทราบผลรวดเร็ว (Rapid Antigen Test) ซึ่งเธอกล่าวว่า อาจมีบทบาทมากขึ้นในการช่วยนำเราไปสู่ความปกติใหม่ภายใต้โควิด หลังการเปิดเมือง เปิดประเทศ และการมาถึงของเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน


พญ.ศิราภรณ์ ทาเกิด (Dr.Siraporn Tagerd) แพทย์จีพี (GP) ในเมลเบิร์น เชื่อว่าการตรวจเชื้อโควิดด้วยตนเองที่บ้าน จะมีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการการระบาดของโควิด เมื่อมีการพบผู้ติดเชื้อโควิดในชุมชนเพิ่มขึ้นหลังการเปิดเมืองและเปิดประเทศ โดยจะเป็นสิ่งช่วยในการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อในเบื้องต้นและป้องกันการแพร่เชื้อในชุมชน

ฟังสัมภาษณ์
LISTEN TO
Thai doctor demonstrate how to use rapid antigen test kit image

หมอไทยในออสฯ สาธิตการใช้ชุดตรวจโควิดด้วยตนเอง

SBS Thai

02/12/202116:17
ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ชุดอุปกรณ์ตรวจเชื้อโควิดด้วยตนเองแบบทราบผลรวดเร็ว หรือ Rapid Antigen Test มีจำหน่ายตามร้านขายยาและซูเปอร์มาร์เกตต่างๆ ให้ประชาชนในออสเตรเลียสามารถซื้อมาตรวจเชื้อโควิดด้วยตนเองที่บ้านได้แล้ว โดยคณะกรรมาธิการควบคุมดูแลผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพของออสเตรเลีย (Australia’s Therapeutic Goods Administration หรือ TGA) ได้อนุมัติชุดตรวจเชื้อโควิดด้วยตนเอง 33 ยี่ห้อให้วางจำหน่ายในออสเตรเลียได้

พญ.ศิราภรณ์ ทาเกิด บอกกับ เอสบีเอส ไทย ถึงข้อพึงระวังที่สำคัญเกี่ยวกับชุดอุปกรณ์ตรวจเชื้อโควิดด้วยตนเองแบบทราบผลรวดเร็ว หรือ Rapid Antigen Test ว่า
Rapid Antigen Test จะเป็นมาตรการที่มีความสำคัญในการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อในเบื้องต้น แต่ไม่ใช่วิธีการที่แม่นยำที่สุดในการตรวจวินิจฉัยว่าติดเชื้อโควิดหรือไม่
“การตรวจเชื้อแบบพีซีอาร์ (PCR Test) ตามศูนย์ตรวจก็ยังคงเป็นโกลด์สแตนดาร์ด (gold standard) เป็นการตรวจเชื้อเพื่อวินิฉัยโรคโควิดที่มีความแม่นยำสูงเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์อยู่ดี แต่การตรวจ Antigen Test เป็น screening test คือเป็นการตรวจคัดกรอง ซึ่งมีความแม่นยำราว 80-95 เปอร์เซ็นต์” พญ.ศิราภรณ์ อธิบาย

แต่สิ่งที่ทำให้การตรวจเชื้อด้วยชุดอุปกรณ์ตรวจเชื้อโควิดด้วยตนเองมีความได้เปรียบการตรวจเชื้อแบบพีซีอาร์คือรอเพียงแค่อึดใจ ก็ทราบผลการตรวจแล้ว
การตรวจแบบพีซีอาร์แม้จะมีความแม่นยำ แต่ต้องใช้เวลาประมาณ 24-48 ชั่วโมงกว่าจะรู้ผลการตรวจ ในขณะที่การตรวจ Antigen Test จะใช้เวลา 10-20 นาทีเท่านั้นก็รู้ผล
พญ.ศิราภรณ์ กำลังอธิบายเกี่ยวกับชุดทดสอบโควิดด้วยตนเอง (ATK)
พญ.ศิราภรณ์ กำลังอธิบายเกี่ยวกับชุดทดสอบโควิดด้วยตนเอง (ATK) Source: SBS Thai/Tinrawat Banyat
แต่การตรวจเชื้อด้วยตนเองด้วยตนเองแบบทราบผลรวดเร็วด้วยอุปกรณ์ Rapid Antigen Test นั้น มีค่าใช้จ่ายเล็กน้อยจากการที่ประชาชนต้องซื้ออุปกรณ์การตรวจจากร้านขายยาหรือจากซูเปอร์มาร์เก็ต

“ในออสเตรเลีย การตรวจแบบพีซีอาร์นั้นเราสามารถไปตรวจตามศูนย์ตรวจของรัฐได้ฟรี แต่ชุดอุปกรณ์การตรวจ Antigen Test เราต้องไปซื้อมาเอง ซึ่งราคาอยู่ที่ประมาณ 10-20 ดอลลาร์ต่อ 1 ชุด ณ ตอนนี้”
ชุดตรวจโควิดแบบทราบผลเร็วชนิดต่างๆ ที่หาซื้อได้ทั่วไปในปัจจุบัน
ชุดตรวจโควิดแบบทราบผลเร็วชนิดต่างๆ ที่หาซื้อได้ทั่วไปในปัจจุบัน Source: Getty Images
แม้ในตอนนี้ จะการตรวจเชื้อโควิดด้วยตนเองแบบทราบผลรวดเร็วยังไม่มีการใช้งานแพร่หลายเท่าไรนัก แต่พญ.ศิราภรณ์ เชื้อว่าเมื่อมีการเปิดเมืองและเปิดประเทศ ชุดตรวจเชื้อด้วยตนเองจะมีบทบาทมากขึ้นในการช่วยบริหารจัดการสถานการณ์โควิด

“การตรวจ Antigen Test มีข้อดีในแง่ที่ว่าอาจเป็นการช่วยในแง่ early detection (ระบุชี้การติดเชื้อตั้งแต่เนิ่นๆ) เป็นการตรวจในคนที่ยังไม่มีอาการเลยในระยะแรกของการติดโรคและสามารถระบุชี้ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ก็จะช่วยลดการแพร่กระจายในชุมชนได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่หมอคิดว่าจะมีประโยชน์ในอนาคตเมื่อมีการตรวจมากขึ้น” คุณหมอแสดงความเห็น
Antigen Test มีข้อดีในแง่ที่ว่าอาจเป็นการตรวจคนที่ยังไม่มีอาการเลยในระยะแรกของการติดโรค และเมื่อระบุชี้ได้เนิ่นๆ จะช่วยลดการแพร่ระบาดได้
เธออธิบายถึงลักษณะของชุดอุปกรณ์ตรวจเชื้อโควิดด้วยตนเองแบบทราบผลรวดเร็ว หรือ Rapid Antigen Test ที่จะมี 3 สิ่งหลักๆ ที่เหมือนกันในแต่ละชุดอุปกรณ์ แต่จะมีวิธีการใช้ที่แตกต่างกันบ้างเล็กน้อย

“ในทุกชุดอุปกรณ์การตรวจ (kit) จะมี 3 สิ่งหลักๆ สิ่งแรกคือ ไม้ตรวจหรือไม้ swab สิ่งที่สองคือ น้ำยาตรวจและภาชนะใส่น้ำยาตรวจ สิ่งที่ 3 คือ แผ่นตรวจ แต่วิธีการทำอาจแตกต่างกันเล็กน้อย ทุกคนที่ไปซื้อชุดอุปกรณ์ตรวจเชื้อด้วยตนเองมาใช้ ชุดไหนก็แล้วแต่ ต้องอ่านคำแนะนำวิธีการใช้ ให้เข้าใจ เพราะแต่ละชุดอุปกรณ์อาจจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันบ้าง”
ในทุกชุดอุปกรณ์การตรวจจะมี 3 สิ่งหลักคือ ไม้ตรวจ น้ำยาตรวจ และแผ่นตรวจ
เมื่แกะกล่องชุดตรวจโควิดแบบทราบผลเร็วออกมา ก็จะพบกับแผ่นตรวจ น้ำยาตรวจ และไม้ตรวจ
เมื่แกะกล่องชุดตรวจโควิดแบบทราบผลเร็วออกมา ก็จะพบกับแผ่นตรวจ น้ำยาตรวจ และไม้ตรวจ Source: SBS Thai/Tinrawat Banyat
ชุดอุปกรณ์บางตัวอาจไม่ต้องเก็บตัวอย่างเชื้อจากโพรงจมูก แต่ใช้น้ำลาย แต่ชุดอุปกรณ์การตรวจประเภทนี้ไม่แพร่หลายมากนัก พญ. พญ.ศิราภรณ์ ทาเกิด อธิบายวิธีการใช้ชุดอุปกรณ์เหล่านี้ ซึ่งแบ่งเป็น 4 ขั้นตอนคือ

พญ.ศิราภรณ์ ทาเกิด
Source: SBS Thai/Tinrawat Banyat


ขั้นตอนที่ 1 สอดไม้ตรวจเข้าไปในโพรงจมูกเพื่อเก็บตัวอย่างเชื้อ

สำหรับชุดอุปกรณ์ที่ต้องเก็บตัวอย่างเชื้อจากภายในโพรงจมูก คุณหมอแนะนำว่า หากมีน้ำมูกในจมูก ให้สั่งน้ำมูกเสียก่อนทำการตรวจเชื้อ จากนั้นให้สอดไม้ตรวจเข้าไปในจมูก

“แยงไม้ตรวจหรือไม้ swab เข้าไปในโพรงจมูก แต่ไม่ต้องลึกไปถึงข้างหลังของโพรงจมูกเหมือนเวลาตรวจพีซีอาร์ สิ่งที่เขาแนะนำคือ แยงเข้าไปประมาณ 2 เซ็นติเมตรหรือแยงเข้าไปจนถึงชนผนังโพรงจมูกเล็กน้อย แต่ไม่ถึงขนาดว่าเจ็บมาก หลักจากนั้นให้หมุนไม้ไปรอบๆ อาจเป็น 5 ครั้ง 3 ครั้งหรือ 10 ครั้งแล้วแต่ชุดตรวจ ทำในโพรงจมูกทั้งสองข้างเหมือนกัน”

เจ้าหน้าที่กำลังจุ่มตัวอย่างที่เก็บได้จากโพรงจมูกในขั้นแรกลงในหลอดน้ำยาตรวจ
จุ่มตัวอย่างที่เก็บได้จากโพรงจมูกในขั้นแรกลงในหลอดน้ำยาตรวจ Source: SBS Thai/Tinrawat Banyat


ขั้นตอนที่ 2 คือการนำไม้ตรวจที่ผ่านการเก็บตัวอย่างเชื้อในโพรงจมูกแล้วไปจุ่มลงในน้ำยาตรวจ

“นำไม้ตรวจหรือไม้ swab มาใส่ในน้ำยาตรวจ ซึ่งเขาจะบอกให้หมุนวนไม้ไป 10 ครั้งหรือ 10 วินาทีแล้วแต่ชุดตรวจอีกเช่นกัน จากนั้นเขาจะให้เราบีบหลอดใส่น้ำยาที่มีไม้ตรวจอยู่ เราก็บีบเพื่อพยายามเอาน้ำออกจากไม้ตรวจให้มากที่สุด เสร็จแล้วจึงเอาไม้ตรวจไปทิ้งและปิดจุกหลอดใส่น้ำยาตรวจ”

เจ้าหน้าที่กำลังหยดน้ำยาลงบนแผ่นตรวจเชื้อโควิดแบบทราบผลเร็ว
เจ้าหน้าที่กำลังหยดน้ำยาลงบนแผ่นตรวจเชื้อโควิดแบบทราบผลเร็ว Source: SBS Thai/Tinrawat Banyat


ขั้นตอนที่ 3 เป็นการนำน้ำยาตรวจไปหยดลงบนแผ่นตรวจ และขั้นที่ 4 คือการรอผลตามระยะเวลาที่ในแต่ละชุดอุปกรณ์กำหนดไว้

“หยดน้ำยาตรวจจากหลอดลงบนแผ่นตรวจ จะเป็น 3 หยด 5 หยด หรือ 10 หยดก็แล้วแต่ชุดตรวจ หลังจากนั้นให้รอผล 10 นาที 15 หรือ 20 นาทีแล้วแต่ชุดตรวจเช่นเดียวกัน ต้องรอตามเวลาที่กำหนด เพื่อดูผล”

ผลตรวจที่เป็นบวกและลบ ของชุดตรวจโควิดแบบทราบผลเร็ว
ผลตรวจที่เป็นบวกและลบ ของชุดตรวจโควิดแบบทราบผลเร็ว Source: SBS Thai/Tinrawat Banyat


คุณหมออธิบายบนแผ่นตรวจจะมีตัวอักษร C และ T ซึ่งการดูผลการตรวจจะใช้การดูขีดที่ตัวอักษรทั้งสองนี้

“เราอยากเห็น 1 ขีดที่ตัว C (บนแผ่นตรวจ) ถ้ามีหนึ่งขีดตรงตัว C แสดงว่าเราปลอดภัย แต่ถ้ามี 2 ขีดที่ทั้ง C และ T คือเป็นผลบวก (ติดเชื้อ) ถ้ามี 2 ขีดเราต้องไปตรวจพีซีอาร์ทันทีและแยกตัวจากผู้อื่นจนกว่าจะได้ผลตรวจพีซีอาร์เป็นลบ แต่ถ้ามีหนึ่งขีดตรงตัว T แสดงว่าชุดอุปกรณ์มีปัญหา ต้องตรวจใหม่อีกรอบ” คุณหมออธิบาย
1 ขีดที่ตัว C (บนแผ่นตรวจ) คือเราปลอดภัย ถ้ามี 2 ขีดที่ทั้ง C และ T คือเป็นผลบวก (ติดเชื้อ)
บางคนอาจเข้าใจผิดคิดว่า ถ้ามีอาการ ก็สามารถตรวจเชื้อด้วยตนเองด้วยชุดอุปกรณ์การตรวจเชื้อแบบทราบผลรวดเร็วหรือ Antigen Test ได้ แต่คุณหมอชี้แจงว่า นี่ไม่ใช่ความเข้าใจที่ถูกต้อง  

“สำคัญมากคือ ถ้ามีอาการ สิ่งที่ต้องทำมี 2 อย่างคือ ต้องไปตรวจเชื้อแบบพีซีอาร์ และต้องอยู่บ้านกักตัวจนกว่าจะได้ผลตรวจพีซีอาร์เป็นลบ ถ้ามีอาการ ยังไงก็ต้องไปตรวจพีซีอาร์ ถึงแม้ว่าเราจะตรวจ Antigen Test ด้วยตนเองแล้วได้ผลเป็นลบ เพราะมันไม่แม่นยำร้อยเปอร์เซ็นต์ สิ่งที่จะบอกได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าเราติดหรือไม่ติดโควิด คือการตรวจเชื้อแบบพีซีอาร์เท่านั้น” พญ.ศิราภรณ์ ย้ำ
ถ้ามีอาการ ยังไงก็ต้องไปตรวจพีซีอาร์ ถึงแม้ว่าเราจะตรวจ Antigen Test ด้วยตนเองแล้วได้ผลเป็นลบ เพราะมันไม่แม่นยำร้อยเปอร์เซ็นต์
A health worker collects swab samples from a resident at a Covid-19 testing clinic in Sydney on July 17, 2021
การเก็บตัวอย่างบริเวณหลังโพรงจมูกเพื่อตรวจเชื้อโควิดแบบพีซีอาร์ ที่คลินิกแห่งหนึ่งในนครซิดนีย์ Source: STEVEN SAPHORE/AFP via Getty Images


ขณะที่ยังมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เป็นจำนวนสูงอยู่ โดยเฉพาะในเมลเบิร์น คุณหมอจึงฝากถึงทุกคนให้อย่าประมาท

“ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง พยายามอย่าเอาตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการติดโควิด และยังคงล้างมือบ่อยๆ รักษาระยะห่างจากผู้อื่น และสวมหน้ากากอนามัยในบางสถานการณ์ ซึ่งยังสำคัญอยู่”

“สิ่งสุดท้ายคือเรื่องวัคซีน ถ้าใครยังไม่ได้ฉีด ให้ไปฉีดเสีย ถ้าใครถึงเวลาฉีดเข็มบูสเตอร์ (เข็มกระตุ้นเข็มที่สาม) ก็ไปฉีดเสีย ตอนนี้มีผลการวิจัยที่ออกมาทำให้เห็นชัดเจนขึ้นว่า วัคซีนไม่เฉพาะกันตายเท่านั้น แต่วัคซีนยังกันติดได้ด้วย ที่สำคัญคือเมื่อใดที่มีอาการ ให้ไปตรวจพีซีอาร์ และอยู่บ้านกักตัวเพื่อรอผลนะคะ” พญ.ศิราภรณ์ ทาเกิด แพทย์ไทยในเมลเบิร์นผู้นี้ กล่าวทิ้งท้าย

ฟังคุณหมออธิบายว่า ในสถานการณ์ใดบ้างที่เราสามารถใช้ชุดอุปกรณ์ตรวจเชื้อด้วยตนเองแบบทราบผลรวดเร็วได้ บทบาทของชุดตรวจเชื้อด้วยตนเองในออสเตรเลียขณะนี้และพร้อมเปรียบเทียบกับประเทศไทย พญ.ศิราภรณ์ ทาเกิด อธิบายประเด็นเหล่านี้ทั้งหมดในสัมภาษณ์เต็มๆ ที่นี่
LISTEN TO
Thai doctor demonstrate how to use rapid antigen test kit image

หมอไทยในออสฯ สาธิตการใช้ชุดตรวจโควิดด้วยตนเอง

SBS Thai

02/12/202116:17
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ

คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand