บางฝ่ายวิตกเรื่องวีซ่าเกษตรใหม่ที่นำเข้าแรงงานจากเอเชีย

โครงการวีซ่าใหม่ที่จะขยายแหล่งนำเข้าแรงงานฟาร์มจากแปซิฟิกไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถูกระบุว่า “เป็นปัญหาอย่างเห็นได้ชัด”

A file photo of workers on a poppy farm

Australia is negotiating to create a new agriculture visa for workers from Southeast Asia. Source: AAP

มีการเกรงกันว่าโครงการวีซ่าใหม่ที่จะนำแรงงานจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาทำงานตามฟาร์มในออสเตรเลีย อาจส่งผลกระทบต่อแรงงานที่ปรารถนาจะเดินทางมาและมีทักษะพร้อมจากหมู่เกาะแปซิฟิก

รัฐบาลออสเตรเลียกำลังเจรจากับบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกี่ยวกับโครงการวีซ่าเกษตรตัวใหม่นี้ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปสำหรับข้อตกลงกับประเทศหุ้นส่วนที่จะร่วมโครงการนี้

คาดกันว่าแรงงานจะเดินทางมาถึงยังฟาร์มต่างๆ ในออสเตรเลียภายในไม่กี่เดือนนี้ แต่ยังคงมีข้อกังขาว่าโครงการวีซ่าใหม่นี้มีความจำเป็นหรือไม่ และหากจำเป็น โครงการนี้จะส่งผลอย่างไรต่อประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ต่อผู้ผลิตท้องถิ่น และต่อคนงานเอง

ข้อกังขาว่าโครงการวีซ่าใหม่จำเป็นหรือไม่

ศาสตราจารย์ สตีเฟน ฮาวส์ ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายการพัฒนา ตั้งคำถามถึงความจำเป็นที่จะต้องมองหาคนงานนอกเหนือจากประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก

“แม้จะมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างเห็นได้ชัดในปีนี้ แต่มันน่าขันที่จะแนะว่า วิธีที่ดีที่สุดในการจัดการกับปัญหาการขาดแคลนนั้นคือการสร้างวีซ่าตัวใหม่ขึ้นมา เจรจาข้อตกลงใหม่กับกลุ่มประเทศใหม่ทั้งหมด และนำคนงานเข้ามา” ศ.ฮาวส์ กล่าว
เห็นได้ชัดว่าเป็นปัญหาที่เราจะมีวีซ่าสองตัวสำหรับกลุ่มประเทศสองกลุ่มที่แตกต่างกัน เพื่อจะเข้ามาทำงานเดียวกัน
แหล่งนำเข้าแรงงานสำหรับโครงการวีซ่าที่มีอยู่ขณะนี้ ซึ่งรวมถึง 9 ประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก รวมทั้ง ติมอร์-เลสเตนั้น ยังห่างไกลจากการไม่เหลือแรงงานให้นำเข้ามาแล้ว ศ.ฮาวส์ กล่าวเสริม

"มีคนงานจากประเทศแถบมหาสมุทรแปซิฟิกอีกจำนวนมากที่เต็มใจมาที่นี่ ไม่ใช่ว่าจะมีปัญหาการขาดแคลนคนงานที่อยากมา"

รัฐบาลสหพันธรัฐของออสเตรเลียระบุว่า โครงการวีซ่าเกษตรตัวใหม่นี้มีให้สำหรับแรงงานที่มีทักษะ กึ่งมีทักษะ และทักษะต่ำสำหรับอุตสาหกรรมการเกษตรหลากหลายประเภท รวมถึงการแปรรูปเนื้อสัตว์ การประมง และป่าไม้

“โครงการวีซ่าสำหรับแรงงานจากประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกจะยังคงเป็นโครงการหลักเพื่อหาแรงงานมาเติมเต็มการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงฤดูเก็บเกี่ยวในฤดูร้อนปีนี้” รัฐบาลสหพันธรัฐระบุในเอกสารแสดงรายละเอียดโครงการ ที่ลงวันที่  30 กันยายน
โครงการวีซ่าสำหรับแรงงานจากประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกจะยังคงเป็นโครงการหลักเพื่อหาแรงงานมาเติมเต็มการขาดแคลนแรงงาน
ปัจจุบันมีคนงานจากประเทศหมู่เกาะมหาสมุทรแปซิฟิกและติมอร์กว่า 15,600 คนทำงานอยู่ในออสเตรเลีย และรัฐบาลสหพันธรัฐได้ให้คำมั่นที่จะเพิ่มจำนวนเป็นสองเท่าภายในเดือนมีนาคม 2022

นอกจากนี้ ยังมีแรงงานจากประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกที่พร้อมจะเดินทางมายังออสเตรเลีย 55,000 คน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนคนงานที่จะสามารถกักตัวได้เมื่อเดินทางถึงในแต่ละช่วง

รัฐบาลระบุโครงการใหม่จะช่วยเสริมโครงการวีซ่าที่มีอยู่แล้ว

รัฐบาลสหพันธรัฐเน้นว่าโครงการวีซ่าใหม่นี้เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับภาคส่วนอุตสาหกรรมการเกษตรว่า จะสามารถเข้าถึงแรงงานได้ในอนาคต

"นอกเหนือจากโครงการวีซ่าที่มีอยู่แล้ว ซึ่งรวมถึงโครงการวีซ่าสำหรับแรงงานจากหมู่เกาะแปซิฟิก นี่เป็นการให้การรับรองแก่อุตสาหกรรมหลักๆ ของเราว่า พวกเขาจะสามารถเข้าถึงแรงงานไร้ฝีมือ (unskilled) และแรงงานฝีมือ (skilled) ที่พวกเขาต้องการได้ในอนาคต" นายเดวิด ลิตเติลพราวด์ รัฐมนตรีกระทรวงเกษตร กล่าว

ระยะที่ 1 ของโครงการวีซ่าตัวใหม่นี้จะจำกัดอยู่เฉพาะนายจ้างกลุ่มเล็กๆ ที่ได้ผ่านการรับรองจากรัฐบาลผ่านโครงการวีซ่านำเข้าลูกจ้างจากหมู่เกาะแปซิฟิกอยู่แล้ว

ระยะที่ 2 ตั้งแต่เดือนเมษายน 2022  จะมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องสำหรับทั้งจำนวนคนงานที่ได้รับคัดเลือกและประเทศที่เข้าร่วมโครงการวีซ่าเกษตรตัวใหม่นี้

โครงการวีซ่าใหม่นี้มีขึ้นขณะที่เริ่มมีการสิ้นสุดลงของข้อกำหนดให้นักเดินทางแบ็กแพ็กเกอร์ชาวอังกฤษต้องทำงาน 88 วันในพื้นที่ส่วนภูมิภาคก่อนจึงจะสามารถขยายเวลาการอยู่ต่อในออสเตรเลียได้ ซึ่งทำให้มีการเกรงกันว่าจะนำไปสู่การขาดแคลนแรงงานตามฤดูกาล

นายอดัม เคย์ ผู้บริหารระดับสูงของ ค็อตตอน ออสเตรเลีย (Cotton Australia) ตัวแทนกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตฝ้ายแห่งออสเตรเลีย  กล่าวว่าในช่วงห้าสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ราว 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้สมัครงานกว่า 400 คนที่กำลังมองหางานผ่านแพลตฟอร์ม Cotton Jobs Australia นั้นไม่มีหนังสือเดินทางของออสเตรเลีย ซึ่งหมายความว่าพวกเขาอาจไม่มีสิทธิ์หรือไม่สามารถเริ่มทำงานได้ทันที

“เราซาบซึ้งในความพยายามของรัฐบาลในโครงการแรงงานจากหมู่เกาะมหาสมุทรแปซิฟิก แต่ก็ยังมีความต้องการระยะสั้นและระยะกลางที่ต้องได้รับการแก้ไขเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร” นายเคย์ กล่าว

วอนให้มีการไต่สวนหาความจริงเพื่อตรวจสอบการเอารัดเอาเปรียบลูกจ้าง

อย่างไรก็ตามนายมร์ก เซิร์นแซ็ก เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านกิจกรรมรณรงค์เกี่ยวกับความยุติธรรมทางสังคมขององค์กรยูไนติง เชิร์ช ออสเตรเลีย (Uniting Church Australia) ในรัฐวิกตอเรียและแทสเมเนีย มองว่า ไม่มีหลักฐานของการขาดแคลนแรงงานจากประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก

นายเซิร์นแซ็ก ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการลูกจ้างตามฤดูกาลจากประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกมาตั้งแต่ปี 2014 เขากล่าวว่าการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ครั้งนี้ทำให้ลูกแรงงานที่เดินทางมาถึงแล้วไม่สามารถกลับบ้านได้ ซึ่งทำให้พวกเขาต้องดำรงชีวิตอยู่จากเงินที่เก็บออมไว้

“ในบรรดาคนงานที่เรามีการติดต่อด้วย มีแรงงานเป็นสัดส่วนสูงที่ไม่มีงานทำ” นายเซิร์นแซ็ก กล่าว

"มีเครื่องหมายคำถามเกี่ยวกับว่า เราจำเป็นต้องมีวีซ่าเกษตรโครงการใหม่นี้หรือไม่นี้ และหากมีความจำเป็น ข้อโต้แย้งของเราคือ จำเป็นต้องมีการเปิดเผยรายละเอียดต่อสาธารณะเกี่ยวกับมาตรการปกป้องต่างๆ ก่อนที่จะเริ่มนำคนงานเข้ามา”

"มีรายละเอียดพอสมควรที่ขาดหายไป และเนื่องจากคุณมีคนงานอย่างน้อย 55,000 คนจากมหาสมุทรแปซิฟิกที่เต็มใจและพร้อมที่จะมา จะต้องเร่งรีบอะไรนักหนา (สำหรับโครงการวีซ่าใหม่นี้) "

คนงานทุกคนได้รับสิทธิ์และการคุ้มครองเช่นเดียวกัน ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นพลเมืองหรือเป็นผู้ถือวีซ่า สิทธิ์และการคุ้มครองเหล่านั้นจะมีให้อย่างเท่าเทียมกันสำหรับลูกจ้างภายใต้วีซ่าเกษตรกรรมของออสเตรเลียด้วย รัฐบาลสหพันธรัฐ ระบุ
แต่ ศ.ฮาวส์ กล่าวว่า มีเหตุผลเชิงกลยุทธ์และเหตุผลทางเศรษฐกิจที่ไม่ควรขยายแหล่งนำเข้าแรงงานเกษตรกรรมไปนอกเหนือประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก

ต่างจากประเทศที่มีประชากรจำนวนมากและมีอุตสาหกรรมการผลิตและการท่องเที่ยวที่กำลังพัฒนาหรือเป็นที่ยอมรับแล้ว โดยทั่วไปแล้วประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกจะโดดเดี่ยว ห่างไกล และไม่มีโอกาสในการจ้างงานแบบเดียวกับประเทศอื่นๆ เหล่านั้น

"พวกเขาต้องการโอกาสในการเดินทางเข้ามาทำงานสูงกว่ามาก" ศ.ฮาวส์ กล่าว

นอกจากนี้ยังมีความเป็นห่วงเกี่ยวกับการเอารัดเอาเปรียบแรงงานต่างด้าว ซึ่งเป็นปัญหาที่บางคนเชื่อว่าจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเป็นอันดับแรก
บริษัทนายหน้าจัดหาแรงงานที่ไร้จรรยาบรรณกำลังแข่งกันจ่ายค่าแรงให้น้อยที่สุดให้คนงาน
นายกเทศมนตรีเมืองบันดาเบิร์ก (Bundaberg) ซึ่งอยู่ในศูนย์กลางการเกษตรของรัฐควีนส์แลนด์ ต้องการให้มีการไต่สวนหาความจริงสาธารณะเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อแรงงานต่างด้าว "เพื่อมองทะลุผลประโยชน์ต่างๆ ที่แข่งกันได้รับโดยไม่มีอคติ และเสนอแนะแนวทางที่ชัดเจน"

“เกษตรกรส่วนใหญ่ทำในสิ่งที่ถูกต้อง แต่มีความกังวลกันว่าบริษัทนายหน้าจัดหาแรงงานที่ไร้จรรยาบรรณกำลังแข่งกันจ่ายค่าแรงให้น้อยที่สุดให้คนงาน” นายแจ็ก เดมป์ซีย์ นายกเทศมนตรีเมืองบันดาเบิร์ก กล่าว

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 



Share
Published 22 November 2021 11:48am
By SBS News
Presented by Parisuth Sodsai
Source: AAP, SBS


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand