‘ติดขัดอย่างที่สุด’: ความท้าทายที่ระบบวีซ่าของออสเตรเลียกำลังเผชิญ

นายแอนดรูว์ ไจลส์ รัฐมนตรีด้านการตรวจคนเข้าเมือง กล่าวว่า ความล่าช้าในกระบวนการพิจารณาวีซ่าเป็นวาระสำคัญอันดับต้นๆ ที่รัฐบาลของเขาจะแก้ไข แต่นักวิเคราะห์ผู้หนึ่งกล่าวว่า ระบบการพิจารณาวีซ่าของออสเตรเลียกำลังประสบภาวะ ‘ติดขัดอย่างที่สุด’

immigration_sbs_news.jpg

Source: SBS News / Aaron Hobbs

รัฐมนตรีด้านการตรวจคนเข้าเมือง แอนดรูว์ ไจลส์ ยอมรับว่า “ยังมีอีกมากที่ต้องทำ” เพื่อสร้างโครงการอพยพย้ายถิ่นของออสเตรเลียขึ้นใหม่ ซึ่งระบบยังคงเผชิญผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19

“ในแง่ของความล่าช้ามากเกินธรรมดาที่เราเห็นในการดำเนินการพิจารณาวีซ่า นี่เป็นวาระสำคัญสำหรับผมและรัฐบาลพรรคแรงงานภายใต้นายอัลบานีซี” นายไจลส์ บอกกับ เอสบีเอส นิวส์

“ไม่ว่าจะเป็นวีซ่าที่เกี่ยวข้องกับด้านมนุษยธรรม การกลับมาอยู่ร่วมกันอีกครั้งของสมาชิกครอบครัว หรือวีซ่าลูกจ้างทักษะ เราจำเป็นต้องทำให้ดีกว่านี้มาก”

เขาได้ดำเนินการขอคำแนะนำเพื่อจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ที่กรมการตรวจคนเข้าเมืองต้องเผชิญ โดยถือเป็น "วาระเร่งด่วน"

กรมการตรวจคนเข้าเมืองกำลังเผชิญกับการตัดงบประมาณ 875 ล้านดอลลาร์ โดยจากแผนปรับปรุงร่างงบประมาณสหพันธรัฐที่รัฐบาลมอร์ริสันประกาศในเดือนมีนาคม

นี่เป็นสิ่งที่ในตอนนี้รัฐบาลอัลบานีซีต้องเลือกว่าจะจัดการกับประเด็นนี้เมื่อแถลงร่างงบประมาณสหพันธรัฐครั้งแรกของรัฐบาลพรรคแรงงานในเดือนตุลาคมนี้หรือไม่

กระทรวงมหาดไทย (Home Affairs department) ยืนกรานว่า กระทรวงยังคงต้องรับมือกับ "ผลกระทบอย่างหนัก" ต่อกระบวนการพิจารณาวีซ่าอันเป็นผลมาจากการระบาดใญ่ของโควิด-19

ช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 นั้นทำให้เจ้าหน้าที่จำนวนมากต้องพิจารณาคำร้องขอยกเว้นเดินทางเข้า-ออกจากออสเตรเลียในช่วงที่มีการปิดพรมแดนระหว่างประเทศ ตลอดจนอนุมัติการเดินทางขาเข้าและขาออกนอกประเทศ

“กรมจะทำงานร่วมกับรัฐบาลเพื่อให้แน่ใจว่าการพิจารณาวีซ่าที่คั่งค้างอยู่จะดำเนินการภายในเวลาที่เหมาะสมที่สุด” โฆษก กล่าว

แต่อดีตรองเลขาธิการกรมตรวจคนเข้าเมือง คือนายอะบูล ริซวี ประเมินความท้าทายเหล่านี้อย่างตรงไปตรงมา

“เรามีสถานการณ์ที่กระทรวงมหาดไทยและระบบวีซ่าอยู่ในภาวะติดขัดอย่างที่สุด” นายริซวี กล่าวกับเอสบีเอสนิวส์

“มีอีกมากที่ต้องแก้ไขและนั่นจะใช้เวลา”

ความต้องการวีซ่าลูกจ้างทักษะ

การระบาดใหญ่ของโควิด-19 เขย่าโครงการอพยพย้ายถิ่นของออสเตรเลีย โดยประสบภาวะจำนวนผู้ย้ายถิ่นฐานที่เดินทางเข้ามาติดลบเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่สอง

แม้การเปิดพรมแดนของออสเตรเลียอีกครั้งกำลังช่วยให้ฟื้นตัว แต่ผลกระทบยังคงมีอยู่ โดยธุรกิจต่างๆ โอดครวญว่า กำลังมีภาวะขาดแคลนแรงงานทักษะในวงกว้าง

นายแอนดรูว์ แมคเคลลาร์ ประธานกรรมการบริหารของหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งออสเตรเลีย กล่าวว่า ธุรกิจต่างๆ กำลังแจ้งเข้ามาถึง “อุปสรรคสำคัญ” ในการดึงดูดแรงงานที่มีทักษะ

“ปัญหาการขาดแคลนทักษะในวงกว้างยังคงเป็นความท้าทายที่เร่งด่วนที่สุดที่ธุรกิจต้องเผชิญ ซึ่งจำกัดความสามารถของธุรกิจที่จะดำเนินงานได้อย่างเต็มศักยภาพ” นาย แมคเคลลาร์ กล่าวกับ เอสบีเอส นิวส์

เขาอ้างถึง "ระยะเวลาที่ยืดเยื้อในการพิจารณาวีซ่า ค่าใช้จ่ายที่มากเกินไป ความสับสนในมาตรการที่ต้องปฏิบัติตาม และการทดสอบตลาดแรงงานแบบภาคบังคับ" ว่าเป็นความท้าทายสำหรับนายจ้าง

โฆษกกระทรวงกล่าวว่า "กระทรวงกำลังดำเนินการประเมินลำดับความสำคัญของวีซ่าต่างๆ เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ"

บริดจิงวีซ่าที่คั่งค้างอยู่

ความกดดันต่อทรัพยากรของกระทรวงมหาดไทยยังได้ส่งผลให้ผู้คนราว 367,000 คนกำลังอาศัยอยู่ในออสเตรเลียด้วยบริดจิงวีซ่า (bridging visa)

ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิม 180,000 คนในเดือนมิถุนายน 2019 ตามข้อมูลของรัฐบาล

กระทรวงมหาดไทยได้ชี้ว่า สาเหตุมาจากจำนวนผู้คนมากขึ้นที่ไม่สามารถเดินทางออกจากออสเตรเลียได้เนื่องจากข้อจำกัดด้านการเดินทางเพราะโควิด-19

นายริซวี กล่าวว่า ต้องมีการแก้ไขการพิจารณาวีซ่าที่คั่งค้างอยู่ในระบบ

“สถานการณ์เกี่ยวกับบริดจิงวีซ่าโดยรวมนั้นสะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์เรื่องวีซ่ากำลังอยู่ในภาวะติดขัดเพียงใด” เขากล่าว

“มีบางอย่างที่ต้องทำเพื่อสะสาง แต่วีซ่าที่คั่งค้างในมือประกอบด้วยผู้คนที่ยื่นขอวีซ่าประเภทต่างๆ กัน ดังนั้นจึงไม่มีมาตรการเดียวที่จะแก้ไขได้”

การยื่นขอวีซ่านักเรียน

นอกจากนี้ยังมีการร้องเรียนจากนักศึกษาต่างชาติเกี่ยวกับการเผชิญกับความล่าช้าอย่างต่อเนื่องกว่าจะรู้ผลการยื่นขอวีซ่าเพื่อมาศึกษาเล่าเรียนในออสเตรเลีย

ปัญหาเรื่องนี้เป็นความท้าทายอันดับต้นๆ ซึ่งเกิดจากความไม่แน่นอนสองปีเนื่องจากการระบาดใหญ่ของ โควิด-19

นายออสการ์ ซี เชา ออง (Oscar Zhi Shao Ong) ประธานสภานักเรียนต่างชาติของออสเตรเลีย กล่าวว่า นักเรียนบางคนกำลังเผชิญกับการรอคอยที่ยาวนาน “อย่างมีนัยสำคัญ” ในการพิจารณาวีซ่า

“เราได้ยินมาว่านักเรียนจำนวนมากขึ้นๆ รอวีซ่าเป็นเวลานาน” นายออง กล่าว

มีผู้ยื่นขอวีซ่านักเรียนมากกว่า 52,000 คนที่ยื่นใบสมัครแล้วในต่างประเทศ และราว 76,400 คนจากการยื่นขอวีซ่าในประเทศ ณ เดือนเมษายนที่ผ่านมา ตามสถิติอย่างเป็นทางการ

ราวร้อยละ 76 ของใบสมัครในต่างประเทศมีอายุน้อยกว่า 2 เดือน โดยราวร้อยละ 2 ของใบสมัครในระบบทั้งหมดมีอายุมากกว่า 18 เดือน

องค์กรยูนิเวอร์ซิตี ออสเตรเลีย (Universities Australia) ซึ่งเป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยต่างๆ ในออสเตรเลีย ได้สนับสนุนเสียงเรียกให้การปรับปรุงการพิจารณาวีซ่า

“ทุกสิ่งที่เราสามารถทำได้เพื่อให้แน่ใจว่ากระบวนการพิจารณาวีซ่านั้นตรงไปตรงมา มีประสิทธิภาพ และเข้มงวด ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการให้ความแน่นอนและความมั่นใจแก่นักเรียนในต่างประเทศ” โฆษกกล่าวกระทรวงระบุว่าได้ออกวีซ่าไปแล้วกว่า 1,301,000 วีซ่านับตั้งแต่ที่เดือนพฤศจิกายน 2021 ซึ่งพรมแดนของออสเตรเลียได้เปิดอีกครั้งสำหรับนักเดินทางที่ได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 แล้ว




คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 14 June 2022 12:29pm
By Tom Stayner
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS News

Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand