ต้องสวมหน้ากากช่วงฤดูร้อน? โควิดระลอกใหม่จะส่งผลอย่างไรในออสเตรเลีย

โควิด-19 ระลอกที่ 4 มาถึงออสเตรเลียแล้ว นี่หมายความว่าข้อจำกัดต่างๆ จะกลับมาอีกหรือเปล่า หรือเราจะใช้ชีวิตได้ตามปกติต่อไป?

A man in a cap and a scarf wearing a face mask

Australia is experiencing a new wave of COVID-19 cases, not long after mandatory public health measures were removed. Source: AAP / Joel Carrett

ออสเตรเลียกำลังอยู่ท่ามกลางการระบาดของโควิดระลอกใหม่ โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมากทั่วประเทศในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

ผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 63 ในรัฐวิกตอเรียจาก 10,226 รายเป็น 16,636 ราย ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่รายสัปดาห์ในรัฐนิวเซาท์เวลส์เพิ่มขึ้นกว่า 7,000 ราย เป็น 19,800 ราย

จำนวนผู้ติดเชื้อที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยจำนวนผู้ที่ป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาลในรัฐควีนส์แลนด์เพิ่มขึ้นเท่าตัวในเวลาเพียง 7 วัน

แล้วการระบาดระลอกล่าสุดนี้เกิดจากอะไร และจะส่งผลอย่างไรต่อออสเตรเลีย?

อะไรผลักดันให้เกิดการระบาดระลอกใหม่?

แม้โดยทั่วไปแล้วเรามักได้รับคำเตือนว่าผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมากในช่วงฤดูหนาว แต่การระบาดระลอกใหม่นี้เกิดขึ้นในออสเตรเลียในช่วงฤดูใบไม้ผลิ

ศาสตราจารย์เอเดรียน เอสเทอร์แมน หัวหน้าฝ่ายชีวสถิติและระบาดวิทยาของมหาวิทยาลัยเซาท์ออสเตรเลีย กล่าวว่า นั่นเป็นเพราะว่ามีสิ่งสำคัญ 3 ประการเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน

ประการแรกคือ ผู้คนจำนวนมากในออสเตรเลียมีภูมิคุ้มกันลดลง ทั้งที่มาจากการฉีดวัคซีนและการติดเชื้อครั้งก่อน

“ตอนนี้ผ่านไป 7 เดือนแล้วนับตั้งแต่ผมได้รับวัคซีนเข็มล่าสุด นั่นหมายความว่าตอนนี้ผมมีภูมิคุ้มกันที่ลดลงอย่างมากต่อโควิด-19 ซึ่งนั่นรวมถึงการปกป้องไม่ให้เกิดความเจ็บป่วยที่รุนแรงและการเสียชีวิต” ศ.เอสเทอร์แมน กล่าวกับเอสบีเอส นิวส์

“ดังนั้น แม้ว่าผมจะยังคงมีภูมิคุ้มกันอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้แข็งแกร่งเท่าเมื่อ 7 เดือนก่อน และผู้คนจำนวนมากก็อยู่ในสถานการณ์นั้น”
A chart of the number of COVID-19 cases in each Australian state and territory
Credit: SBS
ประการที่สองคือเชื้อสายพันธุ์ย่อยตัวใหม่ๆ ของเชื้อโอมิครอนได้มาถึงออสเตรเลียแล้ว รวมถึงเชื้อเอ็กซ์บีบี (XBB) และบีคิว.1 (BQ.1)

“พวกมันได้กลายเป็นเชื้อหลักที่ระบาดในพื้นที่ต่างๆ เช่น สิงคโปร์และฝรั่งเศส และกำลังเริ่มเข้ามาเป็นเชื้อหลักที่ระบาดที่นี่ด้วย” ศ.เอสเทอร์แมน กล่าว

"(เชื้อสายพันธุ์ย่อยใหม่ๆ เหล่านี้) สามารถแพร่กระจายได้ดีกว่าสายพันธุ์บีเอ.5 (BA.5) มาก พวกมันหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันของเราได้ดีกว่ามาก และแค่เชื้อใหม่ๆ พวกนี้เพียงอย่างเดียวก็ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องภูมิคุ้มกันที่ลดลง"

ประการสุดท้ายที่มีส่วนนำไปสู่การระบาดระลอกที่ 4 นี้ คือการยกเลิกมาตรการต่างๆ ด้านสาธารณสุข เช่น ยกเลิกกักตัวแบบบังคับ และยกเลิกการสวมหน้ากากอนามัยภายในอาคาร

“เราปลดเบรกซึ่งเป็นมาตรการทั้งหมดในการลดการระบาดออกไปแล้ว เราไม่เหลือมาตรการอะไรแล้ว” ศ.เอสเทอร์แมนกล่าว

"นั่นหมายความว่าถ้ามีเชื้อสายพันธุ์ใหม่เข้ามาโดยที่เราไม่มีภูมคุ้มกัน มันก็จะตรงดิ่งไปสู่ประชากร"
A chart of the number of COVID-19 hospitalisations in each Australian state and territory
Credit: SBS

สถานการณ์ร้ายแรงเพียงใด?

ศาสตราจารย์แคทเธอรีน เบ็นเน็ตต์ ประธานสาขาระบาดวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยดีคิน ในรัฐวิกตอเรีย กล่าวว่า เชื้อสายพันธุ์ย่อยตัวใหม่ๆ เหล่านี้คล้ายคลึงกับที่เราเคยเห็นก่อนหน้านี้

“โชคดีที่พวกมันไม่ก่อให้เกิดอาการป่วยรุนแรงมากกว่า” ศ.เบ็นเน็ตต์ บอกกับ เอสบีเอส นิวส์

"แต่จากประสบการณ์ของเรา เรารู้ว่าอัตราการติดเชื้อที่สูงขึ้นอาจหมายถึงผู้คนจำนวนมากขึ้นลงเอยด้วยการเข้าโรงพยาบาล"

ศ.เอสเทอร์แมน กล่าวว่า ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่าการระบาดระลอกใหม่นี้จะไม่ดำเนินไปเป็นระยะเวลานานหรือจะไม่รุนแรงเท่าครั้งก่อนๆ

“เหตุผลที่ผู้คนกล่าวเช่นนี้เพราะเราเคยเห็นการระบาดที่คล้ายกันนี้เริ่มขึ้นในสิงคโปร์และฝรั่งเศส การระบาดเหล่านั้นค่อนข้างสั้นและจำนวนผู้ติดเชื้อไม่สูงเท่าบีเอ.5” ศ.เอสเทอร์แมน กล่าว

"แต่ไม่มีสิ่งใดรับประกันว่าสถานการณ์แบบเดียวกันจะเกิดขึ้นที่นี่"

ยังคงมีความเป็นไปได้สำหรับทุกคนที่จะเกิดความเจ็บป่วยอย่างรุนแรง การเสียชีวิต และปัญหาสุขภาพที่เรื้อรัง เช่น ลองโควิด (Long COVID) ศ.เอสเทอร์แมน กล่าวเสริม

ทางการทำอะไรบ้าง?

ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (10 พ.ย.) รัฐควีนส์แลนด์ ได้เปลี่ยนแปลงการแจ้งเตือนสถานการณ์โควิด-19 ที่เป็นระบบแบบสัญญาณไฟจราจร จากระดับสีเขียวมาเป็นสีเหลือง โดยแจ้งให้ประชาชนในรัฐตื่นตัวแต่ไม่ต้องตื่นตระหนก

นอกจากการเปลี่ยนระดับสถานการณ์แล้ว ยังมีคำแนะนำให้ชาวรัฐควีนส์แลนด์สวมหน้ากากอนามัยเมื่อใช้บริการขนส่งสาธารณะและภายในสถานพยาบาล

แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นอย่างมากในรัฐและมณฑลทุกแห่งของออสเตรเลีย แต่จนถึงขณะนี้นอกจากควีนส์แลนด์แล้วยังไม่มีรัฐหรือมณฑลอื่นใดที่เปลี่ยนคำแนะนำด้านสาธารณสุข

แต่ละคนสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อให้ปลอดภัยจากโควิดในช่วงฤดูร้อน?

ข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่าร้อยละ 72.2 ของผู้มีสิทธิ์ในออสเตรเลียได้รับวัคซีนต้านโควิดเข็มที่สามแล้ว

ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 42.1 ของผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไปที่ได้รับวัคซีนเข็มที่สี่

ศ.เบ็นเน็ตต์กล่าวว่า การได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นอย่างครบถ้วนตามคำแนะนำล่าสุดนั้น "สำคัญมาก" โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีเชื้อไวรัสมากขึ้นแพร่กระจายในชุมชน

“นั่นจะช่วยให้อย่างน้อยคนวัยหนุ่มสาวผ่านช่วงเวลาที่พวกเขาอาจช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ และนั่นอาจช่วยให้จำนวนผู้ติดเชื้อในการระบาดระลอกนี้ลดลงได้” ศ.เบ็นเน็ตต์ กล่าว

"แต่สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยร้ายแรง เพราะวัคซีนเข็มกระตุ้นสามารถสร้างความแตกต่างได้มาก - มันสามารถช่วยให้คุณไม่ป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาล"

คนกลุ่มเดียวที่ขณะนี้มีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนต้านโควิดเข็มที่ห้า คือผู้มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างรุนแรงที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป แต่ศ.เอสเทอร์แมนกล่าวว่า เขาคิดว่าวัคซีนเข็มที่ห้าจะฉีดให้แก่ผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ ด้วยในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า
คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญสำหรับมาตรการอื่นๆ เพื่อลดความเสี่ยงของคุณยังคงเหมือนเดิมคือ ควรสวมหน้ากากภายในอาคาร การเว้นระยะห่างจากผู้อื่นหากทำได้ การล้างมือให้สะอาด และการตรวจเชื้อและอยู่บ้านเมื่อคุณป่วย

“สิ่งเหล่านั้นล้วนมีความสำคัญ และสำคัญมากขึ้นขณะที่ความเสี่ยงในการติดเชื้อในชุมชนของเราเพิ่มสูงขึ้น” ศ.เบ็นเน็ตต์กล่าว

“สิ่งที่เราทำในตอนนี้ อันที่จริงแล้วในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าอาจสร้างความแตกต่างอย่างมากสำหรับสิ่งที่เราจะประสบในช่วงวันหยุดฤดูร้อนของเรา”

"คุณอาจไม่สามารถสวมหน้ากากอนามัยได้ตลอดเวลา แต่ทุกครั้งที่คุณสวมหน้ากากอนามัย คุณจะลดความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อ และถ้าเป็นสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงสูง การอยู่ภายในอาคารกับผู้คนที่ปกติคุณได้ไม่คลุกคลีด้วย หากเป็นเช่นนั้นก็ถึงเวลาที่ควรสวมหน้ากากอนามัย เพราะนั่นจะช่วยให้คุณไม่ต้องกักตัวในช่วงคริสต์มาส”

ระบบการรักษาพยาบาลจะสามารถรับมือการระบาดระลอกนี้ได้หรือไม่?

โรงพยาบาลและระบบการรักษาพยาบาลในวงกว้างจะสามารถรับมือกับการระบาดระลอกใหม่นี้ได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับว่าการระบาดระลอกนี้กินเวลานานเพียงไรและมีความรุนแรงแค่ไหน ศ.เอสเทอร์แมน กล่าว

“หากการระบาดระลอกนี้ที่เริ่มขึ้นแล้วขณะนี้นั้นสั้นลงและมีจำนวนผู้ติดเชื้อไม่สูงเท่าการระบาดระลอกก่อนๆ โรงพยาบาลและระบบรักษาพยาบาลของเราก็น่าจะรับมือได้” ศ.เอสเทอร์แมน กล่าว

“ถ้ามันแย่กว่าหรือเลวร้ายกว่าบีเอ.5 เราก็คงลำบาก”

ศาสตราจารย์เบ็นเน็ตต์กล่าวว่า หากผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยรุนแรงกินยาต้านไวรัสทันทีที่พวกเขาป่วย ก็ไม่เพียงแต่จะเพิ่มโอกาสที่พวกเขาจะสามารถพักฟื้นที่บ้านได้เท่านั้น แต่ยังช่วยลดแรงกดดันต่อโรงพยาบาลด้วย

"หากเราพยายามทำทุกอย่างที่เราทำได้ในระดับบุคคลเพื่อลดความเสี่ยงที่จะป่วยหนัก นั่นก็จะช่วยได้"


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 


บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 14 November 2022 11:40am
By Amy Hall
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand