ชั่วโมงลด-รายได้เท่าเดิม ออสฯ พร้อมไหมกับการทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน

ลูกจ้างชาวออสเตรเลียที่บริษัทยูนิลีเวอร์กำลังทดลองนำร่องการทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน ลดชั่วโมงทำงานลง แต่เงินเดือนยังเท่าเดิม การทำงานในลักษณะนี้ควรเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายหรือไม่

Flexible working

Advocates say workplaces can still meet targets on a four-day working week. Source: Getty / Maskot/Getty Images/Maskot

ประเด็นสำคัญในบทความ
  • คนทำงานในบริษัทยูนิลีเวอร์ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ (Unilever ANZ) กำลังทดลองนำร่องการทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน หลังได้ผลดีที่นิวซีแลนด์
  • พนักงานจะยังได้เงินเดือนเท่าเดิม ขณะที่ชั่วโมงในการทำงานจะลดลง ขณะที่ธุรกิจยังคงคาดหวังให้พนักงานทำงานให้ได้ตามเป้าหมายเช่นเดิม
  • ผู้สนับสนุนการทำงานในลักษณะนี้ระบุว่า การใช้เวลาในที่ทำงานน้อยลง สามารถปรับปรุงผลิตผลและความเป็นอยู่ที่ดีได้
ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งลูกจ้างและธุรกิจต่าง ๆ ทั่วออสเตรเลียต่างถูกบังคับให้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน

ระหว่างที่ชีวิตเริ่มกลับเข้าสู่ความปกติในหลายแง่มุม การทำงานแบบไฮบริดได้กลายเป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไปในหลายอุตสาหกรรม ซึ่งบ่อยครั้งที่ลูกจ้างจะทำงานจากที่บ้าน มีธุรกิจบางแห่งที่ก้าวไปไกลกว่านั้น ด้วยการเปิดโอกาสให้มีความยืดหยุ่นในจำนวนชั่วโมงงานสำหรับลูกจ้างเต็มเวลา (ฟูลไทม์)

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (2 พ.ย.) ยูนิลีเวอร์ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ (Unilever ANZ) กลุ่มบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภค ได้ประกาศว่า พนักงานในออสเตรเลียจะทดลองการทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน จากความสำเร็จของการทดลองดังกล่าวเป็นระยะเวลา 18 เดือนในนิวซีแลนด์

แล้วการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ทำงานอย่างไร ควรเป็นที่แพร่หลายหรือไม่ และออสเตรเลียพร้อมหรือยังสำหรับสิ่งนี้

การทำงานสัปดาห์ละ 4 วันเป็นอย่างไร

แนวคิดการทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน รวมไปถึงการลดระยะเวลาในการทำงาน โดยไม่ลดจำนวนผลงานหรือค่าตอบแทน ในการทดลองของยูนิลีเวอร์ ออสเตรเลีย พนักงานจะสามารถเลือกวันที่ไม่ทำงาน หรือกระจายเวลาทำงานที่ลดลงไปตามวันต่าง ๆ ของสัปดาห์นั้นได้
“เราเพียงขอให้สมาชิกในทีมของเราค้นหาศักยภาพที่ซ่อนอยู่ 20% ซึ่งอยู่ตามธุรกิจต่าง ๆ และทำให้เราช้าลง” นิกกี สปาร์ชอตต์ (Nicky Sparshott) ประธานบริหารของยูนิลีเวอร์ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ กล่าวกับเอเอพี

“มันเป็นเรื่องของการนำค่าใช้จ่าย โปรเจ็คต์ และกระบวนการที่ไม่สร้างมูลค่าออกไป และคิดอย่างแตกต่างเกี่ยวการเข้าประชุมที่เรามีส่วนร่วม หรือการสื่อสาร และการทำงานร่วมกันให้ดีขึ้น”

นอกจากนี้ พนักงานยังสามารถแบ่งเวลาทำงาน 4 วันระหว่างที่บ้านและที่ทำงานได้อีกด้วย

มีผลดีอย่างไร

จากการวิจัยโดย 4 Week Day Global องค์กรไม่แสวงผลกำไร พบว่า การลดชั่วโมงทำงานของลูกจ้างสามารถเพิ่มผลิตผล และเป็นประโยชน์ทั้งต่อบุคคลและธุรกิจ

การทดลองนำร่อง 18 เดือนของยูนิลีเวอร์ในนิวซีแลนด์ ได้แสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่แข็งแรงเมื่อเปรียบเทียบกับเป้าหมายทางธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการเติบโตของรายได้ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและพันธมิตรยอมรับว่าทีมงานยังคงทำงานให้แล้วเสร็จได้ตรงเวลาและมีมาตรฐานสูง

ขณะที่อัตราการขาดงานและความเครียดลดลงไปร้อยละ 34 และ 33 ตามลำดับ ขณะที่ ความรู้สึก “มีกำลังและกระฉับกระเฉง” เพิ่มขึ้นร้อยละ 15

นอกจากนี้ ความขัดแย้งระหว่างชีวิตและการทำงานยังลดลงถึงร้อยละ 67

ดร.คริสตี กูดวิน (Dr.Kristy Goodwin) นักวิจัยประสิทธิภาพดิจิทัล นักพูด และนักเขียน กล่าวว่า การใช้เวลาในการทำงานน้อยลงยังเป็นผลดีทางประสาทวิทยาอีกด้วย

“เราต้องการทำให้แน่ใจว่าเราใช้เวลาที่เรามีอยู่ให้ดีที่สุด ลดการหยุดชะงักทางดิจิทัลให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ มีความตั้งใจในการใช้เวลาของเรา (ในที่ทำงาน) และสร้างป้อมปราการให้กับความมุ่งมั่นของเรา”

“มันเป็นเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพของเรา ด้วยการทำงานให้สอดคล้องกับที่สมองและร่างกายของเราถูกออกแบบมา ... มันเป็นเรื่องที่ฟังแล้วดูคร่ำครึ แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นเรื่องของการทำงานให้ฉลาดขึ้น ไม่ใช่ทำงานให้หนักขึ้น”

นอกจากนี้ การวิจัยดังกล่าว ยังพบประโยชน์ในเชิงบวกของการประชุมที่น้อยลงอีกด้วย
พบว่า หลังจากลดการประชุมลงร้อยละ 40 พบว่าผลิตผลเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 71 และเมื่อลดการประชุมลงร้อยละ 60 พบว่าความร่วมมือของพนักงานเพิ่มขึ้น และได้ปรับปรุงระดับความเครียดและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน

ยังพบอีกว่า การใช้เวลาประชุมมากขึ้นมีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะเบิร์นเอาท์และความเหนื่อยล้าของคนทำงาน ขณะที่ความยืดหยุ่นนั้นเชื่อมโยงกับผลลัพธ์ในเชิงบวกเกี่ยวกับนวัตกรรม ความเป็นอยู่ที่ดี และการรับรู้ถึงวัฒนธรรมการทำงาน

ดร.กูดวิน กล่าวว่า สัปดาห์ทำงานที่สั้นลงไม่ควรกลายเป็นการทำงาน 4 วันที่ยาวนานขึ้น และได้เน้นยำว่าแนวคิดนี้ควรทำให้พนักงานเต็มเวลามีชั่วโมงงานโดยรวมที่ลดลง

“คุณจะไม่ได้รับประโยชน์อะไรหากผู้คนทำงานวันละ 11 ชั่วโมง นั่นจะส่งผลตรงกันข้าม และผลิตผลของคุณจะลดลง” ดร.กูดวิน กล่าว

“ในแง่ของประสาทวิทยา คอร์เทกซ์กลีบหน้าผากส่วนหน้า (prefrontal cortex) ซึ่งเป็นส่วนของสมองที่ทำงานหนักจะอ่อนล้า”

ประเทศอื่น ๆ ทำกันอย่างไร

ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ไม่ใช่ประเทศแรกที่พิจารณาปรับใช้การทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เบลเยียมได้ประกาศกฎหมายใหม่ ซึ่งอนุญาตให้ลูกจ้างเต็มเวลา (ฟูลไทม์) สามารถขอกระจายเวลาทำงาน 10 ชั่วโมงในวันหนึ่งของสัปดาห์ไปในวันต่าง ๆ เพื่อให้ได้วันหยุดเพิ่มขึ้นในสัปดาห์นั้นได้

ภาคธุรกิจหลายแห่งทั่วโลก ซึ่งรวมถึงประเทศไอซ์แลนด์ สหรัฐ ฯ แคนาดา และญี่ปุ่นก็ได้เริ่มการทดลองนำร่องการทำงานในลักษณะนี้เช่นกัน

เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ปีเตอร์ โดวด์ (Peter Dowd) สมาชิกสภาจากพรรคแรงงานในอังกฤษ ได้เสนอร่างกฎหมายต่อรัฐสภาอังกฤษ ในการลดชั่วโมงทำงานสูงสุดรายสัปดาห์จาก 48 ชั่วโมงเหลือ 32 ชั่วโมง




คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 7 November 2022 1:52pm
Updated 7 November 2022 2:01pm
By Jessica Bahr
Presented by Tinrawat Banyat
Source: SBS, AAP


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand