งานวิจัยออสฯ พบคนเมืองอาศัยใกล้ต้นไม้ 'มีสุขภาพหัวใจดีขึ้น'

การศึกษาวิจัยประชากรเขตเมืองนับแสนคนและข้อมูลด้านสุขภาพ 10 ปีในออสเตรเลีย พบประโยชน์ของต้นไม้ที่มีผลต่อคนเมือง ด้านนักวิจัยดันให้มีการลงทุนในพื้นที่สีเขียวมากขึ้นในตึกอะพาร์ตเมนต์ที่แออัด

Two people sit on a park bench under a tree at Centennial Park in Sydney.

With increasing levels of urbanisation around the world, the Australian researchers say the findings should inform urban planning. Source: AAP / Joel Carrett

ประเด็นสำคัญในข่าว
  • การศึกษาวิจัยออสเตรเลียเผย อยู่ใกล้ร่มเงาต้นไม้ ลดความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงภาวะหัวใจวายได้
  • การวิจัยวิเคราะห์ข้อมูลจากประวัติด้านด้านการรักษาพยาบาลและข้อมูลการเสียชีวิตระยะเวลา 10 ปี จากประชาชนในออสเตรเลีย 1 แสนคน
  • แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังมีความเข้าใจอยู่น้อยว่าพื้นที่สีเขียวแบบใดจะช่วยรักษาสุขภาพหัวใจได้ นักวิจัยชี้ควรมุ่งศึกษาพร้อมย้ำความสำคัญ
มีภูมิปัญญาเก่าแก่ที่กล่าวไว้ว่า แอปเปิลวันละผลจะช่วยให้ห่างไกลจากแพทย์ คำแนะนำด้านสุขภาพล่าสุดที่แนะนำให้เดินให้ได้วันละ 10,000 ก้าวก็รักษาสุขภาพได้ด้วยเช่นกัน แต่ถ้าเป็นเพียงการเดินทอดน่องสบาย ๆ ในสวนสาธารณะล่ะ อันที่จริงแล้วก็รักษาสุขภาพได้ แต่ขึ้นอยู่กับว่าผู้คนเหล่านั้นอาศัยอยู่ในบ้านหรือในอะพาร์ตเมนต์ และรูปแบบพื้นที่สีเขียวที่สามารถเข้าถึงได้นั้นเป็นอย่างไร

มีการการวิจัยใหม่ของออสเตรเลียที่พบว่า ผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านเดี่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากอยู่ท่ามกลางหรืออย่างน้อยก็อยู่ใกล้กับร่มไม้แทนที่จะเป็นทุ่งหญ้ากว้าง มีแนวโน้มที่จะมีสุขภาพหัวใจดีกว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในอะพาร์ตเม้นต์
อยู่บนพื้นฐานของการวิเคราะห์การจัดที่อยู่อาศัยของผู้ที่อาศัยในเขตเมืองและละแวกใกล้เคียงในท้องถิ่นกว่า 1 แสนคนในออสเตรเลีย พร้อมกับข้อมูลการรักษาพยาบาลและข้อมูลด้านสุขภาพระยะเวลา 10 ปี

การศึกษาพบว่า การเพิ่มขึ้นของร่มไม้จำนวนร้อยละ 10 สามารถลดสัญญาณบ่งชี้โรคหัวใจสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ภายในบ้านได้ โดยการชี้วัดเหล่านี้รวมถึงความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากโรคหัวในและหลอดเลือดที่ลดลงร้อยละ 4 และความเสี่ยงของการเกิดภาวะหัวใจวายที่ลดลงร้อยละ 7

ศาสตราจารย์ เซี่ยวฉี เฟิ่ง (Xiaoqi Feng) ผู้นำนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยรัฐนิวเซาท์เวลส์ ชี้ว่า ก่อนหน้านี้ การศึกษาดังกล่าวได้เชื่อมโยงสวนสาธารณะและพื้นที่ชุมชน กับการช่วยลดโรคหัวใจด้วยการส่งเสริมการออกกำลังกาย ลดความเครียด และบรรเทาความร้อนส่วนเกินและมลพิษทางอากาศ แต่ยังคงมีความเข้าใจเพียงเล็กน้อยว่าพื้นที่สีเขียวชนิดใดนั้นมีความสำคัญที่สุด

“เราพบว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านมีแนวโน้มที่จะได้รับประโยชน์จากการอยู่ใกล้ต้นไม้และร่มไม้มากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับหัวใจของพวกเขา” คุณเฟิ่ง กล่าว

“สิ่งนี้อาจลดความเสี่ยงของการเกิดหัวใจวาย และการเสียชีวิตจากโรคหัวใจได้”

ศาสตราจารย์เฟิ่ง และ โทมัส แอสเทล-เบิร์ท (Thomas Astell-Burt) ผู้ร่วมจัดทำการวิจัยจากมหาวิทยาลัยวูลลองกอง เชื่อว่าสิ่งนี้เป็นไปได้เนื่องจากเงาจากร่มไม้ ทำให้ถนนหนทางและสวนสาธารณะมีความน่าดึงดูดให้ผู้คนมาแวะเวียนหรือใช้เวลากันมากขึ้น

แต่ถึงอย่างนั้น ผลดีต่อหัวใจและหลอดเลือดนั้น กลับไม่ปรากฎชัดในหมู่ผู้อาศัยอยู่ในแฟลตหรืออะพาร์ตเมนต์

“เหตุผลหนึ่งก็คือ ปกติแล้วอะพาร์ตเมนต์จะค่อนข้างหนาแน่นและอาจแออัด” ศาสตราจารย์เฟิ่ง กล่าว

“ลองนึกดูว่า หากคุณปลูกต้นไม้จำนวนเท่ากันในพื้นที่ที่มีความหนาแน่นต่ำและพื้นที่ความหนาแน่นสูง อัตราส่วนของต้นไม้ต่อคนจะเปลี่ยนไป”

“และถึงแม้จะมีพื้นที่สีเขียวบางส่วนภายในหรือรอบ ๆ อะพาร์ตเมนต์ของคุณ แต่ก็มักจะไม่ใช่จุดที่คุณจะไปหรืออยากไปเยี่ยมชม หรืออนุญาตให้เด็ก ๆ เข้าไปเล่นได้ มันมีอยู่ตรงนั้นเพื่อแค่ให้เห็นว่ามี แต่มีคุณสมบัติเพียงเล็กน้อยในการดึงดูดผู้คนให้ใช้เวลาอยู่ที่นั่น”

ทั้งนี้ งานวิจัยของคุณเฟิ่งได้เป็นแนะนำสำหรับโครงการยุทธศาสตร์ของเทศบาลนครซิดนีย์ (City of Sydney) มูลค่า 377 ล้านดอลลาร์ ในการปลูกต้นไม้ใหม่ 700 ต้นทุกปีเป็นเวลา 10 ปี และทำให้มีพื้นที่สีเขียวปกคลุมร้อยละ 40 ภายในปี 2050
“การวิจัยนี้สำคัญต่อออสเตรเลีย จากการขยายตัวของเมืองขนาดใหญ่ที่เราพบเห็นได้ในซิดนีย์ เมลเบิร์น และทั่วโลก” ศาสตาจารย์เฟิ่ง กล่าว

“เราควรเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับประเภทและคุณภาพของพื้นที่สีเขียวที่เราควรมีรอบ ๆ บริเวณตึกอะพาร์ตเมนต์ทุกแห่ง เพื่อให้มั่นใจว่าทุกคนมีโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากธรรมชาติ”

ศาสตราจารย์เฟิ่งกล่าวอีกว่า เมื่อเมืองต่างๆ แทนที่สิ่งปกคลุมตามธรรมชาติด้วยคอนกรีตและเหล็กกล้าที่มีความหนาแน่น จะทำให้เกิดเกาะความร้อนภายในเมือง (urban heat island)

ข้อมูลจากการสำรวจสำมะโนประชากรพบว่า มีประชาชนในออสเตรเลียประมาณ 7.5 ล้านคนอาศัยอยู่ในบ้านที่มีครอบครัวเดี่ยว ซึ่งคิดเป็นเกือบ 3 เท่าของจำนวนรวมกันของผู้อยู่ในที่พักอาศัยหนาแน่นปานกลางและหนาแน่นสูง

การค้นพบของการวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารหัวใจ ปอด และระบบหมุนเวียนเลือด (Heart, Lung and Circulation) เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้จัดทำการศึกษาวิจัยนี้เป็นผู้อำนวยการร่วมซึ่งได้ร่วมก่อตั้งหน่วยปฏิบัติการวิจัยความเป็นอยู่ที่ดีของประชากรและสิ่งแวดล้อม (Population Wellbeing and Environment Research Lab)


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย

การสร้างพื้นที่สีเขียวในบริเวณที่คุณอาศัยอยู่


Share
Published 19 January 2023 5:18pm
Updated 19 January 2023 5:34pm
Presented by Tinrawat Banyat
Source: AAP


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand