"รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า" จะแก้วิกฤตค่าครองชีพในออสเตรเลียได้หรือไม่

รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า หรือ Universal Basic Income (UBI) จะใช้ได้จริงในออสเตรเลีย หรือเป็นได้เพียงแนวคิดในอุดมคติ ผู้เชี่ยวชาญให้มุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้

A graphic of a map of Australia covered in money.

Could a Universal Basic Income ever become a reality in Australia? Source: SBS

ประเด็นสำคัญในข่าว
  • Universal Basic Income (UBI) หรือรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า เป็นนโยบายที่รัฐบาลให้เงินสวัสดิการสำหรับประชาชนวัยผู้ใหญ่ทุกคนโดยไม่มีเงื่อนไข ซึ่งผู้เชี่ยวชาญกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหาวิกฤตค่าครองชีพในออสเตรเลีย
  • ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนมองว่าไม่น่าจะเกิดในออสเตรเลีย แต่ก็มีหลายสิ่งที่เราเรียนรู้จากมันได้ ขณะที่บางส่วนระบุว่าแนวคิดนี้สามารถให้เครือข่ายความปลอดภัย ปกป้องพนักงานจากการตกงาน และส่งเสริมความเท่าเทียมกันมากขึ้น
  • แม้การใช้แนวคิดนี้จริง ๆ จะมีความท้าทายอยู่มาก แต่ก็ได้จุดประกายให้เกิดการอภิปรายเกี่ยวกับการปรับปรุงนโยบายสวัสดิการให้ทันสมัย และจัดการกับทัศนคติเหมารวมทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับผู้รับสวัสดิการ
แบบจำลองของรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (Universal Basic Income) ในออสเตรเลียได้แสดงให้เห็นว่า การให้เงินแก่ทุกคนอาจมีราคาแพง อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญโต้แย้งว่าแนวคิดนี้ซึ่งมีขึ้นตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1800 ได้มอบแนวคิดที่เป็นประโยชน์สำหรับนโยบายที่อาจบรรเทาความยากลำบากทางการเงินจากภาวะเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่สูงขึ้นได้

รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (Universal Basic Income) คือเงินสวัสดิการที่รัฐบาลจ่ายให้กับทุกครัวเรือนโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ถือว่าเป็น "เงินปันผล" ที่ได้รับจากการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม แม้เงินสวัสดิการนี้จะทำให้บางคนตัดสินใจไม่ทำงาน แต่คนอื่น ๆ ยังคงต้องทำงาน และจ่ายภาษีที่สูงขึ้นจากรายได้ของพวกเขา

ผู้สนับสนุนแนวคิดดังกล่าวเผยว่า รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (UBI) จะสร้างเครือข่ายความปลอดภัยสำหรับสังคม ปกป้องพนักงานจากการตกงานจากการเปลี่ยนไปเป็นเครื่องจักรอัตโนมัติ และส่งเสริมความเท่าเทียมมากขึ้น

แนวคิดดังกล่าวได้รับเสียงสนับสนุนอย่างกว้างขวาง จากการสำรวจทัศนคติทางสังคมของออสเตรเลียในปี 2019-20 (Australian Survey of Social Attitudes) พบร้อยละ 51 ของประชาชนออสเตรเลียที่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ อย่างไรก็ตาม การนำแนวคิดดังกล่าวไปปรับใช้นั้นมีความท้าทายอยู่หลายอย่าง โดยอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดคือการระดมทุน

รายได้พื้นฐานถ้วนหน้าจะเป็นอย่างไรในออสเตรเลีย

รศ.เบ็น ฟิลิปส์ (Ben Phillips) จากศูนย์การวิจัยทางสังคมและวิธีการทางสังคม (Centre of Social Research and Methods) มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) กล่าวกับ เอสบีเอส นิวส์ ว่าแบบจำลองรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (UBI) ที่เขาคำนวณนั้น “แพงมาก” รูปแบบนี้จะทำให้ผู้ใหญ่แต่ละคนในออสเตรเลียได้รับเงิน 27,600 ดอลลาร์ต่อปี ซึ่งใกล้เคียงกับเงินบำนาญในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวจะไม่ได้ทดแทนโครงการเงินสวัสดิการรัฐอื่น ๆ ที่มีอยู่แล้ว เช่น เงินช่วยเหลือค่าดูแลบุตร และเงินสงเคราะห์ครอบครัวต่าง ๆ

“มันจะเพิ่มการจ่ายสวัสดิการของรัฐจาก 140,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีในปัจจุบัน ขึ้นไปเป็นประมาณ 550,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีหากโครงการนี้เดินหน้าอย่างเต็มที่” รศ.ฟิลิปส์ กล่าว
รศ.ฟิลิปส์ กล่าวว่า การใช้จ่ายของภาครัฐในระดับนี้ไม่ใช่ทางเลือกเชิงนโยบายที่เป็นไปได้ และแนะนำให้ปรับปรุงระบบสวัสดิการที่มีอยู่แทน พร้อมชี้ว่าหากจะสนับสนุนเงินทุนสำหรับแนวคิดรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะต้องเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า และภาษีสินค้าและบริการ (GST) จะต้องเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 25

“ถ้าอัตราภาษีปัจจุบันของคุณคือ 30 เซนต์ต่อทุกๆ 1 ดอลลาร์ มันจะกลายเป็น 60 เซนต์ต่อทุก ๆ 1 ดอลลาร์ คุณอาจต้องเพิ่ม GST จาก 10% เป็น 25% สำหรับทุกอย่าง” รศ.ฟิลิปส์ กล่าว
ในปี ค.ศ.2018 ริชาร์ด ดี นาตาเล (Richard Di Natale) อดีตหัวหน้าพรรคกรีนส์ ได้ประกาศนโยบายรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าสำหรับออสเตรเลีย โดยเสนออัตราจ่ายเงินระหว่าง 20,000 - 40,000 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี เพื่อให้แน่ใจว่ามีความเหมาะสมเพียงพอ

อย่างไรก็ตาม นิค แม็กคิม (Nick McKim) โฆษกการคลังพรรคกรีนส์ ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นสำหรับบทความนี้

อีกแนวคิดหนึ่งซึ่งเสนอโดย ดร.เบ็น สไปซ์-บุตเชอร์ (Dr. Ben Spies-Butcher) ผู้อำนวยการร่วมของ Australian Basic Income Lab มุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดสำหรับการรับเงินสงเคราะห์รายได้ผู้หางานจ๊อบซีกเกอร์ (JobSeeker) โดยแบบจำลองนี้เรียกว่า "การรับประกันรายได้ที่สามารถดำรงชีพได้ (livable income guarantee)” ซึ่งจะคิดเป็นงบประมาณของรัฐประมาณ 103,450 ล้านดอลลาร์ และจะทำให้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มขึ้นร้อยละ 12

นอกจากนี้ แนวคิดดังกล่าวยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อขยายคำจำกัดความของการช่วยเหลือสังคม โดยพิจารณาจากกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การดูแล และการเป็นอาสาสมัคร

“ระบบสวัสดิการมีการเฝ้าระวังจำนวนมาก และการกำกับดูแลที่เข้มงวดมาก ดังนั้นแนวคิดนี้จึงบอกว่า แทนที่จะมีสิ่งนี้ซึ่งหมายความว่าคุณต้องไปนัดหมายงานหรือโปรแกรมการฝึกอบรมทั้งหมดซึ่งมักจะไร้ประโยชน์ สิ่งที่เราควรทำคือการขยายความเข้าใจของเราว่าการช่วยเหลือสังคมเป็นอย่างไร” ดร.สไปซ์-บุตเชอร์ กล่าว

“ถ้าคุณดูแลผู้คน ถ้าคุณเป็นอาสาสมัครในชุมชน สิ่งเหล่านั้นก็มีความสำคัญเช่นกัน และเราควรเปลี่ยนมันให้เป็นคล้ายกับระบบภาษี”

ประเทศอื่นทดลองแนวคิดรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าอย่างไร

มีการทดลองแนวคิดรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าในหลายประเทศ โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ อังกฤษได้ประกาศการทดลองกับบุคคล 30 คน ซึ่งจะได้รับเงินสวัสดิการแบบไม่มีเงื่อนไขประมาณ 2,800 ดอลลาร์ต่อเดือนเป็นเวลา 2 ปี
ดร.สไปส์-บุตเชอร์ ตั้งข้อสังเกตว่า มีการเพิ่มจำนวนผู้ร่วมนำร่องและการทดลองแนวคิดนี้ ซึ่งได้รับความสนใจอีกครั้งในช่วงการระบาดของโควิด-19 พร้อมย้ำว่า การทดลองเหล่านี้ดำเนินต่อไปเนื่องจากปรากฏผลลัพธ์ในเชิงบวก

“หากการนำร่องและการทดลองไม่ได้ผล พวกเขาก็คงไม่ดำเนินการต่อ” ดร.สไปส์-บุตเชอร์ กล่าว

ตั้งแต่เดือนกันยายน 2022 ไอร์แลนด์ได้ดำเนินการทดลองโดยให้ศิลปิน 2,000 คนได้รับเงินรายสัปดาห์ประมาณ 525 ดอลลาร์ เพื่อให้พวกเขาสามารถมุ่งเน้นไปที่การสร้างสรรค์ดนตรี กวีนิพนธ์ และทัศนศิลป์ โดยไม่ต้องสนใจงานประจำ โครงการนี้ไม่มีการประเมินรายได้และการถือครองทรัพย์สิน หมายความว่าผู้เข้าร่วมอาจยังมีสิทธิ์ได้รับเงินสวัสดิการอื่น ๆ และสามารถหารายได้เพิ่มเติมจากงานของพวกเขาได้

ดร.ทรอย เฮนเดอร์สัน (Dr. Troy Henderson) ผู้อำนวยการร่วมของ Australian Basic Income Lab กล่าวว่าแนวคิดรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าอาจส่งผลในเชิงบวกต่อสังคม แต่อย่างไรก็ตาม เขาได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในการทำให้ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่ใช่แค่เฉพาะกลุ่ม

“แต่ผมอยากจะชี้แจงให้กว้างขึ้นว่า หากเรากำลังพูดถึงรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า เราก็อยากให้ทุกคนเข้าถึงได้” ดร.เฮนเดอร์สัน กล่าว

จะแก้ปัญหาเงินเฟ้อได้หรือไม่

ดร. เฮนเดอร์สัน เชื่อว่าการเพิ่มความช่วยเหลือทางสังคม รวมถึงการพิจารณาเรื่องรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้คนที่อาศัยอยู่ในความยากจนในช่วงวิกฤตค่าครองชีพในปัจจุบัน

“ผมเชื่อว่ามีข้อดีในประเด็นการพิจารณารายได้ขั้นพื้นฐานถ้วนหน้าในเวลานี้ เนื่องจากวิกฤตค่าครองชีพ เมื่อเราวิเคราะห์อัตราเงินเฟ้อ เราสามารถสังเกตได้ว่าราคาที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดคือราคาสำหรับสินค้าจำเป็นที่ผู้คนต้องการทุกวัน ไม่ใช่สินค้าทางเลือก” ดร. เฮนเดอร์สัน อธิบาย

“ดังนั้น สินค้าเหล่านั้นจึงมีความสำคัญอย่างไม่สมส่วนสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย รวมถึงผู้ที่ได้รับเงินช่วยเหลือทางสังคมประเภทต่างๆ”
ด้าน ดร.สไปซ์-บุตเชอร์ กล่าวว่า รายได้พื้นฐานถ้วนหน้าจะยังไม่เป็นประโยชน์สำหรับทุกคนในตอนนี้ แต่ก็สามารถลดแรงกดดันให้กับคนบางกลุ่มได้ เช่น ผู้ปกครองที่มีลูกเล็กและนักเรียน ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากการไม่ทำงาน

“ความไม่มั่นคงที่เกี่ยวข้องกับระบบสวัสดิการ เป็นการสร้างความทรุดโทรมอย่างยิ่ง” ดร.สไปซ์-บุตเชอร์ กล่าว

“ความมั่นคงทางเศรษฐกิจไม่ใช่แค่เรื่องที่ว่าต้นทุนจะสูงขนาดไหน แต่เป็นเรื่องของความสามารถในการพึ่งพาการมีรายได้ และสามารถวางแผนเพื่อตอบสนองความต้องการของคุณได้ตลอดเวลา โดยไม่ต้องตื่นตระหนกและเครียดอยู่ตลอดเวลาว่าอัตราจ่ายเงินช่วยเหลือจะถูกตัดหรือลดลง”

ดร.สไปซ์-บุตเชอร์ เสริมว่า รายได้พื้นฐานถ้วนหน้าเพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ครอบคลุมสำหรับค่าครองชีพที่สูงขึ้น แต่จะต้องมาพร้อมกับนโยบายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัยและการดูแลสุขภาพด้วย

จะมีผลอย่างไรต่อตลาดแรงงาน

หนึ่งในข้อโต้แย้งทั่วไปของการต่อต้านแนวคิดรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า คือการที่แนวคิดนี้จะไม่จูงใจให้คนทำงาน และจะทำให้ผลิตผลในการทำงานและเศรษฐกิจชะลอตัวลง โดย ดร.สไปซ์-บุตเชอร์ กล่าวว่า มีหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้น้อยมาก

“มีการทดลองมากมายทั่วโลก และการทดลองก็แตกต่างกัน ดังนั้นพวกเขาจึงกำหนดเป้าหมายไปที่สิ่งที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่ค่อนข้างสม่ำเสมอคือ มันมีผลกระทบต่อตลาดแรงงานน้อยมาก” ดร.สไปซ์-บุตเชอร์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม รศ.ฟิลิปส์ ไม่เห็นด้วย โดยระบุว่าเนื่องจากภาษีสูงที่เรียกเก็บจากรายได้ของประชาชน การใช้รายได้ขั้นพื้นฐานถ้วนหน้าจะไม่เป็นผลดีต่อการจ้างงานโดยรวม อย่างไรก็ตาม เขาเชื่อว่ามันอาจจะมีผลดีต่อสุขภาพจิต

นโยบายสวัสดิการรัฐอื่น ๆ

แนวคิดรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าไม่ใช่หัวข้อกระแสหลักในการอภิปรายนโยบายของพรรคการเมืองใหญ่ ๆ แต่ก็ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแนวคิดในการปรับปรุงนโยบายสวัสดิการให้ทันสมัย

รศ.ฟิลิปส์เชื่อว่า บางส่วนในระบบสวัสดิการนั้นมีความเข้มงวดเกินไปและควรผ่อนคลาย เขาแนะนำว่า การผ่อนคลายและทำให้ระบบมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มากขึ้นสำหรับผู้ที่ต้องการอย่างแท้จริง จะเป็นการมุ่งเน้นที่ดีกว่าปรับใช้แนวคิดรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า

"ผมคิดว่าการผ่อนคลายบางส่วนอาจเป็นสิ่งที่ดีจะช่วยคนจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาส และทำให้ระบบมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มากขึ้นสำหรับผู้ที่ต้องการจริงๆ นั่นคือสิ่งที่ผมจะทำก่อนแทนที่จะเป็นรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า” รศ.ฟิลิปส์ กล่าว

ด้าน ดร.เฮนเดอร์สัน กล่าวว่า หากรัฐบาลพรรคแรงงานต้องการความก้าวหน้าในเรื่องสวัสดิการรัฐ อันดับแรกควรจัดการเรื่องบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมและการเหมารวมว่าคนจนแบบใดสมควรได้รับ และไม่สมควรได้รับความช่วยเหลือ

"ตัวอย่างคลาสสิกก็คือ เรามีคำดูถูกในออสเตรเลียที่เรียกว่า dole bludger ซึ่งหมายถึงคนที่วัน ๆ ไม่ทำอะไร กินแต่ข้าวโพดอบกรอบ และสูบบุหรี่ ขณะที่คนอื่นต้องทำงานอย่างหนัก จากนั้น เมื่อเข้าสู่วัยเกษียณในวันต่อมา ก็จะกลายเป็นผู้รับเงินบำนาญที่สมควรได้รับเงินสวัสดิการ” ดร.เฮนเดอร์สัน กล่าว


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 12 June 2023 2:53pm
Updated 12 June 2023 3:12pm
By Madeleine Wedesweiler
Presented by Tinrawat Banyat
Source: SBS


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand