ทำไม “การหาคนแชร์ห้อง” จะไม่ช่วยแก้วิกฤตที่พักอาศัยในออสเตรเลีย

ผู้ว่าการธนาคารสำรองแห่งออสเตรเลียถูกวิพากษ์วิจารณ์เมื่อสัปดาห์ก่อน หลังเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในออสเตรเลียด้วยการหาคนมาอาศัยร่วมกันเพื่อช่วยจ่าย หรืออาศัยอยู่กับพ่อแม่ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญแย้งว่า คำแนะนำนี้ไม่ใช้วิธีแก้ปัญหาที่ครอบคลุม แต่จะมีวิธีใดที่แก้ปัญหานี้ได้

Houses on a street.

Australians are already living with their parents or in sharehouses for longer than previous generations. Source: AAP / Jono Searle

ประเด็นสำคัญในข่าว
  • ดร. ฟิลิป โลว์ ผู้ว่าการธนาคารสำรองแห่งออสเตรเลีย (RBA) ถูกวิพากษ์วิจารณ์ หลังเสนอแนะว่า การหาเพื่อนร่วมห้องหรือเพื่อนร่วมบ้านมาอยู่ด้วย หรืออาศัยอยู่กับพ่อแม่ สามารถช่วยแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัยในออสเตรเลีย ด้านผู้เชี่ยวชาญแย้งว่าการแก้ปัญหาดังกล่าวไม่เพียงพอ
  • วิกฤตการณ์ที่อยู่อาศัยในออสเตรเลียถูกขับเคลื่อนโดย 2 ปัจจัย ได้แก่ การขาดที่อยู่อาศัย และปัญหาในการจ่ายค่าเช่า นำไปสู่ความเครียดด้านที่พักอาศัยในครัวเรือนหลายแสนแห่งทั่วประเทศ
  • เพื่อแก้วิกฤตดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญแนะนำมาตรการต่าง ๆ เช่น การกระจายที่อยู่อาศัยอย่างเท่าเทียม การปฏิรูประบบภาษี การจูงใจให้ภาคเอกชนพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยที่มีราคาเอื้อมถึง สำรวจรูปแบบและทำเลใหม่ ๆ ในการสร้างที่อยู่อาศัยที่มีราคาย่อมเยา
ในการประมาณการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินของวุฒิสภา (Senate Estimates) ดร.ฟิลิป โลว์ ผู้ว่าการธนาคารสำรองแห่งออสเตรเลีย (RBA) ได้ออกคำเตือนที่รุนแรง โดยระบุว่าวิกฤตที่อยู่อาศัยให้เช่าในออสเตรเลียจะเลวร้ายลง

ในความพยายามเพื่อจัดการกับปัญหาดังกล่าว ดร.โลว์ เสนอว่า การหาคนมาร่วมเช่าในที่เดียวกัน หรือการอาศัยอยู่กับพ่อแม่ให้นานขึ้น อาจช่วยบรรเทาวิกฤตการณ์ที่อยู่อาศัยได้

“โดยประมาณแล้ว เราต้องการให้มีคนมากขึ้นในที่อยู่อาศัยแต่ละแห่ง” ดร.โลว์ กล่าวกับการพิจารณาการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินของวุฒิสภา เมื่อวันพุธที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา

“ราคาที่สูงขึ้นทำให้ผู้คนประหยัดค่าที่อยู่อาศัยใช่ไหมล่ะ เด็ก ๆ ไม่ย้ายออกจากบ้านเพราะค่าเช่าแพงเกินไป หรือคุณก็ตัดสินใจหาเพื่อนร่วมห้องหรือเพื่อนร่วมบ้าน”

ทำไมความเห็นผู้ว่าแบงก์ชาติออสฯ ถึงถูกวิจารณ์

เมย์ อซิเซ (Maiy Azize) โฆษกขององค์กร Everybody's Home เน้นย้ำว่า ผู้คนส่วนใหญ่กำลังทำในสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้มีที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนหนุ่มสาวอาศัยอยู่กับพ่อแม่เป็นเวลานานกว่าคนรุ่นก่อน

“คนหนุ่มสาวอาศัยอยู่กับพ่อแม่นานเป็นประวัติการณ์ พวกเขาอาศัยอยู่ที่นั่นนานกว่ารุ่นพ่อแม่ของพวกเขาประมาณ 4 ปี และนานกว่าคนรุ่นก่อนหน้าอื่นใด” คุณอซิเซกล่าว

“และเราทราบว่า คนวัยทำงานแชร์บ้านอยู่กับคนอื่นนานขึ้น ตัวอย่างเช่น คนทำงานที่มีความจำเป็นกำลังแชร์บ้านอยู่จนถึงอายุ 30 และ 40 ปี ซึ่งเป็นครั้งแรกในออสเตรเลีย”

“การกระทำของผู้คนเหล่านี้ไม่ได้สร้างวิกฤต และพวกเขาจะแก้ไขอะไรไม่ได้”

เอมมา เบเกอร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยที่อยู่อาศัยแห่งออสเตรเลีย (Australian Centre for Housing Research) กล่าวว่า คำแนะนำของ ดร.โลว์ เป็นเพียงการเลื่อนปัญหาออกไปแทนที่จะให้วิธีแก้ปัญหาที่แท้จริง

“มันไม่ใช่ปัญหาที่พวกเขา (ประชาชน) จะต้องแก้” คุณเบเกอร์กล่าว

อะไรที่จะแก้วิกฤตที่อยู่อาศัยในออสเตรเลียได้

คุณเบเกอร์กล่าวอีกว่า วิกฤตที่อยู่อาศัยในออสเตรเลียเกิดขึ้นจาก 2 ปัจจัยพร้อมกัน คือ การมีที่อยู่อาศัยไม่เพียงพอ และปัญหาความสามารถในการจ่ายค่าเช่า

“เมื่ออุปทานไม่พอ ใครสักคนก็จะถูกผลักดันออกไป เมื่อก่อนผู้คนเหล่านี้จะอยู่ในการเคหะของรัฐ หากไม่สามารถจ่ายค่าเช่าได้ แต่ในตอนนี้มันไม่มีหลักประกันอะไรมารองรับแล้ว” คุณอซิเซกล่าว

“มีคนจำนวนมากในภาคส่วนการเช่าเอกชน ซึ่งเมื่อ 20 ปีก่อน ผู้คนเหล่านี้จะเป็นผู้เช่าอยู่ในการเคหะของรัฐ”

การศึกษาวิเคราะห์โดยศูนย์วิจัยเพื่ออนาคตเมือง (City Futures Research Centre) ของมหาวิทยาลัยรัฐนิวเซาท์เวลส์ เปิดเผยว่ามี 640,000 ครัวเรือนทั่วออสเตรเลียที่กำลังประสบความเครียดเรื่องที่พักอาศัย
คุณอซิเซชี้ว่า การสร้างที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นเพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขต้นตอของวิกฤตนี้ได้

"เราไม่เคยมีจำนวนที่อยู่อาศัยต่อประชากร 1 คนมากกว่าที่เราเป็นอยู่ในตอนนี้ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเราสร้างบ้านใหม่ระหว่าง 150,000 - 240,000 หลังในแต่ละปี และคุณรู้อะไรไหม มันไม่ได้ทำให้ที่อยู่อาศัยราคาถูกลงเลย” คุณอซิเซกล่าว 

คุณอซิเซ ระบุว่า ปัญหานี้มาจากการที่บุคคลร่ำรวยครอบครองพื้นที่อย่างไม่สมส่วน ทำให้ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น

“เหตุผลไม่ใช่เพราะผู้คนย้ายออกจากบ้านพ่อแม่เร็วเกินไป หรือย้ายออกจากที่อยู่อาศัยที่แชร์กับคนอื่นเร็วเกินไป แต่เป็นเพราะคนรวยกำลังถือครองพื้นที่มากขึ้นเรื่อย ๆ และพวกเขากักตุนบ้านไว้มากขึ้น” คุณอซิเซกล่าว

เพื่อต่อสู้กับวิกฤตที่อยู่อาศัยอย่างมีประสิทธิภาพ คุณอซิเซ เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการวางแผนที่ครอบคลุม เพื่อให้แน่ใจว่าบ้านใหม่จะได้รับการจัดสรรให้กับผู้ที่ต้องการ

“สิ่งนี้ไม่เคยเกิดขึ้นเลยเป็นเวลา 40 ปีที่ผ่านมา เราปล่อยทั้งภาคส่วนให้กับตลาดเอกชน และพวกเขาไม่ได้กระจายที่อยู่อาศัยอย่างเท่าเทียม” คุณอซิเซกล่าว
พรรคแรงงานและพรรคกรีนส์ กำลังมีความขัดแย้งในเรื่องข้อเสนอกองทุนอนาคตที่อยู่อาศัยออสเตรเลีย (Housing Australia Future Fund) มูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งรัฐบาลอ้างว่าจะทำให้สามารถก่อสร้างการเคหะและที่อยู่อาศัยราคาย่อมเยาได้ 30,000 แห่งภายในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเป็นขั้นตอนในทิศทางที่ถูกต้อง แต่คุณเบเกอร์กล่าวว่าข้อเสนอในปัจจุบันยังขาดสิ่งที่จำเป็นอยู่มาก และหากผ่านความเห็นชอบไปตามที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็จะส่งผลต่อที่อยู่อาศัยได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

“มันยอดเยี่ยมที่มีการดำเนินการอะไรเกิดขึ้น แต่มันยังไม่ทะเยอทะยานมากพอ” คุณเบเกอร์กล่าว

ด้านคุณอซิเซเห็นด้วย โดยระบุว่า สิ่งที่กองทุนดังกล่าวจะมีส่วนช่วยนั้น เป็นเพียงเศษเสี้ยวของสิ่งที่จำเป็นเพื่อจัดการกับปัญหาการขาดแคลนการเคหะแห่งชาติและที่อยู่อาศัยราคาย่อมเยา

“กองทุนนี้เป็นสิ่งที่ดีสำหรับคนที่จะได้ที่อยู่อาศัยจากมัน แต่มันไม่ใช่คำตอบสำหรับการขาดแคลน” เธอกล่าว

คุณอซิเซ กล่าวอีกว่า ช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ซึ่งที่อยู่อาศัยมีราคาย่อมเยา เป็นผลมาจากการที่รัฐบาลดำเนินการอย่างรอบคอบและรอบด้าน 

“หากเงินกองทุน (อนาคตที่อยู่อาศัยออสเตรเลีย) ไม่เพิ่มขึ้นไปมากกว่านี้ มันก็ไม่อาจเป็นสิ่งเดี่ยวที่รัฐบาลเสนอว่าจะทำในส่วนนี้ได้” คุณอซิเซ กล่าว

เพื่อจัดการกับวิกฤตความสามารถในการจ่ายค่าเช่าอย่างมีประสิทธิภาพ คุณอซิเซเสนอให้มีการจำกัดไม่ให้ผู้ปล่อยเช่าขึ้นค่าเช่าที่ไม่เป็นธรรม สำรวจศักยภาพของค่าเช่าราคาไม่แพงผ่านแพลตฟอร์มอย่าง Airbnb รวมถึงจำกัดให้บุคคลทั่วไปซื้ออสังหาริมทรัพย์หลาย ๆ แห่งและปล่อยว่างไว้ให้ทำได้ยากขึ้น

“วิกฤตความสามารถในการจ่ายค่าเช่นเป็นเรื่องใหญ่มาก เราจำเป็นต้องมองหาวิธีที่จะจำกัดความสามารถของผู้ปล่อยเช่าในการขึ้นค่าเช่าที่ไม่เป็นธรรมกับผู้เช่า เราต้องดูใน Airbnb และดูว่าบ้านเหล่านั้นอาจมีค่าเช่าที่ไม่แพงได้อีกหรือไม่” คุณอซิเซ กล่าว

“มันไม่ควรเป็นเรื่องง่ายสำหรับผู้คนในการซื้อบ้านหลังแรก จากนั้นก็หลังที่สองแล้วก็หลังที่ 3 แล้วปล่อยว่างไวในขณะที่มีคนต้องการมันอยู่มาก”

นอกจากนี้ คุณอซิเซ กล่าวอีกว่า การปฏิรูประบบภาษีในส่วนที่ “สร้างกำไรจากวิกฤตค่าเช่า” ก็จะช่วยได้เช่นกัน

“สังเกตภาษีกำไรจากการขายหุ้นและ negative gearing ที่ไม่เพียงแต่จะทำให้ต้นทุนที่อยู่อาศัยสูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้รัฐบาลต้องเสียเงินเป็นจำนวนมากด้วย” คุณอซิเซ กล่าว

“รัฐบาลจะสูญเสียเงิน 157,000 ล้านดอลลาร์ในอีก 10 ปีข้างหน้าจากนโยบาย negative gearing เงินช่วยเหลือผู้ปล่อยเช่าและทั้งหมดนั้น คือเงินที่ควรนำไปลงทุนกับการเคหะแห่งชาติและช่วยเหลือผู้ที่กำลังลำบากจะดีกว่า”

คุณเบเกอร์ กล่าวว่า การสำรวจวิธีการจูงใจนักพัฒนาอสังหาริมทรัพทย์เอกชนในการสร้างบ้านราคาไม่แพง อาจเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา

“เราต้องการตัวเลือกที่ราคาย่อมเยามากกว่ากว่านี้สำหรับผู้คนที่แตกต่างกัน รูปร่างที่แตกต่างกัน สถานที่ที่แตกต่างกัน รุ่นต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน หรือบางที่ก็อาจเป็นแบบที่เรายังไม่เคยลองมาก่อน ... มีอะไรที่เราทำได้เพื่อให้มีความเป็นไปได้ทางการเงิน หรือจะช่วยภาคส่วนเอกชนให้สร้างสิ่งนั้นขึ้นมาได้บ้าง” คุณเบเกอร์กล่าว


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 
 

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 
เรื่องราวที่น่าสนใจ จาก เอสบีเอส ไทย

ออสฯ เร่งปฏิรูปธุรกรรมการเงินรับ “ยุคใช้จ่ายดิจิทัล”


Share
Published 8 June 2023 6:27pm
By Amy Hall
Presented by Tinrawat Banyat
Source: SBS


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand