6 หมื่นดอลลาร์ต่อนาที แบงก์ใหญ่ออสฯ โกยกำไรในวิกฤตค่าครองชีพ

ภาวะเงินเฟ้อและดอกเบี้ยสูงกำลังสร้างความเดือดร้อนให้ชาวออสเตรเลียจำนวนมาก แต่ภาคส่วนการธนาคารกลับรวยขึ้น

A composite image of signage of Australia's 'big four' banks ANZ, Westpac, the Commonwealth Bank and the National Australia Bank

Australia's 'big four' banks - ANZ, Westpac, the Commonwealth Bank and the National Australia Bank - have all recorded significant profits as the country battles through a cost of living crisis. Source: AAP / Joel Carrett

ประเด็นสำคัญในข่าว
  • 4 ธนาคารใหญ่ในออสเตรเลีย (บิ๊กโฟร์) คว้ากำไรรวม 16,000 ล้านดอลลาร์ในเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา
  • ธนาคารเวสต์แพ็ค (WBC) เป็นธนาคารล่าสุดที่เปิดเผยรายงานผลประกอบการ ประกาศผลกำไรครึ่งแรกปีนี้เพิ่มขึ้น 22% เป็น 4,000 ล้านดอลลาร์
  • อัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน (cash rate) ที่เพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้ผลกำไรของธนาคารเพิ่มสูง
กลุ่ม 4 ธนาคารใหญ่ของออสเตรเลีย (บิ๊กโฟร์) ได้ผลกำไรจากภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นรวมกัน 16,000 ล้านดอลลาร์ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา หรือคิดเป็นประมาณ 60,000 ดอลลาร์ต่อนาที ท่ามกลางวิกฤตค่าครองชีพระดับชาติ

ธนาคารเวสต์แพ็ค (WBC) เป็นธนาคารล่าสุดที่ได้รายงานผลประกอบการเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (8 พ.ค.) โดยประกาศว่าผลกำไรครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 เป็น 4,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเหนือความคาดหมายว่ากำไรของธนาคารจะชะลอตัว และเป็นผลกำไรครึ่งปีแรกที่ดีที่สุดนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2018

ด้าน ธนาคารแห่งชาติออสเตรเลีย (NAB) และ ธนาคารออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ (ANZ) ได้เปิดเผยผลประกอบการเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยธนาคารแห่งชาติออสเตรเลียมีผลกำไรครึ่งปีแรกอยู่ที่ราว 4,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 ส่วนธนาคารออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ มีผลกำไรครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้นร้อยละ 23 เป็น 3,800 ล้านดอลลาร์ในช่วงเวลาเดียวกัน

ส่วนธนาคารคอมมอนเวลธ์ (CBA) รายงานผลกำไรครึ่งปีแรก 5,200 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 และมีกำหนดในการให้ข้อมูลอัปเดตการซื้อขายภายในสัปดาห์นี้

การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน (cash rate) ที่ธนาคารสำรองแห่งออสเตรเลีย (RBA) ใช้ในการต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อระดับสูง นำไปสู่การเรียกเก็บเงินจากผู้กู้ยืมมากกว่าเงินที่จ่ายให้กับผู้ออมเงิน ซึ่งสร้างกำไรเป็นจำนวนมากให้กับธนาคารในฐานะผู้ปล่อยเงินกู้

อัตราเงินเฟ้อที่สูงและการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน ได้สร้างความเจ็บปวดครั้งใหญ่สำหรับชาวออสเตรเลีย ขณะที่ผู้คนจำนวนมากต่างกำลังประสบปัญหาในการชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าผ่อนบ้าน อาหาร และยารักษาโรค
ศาสตราจารย์ พอล คอฟแมน (Prof Paul Kofman) คณบดีคณะธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น กล่าวว่า “โครงสร้างการธนาคารของออสเตรเลียนั้นค่อนข้างมั่นคงและปลอดภัยมาก และ “กำไรสูง” คือราคาที่คุณต้องจ่ายเพื่อสิ่งนี้

“ธนาคารทำได้ดีขึ้น เพราะค่าสเปรด ซึ่งคืออัตรากู้ยืม (borrowing rate) ลบด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (lending rate) จะเพิ่มขึ้นเมื่ออัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น” ศาสตราจารย์คอฟแมน กล่าว

“นั่นเป็นการสร้างกันชนให้กับธนาคารต่าง ๆ เพราะในขณะเดียวกันก็มีผู้คนที่ประสบปัญหากับอัตราดอกเบี้ยที่สูงมาก และสิ่งนั้นจะกัดกร่อนผลกำไรของธนาคาร ธนาคารจะไม่ได้รับประโยชน์จากลูกค้าที่หมดเนื้อหมดตัว”

การเข้าซื้อกิจการ Credit Suisse ธนาคารรายใหญ่ของสวิตเซอร์แลนด์ของ UBS Group และความล้มเหลวของธนาคารขนาดเล็กหลายแห่งในสหรัฐ ฯ ได้สร้างความกังวลต่อสุขภาพของระบบการเงินโลก แต่ธนาคารสำรองแห่งออสเตรเลีย และรัฐมนตรีคลัง จิม ชาลเมอร์ส (Jim Chalmers) ได้ยืนยันอย่างรวดเร็วว่า ธนาคารของออสเตรเลียมีความแข็งแกร่ง
ศาสตราจารย์คอฟแมน กล่าว่า ธนาคารของออสเตรเลียมีกำไรมากมาเป็นเวลานานแล้ว

“ส่วนหนึ่งเป็นภาพสะท้อนของโครงสร้างตลาดของธนาคาร ซึ่งคุณมีธนาคารที่ทรงอิทธิพลอยู่ 4 แห่ง” ศาสตราจารย์คอฟแมน กล่าว

“โครงสร้างตลาดแบบนั้นไม่ได้ทำให้เกิดความมั่นใจมากนัก ในการแข่งขันอย่างมากระหว่างธนาคารเหล่านั้น ดังนั้น จีงไม่มีแรงกดดันมากนักเมื่อเทียบกับตลาดที่มีการแข่งขันสูง”

ศาสตราจารย์คอฟแมน กล่าวว่า ธนาคารต่างๆ จะหยุดบันทึกผลกำไรในระดับสูง หากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นมีผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญต่อความสามารถของลูกค้าธนาคารในการชำระสินเชื่อบ้าน

นอกจากนี้ ยังมีข้อบ่งชี้เล็กน้อยที่ระบุว่า กำไรจำนวนมากเหล่านี้อาจผิดไปจากความคาดหวังของนักลงทุนบางส่วน และผลกำไรของธนาคารจะไม่สามารถดำเนินต่อไปเช่นนี้ได้อย่างต่อเนื่อง

เชน เอลเลียต (Shayne Elliott) ประธานบริหารของธนาคารออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ (ANZ) เตือนว่า “อีก 6 เดือนข้างหน้าจะยากกว่าที่ผ่านมา” เนื่องจากการแข่งขันในการปล่อยสินเชื่อบ้าน ท่ามกลางกระแสการรีไฟแนนซ์ที่เฟื่องฟู ส่วน ปีเตอร์ คิง (Peter King) ประธานบริหารของธนาคารเวสต์แพ็ค (WBC) ให้สัญญาณถึงอัตรากำไรของธนาคารที่ลดลงในอนาคต และได้กำหนดเป้าหมายในการตัดลดต้นทุนโดยอ้างถึงอัตราเงินเฟ้อ
A composite image showing the logos of the Commonwealth Bank, Westpac, ANZ, and NAB.
4 ธนาคารใหญ่ในออสเตรเลียได้กำไรจากภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ท่ามกลางวิกฤตค่าครองชีพระดับชาติ ผลกำไรครึ่งปีแรกรวมกันสูงถึง 16,000 ล้านดอลลาร์ Source: AAP / Joel Carrett
แซลลี ทินดอลล์ (Sally Tindall) ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของเว็บไซต์เปรียบเทียบทางการเงิน Rate City กล่าวว่า ยังมีสัญญาณอื่น ๆ ที่ชึ้ว่าธนาคารต่าง ๆ รู้สึกได้ถึงแรงกดดัน

“ในช่วงเริ่มต้นของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เราเห็นธนาคารต่าง ๆ ให้ส่วนลดให้กับลูกค้าใหม่ เพื่อดึงดูดธุรกิจใหม่ ๆ เนื่องจากชาวออสเตรเลียกำลังอยู่ท่ามกลางกระแสการรีไฟแนนซ์ที่เฟื่องฟู”คุณทินดอลล์ กล่าว

“อย่างไรก็ดี เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา พวกเขาได้ริบคืนส่วนลดของลูกค้าใหม่บางส่วน เนื่องจากความสมดุลระหว่างต้นทุนการกู้ยืมเงิน และการให้ส่วนลดเหล่านั้นแก่ลูกค้าจำนวนมากได้สร้างความเสียหายขึ้นแล้ว และพวกเขาก็ริบมันคืนมาจากลูกค้าบางส่วน”

คุณทินดอลล์ กล่าวว่า ชาวออสเตรเลียจำนวนมากลงทุนเงินสะสมหลังเกษียณกับธนาคารใหญ่ต่างๆ ดังนั้นพวกเขาจึงเป็นผู้ถือหุ้น และ “ผลกำไรเป็นประวัติการณ์ของธนาคารเหล่านั้นก็จะเป็นประโยชน์กับเงินซูเปอร์คงเหลือของพวกเขาด้วยเช่นกัน”

อย่างไรก็ตาม เกร็ก เจริโค (Greg Jericho) จากสถาบันออสเตรเลีย (Australian Institute) กล่าวว่า “มันเป็นความสบายใจเพียงเล็กน้อยของผู้บริโภคที่เงินซูเปอร์ของพวกเขากำลังเติบโต เพราะเงินนั้นจะไม่สามารถนำออกมาใช้ได้จนกว่าพวกเขาจะเกษียณ และพวกเขากำลังรู้สึกถึงความร้อนระอุของอัตราดอกเบี้ยอยู่ในตอนนี้”
คุณเจริโค กล่าวอีกว่า ธนาคารไม่ใช่ภาคส่วนเดียวที่ทำกำไรได้ดีมากจากภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น โดยได้พูดถึงกำไรที่งอกงามในบริษัทใหญ่ต่าง ๆ ตั้งแต่ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19

“สิ่งที่เราได้เห็นก็คือ ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดใหญ่ในปี 2020 อุตสาหกรรมทั้งหมดยกเว้น 4 อุตสาหกรรมเหล่านี้มีกำไรเติบโตเร็วกว่าค่าจ้าง” คุณเจริโค กล่าว

“มันเน้นให้เห็นถึงสิ่งที่เราโต้เถียงกันมา นั่นก็คือผลกำไรขององค์กรต่าง ๆ เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของอัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพ ซึ่งมันไม่ได้เกิดขึ้นผ่านผ่านอัตราค่าจ้างที่แข็งแกร่ง การเติบโต หรืออะไรทำนองนั้น”

คุณเจริโค กล่าวว่า สถาบันออสเตรเลียได้ผลักดันให้รัฐบาลจัดการเก็บภาษีลาภลอยจากผลกำไรที่มากเกินไป

“เมื่อพวกเขาทำกำไรเหล่านี้จากสิ่งที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจของตน พวกเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่ธนาคารสำรอง ฯ ขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่พวกเขาเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากมัน เราจะโต้แย้งว่ารัฐบาลควรเก็บภาษีจากพวกเขาในอัตราที่สูงขึ้น” คุณเจริโค กล่าว

เขากล่าวอีกว่า เงินที่ได้จากการเก็บภาษีในส่วนนี้สามารถนำไปสนับสนุนประชาชนที่มีรายได้น้อยซึ่งกำลังดิ้นรนกับการจ่ายค่าผ่อนบ้าน หรือค่าเช่าที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นแล้วจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูง


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 
เรื่องราวที่น่าสนใจ จาก เอสบีเอส ไทย

หนาวนี้ อย่าลืมตรวจสอบสโมค อลาร์ม


Share
Published 9 May 2023 3:51pm
By Madeleine Wedesweiler
Presented by Tinrawat Banyat
Source: SBS


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand