"ไข้สมองอักเสบญี่ปุ่น" กำลังระบาดในออสเตรเลีย

ฝนถล่ม-น้ำท่วมหนักทำยุงชุม พาหะไข้สมองอักเสบญี่ปุ่นระบาดหนักในออสเตรเลีย ผู้เชี่ยวชาญชี้ส่วนใหญ่ไม่มีอาการแต่บางรายอาจถึงชีวิต คาดสาธารณสุขอาจทบทวนอนุญาตฉีดวัคซีนป้องกันหากระบาดหนักกว่านี้

Humans contract the virus through mosquito bites.

Humans contract the virus through mosquito bites. Source: AAP / University of Glasgow/PA

หน่วยงานสาธารณสุขกำลังเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด หลังตรวจพบไวรัสที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตในโรงเรือนสุกรบางแห่งทั่วรัฐนิวเซาท์เวลส์ รัฐควีนส์แลนด์ รัฐเซาท์ออสเตรเลีย และรัฐวิกตอเรีย

ไวรัสไข้สมองอักเสบญี่ปุ่น (Japanese Encephalitis Virus หรือ JEV) พบได้ในสุกรและนก แต่สามารถแพร่เชื้อสู่คนได้ผ่านการถูกยุงกัด แม้ผู้คนส่วนมากจะไม่มีอาการใด ๆ จากไวรัสดังกล่าว แต่ในบางกรณีไวรัสนี้อาจนำไปสู่การติดเชื้อในสมองที่รุนแรงถึงชีวิตได้

ไวรัสไข้สมองอักเสบญี่ปุ่นพบได้ทั่วประเทศปาปัวนิวกินี และหมู่เกาะทอร์เรส สเตรท แต่ก็พบได้เป็นบางครั้งในออสเตรเลียแผ่นดินใหญ่โดยเฉพาะพื้นที่ทางตอนเหนือของรัฐควีนส์แลนด์

ซอนยา เบนเนตต์ (Sonya Bennett) รักษาการประธานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของออสเตรเลียได้ประกาศให้โรคไข้สมองอักเสบญี่ปุ่นเป็น “อุบัติการณ์โรคติดต่อที่มีความสำคัญระดับชาติ (communicable disease incident of national significance)”

เมื่อบ่ายวานนี้ (8 มี.ค.) มีผู้ติดเชื้อไข้สมองอักเสบญี่ปุ่นในออสเตรเลียที่ได้รับการยืนยันแล้ว 9 ราย ซึ่งรวมถึงชายและเด็กคนหนึ่งในพื้นที่ชนบทของรัฐนิวเซาท์เวลส์ ซึ่งต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล ขณะที่ผู้ติดเชื้อคนอื่น ๆ กำลังอยู่ในระหว่างการสอบสวนโรค

ในคืนวันเดียวกัน หน่วยงานสาธารณสุขรัฐวิกตอเรียยืนยันว่า ชายคนหนึ่งในวัยราว 60 ปีจากพื้นที่ทางเหนือของรัฐวิกตอเรีย เสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยผลชันสูตรได้เปิดเผยว่า สาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากไข้สมองอักเสบญี่ปุ่น โดยจนถึงขณะนี้เจ้าหน้าที่ยังคงอยู่ในระหว่างการสอบสวนว่า ชายคนดังกล่าวติดเชื้อไวรัสนี้มาได้อย่างไร

“เราขอแสดงความเสียใจไปยังเพื่อนและครอบครัวของเขาในช่วงเวลาอันยากลำบากนี้”  โฆษกหน่วยงานสาธารณสุขรัฐวิกตอเรีย กล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

โรคไข้สมองอักเสบญี่ปุ่นอันตรายแค่ไหน

ดร.อาลี เซด (Dr Ali Zaid) นักภูมิคุ้มกันวิทยาจากมหาวิทยาลัยกริฟฟิธ (Griffith University) กล่าวว่า ไวรัสไข้สมองอักเสบญี่ปุ่นคือ “ฟลาวิไวรัส” ซึ่งอยู่ในตระกูลเดียวกับไวรัสที่ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออกและไข้เหลือง  โดยมนุษย์ร้อยละ 99 ที่ติดเชื้อไวรัสไข้สมองอักเสบญี่ปุ่นจะยังคงมีสุขภาพดีโดยไม่แสดงอาการใด ๆ แต่ในบางรายอาจมีอาการรุนแรงจนนำไปสู่โรคไข้สมองอักเสบ

“แต่ประมาณหนึ่งเปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ติดเชื้อนี้อาจพัฒนาอาการไปสู่โรคติดต่ออย่างไข้สมองอักเสบได้” ดร.เซด กล่าว

“ในประมาณ 20% ของผู้ที่มีอาการเจ็บป่วย ไวรัสไข้สมองอักเสบญี่ปุ่นอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้”

Malaysian vets vaccinate pigs to prevent Japanese encephalitis virus during an outbreak in 1999.
สัตวแพทย์ในมาเลเซียกำลังฉีดวัคซีนให้หมูเพื่อป้องกันไวรัสไข้สมองอักเสบญี่ปุ่น (JEV) ในการแพร่ระบาดปี 1999 Source: AAP / ALAN TEH/AP


โรคไข้สมองอักเสบ (Encephalitis) คือคำจำกัดความทางการแพทย์ของอาการสมองบวม โดยในมนุษย์มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะ เป็นไข้ คอตึง และในบางกรณีอาจเป็นอัมพาตได้

จนถึงขณะนี้ มีการตรวจพบไวรัสไข้สมองอักเสบญี่ปุ่นในโรงเรือนสุกรจำนวน 42 แห่งทั่วรัฐควีนส์แลนด์ รัฐวิกตอเรีย รัฐเซาท์ออสเตรเลีย และรัฐนิวเซาท์เวลส์

ไข้สมองอักเสบญี่ปุ่นแพร่เชื้อได้อย่างไร

มนุษย์ได้รับเชื้อไวรัสไข้สมองอักเสบญี่ปุ่นผ่านการถูกยุงกัด แต่อย่างไรก็ตามไวรัสนี้ไม่อาจแพร่กระจายจากคนสู่คน และมนุษย์ก็ไม่สามารถติดเชื้อไวรัสนี้ได้จากการรับประทานผลิตภัณฑ์เนื้อหมู

หมูและนกน้ำ คือแหล่งเพาะพันธุ์ไวรัสชนิดนี้ โดยยุงที่มากัดพวกมันจะติดเชื้อ ซึ่งกลายเป็นพาหะนำเชื้อไปสู่มนุษย์ในที่สุด ในประเทศมาเลเซีย มีการฆ่าหมูนับแสนตัวในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสไข้สมองอักเสบญี่ปุ่นเมื่อช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1990
สำหรับในออสเตรเลีย การติดเชื้อไวรัสไข้สมองอักเสบญี่ปุ่นในมนุษย์จำกัดอยู่ในพื้นที่ทางตอนเหนือสุดของรัฐควีนส์แลนด์ แต่คาดว่าสภาพอากาศที่รุนแรงซึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก เป็นสาเหตุที่ทำให้ไวรัสดังกล่าวแพร่กระจายลงมายังพื้นที่ทางใต้ของประเทศ

รอย ฮอล (Roy Hall) นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ กล่าวว่า ไวรัสไข้สมองอักเสบญี่ปุ่นที่เข้ามายังออสเตรเลียแผ่นดินใหญ่ เป็นไปได้ว่าจะมาจากประเทศปาปัวนิวกินี หรืออินโดนีเซีย

“การแพร่กระจายของมันไปยังพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลีย เกิดหลังจากฝนที่ตกอย่างหนักในพื้นที่ตอนกลางของประเทศ และในลุ่มน้ำเมอร์รีย์ดาร์ลิง (Murray Darling basin) ซึ่งเป็นจุดที่ไวรัสถูกนำพาลงมายังพื้นที่ตะวันออกเฉียงใต้โดยนกน้ำที่ติดเชื้อและบินลงใต้ ซึ่งเชื้อไวรัสจะหมุนเวียนอยู่ในตัวนกและยุงจากแหล่งน้ำที่พวกมันอยู่อาศัย”

จะทำอย่างไรให้ปลอดภัย

หน่วยงานสาธารณสุขรัฐนิวเซาท์เวลส์ได้เน้นถึงความสำคัญของการปกป้องตัวคุณจากการถูกยุงกัด เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไวรัสไข้สมองอักเสบญี่ปุ่น (JEV) ซึ่งรวมถึงการปกปิดผิวหนังที่เปลือยเปล่า หรือทายากันยุงเมื่ออยู่นอกบ้าน

“ใช้ยากันยุงที่มีสาร DEET (N, N-diethyl-meta-toluamide) หรือพิคาริดิน (Picaridin) หลีกเลี่ยงการอยู่ข้างนอกในช่วงพลบค่ำและรุ่งสาง และกำจัดน้ำขังรอบบริเวณบ้าน คือวิธีที่ดีที่สุดในการจำกัดการแพร่พันธุ์ของยุงเหล่านี้” ดร.เซด กล่าว

ศาสตราจารย์เคน ลีเดอร์ (Prof Kain Leder) หัวหน้าหน่วยงานโรคติดต่อจากมหาวิทยาลัยโมแนช กล่าวว่า ในออสเตรเลียมีวัคซีนไวรัสไข้สมองอักเสบญี่ปุ่น 2 ชนิด แต่ตามปกติแล้วจะฉีดให้กับผู้เดินทางเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้อาจเปลี่ยนแปลงได้หากไวรัสนี้แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว

“เมื่อจำนวนและขอบเขตการติดเชื้อไวรัสไข้สมองอักเสบญี่ปุ่นในอนาคตขยายวง เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอาจต้องพิจารณาขยายคำแนะนำการฉีดวัคซีนสำหรับผู้ที่มีแนวโน้มจะติดเชื้อ” ศาสตราจารย์ลีเดอร์ กล่าว


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด

หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่  
เรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย

วิธีขอรับเงินเยียวยาน้ำท่วมจากรัฐบาลออสเตรเลีย


Share
Published 9 March 2022 2:42pm
By Steven Trask
Presented by Tinrawat Banyat

Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand