รายงานการพิจารณาระบบย้ายถิ่นฐานออสฯ ชี้ 'ต้องเปลี่ยนยกเครื่อง'

การพิจารณาระบบการย้ายถิ่นฐานของออสเตรเลียพบว่าระบบซับซ้อนเกินไป ขณะที่ข้อกำหนดสำหรับผู้ที่จะอาศัยอยู่กลับไม่ได้วัดความสามารถระยะยาวในการมีส่วนร่วมต่อระบบเศรษฐกิจ

Home Affairs Minister Clare O'Neil addresses the National Press Club in Canberra.

แคลร์ โอนีล (Clare O'Neil) รัฐมนตรีกิจการภายในออสเตรเลีย ได้เปิดเผยรายงานการพิจารณาระบบย้ายถิ่นฐาน ซึ่งเตือนว่าระบบนี้เต็มไปด้วยช่องโหว่สำหรับการเอารัดเอาเปรียบ Source: AAP / Lukas Coch

ประเด็นสำคัญในข่าว
  • แคลร์ โอนีล (Clare O'Neil) รัฐมนตรีกิจการภายในออสเตรเลีย เปิดเผยผลการพิจารณาระบบการย้ายถิ่นฐานของออสเตรเลีย
  • การพิจารณาดังกล่าวได้แนะนำ “32 ทิศทางการปฏิรูปที่เป็นไปได้” แต่ไม่ได้ให้คำแนะนำใด ๆ ที่ตายตัว
  • ลดประเภทวีซ่าให้น้อยลง เพิ่มเกณฑ์รายได้ และเปลี่ยนแปลงระบบแต้มทดสอบ คือข้อแนะนำบางส่วนจากการพิจารณาดังกล่าว
การพิจารณาระบบการย้ายถิ่นฐานของออสเตรเลียที่หลายฝ่ายรอคอยมานานมาถึงแล้ว ซึ่งได้เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงแบบถึงรากถึงโคนในส่วนของประเมินผู้ที่มีโอกาสจะได้เป็นพลเมืองออสเตรเลีย

ที่เผยแพร่โดย แคลร์ โอนีล (Clare O’Neil) รัฐมนตรีกิจการภายในออสเตรเลียในวันนี้ (27 เม.ย.) เตือนว่าระบบนี้ “ไม่เหมาะกับวัตถุประสงค์” และตอนนี้เต็มไปด้วยช่องโหว่ที่สุกงอมสำหรับการเอารัดเอาเปรียบ

“จุดประสงค์ของโครงการไม่มีความชัดเจน รัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายชุดต่อมาได้ตอบสนองต่อความท้าทายผ่านการปฏิรูปทีละน้อย ซึ่งไม่ได้จัดการแก้ไขปัญหาพื้นฐานที่สำคัญ” รายงานระบุ
A small group of international students sitting outside
การพิจารณาพบว่า ออสเตรเลียไม่สามารถรักษานักศึกษาต่างชาติหลังสำเร็จการศึกษาได้ ซึ่งเป็นผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจ Source: SBS
การพิจารณาดังกล่าว ซึ่งนำโดยอดีตหัวหน้าหน่วยบริการสาธารณะ มาร์ติน พาร์กินสัน พบว่าระบบย้ายถิ่นฐานของออสเตรเลียมีความซับซ้อนมากเกินไป โดยมีวีซ่ามากกว่า 100 ซับคลาส ขณะที่ข้อกำหนดของผู้ที่มีความประสงค์จะอาศัยอยู่ต่อในออสเตรเลียไม่ได้ทดสอบความสามารถในระยะยาวของการมีส่วนร่วมต่อระบบเศรษฐกิจอย่างแท้จริง

แต่รายงานดังกล่าวกลับไม่มีข้อแนะนำที่ตายตัวใด ๆ แต่ได้แนะนำ "32 ทิศทางปฏิรูปที่เป็นไปได้" เพื่อให้รัฐบาลพิจารณา

ในการแถลงข่าวต่อสมาคมสื่อมวลชนแห่งชาติ (National Press Club) ซึ่งได้มีการเผยแพร่รายงานดังกล่าว แคลร์ โอนีล รัฐมนตรีกิจการภายในออสเตรเลีย ได้ยืนยันถึงการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม 2 อย่าง และให้สัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่เป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้

ต่อไปนี้คือประเด็นสำคัญจากรายงานการพิจารณาระบบย้ายถิ่นฐานของออสเตรเลีย

พรรคแรงงานเพิ่มเกณฑ์รายได้สำหรับพิจารณาอนุมัติวีซ่า

ในการประกาศครั้งใหญ่ในวันนี้ คุณโอนีล รัฐมนตรีกิจการภายในของออสเตรเลียได้เปิดเผยว่า พรรคแรงงานได้เพิ่มเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำที่ผู้ย้ายถิ่นฐานจำเป็นต้องมี เพื่อให้ได้รับการสปอนเซอร์จากนายจ้าง ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จะทำให้เกณฑ์รายได้สำหรับวีซ่าชั่วคราวของผู้ย้ายถิ่นฐานมีทักษะ หรือ Temporary Skilled Migration Income Threshold (TSMIT) ซึ่งไม่ได้รับการปรับขึ้นนับตั้งแต่มีการกำหนดครั้งแรกเมื่อสิบปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นจาก 53,000 ดอลลาร์เป็น 70,000 ดอลลาร์

"นั่นหมายความว่า ทุกๆ ปีในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สัดส่วนที่เพิ่มขึ้นของคนทำงานที่เข้าประเทศออสเตรเลียด้วยวีซ่าทักษะกำลังถูกเปลี่ยนไปสู่งานที่มีค่าแรงต่ำ" คุณโอนีลกล่าว

"การเพิ่ม (เกณฑ์รายได้) ในครั้งนี้เป็นเรื่องใหญ่ มันจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้แน่ใจว่าโครงการนี้เป็นไปตามที่กล่าวไว้ นั่นคือโครงการสำหรับแรงงานมีทักษะ ไม่ใช่โครงการสำหรับแรงงานรับเชิญ"

"สถาบันแกรทแทนเรียกสิ่งนี้ว่า The Goldilocks threshold ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เหมาะสม ... แรงงานมีทักษะจำนวนมากที่มายังประเทศของเราค่อนข้างมีอายุน้อย และสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้หากเรากำหนดอัตราสูงเกินไปนั่นก็คือการคัดพวกเขาออก"

การพิจารณานี้ยังพบอีกว่า TSMIT "ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้อีกต่อไปและควรได้รับการปรับปรุง" ในขณะที่รายชื่ออาชีพที่นายจ้างสามารถสปอนเซอร์แรงงานทักษะจากต่างประเทศก็มีความล้าสมัย และไม่สะท้อนถึงระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่
Two men in suits and ties laugh from behind lecterns.
พรรคแรงงานยังได้ประกาศเส้นทางการเป็นผู้อาศัยถาวรที่ได้รับการผ่อนคลายสำหรับพลเมืองนิวซีแลนด์อีกด้วย Source: AAP / Lukas Coch

หนทางสู่การได้เป็นผู้อาศัยถาวรในออสเตรเลีย

ลูกจ้างชั่วคราวที่มีทักษะทุกคนจะได้รับโอกาสในการสมัครเป็นผู้อยู่อาศัยถาวร

คุณโอนีลกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงซึ่งจะมีผลบังคับใช้ภายในสิ้นปีนี้ จะทำให้การยื่นสมัครเป็นผู้อยู่อาศัยถาวรมีการแข่งขันกันมากขึ้น

“แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะมีผู้คนจำนวนมากขึ้น” คุณโอนีลย้ำ

“นั่นหมายความว่า กลุ่มแรงงานชั่วคราวที่ถูกปฏิเสธแม้กระทั่งโอกาสในการสมัครเป็นผู้อยู่อาศัยถาวรก็จะสามารถทำสิ่งนี้ได้ด้วย”

ทั้งนี้ การย้ายถิ่นฐานชั่วคราวในออสเตรเลียเพิ่มขึ้นมานับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2007 ปัจจุบันมีผู้ย้ายถิ่นฐานชั่วคราว 2.1 ล้านคนอยู่ในออสเตรเลีย

3 เส้นทางใหม่สำหรับการย้ายถิ่น

พรรคแรงงานต้องการการเปลี่ยนแปลงระบบการย้ายถิ่นฐานแบบถึงรากถึงโคน โดยแบ่งระบบดังกล่าวเป็น 3 ระดับ

แม้รายละเอียดปลีกย่อยจะยังคงอยู่ระหว่างการทำงานร่วมกับสหภาพและธุรกิจต่าง ๆ แต่โดยทั่วไปแล้วการเปลี่ยนแปลงนี้จะมีแนวทางที่แตกต่างกันไป โดยขึ้นอยู่กับรายได้และทักษะของผู้สมัครที่จะย้ายถิ่นฐานมายังออสเตรเลีย

เทียร์หนึ่ง (Tier 1) จะเป็นช่องทางที่คล่องตัวสำหรับคนทำงานรายได้สูง ซึ่งจะได้รับการออกแบบให้มีการตอบสนองที่รวดเร็วสำหรับแรงงานทักษะสูง เพื่อยุติการรอคอยที่ยาวนานซึ่งเป็นอุปสรรคต่อความพยายามเติมช่องว่างแรงงานทักษะซึ่งกำลังขาดแคลนในออสเตรเลีย
“มันเป็นเส้นทางที่รวดเร็วและเรียบง่ายสำหรับคนทำงานที่มีทักษะสูงเฉพาะทางที่เราต้องการ เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมในระบบเศรษฐกิจของเรา มันช่วยสร้างงานสำหรับอนาคต” คุณโอนีล กล่าว

เทียร์สอง (Tier 2) หรือช่องทางสำหรับผู้มีทักษะทั่วไป จะมุ่งเน้นไปที่ผู้มีรายได้ปานกลาง ซึ่งจะรับรู้ถึงผลกระทบจากเกณฑ์รายได้ที่มีการปรับใหม่มากที่สุด

“(ช่องทางนี้) จะมุ่งเน้นไปที่การประเมินที่เหมาะสมต่อภาวะขาดแคลนแรงงานมากกว่าวิธีการปัจจุบันที่ล้าสมัย ซึ่งทุกคนยอมรับว่าเป็นวิธีที่ไม่ได้ผล” คุณโอนีล กล่าว

เทียร์ 3 (Tier 3) ช่องทางสำหรับอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็น จะเป็นการปรับปรุงการรับเข้าผู้ย้ายถิ่นฐานรายได้ต่ำ ซึ่งอาจมีผลอย่างมากต่อภาคส่วนที่อยู่ภายใต้แรงกดดัน เช่น การดูแลผู้สูงอายุ

“สาเหตุหนึ่งที่มีการเอารัดเอาเปรียบมากมายเกิดขึ้นในออสเตรเลีย เป็นเพราะว่าเราปล่อยให้โครงการย้ายถิ่นฐานที่มีการจ่ายค่าแรงต่ำดำเนินการอยู่ในเงามืด” คุณโอนีล กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความชัดเจนว่าระบบใหม่นี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อใด แต่รัฐบาลยืนยันว่ากำลังดำเนินการอย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ลดประเภทวีซ่าให้น้อยลง

“ระบบของเรานั้นช้าและซับซ้อนอย่างบ้าคลั่ง” แคลร์ โอนีล รัฐมนตรีกิจการภายในออสเตรเลีย กล่าว

“ปัญหาเหล่านี้เป็นมากกว่าเรื่องรำคาญใจ จำไว้ว่าประเทศอื่น ๆ ที่พัฒนาแล้วกำลังแข่งขันกันเพื่อผู้ย้ายถิ่นฐานแบบเดียวกับที่เราต้องการ”

รัฐมนตรีด้านกิจการภายในออสเตรเลียได้แสดงเจตจำนงในการลดจำนวนวีซ่ามากกว่า 100 ซับคลาสของออสเตรเลียลง ซึ่งละเอียดมาก จนถึงกับมีวีซ่าเฉพาะทางให้กับเรือซุปเปอร์ยอร์ชรวมอยู่ด้วย

"มันยุ่งเหยิง ... ซับซ้อนมาก ขนาดว่าหากฉันวาดออกมาเป็นแผนภาพให้คุณเห็น มันคงจะเหมือนสปาเกตตีที่พันกันยุ่งเหยิงอยู่ในชาม" คุณโอนีล กล่าว

คุณพาร์กินสัน กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวถูกซ้ำเติมให้เลวร้ายลง ด้วยการแข่งขันระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นสำหรับแรงงานที่มีทักษะ ซึ่งไม่ได้ถูกกำหนดให้มีเพียงประเทศอย่างออสเตรเลีย และแคนาดาเช่นแต่เดิมอีกต่อไป

หนึ่งในวีซ่าซึ่งเป็นไปได้ว่าจะถูกตัดออก คือวีซ่าชั่วคราวสำหรับนักลงทุนรายสำคัญ (Significant Investor Provisional Visa) หรือที่เรียกกันว่าวีซ่าตั๋วทอง ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ที่ลงทุนในออสเตรเลียมูลค่าอย่างน้อย 5 ล้านดอลลาร์ ได้อาศัยอยู่ในออสเตรเลียเป็นเวลาสูงสุด 5 ปี พร้อมได้รับการปูทางไปสู่การได้สมัครเป็นผู้อยู่อาศัยถาวรในท้ายที่สุด

“เราคิดว่าวีซ่าบางส่วนเหล่านี้ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของมัน โดยพื้นฐานแล้วมันเป็นช่องทางลับๆ เพื่อให้ผู้คนเข้ามาและลงทุนในพื้นที่ที่ให้ผลผลิตต่ำซึ่งมีมูลค่าเพียงเล็กน้อยต่อชุมชน และได้รับวีซ่าภายในขั้นตอนนี้” คุณพาร์กินสันกล่าว

รักษานักศึกษาต่างชาติที่มีความสามารถ

การพิจารณาดังกล่าวพบว่า นักศึกษาต่างชาติควรเป็น "แหล่งสำคัญ" สำหรับการย้ายถิ่นฐานของผู้มีทักษะ แต่ออสเตรเลียกำลังล้มเหลวในเรื่องนี้

“ออสเตรเลียกำลังปล่อยให้อดีตนักศึกษาจำนวนมากเกินไปกลายเป็น ‘ผู้อาศัยชั่วคราวถาวร’ ด้วยการไม่ระบุชี้ผู้ที่มีศักยภาพสูงสุดที่จะประสบความสำเร็จ” รายงานระบุ

ในขณะนี้ นักศึกษาต่างชาติไม่สามารถยื่นสมัครวีซ่าผู้สำเร็จการศึกษา (Graduate Vida) จนกระทั่งหลังจากพวกเขาสำเร็จการศึกษาแล้ว ด้วยเวลารอผลที่นานถึง 8 เดือน และไม่มีการประกันว่าจะมีผู้จ้างงานหรือจะได้วีซ่าระยะยาวหรือไม่ บ่อยครั้งที่พวกเขาต้องถูกบังคับให้ทำงานที่ใช้ทักษะต่ำในระหว่างนี้

คุณพาร์กินสันกล่าวอีกว่า วีซ่าชั่วคราวที่พวกเขาได้รับมักจะสั้นกว่าเวลาที่ต้องใช้ในการโอนย้ายและรับรองคุณวุฒิ

“เห็นได้ชัดว่าเราไม่ได้ดึงดูดสิ่งที่ดีที่สุดจากนักศึกษาต่างชาติของเรา พวกเขามาที่นี่ เราให้ความรู้กับพวกเขา เราออกวีซ่าให้กับพวกเขานานกว่าประเทศอื่น ๆ โดยส่วนใหญ่ แต่ถ้าคุณเป็นนายจ้าง คุณไม่รู้ว่าพวกเขาจะได้รับวีซ่า ผู้สำเร็จการศึกษาจึงติดอยู่ในงานที่มีทักษะต่ำเหล่านี้ เพราะไม่สามารถเข้าสู่งานที่พวกเขาได้รับการฝึกฝนมาอย่างแท้จริง” คุณพาร์กินสัน กล่าว

ทางออกหนึ่งที่รายงานดังกล่าวแนะนำ คือการออกวีซ่าสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาทันที แต่อย่างไรก็ดี การพิจารณาดังกล่าวยอมรับว่า “อาจไม่ได้แก้ไขเหตุผลสำคัญที่หลายคนดิ้นรนเพื่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเต็มที่”

การเปลี่ยนระบบทดสอบแต้มคะแนน

การพิจารณาดังกล่าวได้เสนอแนะให้ “มีการปรับเทียบใหม่” สำหรับระบบแต้มคะแนนของออสเตรเลีย เพื่อคัดเลือกผู้ย้ายถิ่นฐานที่เป็นไปได้ว่า "จะมีส่วนร่วมต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาวได้มากที่สุด"

“คณะกรรมการกังวลว่า การทดทดสอบปัจจุบันไม่ได้รับการปรับเทียบอย่างเพียงพอ เพื่อแยกแยะความแตกต่างระหว่างผู้สมัครอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากโครงสร้างในปัจจุบันดูเหมือนว่าจะแยกแยะปัจจัยที่น่าจะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จในตลาดแรงงานที่ไม่ดี” รายงานระบุ

คุณพาร์กินสันเตือนอย่างโผงผางกว่านั้นว่า การทดสอบแต้มคะแนนในปัจจุบัน “ไม่ได้เลือกผู้ย้ายถิ่นฐานที่น่าจะประสบความสำเร็จได้มากที่สุด” โดยระบุว่า "เกือบทุกคน" เป็นไปตามข้อกำหนดส่วนใหญ่ที่ได้กำหนดไว้ แต่ความสำเร็จในกระบวนการสมัครนั้นกลับพิจารณาจากหลักเกณฑ์เล็ก ๆ และไม่มีความสำคัญ เช่น เคยเรียนหรือทำงานในพื้นที่ส่วนภูมิภาคของออสเตรเลียหรือเปล่า

“ตลอดชีวิตผมที่ผ่านมา ผมไม่เห็นว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นปัจจัยกำหนดความสำเร็จระยะยาวของออสเตรเลียได้อย่างไร” คุณพาร์กินสันกล่าว


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 27 April 2023 6:45pm
Updated 27 April 2023 7:29pm
By Finn McHugh
Presented by Tinrawat Banyat
Source: SBS


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand