รัฐบาลออสฯ เตรียมขยายลิมิตสั่งจ่ายยาโครงการ PBS สำหรับผู้ป่วยเรื้อรัง

รัฐบาลออสฯ จะทำให้ราคายาทั่วไปในโครงการสิทธิประโยชน์ด้านเวชภัณฑ์ (PBS) สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรังมีราคาถูกลง โดยอนุญาตให้ซื้อยาเก็บไว้ใช้ได้ 2 เดือนในใบสั่งยาเดียว

Container of medication

ประชาชนสามารถประหยัดได้ถึงปีละ 180 ดอลลาร์ หากยาของพวกเขาสามารถสั่งจ่ายโดยแพทย์เพื่อใช้งานได้เป็นเวลา 60 วัน Source: AAP / MOODBOARD/MOODBOARD

ประเด็นสำคัญในข่าว
  • รัฐบาลวางแผนที่จะอนุญาตให้ประชาชนสามารถซื้อยาที่รัฐบาลอุดหนุนในโครงการ PBS ไว้ใช้ได้เป็นเวลา 2 เดือน โดยใช้ใบสั่งยาเพียงฉบับเดียว
  • ภายใต้นโยบายนี้ จะมียาทั่วไปหลายร้อยรายการสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรังที่จะมีราคาถูกลง
  • คาดว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ซึ่งจะเริ่มมีผลในวันที่ 1 กันยายนนี้ จะทำให้ประชาชนประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึงปีละ 180 ดอลลาร์
ชาวออสเตรเลียนับล้านคนที่มีภาวะเจ็บป่วยเรื้อรัง จะพบว่าการเข้าถึงยาชนิดต่าง ๆ มีราคาถูกลง ภายใต้โครงการใหม่ซึ่งจะรวมอยู่ในร่างงบประมาณแผ่นดินของรัฐบาลสหพันธรัฐเดือนหน้า

โดยรัฐบาลวางแผนที่จะอนุญาตให้ประชาชนซื้อยาที่รัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายในโครงการสิทธิประโยชน์ทางเวชภัณฑ์ (Pharmaceutical Benefits Scheme หรือ PBS) สำหรับใช้เป็นเวลา 2 เดือนภายในใบสั่งยาเดียว แทนที่จะซื้อโดยใช้ใบสั่งยา 2 ใบแยกต่างหาก

จากนโยบายดังกล่าว หมายความว่าชาวออสเตรเลียประมาณ 6 ล้านคนจะจ่ายค่ายาน้อยลง และลดเวลาเดินทางไปมาระหว่างแพทย์และร้านขายยา โดยโครงการดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน อาจช่วยให้ประชาชนประหยัดค่าใช้จ่ายจากความจำเป็นที่ลดลงในการไปหาแพทย์จีพีเพื่อขอรับยาทั่วไปที่พวกเขาต้องการ

เพื่อตรวจสอบว่ายาชนิดใดบ้างที่อยู่ในโครงการ PBS

ส่วนผลกระทบต่อการคลังของประเทศจากโครงการดังกล่าว จะได้รับการเปิดเผยในการยื่นร่างงบประมาณแผ่นดินโดย จิม ชาล์เมอส์ รัฐมนตรีคลังออสเตรเลียในวันที่ 9 พ.ค.นี้

การเข้าถึงยาทั่วไปหลายร้อยชนิดจะมีราคาถูกลงผ่านนโยบายนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เน้นไปที่ผู้ป่วยอาการเรื้อรังซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายกับยาเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ มียามากกว่า 320 ชนิดในโครงการ PBS สำหรับภาวะอาการเรื้อรัง อย่างเช่น โรคหัวใจ คอเลสเตอรอลในเลือด โรคโครห์น (การอักเสบในระบบทางเดินอาหาร) และความดันโลหิตสูง
Jim Chalmers standing at a podium
ผลกระทบทางการเงินในการทำให้ยานับร้อยรายการราคาถูกลงสำหรับชาวออสเตรเลีย จะได้รับการเปิดเผยในการแถลงร่างงบประมาณแผ่นดินในรัฐบาลสหพันธรัฐ โดย จิม ชาลเมอร์ส รัฐมนตรีคลังของออสเตรเลีย 9 พ.ค.นี้ Source: AAP / Jono Searle
โดยประชาชนจะประหยัดได้ถึงปีละ 180 ดอลลาร์ หากยาที่ใช้สามารถสั่งจ่ายโดยแพทย์สำหรับการใช้ยาเป็นเวลา 60 วัน และจะประหยัดได้มากกว่านั้น หากยาตัวอื่น ๆ เข้าเกณฑ์สำหรับการขยายระยะเวลาจ่ายยาด้วย

ในตอนแรก คณะกรรมาธิการที่ปรึกษาโครงการสิทธิประโยชน์ทางเวชภัณฑ์ (The Pharmaceutical Benefits Advisory Committee) ลอยตัวแนวคิดนี้ไว้เมื่อปี 2018 ขณะที่มีการสอบสวนถึงความปลอดภัยทางคลินิกในการอนุญาตให้ยาในโครงการ PBS สำหรับผู้ป่วยเรื้อรังถูกสั่งจ่ายได้ในปริมาณมากขึ้น ซึ่งต่อมา คณะกรรมาธิการ ฯ ได้แนะนำให้เปลี่ยนแปลงกำหนดสำหรับใบสั่งยาแบบเติมยาจาก 1 เดือนเป็น 2 เดือน สำหรับยาทั่วไปในโครงการดังกล่าว
แต่ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว กฎระเบียบเรื่องการจ่ายยาของออสเตรเลียก็ยังคงยืดหยุ่นน้อยกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ โดยที่นิวซีแลนด์อนุญาตให้แพทย์ออกใบสั่งยาสำหรับใช้งานได้สูงสุด 90 วัน และ 100 วันสำหรับแคนาดา

ปัญหาการขาดแคลนยา

อย่างไรก็ดี เทรนต์ ทูมีย์ (Trent Twomey) ประธานสมาคมเภสัชกรรมแห่งออสเตรเลีย (Pharmacy Guild of Australia) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจนำไปสู่ปัญหาขาดแคลนยาสำหรับผู้ป่วยได้

“ผมสนับสนุนการเยียวยาและมาตรการลดค่าครองชีพ แต่โชคไม่ดีที่สิ่งนี้กลับเป็นเรื่องหลอกลวงตา” คุณทูมีย์ กล่าวกับโทรทัศน์เอบีซีในวันนี้ (26 เม.ย.)

คุณทูมีย์กล่าวอีกว่า มียามากกว่า 470 ชนิดในออสเตรเลียที่อยู่ในขั้นขาดแคลนวิกฤต หรือไม่มีโดยสิ้นเชิง พร้อมระบุว่ามียาร้อยละ 40ในรายการสำหรับผู้ป่วยเรื้อรังที่กำลังประสบกับภาวะขาดแคลนในสต๊อก

“รัฐบาลต้องหยุดว้าวุ่นกับประกาศที่ไม่มีความชัดเจนในเช้าวันนี้ เกี่ยวกับสัญญาก่อนการแถลงร่างงบประมาณแผ่นดินที่ว่าเราจะช่วยเหลือเรื่องค่าครองชีพอย่างไร” คุณทูมีย์ กล่าว

“จะต้องทำให้เรื่องพื้นฐานถูกต้องเสียก่อน นั้นก็คือการทำให้แน่ใจว่าทุกคนจะสามารถรับยาได้อย่างน้อยคนละ 1 กล่อง”

มาร์ค บัตเลอร์ รัฐมนตรีสาธารณสุขออสเตรเลีย กล่าวว่า มาตรการในส่วนของค่าครองชีพนั้น จะแก้ไขปัญหาที่ชาวออสเตรเลียประวิงเวลา หรือดำเนินชีวิตโดยไม่ใช้ยาที่จำเป็นสำหรับพวกเขา

“ทุกปี ชาวออสเตรเลียเกือบล้านคนถูกบังคับให้ประวิงเวลา หรือดำเนินชีวิตโดยไม่มียาที่แพทย์บอกว่ามันมีความจำเป็นสำหรับสุขภาพของพวกเขา” คุณบัตเลอร์ กล่าว

“นโยบายค่ายาที่มีราคาถูกลงนี้เป็นสิ่งที่ปลอดภัย ดีต่อเงินในกระเป๋าของชาวออสเตรเลีย และที่สำคัญก็คือ มันดีต่อสุขภาพของพวกเขา”

อย่างไรก็ตาม แพทย์จะยังสามารถเลือกที่จะออกใบสั่งยาสำหรับใช้เป็นเวลา 1 เดือนได้ ขณะที่รัฐบาลยืนยันว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะไม่ทำให้ความต้องการยาเพิ่มขึ้น หรือทำให้เกิดการขาดแคลนยา

“เรากำลังเรียกร้องไปยังรัฐบาลสหพันธรัฐให้พิจารณาอีกครั้ง...” ประธานสมาคมเภสัชกรรมแห่งออสเตรเลียกล่าว และเสริมว่า ทางเลือกที่ดีกว่าคือการลดราคาที่ประชาชนต้องจ่ายในส่วนของยาที่อยู่ในโครงการ PBS จาก 30 ดอลลาร์เป็น 19 ดอลลาร์

เพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่จะถึงการแถลงร่างงบประมาณแผ่นดินครั้งที่ 2 ของรัฐบาลภายใต้การนำของ แอนโทนี อัลบานิซี รัฐมนตรีเงาด้านการคลัง แองกัส เทเลอร์ เรียกร้องให้ จิม ชาล์เมอส์ รัฐมนตรีการคลัง วางแนวทางในการทำให้งบประมาณแผ่นดินกลับมาอยู่ในระดับเกินดุลได้อีกครั้ง โดยระบุว่าควรเก็บภาษีสินค้าโภคภัณฑ์และภาษีลาภลอยเพื่อรับมือกับสภาวะขาดดุล
“หากรัฐบาลไม่สามารถทำให้งบประมาณเกินดุลได้ ด้วยราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีความแข็งแรงในปัจจุบัน และเศรษฐกิจที่แข็งแรงซึ่งพรรครัฐบาลผสมได้มอบให้ แล้วเมื่อไหร่ที่รัฐบาลจะทำให้งบประมาณเกินดุลได้”

ทั้งนี้ รัฐมนตรีคลังของออสเตรเลีย มุ่งที่จะซึมซับรายได้ส่วนใหญ่จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูง แต่ไม่ทำให้งบประมาณแผ่นดินอยู่ในระดับเกินดุล


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  


บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 


Share
Published 27 April 2023 11:10am
Presented by Tinrawat Banyat
Source: AAP


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand