เหตุใดออสเตรเลียควรสนับสนุนผู้ย้ายถิ่นที่ทำงานดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น

NEWS: ออสเตรเลียจะต้องการลูกจ้างดูแลผู้สูงอายุมากกว่าที่มีขณะนี้ 3 เท่าภายในปี 2050 เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการ แต่คนส่วนหนึ่งในอุตสาหกรรมนี้กล่าวว่า การนำลูกจ้างมาจากต่างประเทศด้วยวีซ่าชั่วคราวอาจทำให้ลูกจ้างกลุ่มนี้มีความเสี่ยงมากกว่าที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบได้

Despina Zountouridou

Despina Zountouridou came to work in Australia's aged care sector from Greece. Source: SBS News

คณะกรรมาธิการด้านผลิตภาพคาดการณ์ว่า ออสเตรเลียจะมีความต้องการลูกจ้างดูแลผู้สูงอายุมากกว่าที่มีอยู่ขณะนี้เกือบ 3 เท่า คือราว 360,000 คน ภายในปี 2050 เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการ

การขาดแคลนลูกจ้างก็หมายถึงการต้องพึ่งพาลูกจ้างที่ถือวีซ่าชั่วคราวมากขึ้น ในปี 2011 ลูกจ้างดูแลผู้สูงอายุและดูแลผู้พิการทุกพลภาพในออสเตรเลียร้อยละ 33 เป็นผู้ที่เกิดในต่างประเทศ ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 37 ในปี 2016

แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการอพยพย้ายถิ่นกล่าวว่า การที่ลูกจ้างมีสถานะเป็นผู้ถือวีซ่าชั่วคราวอาจทำให้พวกเขามีความเสี่ยงมากกว่าที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบ โดยมากแล้วพวกเขามักไม่มีสหภาพแรงงานเป็นตัวแทน และยินยอมที่จะรับค่าจ้างที่ต่ำ และยอมทำงานในสภาพการทำงานที่แย่

“สิ่งที่เราจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงคือสภาวะการมีลูกจ้างผู้อพยพที่ถือวีซ่าชั่วคราวเดินเข้า-ออกในอุตสาหกรรมนี้อยู่ตลอดเวลา” ดร.โจอานนา โฮวี นักวิชาการชั้นนำด้านการอพยพย้ายถิ่นฐานของแรงงานชั่วคราว ของมหาวิทยาลัยแอดิเลด ที่ศึกษาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการดูแลผู้สูงอายุ กล่าว

“การทำเช่นนี้ ทำให้ไม่มีเครื่องจูงใจสำหรับอุตสาหกรรมที่จะปรับปรุงค่าจ้างและสภาพการทำงาน และเราได้เห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นในต่างประเทศ และเรายังได้เห็นในออสเตรเลียด้วย”
Despina Zountouridou
Despina with one of the residents. Source: SBS News
ในหมู่ข้อตกลงด้านแรงงานที่มีมากมาย แรงงานที่ถือวีซ่าชั่วคราวในอุตสาหกรรมการดูแลผู้สูงอายุ มาจากข้อตกลงกับประเทศในภูมิภาคแปซิฟิก ที่อนุญาตให้ลูกจ้างจากประเทศที่เป็นเกาะในทะเลแปซิฟิกมาทำงานในส่วนภูมิภาคของออสเตรเลียได้เป็นเวลาสูงสุด 3 ปี และโครงการ DAMA หรือข้อตกลงด้านการย้ายถิ่นฐานไปสู่พื้นที่ที่กำลัง ซึ่งดึงดูดลูกจ้างส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีนักเรียนต่างชาติ ที่ทำงานพาร์ทไทม์ ซึ่งขณะนี้เป็นแหล่งแรงงานสำคัญสำหรับงานดูแลส่วนบุคคล (personal care worker) โดยคิดเป็นร้อยละ 70 ของผู้ทำงานในภาคส่วนนี้

สหภาพบริการด้านสุขภาพ กล่าวว่า ลูกจ้างที่ทำงานเป็นผู้ดูแล (carers) มักเผชิญปัญหาค่าจ้างต่ำ และปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรอย่างรุนแรง แม้ว่าสหภาพจะกล่าวว่า การเอารัดเอาเปรียบลูกจ้างอย่างสุดขั้วส่วนใหญ่มักพบในงานบางตำแหน่งในอุตสาหกรรมการดูแลผู้สูงอายุ เช่น งานทำความสะอาด

“สำหรับลูกจ้างผู้อพยพย้ายถิ่น ที่ทำงานด้านการดูแลผู้สูงอายุ ควรมีความตระหนักมากกว่านี้ในเรื่องความสามารถของพวกเขาที่จะร้องเรียนเรื่องที่วิตกได้โดยไม่ต้องหวาดกลัว หรือเกรงว่าจะถูกปลดจากงาน หรือถูกส่งกลับประเทศ” นายเจอร์ราร์ด เฮส์ เลขาธิการแห่งชาติของสหภาพ กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายริชาร์ด คอลเบก รัฐมนตรีด้านการูแลผู้สูงอายุและชาวออสเตรเลียอาวุโส บอกกับ เอสบีเอส นิวส์ ว่า “รัฐบาลจะไม่ยอมให้มีการเอารัดเอาเปรียบลูกจ้างเกิดขึ้นในที่ทำงานของออสเตรเลีย และเรายังคงดำเนินการต่อไปเพื่อปกป้องลูกจ้างที่มีความเปราะบาง ซึ่งรวมไปถึงลูกจ้างจากต่างประเทศ”

“ลูกจ้างที่ถือวีซ่าชั่วคราวมีสิทธิได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานและการปกป้อง เช่นเดียวกับผู้มีสัญชาติออสเตรเลีย และผู้อยู่อาศัยถาวร ภายใต้กฎหมายในที่ทำงานที่เกี่ยวข้อง” รัฐมนตรี คอลเบก กล่าว
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

สุขใจกับงานดูแลผู้สูงอายุ

ประเด็นการรักษาพนักงานไว้ให้อยู่กับองค์กรต่อไป

ดร.โฮวี กล่าวว่า ผู้อพยพย้ายถิ่นที่ถือวีซ่าชั่วคราว ต้องการลงทุนในอาชีพของตนในออสเตรเลีย แต่ระบบการอพยพย้ายถิ่นของประเทศขณะนี้ขัดขวางพวกเขา

เธอกล่าวว่า ผลอย่างหนึ่งที่ตามมาคือ มีปัญหาพนักงานลาออกสูง ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องในการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้พิการทุกพลภาพที่รับบริการอยู่ และที่สำคัญคือสามารถส่งผลกระทบต่อคุณภาพของบริการได้

“รัฐบาลต้องพยายามทำให้แน่ใจว่าท่อลำเลียงแรงงานสำหรับงานดูแลผู้สูงอายุมาจากคนหนุ่มสาวชาวออสเตรเลีย ผู้ซึ่งต้องการทำงานในอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งอุตสาหกรรมที่พวกเขาทำงานอยู่พยายามรักษาพวกเขาไว้ให้ทำงานในองค์กรต่อไป และเมื่อเวลาผ่านไป ก็ให้การอบรมแก่พวกเขาเพื่อเพิ่มทักษะ นั่นจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแล และดีที่สุดสำหรับลูกจ้างในอุตสาหกรรมด้วย” ดร.โฮวี กล่าว

“คำถามสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือ จะอุดช่องว่างแรงงาน ด้วยลูกจ้างผู้อพยพ หรือจะยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรม และเพิ่มอัตราการรักษาพนักงานไว้ให้ทำงานอยู่ต่อไป เพื่อจะได้มีแรงงานถาวร”

คุณแพท สแปร์โรว์ ผู้บริหารของบริการผู้สูงอายุและชุมชนแห่งออสเตรเลีย ซึ่งเป็นตัวแทนผู้ให้บริการดูแลผู้สูงอายุแบบไม่มุ่งหวังผลกำไร กล่าวว่า ควรมีการใช้กลยุทธ์ทั้งสองอย่างที่ว่ามา

“เราจะเป็นต้องแก้ปัญหาแหล่งแรงงานในประเทศ และจำเป็นต้องจ่ายค่าจ้างลูกจ้างให้ดีขึ้น ลูกจ้างในอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ดังนั้น ประเด็นเรื่องความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างหญิงชาย และประเด็นเรื่องคุณค่าของงาน จึงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย”

“แต่ขณะเดียวกัน การมีลูกจ้างผู้อพยพก็สะท้อนชุมชนของออสเตรเลีย และเป็นการทำให้แน่ใจว่าผู้คนยังคงสามารถพูดภาษาของตนได้ ซึ่งสำคัญมากเมื่อประชาชนแก่ตัวลง”

เธอยังต้องการให้มีการเพิ่มงานผู้ดูแลส่วนบุคคลเข้าไปในรายชื่องานที่เป็นที่ต้องการสำหรับวีซ่าแรงงานทักษะด้วย และยังต้องการเห็นอาชีพนี้มีหนทางที่ง่ายขึ้นในการเป็นผู้อยู่อาศัยถาวรของออสเตรเลีย
ขณะนี้ ไม่มีการกำหนดให้ผู้ทำงานเป็นผู้ดูแลส่วนบุคคลต้องมีวุฒิการศึกษาใดโดยเฉพาะ แม้ว่านายจ้างจำนวนมากจะต้องการให้ลูกจ้างของพวกเขามีประกาศนียบัตรระดับ 3 เป็นอย่างน้อย

ขณะที่ผู้ดูแลที่เกิดในต่างประเทศ โดยทั่วไปแล้วมีวุฒิการศึกษาอย่างเป็นทางการสูงกว่าลูกจ้างที่เกิดในออสเตรเลีย แต่ผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมบางกลุ่มเรียกร้องให้ลูกจ้างจากต่างประเทศต้องได้รับการอบรมให้มีทักษะภาษาที่สูงขึ้น รู้จักบรรทัดฐานทางสังคม และรู้จักระบบการทำงานในออสเตรเลีย

สหภาพบริการด้านสุขภาพเห็นด้วยกับประเด็นนี้

“ผู้รับบริการดูแลผู้สูงอายุนั้นมีหลากหลาย” นายเฮส์ กล่าว

“การอบรมเพิ่มเติมใดๆ ให้แก่ผู้อพยพ เพื่อให้พวกเขาสามารถให้บริการดูแลผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพได้ จะเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมมาก”

รัฐมนตรีคอลเบก ระบุผ่านกลยุทธ์กำลังแรงงานดูแลผู้สูงอายุว่า “ขณะนี้กำลังมีตรวจสอบทบทวนเกี่ยวกับประกาศนียบัตรระดับ 3 ซึ่งเป็นคุณวุฒิด้านการดูแลสนับสนุนผู้สูงอายุ และจะพิจารณาเพิ่มพูนโอกาสทางอาชีพ ให้รวมไปถึงด้านพยาบาลศาสตร์ด้วย”

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์ ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่

Share
Published 2 December 2019 12:23pm
By Rena Sarumpaet
Presented by SBS Thai
Source: SBS News


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand