ลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นเป็นเป้าหมายโฆษณางานที่ให้ค่าแรงผิดกฎหมาย

เกือบ 9 ใน 10 ของโฆษณารับสมัครงานที่ประกาศเป็นภาษาต่างประเทศในนิวเซาท์เวลส์ ถูกพบว่า เสนอค่าจ้างให้ลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นฐาน ในอัตราที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

Migrant workers

Migrant worker Source: SBS/Migrant Worker Justice Initiative

จากการสำรวจล่าสุด พบว่า ลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นฐานกำลังตกเป็นเป้าหมาย ของโฆษณารับสมัครงานที่ประกาศเป็นภาษาต่างๆ ซึ่งเสนอให้ค่าจ้างที่ต่ำกว่าที่ระบุตามกฎหมาย

สหภาพแรงงาน ยูเนียนส์ นิวเซาท์เวลส์ (Unions NSW) ได้สำรวจโฆษณารับสมัครงาน 3,000 ชิ้นที่ประกาศเป็นภาษาต่างๆ เช่น จีน เกาหลี เวียดนาม เนปาล สเปน และโปรตุเกส และพบว่าร้อยละ 88 ของประกาศรับสมัครงานเหล่านั้น เสนอค่าจ้างให้ในอัตราที่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแห่งชาติ

การสำรวจยังได้พบรายละเอียดที่น่าวิตก ของการพยายามเอารัดเอาเปรียบลูกจ้างที่เพิ่มขึ้นในระหว่างการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนา

ร้อยละ 91 ของโฆษณารับสมัครงานเหล่านั้น ที่เป็นภาษาเวียดนาม เสนอค่าจ้างให้ในอัตราที่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด ขณะที่ร้อยละ 88 ของโฆษณาที่เป็นภาษาเกาหลีและจีนเสนอค่าจ้างที่ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ

ประกาศรับสมัครงานส่วนใหญ่ที่เป็นภาษาเนปาล (ร้อยละ 86) โปรตุเกส (ร้อยละ 84) และสเปน (ร้อยละ 76) เสนอให้ค่าจ้างที่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายกำหนด

อัตราที่ต่ำที่สุดที่พบในประกาศรับสมัครงานต่างๆ เหล่านั้น คือ 8 ดอลลาร์ต่อชั่วโมงสำหรับตำแหน่งช่างทำเล็บ ขณะที่อัตราที่ต่ำที่สุดที่พบรองลงมาคือ 10 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง

รายงานดังกล่าว ได้แนะนำให้รัฐบาลยกเลิกจำนวนการทำงานสูงสุดที่ทำได้ไม่เกิน 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์สำหรับนักเรียนต่างชาติ เพื่อลดความกดดันที่นักเรียนต่างชาติจะยอมทำงานโดยได้ค่าจ้างเป็นเงินสด
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลสหพันธรัฐของออสเตรเลีย ได้ประกาศแผนจะให้การขโมยค่าจ้างเป็นอาชญากรรมรูปแบบหนึ่ง ที่มีบทลงโทษเป็นการจำคุก 4 ปี

ภายใต้ข้อเสนอการปฏิรูปเหล่านี้ ผู้กระทำผิดที่เป็นบุคคลธรรมดาอาจถูกปรับสูงถึง 1.1 ล้านดอลลาร์ ขณะที่บริษัทที่ทำผิดอาจถูกปรับสูงถึง 5.5 ล้านดอลลาร์

บทลงโทษทางกฎหมายแพ่งสำหรับการจ่ายค่าแรงต่ำกว่ากฎหมายกำหนดอาจเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 50 เช่นกัน

ในคำแถลง โฆษกของนายคริสเตียน พอร์เทอร์ รัฐมนตรีด้านแรงงานสัมพันธ์ กล่าวว่า การปฏิรูปดังกล่าวจะรวมไปถึงการให้มี “มาตรการใหม่ที่สำคัญเพื่อปกป้องลูกจ้างไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ” สำหรับลูกจ้างในออสเตรเลียทั้งหมด รวมทั้ง ลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นฐาน

โฆษกยังกล่าวว่า พวกเขาดำเนินการโดยตรงเกี่ยวกับปัญหาการประกาศรับสมัครงานที่ให้ค่าแรงต่ำกว่ากฎหมายกำหนด แม้ว่าจะไม่มีผู้ร้องเรียนเข้ามา

“ด้วยการเสนอข้อห้ามใหม่ ที่ห้ามไม่ให้นายจ้างโฆษณาอัตรค่าจ้างที่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ” โฆษกของนายพอร์เทอร์ กล่าว

การสำรวจดังกล่าว ดำเนินการสำรวจในเดือนธันวาคม 2019 ถึงเดือนสิงหาคม 2020 โดยโฆษณารับสมัครงานที่ถูกตรวจสอบดังกล่าวนั้นเป็นตำแหน่งงานด้านการทำความสะอาด ด้านการให้บริการต้อนรับ (hospitality) ด้านการค้าปลีก ด้านการก่อสร้าง และด้านการทำผม

โฆษณารับสมัครงานด้านอุตสาหกรรมเกษตรกรรม ไม่ได้ถูกกล่าวถึงในรายงานฉบับนี้

คุณสามารถอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับค่าจ้างขั้นต่ำและสิทธิในที่ทำงานเป็นภาษาไทย ได้ที่เว็บไซต์ของ Fair Work Ombudsman


รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 
เรื่องราวที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย

เจ้าของสวนเล่ากว่าจะได้เชอร์รีแดงก่ำหวานฉ่ำ


Share
Published 14 December 2020 12:56pm
Updated 14 December 2020 2:05pm
By Tom Stayner
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS News, AAP


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand