ความสิ้นหนทางของผู้รับเงินสวัสดิการคนว่างงาน

ซาห์ราเป็นหนึ่งในชาวออสเตรเลียนับล้านคน ที่ต้องดิ้นรนเพื่อดำรงชีพให้ได้ด้วยเงินจ๊อบซีกเกอร์ที่ลดลง เธอกำลังวิตกว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

Sahra* is one of millions of Australians who took a cut to their JobSeeker payments.

Sahra* is one of millions of Australians who took a cut to their JobSeeker payments. Source: Press Association

เมื่อการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนาปะทุขึ้น ซาห์รา* เป็นหนึ่งในลูกจ้างกลุ่มแรกๆ ของออสเตรเลียที่ต้องเผชิญผลกระทบแสนสาหัส

ขณะนั้น ครูสอนภาษาอังกฤษวัย 28 ปี จากนครซิดนีย์ผู้นี้ สอนภาษาอังกฤษมาได้ 3 ปีที่วิทยาลัยสำหรับนักเรียนนานาชาติแห่งหนึ่งในย่านธุรกิจใจกลางเมือง

ในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว บริษัทเตือนเธอว่าชั่วโมงสอนของเธออาจลดลง เนื่องจากมีนักเรียนจำนวนมากเลื่อนการลงเรียนออกไป

“เมื่อถึงปลายเดือนมกราคม ชั่วโมงสอนของฉันถูกตัด จากเดิม 21 ชั่วโมง เหลือ 6 ชั่วโมง" ซาห์รา บอกกับ เอสบีเอส นิวส์

"ในอุตสาหกรรม อีเอสแอล (ESL การสอนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง) ชั่วโมงสอน 21 ชั่วโมงเป็นงานฟูลไทม์สำหรับลูกจ้างแคชวล เท่ากับว่าฉันเสียห้องที่สอนเป็นหลักไปเลย”

“สถานการณ์เป็นเช่นนั้นต่อไป จนกระทั่งเราเปลี่ยนไปสอนออนไลน์ในช่วงการล็อกดาวน์ครั้งแรก และหลังจากเป็นเช่นนั้นอยู่ไม่กี่สัปดาห์ ชั่วโมงสอนที่ฉันมีอยู่ไม่กี่ชั่วโมงก็ถูกตัดไปในเดือนมีนาคม”
หลังจากไม่มีงานทำเต็มตัว ที่ทำงานของซาห์ราได้เปลี่ยนให้เธอมารับเงินอุดหนุนค่าจ้างจ๊อบคีพเปอร์ (JobKeeper) ซึ่งเงินที่จ่ายให้ 1,500 ดอลลาร์ต่อ 2 สัปดาห์นั้น เพียงพอที่เธอจะจ่ายค่าเช่าที่พักและบิลเรียกเก็บเงินอื่นๆ ได้อย่างไม่ลำบาก

แต่ในเดือนสิงหาคม เงินอุดหนุนค่าจ้างได้หยุดลง

“พวกเขาปรับโครงสร้างของบริษัทใหม่ โดยไล่ทุกคนออกจากงานหมด แล้วจ้างกลับเข้าไปใหม่เพียง 10 คน แผนของบริษัทคือจำศีลไปก่อนจนกว่าการระบาดใหญ่ของไวรัสจะยุติลง” ซาห์รา เล่า

ขณะที่กำลังพยายามอย่างหนักเพื่อหางานสอนอื่นๆ ซาห์รารับเงินสวัสดิการคนว่างงานจ๊อบซีกเกอร์ (JobSeeker) แต่การที่เงินช่วยเหลือนี้ถูกลดจำนวนเงินลงหมายความว่า เธอไม่สามารถจ่ายค่าเช่า 230 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์ สำหรับอะพาร์ตเมนต์ 2 ห้องนอนในย่านสแตนมอร์ ที่เธอเช่าร่วมกับเพื่อนได้อีกต่อไป และต้องย้ายออกไปอยู่กับยายของเธอ ที่โชคดีอาศัยอยู่ในย่านตะวันออกเฉียงใต้ของซิดนีย์

“จากเงินจ๊อบซีกเกอร์ที่จ่ายให้ในช่วงแรก ฉันสามารถจ่ายค่าเช่าที่พักได้ แต่เงินที่ถูกลดจำนวนลง ฉันก็ไม่สามารถทำได้อีกต่อไป”
ซาห์ราตระหนักดีว่า เธอโชคดีกว่าคนอื่นหลายคน และเข้าใจว่าไม่ใช่ทุกคนในสถานการณ์เดียวกันกับเธอจะมีบ้านของครอบครัวให้ไปอาศัยอยู่ได้

แต่เธอยังคงวิตกว่า จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป เธอวิตกว่าในที่สุดเธออาจไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากลับไปสมัครงานกับบริษัทที่ไล่เธอออก เธอจึงไม่ขอเปิดเผยชื่อจริงในการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้

“ถ้าจะมองถึงอนาคต การระบาดใหญ่ของโควิดคงยังไม่หายไปไหน” ซาห์รา กล่าว “เศรษฐกิจก็ป่นปี้ ฉันไม่แน่ใจว่าฉันจะหางานสอนอื่นได้อย่างไร”

“แน่นอนทีเดียวว่าฉันต้องหาทางลัดเพื่อจะได้มีเงินพอจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ ตอนนี้ฉันไม่ออกไปสังสรรค์ข้างนอกแล้ว ฉันไม่ออกไปเจอเพื่อนฝูง ฉันแค่ใช้เงินซื้อของกินของใช้ที่จำเป็นและจ่ายบิลต่างๆ ของฉัน”

ชาวออสเตรเลียกว่า 2 ล้านคนถูกตัดเงินสวัสดิการ 300 ดอลลาร์ต่อ 2 สัปดาห์ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว ขณะรัฐบาลสหพันธรัฐลดการจ่ายเงินช่วยเหลือจากผลของไวรัสโคโรนา (Coronavirus Supplement) ลง

เงินช่วยเหลือราย 2 สัปดาห์นี้ ถูกประกาศออกมาเพื่อช่วยสนับสนุนผู้รับเงินสวัสดิการระหว่างการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนา โดยจ่ายให้แก่ผู้ที่กำลังรับเงินจ๊อบซีกเกอร์ (JobSeeker) เงินเบี้ยเลี้ยงเยาวชน (Youth Allowance) ผู้รับเงินออสสตัดดี (Austudy) และผู้รับเงินสวัสดิการอื่นๆ อีกบางประเภท

ในวันที่ 25 กันยายน เงินช่วยเหลือจากผลของไวรัสโคโรนา (Coronavirus Supplement) ถูกตัดลดจากเดิม 550 ดอลลาร์ เหลือ 250 ดอลลาร์ต่อ 2 สัปดาห์ และจะยุติลงอย่างสิ้นเชิงตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมปีหน้า

ขณะที่อัตราการว่างงานอย่างเป็นทางการลดลงจากร้อยละ 7.5 ในเดือนกรกฎาคม เหลือร้อยละ 6.8 ในเดือนสิงหาคม
อ่านเพิ่มเติม

ลดเงินช่วยเหลือ JobSeeker

รัฐบาลกลางของออสเตรเลียกล่าวปกป้องการลดเงินช่วยเหลือจากผลของไวรัสโคโรนา โดยให้เหตุผลว่าเป็น “ช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ความช่วยเหลือที่ลดลง”

รัฐบาลได้กล่าวมานานแล้วว่า ความช่วยเหลือต่างๆ เหล่านี้นั้น ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นมาตรการ “ชั่วคราว” เพื่อรับมือกับความท้าทายจากการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนา

แต่ในระหว่างนี้ ผู้คนจำนวนไม่น้อย เช่นเดียวกับซาห์รา ที่ยังคงรู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคตของตน

"ฉันคิดว่าประเด็นที่สำคัญคือเรื่องความไม่แน่นอน ฉันไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป ผู้คนยังคงไม่รู้ว่าพวกเขาจะได้งานทำหรือเปล่า" ซาห์รา กล่าว

เมื่อถามว่า เธอวางแผนจะทำอย่างไรต่อไปสำหรับ 6 เดือนข้างหน้า ซาห์รายังคงไม่มีคำตอบ

“แผนของฉันคือ จะอยู่ที่นี่ต่อไป จนกว่าฉันจะได้งานทำ”

*เป็นชื่อสมมุติ เนื่องจากผู้ให้สัมภาษณ์ไม่ต้องการเปิดเผยชื่อจริง


ประชาชนในออสเตรเลียต้องอยู่ห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร คุณสามารถตรวจดูว่ามีข้อจำกัดใดบ้างที่บังคับใช้อยู่ในรัฐและมณฑลของคุณ 

การตรวจเชื้อไวรัสโคโรนาขณะนี้สามารถทำได้ทั่วออสเตรเลีย หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้ติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080

รัฐบาลสหพันธรัฐออสเตรเลียยังได้มีแอปพลิเคชัน COVIDSafe เพื่อติดตามและแจ้งเตือนผู้ที่พบปะใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งคุณสามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้จากแอปสโตร์ (app store) สำหรับโทรศัพท์มือถือของคุณ อ่านเกี่ยวกับแอปพลิเคชันนี้ 

คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 6 October 2020 12:02pm
Updated 6 October 2020 12:09pm
By Gavin Fernando
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS News


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand