เล่าประสบการณ์ตรงถูกตรวจเชื้อโคโรนาในออสเตรเลีย

คนไทยเล่าประสบการณ์ตรงของการไปรับการตรวจเชื้อไวรัสโคโรนาในออสเตรเลีย และแนะนำผู้ที่เพิ่งเดินทางกลับจากประเทศไทย ถ้ามีอาการป่วย ไม่แน่ใจว่าติดเชื้อไวรัสร้ายนี้มาหรือไม่ ควรทำอย่างไร

คุณ อภิญญา ฤทธิ์มหา หรือเจี๊ยบ เล่าประสบการณ์ตรงของการไปรับการตรวจเชื้อไวรัสโคโรนาในออสเตรเลีย

คุณ อภิญญา ฤทธิ์มหา หรือเจี๊ยบ เล่าประสบการณ์ตรงของการไปรับการตรวจเชื้อไวรัสโคโรนาในออสเตรเลีย Source: Supplied

คุณ อภิญญา ฤทธิ์มหา หรือเจี๊ยบ คนไทยในเพิร์ท ที่เพิ่งเดินทางกลับจากเมืองไทยเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ กล่าวว่า เธอผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองของออสเตรเลียได้อย่างไม่มีปัญหา รัฐบาลออสเตรเลียไม่ได้มีการห้ามผู้คนที่เดินทางมาจากเมืองไทยเข้าประเทศแต่อย่างใด

“ไม่มีปัญหาค่ะ คนไทยเข้ามาได้ตามปกติ” คุณเจี๊ยบย้ำ พร้อมเล่าต่อไปว่า เธอได้สอบถามไปทางกรมตรวจคนเข้าเมืองขอออสเตรเลียก่อนการเดินทาง และได้รับคำตอบที่ไขความกระจ่างในเรื่องนี้ว่า

“ก่อนไป เราสอบถามไปทาง ตม. ว่า ถ้าฉันเดินทางไปในช่วงเวลานี้ แล้วตอนที่ฉันกลับมา ฉันจะโดนยกเลิกเที่ยวบิน หรือโดนกักตัวไหม หรือจะมีปัญหาอะไรหรือเปล่า ตม. เขาก็บอกว่า ถ้าคุณไม่ได้เดินทางไปจีน คุณก็จะไม่มีปัญหาอะไร”

คุณเจี๊ยบเล่าต่อไปว่า ผู้คนที่เดินทางมาด้วยเที่ยวบินเดียวกันจากเมืองไทย ที่ไม่มีอาการป่วย ก็ไม่มีใครที่ต้องไปรับการตรวจเชื้อไวรัสโคโรนา เมื่อเดินทางมาถึงออสเตรเลียแล้ว

“ถ้าคุณไม่มีอาการอะไร ก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะเพื่อนๆ ที่เดินทางมาด้วยเที่ยวบินเดียวกัน ก็ไม่มีใครต้องไปตรวจค่ะ”

แต่สิ่งที่ทำให้คุณเจี๊ยบต้องไปรับการตรวจเชื้อไวรัสโคโรนา คือนัดตรวจร่างกายกับแพทย์ที่นัดไว้แล้วตั้งแต่ก่อนเดินทาง

“ตัวเองต้องไปตรวจเพราะต้องกลับไปทำงานในโรงพยาบาล แพทย์ถามว่า คุณเพิ่งเดินทางกลับมาใช่ไหม แล้วคุณมีอาการอะไรหรือเปล่า แต่เพราะตอนอยู่เมืองไทยอากาศร้อน แล้วมาถึงเพิร์ท ก็มีฝนตก เราก็เลยบอกว่า เรามีอาการครั่นเนื้อครั่นตัวนิดหน่อย ไอนิดหน่อย หมอ เลยแนะนำให้ไปแผนกฉุกเฉินที่โรงพยาบาลของรัฐได้ทุกที่ และให้โทรศัพท์ปรึกษาสายด่วนให้คำปรึกษาเรื่องเชื้อไวรัสโคโรนา” สาวไทยในเพิร์ท ผู้นี้เล่า

เธอกล่าวต่อไปว่า จากคำแนะนำของแพทย์สำหรับผู้ที่เพิ่งเดินทางกลับมา แล้วมีอาการป่วยที่คล้ายคลึงการอาการของไข้หวัดใหญ่และไม่แน่ใจ ก็สามารถไปรับการตรวจเชื้อไวรัสโคโรนาได้ทันที

“ถ้าคุณเพิ่งเดินทาง แล้วกลับมา ถ้าเกิดมีอาการป่วย หรือไม่สบาย แนะนำว่า ไม่ต้องไปหาหมอจีพี เขาบอกว่า ถ้าคุณกลัวว่าจะติดเชื้อโคโรนามาหรือเปล่า ให้ไปที่แผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลได้เลยค่ะ”
คุณเจี๊ยบ เล่าว่า เมื่อไปถึงโรงพยาบาลเพื่อตรวจเชื้อนี้ เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล ไม่ได้มีท่าทีตกใจหรือตื่นตระหนก หลังการตรวจร่างกายเบื้องต้น เธอก็ถูกพาเข้าไปในห้องฆ่าเชื้อ

“เขาให้เราไปอยู่ในห้องฆ่าเชื้อ จากนั้นจะมีหมอและพยาบาลเฉพาะทางด้านนี้เข้ามาในห้อง โดยทุกคนจะสวมชุดพลาสติกและใส่หน้ากากอนามัยตลอด เพื่อป้องกันตัวเอง จากนั้นก็ตรวจเช็คร่างกาย มีการสอบถามอาการ ขอตรวจเลือดเพิ่ม”

คำถามที่เจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์สอบถาม เพื่อดูความเสี่ยงของการติดเชื้อไวรัสโคโรนาของคุณเจี๊ยบขณะที่อยู่ประเทศไทย เช่นว่า “เขาถามว่าไปเมืองไทย ไปที่ไหนมาบ้าง ไปกี่วัน กินข้าวที่ไหนมาบ้าง มีอาการป่วยไหม ได้จับสัตว์อะไรไหม ได้ไปอยู่ในแหล่งชุมชนหรือเปล่า”

สำหรับการตรวจร่างกาย เจ้าหน้าที่จะเน้นเรื่องรบทางเดินหายใจมากเป็นพิเศษ “เขาเช็คน้ำลาย เช็คจมูก เช็คเสมหะ และตรวจปัสสาวะ และเน้นระบบหายใจ โดยสอบถามว่า มีอาการหายใจติดขัดไหม อาการไข้เป็นอย่างไร ไอมากไหม มีเสมหะหรือไอแห้ง”

คุณเจี๊ยบเล่าว่า หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ ได้ให้เธออยู่ในห้องฆ่าเชื้อต่อไปอีกราว 2 ชั่วโมง เพื่อสังเกตอาการเพิ่มเติม เมื่อไม่มีอาการเพิ่ม เจ้าหน้าที่ จึงแจ้งให้เธอกลับบ้านได้ แต่ขอให้แยกตัวเองออกจากผู้อื่นในระยะเวลาที่กำหนด

“สำหรับเรา เรามองการกักตัว (เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรคสู่ผู้อื่น) เป็นเรื่องใหญ่มาก แต่เขาบอกว่า แค่กักตัวคุณอยู่ที่บ้าน แค่ไม่ให้ออกไปสู่สังคมภายนอกในระยะเวลาที่คุณป่วยเท่านั้น”

“เขาแนะนำให้เราต้องใส่หน้ากากอนามัย แยกห้องนอน ระหว่างที่รอผลตรวจเลือดเป็นเวลา 2 อาทิตย์ อย่าเพิ่งออกจากบ้าน และแนะนำให้ล้างมือบ่อยๆ”
หลังจากกลับมากักกันโรคอยู่ที่บ้าน 3 วัน ผลการตรวจที่ทำให้คุณเจี๊ยบโล่งใจ ก็ออกมา

“มาอยู่บ้าน 3 วัน ศูนย์เขาก็โทรศัพท์มือ บอกว่า ผลเลือดคุณเนกาทีฟ (ไม่มีเชื้อ) คุณสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ” คุณเจี๊ยบ กล่าว

แต่ขณะเดียวกัน หากพบว่าผู้รับการตรวจมีเชื้อไวรัสโคโรนา ศูนย์จะโทรศัพท์มือให้บุคคลนั้น กลับไปอยู่ที่โรงพยาบาล

คุณเจี๊ยบ ยังบอกผ่าน เอสบีเอส ไทย ไม่อยากให้คนไทยในออสเตรเลียรู้สึกกังวลกับการที่ต้องเดินทางในช่วงนี้

“ตัวเองก็มีความกังวลใจเหมือนกัน มีความกังวลใจว่าถ้าไปจะได้กลับมาไหม ถ้าไปจะมีปัญหาอะไรหรือเปล่า แต่ที่เห็นการป้องกันที่สนามบินที่เมืองไทยและที่ออสเตรเลีย พบว่าไม่มีปัญหาอะไร หมอก็บอกเองว่า แม้จะมีคนเป็นกันเยอะ แต่เขาก็รักษาหาย เลยไม่อยากให้ทุกคนตื่นตระหนก และอยากให้ใช้ชีวิตประจำวันไปตามปกติ”

“บางคนมีธุระที่ต้องกลับเมืองไทย แต่มีความกังวลใจมากมาย การติดตามข่าว มันก็สนุกดี แต่เราอย่าไปตื่นตระหนกหรือกังวลใจให้มากเกินไป เพราะรัฐบาลมีการเตรียมพร้อมและเข้มงวด” คุณเจี๊ยบ ย้ำ

เธอ ยังแนะนำถึงวิธีการที่เธอใช้ในช่วงเดินทาง และในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา “เจี๊ยบจะเลี่ยงการจับสิ่งของในที่สาธารณะ เช่น ไม่จับราวบันได หรือเวลาจะกดลิฟท์ ก็ใช้ปลายกุญแจกดแทน และล้างมือบ่อยๆ อีกทั้งหมอเองแนะนำว่า ถ้าคุณมีสุขภาพแข็งแรง ก็ไม่มีอะไรที่น่ากลัวค่ะ”

สำหรับผู้ที่เพิ่งเดินทางแล้วกลับมายังออสเตรเลียจากประเทศไทย หรือประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่ประเทศจีน และมีอาการป่วยและไม่แน่ใจว่าจะติดเชื้อไวรัสโคโรนามาหรือไม่ สามารถโทรศัพท์ไปปรึกษาและรับคำแนะนำได้จาก โทรศัพท์สายด่วน ให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา หรือใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า  ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1800 020 080 ซึ่งสามารถโทรไปได้ตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน

ฟังการพูดคุยกับคุณเจี๊ยบ อภิญญา ฤทธิ์มหา เกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างเต็มๆ ได้ที่นี่

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 24 February 2020 2:19pm
Updated 24 February 2020 2:23pm
By Parisuth Sodsai
Presented by SBS Thai
Source: SBS Thai

Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand