สแกมเมอร์เล็งหลอกผู้ต้องการเช่าบ้าน/เช่ารถในออสเตรเลีย

วาลิอูลลาห์ มาลิก ถูกมิจฉาชีพหลอกลวงจากการที่เขาต้องการเช่ารถ จากนั้นเขาก็พบว่าข้อมูลระบุตัวตนของเขาถูกขโมยไปใช้โดยเหล่ามิจฉาชีพ

A montage of a man looking at a graphic image of a home with a rent sign on it, a car and a Facebook logo.

Temporary visa holders in search for rental properties and cars are being scammed through local community Facebook pages. Source: SBS

ฮาฟิซ มูฮัมหมัด อาบูบาการ์ โกรธจัดเมื่อเขาถูกหลอกลวงให้สูญเงินไปหลายร้อยดอลลาร์จากการหลอกลวงผ่านเฟซบุ๊กว่ามีที่พักให้เช่าโดยบุคคลหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า วาลี มาลิก

แต่วาลี มาลิก ไม่ใช่นักต้มตุ๋น เขาเป็นหนึ่งในเหยื่ออีกหลายคนที่กำลังเครียด สับสน และหวาดกลัว

คุณ วาลิอูลลาห์ มาลิก ถูกมิจฉาชีพ หรือสแกมเมอร์ หลอกลวงให้สูญเสียเงินไปหลายร้อยดอลลาร์เช่นกัน และนั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น

ข้อมูลระบุอัตลักษณ์ของเขาถูกขโมยไปในการหลอกลวง ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อฉ้อโกงเงินจากผู้ถือวีซ่าชั่วคราวในกลุ่มชุมชนชาวปากีสถาน บนเฟซบุ๊ก (Facebook) โดยกลุ่มมีสมาชิก 24,000 คน

ผู้อพยพชาวปากีสถานหลายคนร้องเรียนว่า สมาชิกกลุ่มคนหนึ่งหลอกลวงเงินผู้อื่นไปอย่างน้อย 6,000 ดอลลาร์จากการที่โพสต์ว่ามีบ้านและมีรถยนต์ 'ให้เช่า' ในกลุ่ม โดยใช้ชื่อของเหยื่อของเขาเพื่อหลีกเลี่ยงความผิด

'หวาดกลัวอย่างที่สุด'

ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ คุณมาลิก วัย 27 ปี ซึ่งถือวีซ่าบริดจิง ได้ตอบกลับโพสต์ของชายคนหนึ่งชื่อ มูฮัมหมัด โชอิบ ที่อ้างว่ามีรถยนต์ให้เช่า

นายโชอิบได้ส่งรูปถ่ายใบขับขี่ของเขาเพื่อยืนยันตัวตน ซึ่งทำให้คุณมาลิกโล่งใจหลังจากตอนแรกเขาระแวงว่ารถให้เช่าดังกล่าวจะเป็นการหลอกลวง เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน คุณมาลิกจึงให้รายละเอียดข้อมูลการติดต่อและสำเนาใบขับขี่ของเขาเพื่อ "วัตถุประสงค์ในการทำสัญญา"

หลังจากชำระเงินล่วงหน้า 330 ดอลลาร์ เขาก็เดินทางไปรับรถเช่าจากลานจอดรถแห่งหนึ่งทางตะวันตกของซิดนีย์ แต่พบว่าลานจอดรถนั้นว่างเปล่า ไม่มีรถคันที่เช่าไว้

สองสัปดาห์ต่อมา เขาล็อกอินเข้าสู่เฟซบุ๊ก แต่กลับพบว่าชื่อของเขา รูปโปรไฟล์ และใบขับขี่ของเขาถูกนำไปโพสต์ไว้ในห้องสนทนาในเฟซบุ๊กของกลุ่มชุมชนอื่นๆ โดยมีเหยื่อกล่าวหาว่า วาลี มาลิก หลอกลวงพวกเขา

นั่นคือช่วงที่เขาเพิ่งตระหนักว่า สแกมเมอร์ที่หลอกลวงเขาเรื่องรถให้เช่าได้ขโมยข้อมูลระบุอัตลักษณ์ของเขาไปใช้ด้วย
“มีหลายคนที่แชร์ (รายละเอียดของผม) โดยบอกว่า 'ผู้ชายคนนี้เป็นสแกมเมอร์' มันทำลายความน่าเชื่อถือของผมอย่างมาก ผมนอนไม่หลับเลย พูดตามตรง” คุณ มาลิก กล่าว

"ผมหวาดกลัวอย่างที่สุด"

ตอนนี้ คุณมาลิกกำลังส่งข้อความมือเป็นระวิงถึงผู้คนจำนวนมากในห้องสนทนาต่างๆ ทางเฟซบุ๊ก เพื่ออธิบายว่าเขาถูกสแกมเมอร์แอบนำข้อมูลไปใช้

“คนเหล่านี้ทั้งหมดถูกหลอกลวง และผมก็พยายามอธิบายเรื่องนี้ว่า มันไม่ใช่ผม ผมก็ถูกสแกมเมอร์หลอกเหมือนกัน และไม่มีใครรู้ชื่อจริงของสแกมเมอร์”

เขากล่าวว่า ตำรวจบอกกับเขาว่าปัญหานี้ซับซ้อน และตำรวจจะสามารถตั้งข้อหาผู้ถูกกล่าวหาเป็นสแกมเมอร์ได้ หากคนเหล่านี้อยู่ในออสเตรเลียเท่านั้น

ตำรวจนิวเซาท์เวลส์ยืนยันว่า ตำรวจได้เริ่มการสอบสวนกรณีของคุณมาลิกแล้ว

'ระวังตัวและอย่าไว้ใจใคร'

คุณ อาบูบาการ์ วัย 27 ปี เป็นหนึ่งในนักศึกษาต่างชาติและผู้ถือวีซ่าชั่วคราวสำหรับนักเรียนที่จบการศึกษาแล้วจำนวนมาก ที่พยายามหาที่พักในตลาดบ้านเช่า ซึ่งบ้านให้เช่ากำลังหายากอย่างมากของออสเตรเลีย

เขาเข้าตาจนไม่รู้จะหาที่อยู่ใหม่ได้อย่างไร หลังจากย้ายออกจากบ้านเพื่อน และเขาได้เห็นโพสต์จาก 'วาลิ มาลิก' ในหน้าเพจเฟซบุ๊กของกลุ่ม ซึ่งกล่าวว่ามีห้องว่างทางตะวันตกของซิดนีย์

หลังจากที่ผู้ถูกกล่าวว่าเป็นสแกมเมอร์กดดันให้คุณอาบูบาการ์ชำระเงินล่วงหน้า เขาก็จ่ายเงินไป 310 ดอลลาร์ สำหรับเงินประกัน และเก็บข้าวของเพื่อเตรียมย้ายบ้าน จนกระทั่งชายผู้นั้นบล็อกไม่ให้เขาส่งข้อความไปหาหรือโทรศัพท์ติดต่อได้
ภาพหน้าจอของการสนทนาบน Facebook
ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นสแกมเมอร์ ใช้ชื่อของเหยื่อคนก่อนๆ มาใช้เพื่อปกปิดตัวตนของเขาเอง และหลอกลวงให้ผู้อื่นจ่ายเงินล่วงหน้าสำหรับเช่าที่พักซึ่งไม่มีอยู่จริง ที่มา: Hafiz Muhammad Abubakar Source: Supplied / Hafiz Muhammad Abubakar
“เขาแชร์หมายเลขโทรศัพท์มือถือของเขาและโทรหาผมหลายครั้งเพื่อให้ผมเชื่อใจ และยังมี PAYID สำหรับหมายเลขโทรศัพท์นั้นด้วย นั่นเป็นเหตุผลที่ผมไว้ใจเขา เขาเปิดเผยที่อยู่บนใบขับขี่ด้วย” คุณ อาบูบาการ์ กล่าว

คุณ อาบูบาการ์ กล่าวว่า เขารู้สึกเหมือนมีหน้าที่ที่จะต้องแชร์รายละเอียดของ 'วาลิ มาลิก' ในกลุ่มสนทนาของชุมชนทางเฟซบุ๊ก จนกระทั่งเขาได้รู้ว่าเขาได้ทำให้คนที่ตกเป็นเหยื่อเหมือนกันอับอาย

“ผมแค่อยากเตือนคนอื่นๆ โดยเฉพาะผู้มาอยู่ใหม่ที่ค้นหาที่พักผ่านกลุ่มสนทนาทางเฟซบุ๊กให้ระมัดระวังและอย่าไว้ใจใคร” คุณ อาบูบาการ์ กล่าว

"ผู้ย้ายถิ่นฐานใหม่มักไม่สามารถไปดูห้องพักได้ล่วงหน้าและอยู่ในสถานการณ์ที่เข้าตาจนที่จะต้องย้ายไปที่พักแห่งใหม่ หลังจากออกจากสนามบินแล้ว พวกเขาจำเป็นต้องไปที่ไหนสักแห่งเพื่อไปอยู่อาศัย"
เขาบอกว่าเขา "เครียด ผิดหวัง และอับอาย" ที่เขาถูกหลอก แม้จะเป็นนักเรียนต่างชาติในซิดนีย์ที่จบปริญญาด้านไอที (IT) ก็ตาม

เขาก็ไม่ใช่คนเดียวที่ตกเป็นเหยื่อ เอสบีเอส นิวส์ ได้พูดคุยกับอีก 3 คนที่ถูกหลอกลวงโดยชายคนเดียวกัน

Scamwatch หน่วยงานเฝ้าระวังการหลอกลวงของคณะกรรมการการแข่งขันและผู้บริโภคแห่งออสเตรเลีย (ACCC) ได้สังเกตเห็นว่า มีผู้ถือวีซ่าชั่วคราวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักเรียนต่างชาติ ซึ่งถูกแสวงหาประโยชน์เนื่องจากที่พักให้เช่ามีจำนวนลดน้อยในช่วงนี้ที่กำลังเกิดวิกฤตที่อยู่อาศัยในออสเตรเลีย

จากข้อมูลล่าสุดในรายงานปี 2021 ผู้คนจากชุมชนหลากภาษาและวัฒนธรรม (CALD) ได้รายงานการถูกหลอกลวง 14,060กรณีและสูญเสียเงินไป 42 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้น 88 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ค่ามัธยฐานของเงินที่ถูกหลอกลวงไปสำหรับผู้คนจากชุมชนหลากภาษาและวัฒนธรรม คือ 1,200 ดอลลาร์ เทียบกับคนที่ไม่ได้มาจากชุมชนหลากภาษาและวัฒนธรรม ซึ่งอยู่ที่ 845 ดอลลาร์

จะป้องกันตนเองไม่ให้ถูกหลอกได้อย่างไร

Scamwatch แนะนำให้ผู้ถือวีซ่าชั่วคราวที่กำลังมองหาที่พัก หลีกเลี่ยงการทำข้อตกลงเช่าที่พักอย่างไม่เป็นทางการ

พวกเขาควรระวังว่า สแกมเมอร์จะพุ่งเป้าไปยังผู้ที่โพสต์ในโซเชียลมีเดียว่าพวกเขากำลังมองหาห้องเช่า

และ Scamwatch เตือนว่าผู้คนควรไปดูห้องหรือบ้านที่พวกเขาต้องการเช่าก่อนที่จะจ่ายเงินใดๆ รวมถึงจ่ายเงินประกันหรือจ่ายค่าเช่า ทั้งนี้เจ้าของบ้านที่ถูกต้องตามกฎหมายจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้เช่าที่ต้องการดูบ้านก่อนจะตัดสินใจเช่า
ในคำแถลงถึงเอสบีเอส นิวส์นั้น Meta บริษัทแม่ของเฟซบุ๊กกล่าวว่า บริษัทจะบล็อกบัญชีผู้ใช้งานปลอม ในขณะที่แนะนำให้ผู้คนรู้จักป้องกันตนเองไม่ให้ถูกหลอกลวง

“สแกมเมอร์นำเสนอความท้าทายมาสู่สภาพแวดล้อมออนไลน์ทุกแห่ง และตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนออนไลน์ก็ไม่มีข้อยกเว้น” Meta โฆษกระบุในแถลงการณ์

"เรามุ่งมั่นที่จะปกป้องความน่าเชื่อถือของบริการของเรา และได้ทุ่มเททรัพยากรจำนวนมากและแนวทางทางเทคโนโลยีเพื่อปกป้องชุมชนของเราจากบัญชีผู้ใช้ปลอมและพฤติกรรมที่ไม่ซื่อสัตย์อื่นๆ”

"เรายังสนับสนุนให้ผู้ใช้มีมาตรการเพื่อป้องกันตนเอง เช่น ตรวจสอบรีวิว (review) ของผู้ขายออนไลน์ ไม่ส่งเงินจนกว่าคุณจะเห็นสินค้าที่ขาย และใช้ตัวเลือกการชำระเงินที่ให้การป้องกันที่รัดกุม"

เอสบีเอส นิวส์ ได้ติดต่อผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นสแกมเมอร์เพื่อขอความคิดเห็น แต่ไม่ได้รับการติดต่อใดๆ กลับมา


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 


บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 3 March 2023 12:24pm
By Rayane Tamer
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand