ข้อมูลเรื่องค่าจ้างที่ผู้หางานต้องการรู้ แต่นายจ้างไม่บอก

ข้อมูลล่าสุดพบนายจ้างจำนวนมากไม่แจ้งรายละเอียดเงินเดือนในประกาศรับสมัครงาน ควรมีข้อบังคับให้นายจ้างต้องเปิดเผยรายละเอียดเรื่องนี้หรือไม่?

Woman working on a laptop.

ประกาศรับสมัครงานส่วนใหญ่ที่โพสต์ลงใน SEEK ในเดือนพฤศจิกายน ไม่ระบุอัตราช่วงเงินเดือน Source: Getty / Kilito Chan

ประเด็นสำคัญ
  • ประกาศรับสมัครงานในออสเตรเลียส่วนใหญ่ไม่มีข้อมูลเงินเดือน
  • ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่านี่ไม่เพียงทำให้ผู้หางานเสียเปรียบเท่านั้น แต่ยังส่งผลเสียต่อนายจ้างด้วย
  • ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าการสั่งห้ามเก็บเรื่องค่าจ้างเป็นความลับในออสเตรเลียเมื่อเร็ว ๆ นี้ อาจช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้
นายจ้างกำลังเก็บงำเรื่องค่าจ้างที่พวกเขาเสนอให้แก่ตำแหน่งงานที่ประกาศรับสมัคร แม้ว่าผู้หางานจะต้องการข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับเงินเดือน เพื่อจะได้ไม่เสียเวลาในการหางาน

จากข้อมูลของเว็บไซต์ศูนย์รวมประกาศรับสมัครงาน ซีค (SEEK) 2 ใน 3 ของประกาศรับสมัครงานที่โพสต์บนซีคในเดือนพฤศจิกายนไม่ระบุอัตราช่วงเงินเดือน (salary range)

สัดส่วนของประกาศรับสมัครงานที่ระบุข้อมูลเกี่ยวกับค่าจ้างได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบเป็นรายปี โดยเพิ่มขึ้น 6.5 เปอร์เซ็นต์ เป็น 34.5 เปอร์เซ็นต์

นายจ้างบางรายยินดีเปิดเผยข้อมูลเรื่องค่าจ้างมากกว่านายจ้างรายอื่น ๆ

มีการระบุข้อมูลเงินเดือนในประกาศรับสมัครงานของภาครัฐบาลราว 50 เปอร์เซ็นต์ ในประกาศรับสมัครงานจากผู้สรรหาบุคลากรให้กับบริษัทต่าง ๆ 46 เปอร์เซ็นต์ ในประกาศของธุรกิจขนาดเล็กถึงขนาดกลาง 42 เปอร์เซ็นต์ ในประกาศของผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพ 30 เปอร์เซ็นต์ และเพียง 13 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นในประกาศรับสมัครงานของบริษัทหรือองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่

เหตุใดนายจ้างไม่ระบุเงินเดือนในประกาศรับสมัครงาน?

มิเชลล์ บราวน์ ศาสตราจารย์ด้านการจัดการทรัพยากรมนุษย์ที่มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น กล่าวว่า ข้อโต้แย้งประการหนึ่งที่นายจ้างมีในการไม่ระบุเงินเดือนในประกาศรับสมัครงานก็คือ พวกเขาต้องการความยืดหยุ่นในการเสนอค่าจ้างแก่ผู้สมัครตามที่ผู้สมัครเชื่อว่าตนควรได้รับ

“หากคุณพบผู้สมัครที่โดดเด่น คุณก็สามารถจ่ายเงินให้ได้ตามจำนวนที่จำเป็นต้องจ่ายเพื่อให้ได้ผู้สมัครคนนั้นมา” ศ.บราวน์ กล่าว

ข้อโต้แย้งอีกประการหนึ่งคือการเปิดเผยข้อมูลเรื่องค่าจ้างต่อสาธารณะอาจทำให้พนักงานที่ทำงานอยู่แล้วในองค์กรค้นพบเรื่องเงินเดือนที่แตกต่างจากเพื่อนร่วมงาน

“นั่นอาจสร้างปัญหาให้กับองค์กรได้” ศ.บราวน์ กล่าว
แม้ว่านายจ้างจะมีกังวลดังกล่าว แต่การสำรวจพบว่าคนส่วนใหญ่ที่กำลังมองหางานต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับเงินเดือนก่อนสมัครงาน

การสำรวจของซีค (SEEK) ล่าสุดพบว่า 87 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่า การแจ้งเกี่ยวกับค่าจ่างมีความสำคัญ หรือสำคัญอย่างยิ่ง

ในการสำรวจเมื่อเดือนตุลาคม เกือบครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามที่กำลังหางาน 400 คนกล่าวว่า ความโปร่งใสเรื่องเงินเดือนช่วยหลีกเลี่ยงความผิดหวัง ในขณะที่ 42 เปอร์เซ็นต์กล่าวว่าช่วยให้ไม่ต้องเปลืองเวลาและความพยายาม

3 ใน 4 ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่า พวกเขามีแนวโน้มสูงกว่าที่จะสมัครงานที่แจ้งอัตราช่วงเงินเดือน

“หากคุณจะเปลี่ยนงาน มีแนวโน้มว่าทำเพราะต้องการเงินเดือนเพิ่มขึ้น” ศ.บราวน์ กล่าว
“หากองค์กรไม่ให้ข้อมูลที่ว่า… คุณจะมีผู้สมัครเข้ามาจำนวนมาก หลายคนอาจไม่สนใจงานนี้ด้วยซ้ำเพราะไม่ได้ให้ค่าจ้างมากนัก และนั่นทำให้เกิดความกดดันอย่างมากต่อองค์กรต่าง ๆ ในการพิจารณาผู้สมัครที่มีเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งต้องใช้เวลาและทรัพยากรอย่างมาก"

การไม่ระบุข้อมูลเงินเดือนในโฆษณารับสมัครงานอาจก็อาจเปลี่ยนทัศนคติของผู้สมัครเกี่ยวกับบริษัทได้ ศ.บราวน์ กล่าว

“ผู้สมัครงานมักจะมองเรื่องนี้เป็นหลักฐานว่าบริษัทน่าเชื่อถือหรือไม่ มองว่าเป็นข้อมูลทำให้รู้ว่างานคืออะไร ความคาดหวังของงานเป็นอย่างไร และพวกเขาจะได้รับการปฏิบัติอย่างยุติธรรม และนั่นก็ทำให้ผู้คนก็มีแนวโน้มจะสมัครมากขึ้น ตามที่ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็น” ศ.บราวน์ กล่าว

การออกกฎควบคุมธรรมเนียมปฏิบัติในการจ้างงาน

หลายรัฐในสหรัฐฯ ได้ออกกฎหมายที่กำหนดให้โฆษณารับสมัครงานต้องระบุอัตราช่วงเงินเดือน (salary range) ด้วย แต่ก็ให้ผลลัพธ์ที่หลากหลาย

“อัตราช่วงเงินเดือนเป็นจุดที่กลมกล่อมระหว่างผลประโยชน์ของนายจ้างและผลประโยชน์ของลูกจ้าง ตราบใดที่ช่วงระยะนั้นไม่กว้างจนน่าขัน” ศ.บราวน์ กล่าว

เธอเชื่อว่า จะส่งเสริมให้นายจ้างแจ้งเงินเดือนในประกาศรับสมัครงาน โดยไม่ต้องมีกฎระเบียบมาบังคับ

“เป็นไปได้ว่าเมื่อผู้คนเริ่มพูดคุยกัน พวกเขาจะตระหนักว่าคนใหม่ได้รับค่าตอบแทนมากกว่าคนที่ทำงานอยู่ก่อนแล้ว และดังนั้นจึงมีความกดดันต่อองค์กรต่าง ๆ ที่จะต้องมีประสิทธิภาพในการสื่อสารมากขึ้นเล็กน้อยเมื่อมีการจ้างคนเข้ามา เพราะจะยากขึ้นที่จะเก็บงำเรื่องความแตกต่างเกี่ยวกับค่าจ้าง” ศ.บราวน์ กล่าว
คุณ ฟิโอนา แมคโดนัลด์ ผู้อำนวยการนโยบายด้านอุตสาหกรรมและสังคม ที่ศูนย์การทำงานแห่งอนาคต (Centre for Future Work) ของสถาบันออสเตรเลีย (Australia Institute) เห็นด้วยว่าการเพิ่มการพูดคุยกับเกี่ยวกับเงินเดือนอันเป็นผลมาจากกฎหมายห้ามเก็บเรื่องเงินเดือนเป็นความลับนี้ อาจทำให้มีความโปร่งใสเรื่องค่าจ้างที่มากขึ้นในประกาศรับสมัครงาน

แต่เธอกล่าวว่า การมีกฎระเบียบมาบังคับไปพร้อมกันก็เป็น "ความคิดที่ดีอย่างยิ่ง" เช่นกัน

“ฉันคิดว่ามันสำคัญในการส่งเสริมความเท่าเทียมกัน … การวิจัยแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามันทำให้เกิดความยุติธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับลูกจ้างที่ด้อยโอกาส เช่น ผู้หญิงและผู้ย้ายถิ่นฐาน” คุณ แมคโดนัลด์ กล่าว

“หากพวกเขาสมัครงานและถูกถามว่าได้ค่าจ้างปัจจุบันเท่าไร นายจ้างคนใหม่ก็จะกำหนดค่าจ้างตามอัตราเดิม ดังนั้นพวกเขาจึงลงเอยด้วยการเสียเปรียบเรื่องค่าจ้างในระยะยาวตลอดอาชีพการงาน”

นอกจากนี้ ยังจะทำให้ลูกจ้างรู้อัตราค่าจ้างพื้นฐาน ซึ่งจะนำไปเจรจากับนายจ้างได้ดีขึ้น คุณ แมคโดนัลด์ กล่าว

“เรารู้ว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้หญิงอาจไม่มั่นใจในการต่อรองเพื่อให้ได้ค่าจ้างที่สูงขึ้นเมื่อพวกเธอเริ่มงาน ดังนั้นหากรู้ว่านายจ้างจะจ่ายเท่าไร นั่นจะช่วยพวกเธอได้มากขึ้นสำหรับค่าจ้างเริ่มต้น"


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 


บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 


Share
Published 15 December 2023 3:10pm
By David Aidone, Amy Hall
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand