Exclusive

เอ็นโดมาออสฯ ครั้งแรกในชีวิต แต่ถูก ตม.ส่งกลับหลังตอบคำถามนี้

เอ็นโด สิมานจันตัก (Endo Simanjuntak) เดินทางมาถึงออสเตรเลียในทริปแรกของชีวิต เพื่อมาพบกับสมาชิกครอบครัวของเขา แต่ตอนนี้เขาถูกแบนเป็นเวลา 3 ปี หลังการตอบคำถามกับเจ้าหน้าที่กองกำลังพิทักษ์พรมแดนที่สนามบินไม่ได้เป็นไปอย่างราบรื่น

Endo Simanjuntak wearing a dark t-shirt and cap backwards

Endo Simanjuntak says he wanted to come to Australia for a holiday to see family, but after an interrogation from Australian Border Force his tourist visa was cancelled. Source: Supplied / Endo Simanjuntak

แอนดรูว์ ไจลส์ (Andrew Giles) รัฐมนตรีหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองออสเตรเลีย ถูกหน่วยงานกิจการภายในขอให้สรุปเหตุการณ์ว่า เพราะเหตุใดชายชาวอินโดนีเซียคนนี้จึงถูกกักตัวเป็นเวลา 3 วัน หลังเดินทางมาถึงออสเตรเลียด้วยวีซ่าท่องเที่ยว ก่อนที่จะถูกส่งกลับประเทศไปในเวลาต่อมา

วันหยุดในฝันที่ต้องจบลงอย่างกะทันหัน สร้างความบอบช้ำสำหรับ เอ็นโด สิมานจันตัก ขณะที่ตัวเขาเองและครอบครัวต่างตั้งคำถามว่าการเดินทางของเขาต้องจบลงแบบนี้ได้อย่างไร

ชาวอินโดนีเซียวัย 27 ปีคนนี้ เดินทางมาถึงออสเตรเลียที่สนามบินนานาชาติเพิร์ธ ในไฟลท์กลางดึกของวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา ด้วยความตื่นเต้นที่จะได้พบกับเจฟรีย์ (Jefrie) พี่น้องของเขา และเอลลี (Ellie) พี่สะใภ้ พร้อมลูกสาวของพวกเขาอีก 4 คน

หลานของเอ็นโดกำลังรอต้อนรับเขาเมื่อมาถึง พร้อมกับป้ายชื่อที่เขียนด้วยมือซึ่งมีข้อความว่า “ยินดีต้อนรับ อุดา (ลุง) เอ็นโด” อักษรแต่ละตัวถูกวาดด้วยดินสอสี
Endo's four-year-old niece holds a hand drawn sign meant to welcome him to Australia.
หลานสาวของคุณเอ็นโด ขณะกำลังถือกระดาษที่วาดรูปไว้เพื่อต้อนรับเขามาออสเตรเลีย Source: Supplied
แต่ครอบครัวของเขากลับไม่มีโอกาสได้ต้อนรับการมาถึง เมื่อกองกำลังพิทักษ์พรมแดนตัดสินใจยกเลิกวีซ่าท่องเที่ยวของเขา ซึ่งทำให้คุณเอ็นโดต้องเดินทางกลับบ้านในอีก 3 วันต่อมา

การตัดสินใจดังกล่าวยังหมายความว่า คุณเอ็นโดถูกห้ามไม่ให้เดินทางมาออสเตรเลียเป็นเวลา 3 ปี

“(ผม) ยังคงเสียใจมากเพราะวีซ่าถูกแบน” คุณเอ็นโด ซึ่งพูดภาษาอังกฤษได้ไม่คล่อง กล่าวกับเอสบีเอส นิวส์ ผ่านเจฟรีย์ พี่น้องของเขา ซึ่งเป็นล่ามแปลภาษาให้
(ผม) รู้สึกเศร้ามาก เพราะผมไม่ได้เจอครอบครัวของผม
เอ็นโด สิมาจันตัก
คุณเอ็นโดถูกส่งตัวออกจากประเทศด้วยเหตุผลที่หน่วยงานกิจการภายในออสเตรเลียอธิบายว่า เป็นการยอมรับโดยการส่วนตัวว่าเขาตั้งใจ “จะทำงานเป็นช่างฉาบปูน” ระหว่างพำนักอยู่ในออสเตรเลีย ซึ่งขัดต่อเงื่อนไขวีซ่าท่องเที่ยว (subclass 600) ที่มีจุดประสงค์เพื่อการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว
(left to right) A woman, a small girl and a man sitting on a bench.
คุณเอ็นโด เดินทางมาออสเตรเลียเพื่อที่จะมาเยี่ยมเอลลี (Ellie) สะใภ้ของเขา เจฟรีย์ (Jefrie) และหลานสาววัย 4 ขวบ Source: Supplied
เอสบีเอส นิวส์ ได้พบเห็นเหตุผลในการยกเลิกวีซ่า จากเอกสารที่หน่วยงานกิจการภายในออสเตรเลียออกให้กับผู้ยื่นขอวีซ่ารายดังกล่าว ภายใต้กฎหมายเสรีภาพข้อมูลข่าวสาร (Freedom of Information laws)

คุณเอ็นโดและครอบครัวโต้แย้งเหตุผลดังกล่าวอย่างแข็งขัน ซึ่งเขาบอกว่าไม่เคยต้องการจะทำงานในออสเตรเลีย และไม่ได้รับโอกาสให้เข้าถึงบริการล่ามแปลภาษา ในระหว่างการเจรจาที่เกิดขึ้นในสนามบินโดยเจ้าหน้าที่กองกำลังพิทักษ์พรมแดน
A Department of Home Affairs document outlining Endo Simanjuntak's visa cancellation.
เอกสารจากหน่วยงานกิจการภายในของออสเตรเลีย ทีระบุเหตุผลว่าเพราะเหตุใดวีซ่าท่องเที่ยวของคุณเอ็นโดจึงถูกยกเลิก Source: Supplied
วีซ่าของคุณเอ็นโดถูกเพิกถอนตามอำนาจในมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายการย้ายถิ่นฐาน (Migration Act) ซึ่งระบุว่า วีซ่าถูกยกเลิกได้ หากพบว่าผู้ถือวีซ่า “ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข”

โฆษกรัฐบาลระบุกับ เอสบีเอส นิวส์ ผ่านแถลงการณ์ว่า แอนดรูว์ ไจลส์ รัฐมนตรีด้านการอพยพย้ายถิ่นได้ติดตามข้อมูลของกรณีดังกล่าวแล้ว

“ระหว่างที่รัฐมนตรียังให้ความเห็นเป็นรายกรณีไม่ได้เนื่องด้วยข้อผูกมัดความเป็นส่วนตัว เขาทราบแล้วถึงปัญหาที่มีการหยิบยกขึ้นมาในบทความนี้ และกำลังต้องการข้อสรุปจากหน่วยงานกิจการภายในในกรณีดังกล่าว” โฆษกรัฐบาลระบุ

“รัฐบาลอัลบานิซีมุ่งมั่นในการทำให้โครงการอพยพย้ายถิ่นปราศจากการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ภาษา เพศสภาพ เพศวิถี หรือศาสนา”

ช่วงเวลาวันหยุดในฝันที่พังครืน

คุณเอ็นโด เดินทางมายังนครเพิร์ทจากหมู่บ้านของเขาบนเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย เขาทำงานอยู่ในร้านอาหารที่นั่น และการเดินทางมาออสเตรเลียของเขาถือเป็นการเดินทางไปต่างประเทศครั้งแรก

ก่อนเดินทางมาถึง วีซ่าท่องเที่ยวของเขาได้รับการอนุมัติแล้วโดยเจ้าหน้าที่ในออสเตรเลีย และมีพี่น้อง และพี่สะใภ้ของเขาเป็นคนออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด

วีซ่าผู้มาเยือน หรือ Visitor visa (subclass 600) มีไว้สำหรับนักท่องเที่ยว ผู้มาเยือนทางธุรกิจ หรือผู้ที่ต้องการมาเยี่ยมครอบครัวเป็นเวลา 3,6 และ 12 เดือน มีค่าใช้จ่ายในการทำวีซ่าสูงสุด $380 ดอลลาร์
Endo with his niece in Indonesia.
คุณเอ็นโดกับหลานสาวของเขาในอินโดนีเซีย Source: Supplied
เว็บไซต์ของหน่วยงานกิจการภายในออสเตรเลีย ได้กำหนดว่า ผู้ยื่นสมัครวีซ่าดังกล่าว “จะต้องมี หรือสามารถเข้าถึงจำนวนเงินที่เพียงพอในการสนับสนุนตนเองระหว่างพำนักอยู่ในออสเตรเลีย”

คุณเอ็นโดวางแผนที่จะพำนักอยู่ในออสเตรเลียเป็นเวลา 3 เดือน

หน่วยงานกิจการภายในระบุว่า Visitor visa (Subclass 600) แตกต่างจาก Visitor visa (Subclass 651) โดยอย่างหลังจะอนุญาตให้พำนักอยู่ในออสเตรเลียได้ไม่เกิน 3 เดือน แต่ไม่มีให้สำหรับพลเมืองสัญชาติอินโดนีเซีย

คุณเอ็นโด บอกว่า เขาเริ่มพบกับคำถามจากเจ้าหน้าที่กองกำลังพิทักษ์พรมแดนถึงเหตุผลในการเดินทางเข้าประเทศ เมื่อเดินทางมาถึงที่นครเพิร์ท

“เมื่อ (ผม) ถึงสนามบิน เจ้าหน้าที่กองกำลังพิทักษ์พรมแดนถาม (ผม) ทันทีว่า คุณมาที่นี่เพื่ออะไร” คุณเอ็นโดเล่า โดยเขาบอกเจ้าหน้าที่ไปว่า “เขามาเพื่อใช้เวลาวันหยุด”

คุณเอ็นโดเล่าต่อว่า เจ้าหน้าที่ได้ขอดูยอดเงินในบัญชีธนาคาร เพื่อดูว่าเขาจะสนับสนุนตนเองระหว่างพำนักอยู่ในออสเตรเลียได้อย่างไร
Nine adults standing in a line on a beach. Two women are holding young children.
คุณเอ็นโด (คนที่สองจากด้านขวา) พร้อมสะใภ้ เอลลี (Ellie) และเจฟรีย์ (Jefrie) พี่น้องของเขา (ซ้ายสุด) ที่เกาะสุมาตรา Source: Supplied
เว็บไซต์ของหน่วยงานกิจการภายในออสเตรเลียระบุว่า ผู้เป็นสปอนเซอร์ให้ผู้มาเยือนอาจต้องจ่ายเงินประกันระหว่าง $5,000-$15,000 ดอลลาร์ เพื่อให้บุคคลดังกล่าวเดินทางมายังออสเตรเลีย ซึ่งพี่น้องและพี่สะใภ้ของคุณเอ็นโดไม่ได้รับการขอให้จ่ายเงินส่วนนั้น แต่มีการขอสเตทเมนท์ธนาคารของทั้งสอง เพื่อยืนยันแหล่งรายได้สำหรับการยื่นขอวีซ่าของคุณเอ็นโด

คุณเอ็นโดกล่าวว่า เขาบอกกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์พรมแดนว่าครอบครัวของเขาตั้งใจที่จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมดตลอดเวลาที่เขาพำนักอยู่ที่นี่

“(ผม) บอกกับพวกเขาว่า ‘(ผม) ไม่ต้องการเงิน เพราะว่าพี่น้อง (ของผม) และพี่สะใภ้จะจ่ายให้สำหรับทุกอย่างเมื่อผมมาถึงที่นี่’” คุณเอ็นโดกล่าว

จากคำพูดของคุณเอ็นโด เขาเล่าว่า เจ้าหน้าที่พิทักษ์พรมแดนซึ่งไม่พอใจกับคำตอบของเขาในการถามคำถามในตอนแรก ได้นำตัวเขาเข้าไปในห้องเพื่อสอบถามเพิ่มเติม
“เขาพา (ผม) เข้าไปในห้อง และถามคำถามเดิมกับผมอีกครั้งว่า ‘คุณมาที่นี่ทำไม’” คุณเอ็นโดเล่า

“เขาบอกว่า คุณต้องมาที่นี่เพื่อทำงานแน่ ๆ’ และผมก็บอกว่า ‘ไม่ใช่อย่างนั้น ผมมาที่นี่เพื่อใช้เวลาวันหยุด’”

คำถามสำคัญ

จากจุดนี้ เหตุการณ์ที่เอ็นโดระลึกได้ระหว่างการเจรจากับเจ้าหน้าที่ นั่นคือการพูดคุยว่ามีสิ่งใดที่ถูกกำหนดไว้อย่างเป็นทางการโดยทางหน่วยงานสำหรับการตัดสินใจเกี่ยวกับวีซ่า

จากเอกสารระบุว่า “ระหว่างการสัมภาษณ์อย่างเป็นทางการกับกองกำลังพิทักษ์พรมแดนออสเตรเลีย คุณระบุว่าคุณมาที่นี่เพื่อที่จะใช้เวลาวันหยุด และจะทำงานเป็นช่างฉาบปูนอีกด้วย”

“จากการยอมรับทางวาจาของผู้ถือวีซ่ารายนี้ ข้าพเจ้าแน่ใจว่าผู้ถือวีซ่ารายนี้ไม่ได้เดินทางมาเพื่อจุดประสงค์ในการท่องเที่ยวตามที่วีซ่าได้รับการอนุมัติ”
คุณเอ็นโดกล่าวว่า เขาไม่ได้กล่าวสิ่งนั้นออกไป และอ้างว่าแม้ได้บอกกับเจ้าหน้าที่ไปแล้วว่าตนพูดภาษาอังกฤษไม่คล่อง แต่ก็ไม่ได้รับการจัดหาล่ามแปลภาษาให้เพื่อช่วยเหลือ

เขาบอกว่า เขาถูกถามซ้ำ ๆ ว่าตั้งใจจะมาทำงานในออสเตรเลียหรือไม่

“พวกเขาถามคำถามเดียวกันแล้วก็ผลัก (ผม) จากนั้น (ผม) ก็เริ่มกลัว” คุณเอ็นโดเล่า

“พวกเขาบอก (ผม) ว่า ... ไม่ คุณต้องมาทำงานที่นี่ให้พี่น้องคุณแน่ ๆ ใช่ไหม”

“ตอนนั้นผมพูดว่า ... ใช่ พี่น้อง (ผม) เป็นช่างฉาบปูน”

คุณเอ็นโดบอกว่า เขาบอกกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์พรมแดนว่า “เขาจะทำอะไรอยู่แถวบ้าน ทำความสะอาด และดูแลลูกสาวของพี่ชาย” โดยเขาไม่เคยพูดเลยว่าเขาอยากจะทำงานเป็นช่างฉาบปูน

ทั้งนี้ คุณเอ็นโดไม่มีคุณวุฒิใด ๆ ในการเป็นช่างฉาบปูน

“(ผม) รู้สึกสับสน เพราะ (ผม) ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษ” คุณเอ็นโดกล่าว

เอกสารการยกเลิกวีซ่าจากหน่วยงานกิจการภายในของออสเตรเลียระบุว่า “ไม่มีการใช้ล่ามแปลภาษา” ในการสัมภาษณ์กับคุณเอ็นโด

ทำไมเขาจึงถูกเพ่งเล็ง

ระหว่างที่คุณเอ็นโดกำลังเจรจากับเจ้าหน้าที่ เอลลี (Ellie) พี่สะใภ้ของเขาบอกว่า ครอบครัวที่มารออยู่ในสนามบินเริ่มวิตกกังวลเมื่อเวลาผ่านไปแต่ก็ไม่เห็นว่าเขาจะปรากฏตัว เธอกล่าวว่า เจ้าหน้าที่พิทักษ์พรมแดนได้ออกมาถามพวกเขาตรง ๆ เกี่ยวกับการเดินทางมาออสเตรเลียของคุณเอ็นโด การปรากฏตัวของเจ้าหน้าที่สร้างความกังวลให้กับครอบครัวของคุณเอ็นโด

ในตอนนั้นเองที่คุณเอลลีกล่าวว่า ทางครอบครัวยังได้กล่าวกับกองกำลังพิทักษ์พรมแดนอย่างตรงไปตรงมาถึงความจำเป็นในการใช้ล่ามแปลภาษาของคุณเอ็นโด

“ฉันบอกพวกเขาว่า ‘มีล่ามแปลภาษาไหม’” คุณเอลลีกล่าว

“พวกเขาบอกว่า ‘ไม่มีล่ามแปลภาษา’ ฉันบอกว่า ‘แต่เขาพูดภาษาอังกฤษไม่ได้’”
A group of men, women and children standing outside
คุณเอ็นโดพร้อมสะใภ้ พี่น้อง และหลานสาวที่อินโดนีเซีย Source: Supplied
เมื่อเวลาผ่านไป จนเข้าสู่รุ่งสางของเช้าวันรุ่งขึ้น เอลลีและเจฟรีย์เดินทางออกจากสนามบินเพื่อพาลูกสาวไปส่งที่บ้าน เธอกล่าวว่า หลังจากนั้นไม่นานทางครอบครัวได้รับโทรศัพท์สายหนึ่ง

“พวกเขาโทรหาฉันและบอกว่า ‘วีซ่าของเขาถูกยกเลิกแล้ว และนั่นคือจุดสิ้นสุด’” คุณเอลลีกล่าว

เอลลีบอกว่า ครอบครัวรู้สึก ‘สะเทือนใจ’ จากการตัดสินใจดังกล่าว

“ทำไมต้องเป็นเขาที่ถูกเพ่งเล็ง ทำไมเขาจึงไม่ได้รับการจัดหาล่ามแปลภาษาให้ และทำไมพวกเขาถึงไม่ฟังเขาเลย ฉันไม่อยากเชื่อเลยว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นกับผู้คน” คุณเอลลีกล่าว

หลังจากที่วีซ่าของเขาถูกยกเลิก คุณเอ็นโดได้ถูกนำตัวส่งไปยังสถานกักกันในโรงแรมอลอฟท์ เพิร์ท (Aloft Perth) เป็นเวลา 3 วันจนสามารถส่งตัวเขากลับอินโดนีเซียได้ คุณเอลลีกล่าวว่า ทางครอบครัวเดินทางไปที่โรงแรมเพื่อโบกมือให้เขาผ่านทางหน้าต่าง แต่ไม่เคยได้รับอนุญาตให้พบกันตัวต่อแม้จะมีการร้องขอก็ตาม

การยกเลิกวีซ่าท่องเที่ยวในอดีต

เอสบีเอส นิวส์ ได้รับข้อมูลจากหน่วยงานกิจการภายใน เกี่ยวกับจำนวนการยกเลิกวีซ่าท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับการสัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่กองกำลังพิทักษ์พรมแดน โดยพบว่าตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2017 - 30 มิ.ย. 2022 มีการตัดสินใจเพื่อยกเลิกวีซ่าเกิดขึ้น 8,079 ครั้งในวีซ่าท่องเที่ยวทุกชนิด จากการถูกกล่าวหาว่าละเมิดเงื่อนไขวีซ่า
A graph showing the top 10 nationalities to have tourist visas cancelled.
Source: SBS
ในการยกเลิกวีซ่าตามที่กล่าวมานั้น พบ 3 ประเทศต้นทางที่ถูกยกเลิกวีซ่ามากที่สุด ได้แก่ มาเลเซีย (2,700 ครั้ง) จีน (2,100 ครั้ง) และอินเดีย (400 ครั้ง) โดยในช่วงเวลาเดียวกัน พบการยกเลิกวีซ่า 100 ครั้งสำหรับอินโดนีเซีย

จำนวนการยกเลิกวีซ่าลดลงมาอย่างมีนัยยะสำคัญจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงปีงบประมาณ 2017-18 พบการยกเลิก 3,844 ครั้ง ในปี 2019-2022 ลดลงมาอยู่ที่ 1,467 ครั้ง และลดลงมาเหลือไม่ถึง 5 ครั้งในปีงบประมาณ 2020-21 และน้อยกว่า 70 ครั้งในปีงบประมาณ 2021-22

ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2020 - กุมภาพันธ์ 2022 ผู้เดินทางจากต่างประเทศถูกห้ามไม่ให้เข้าออสเตรเลียหากไม่มีข้อยกเว้นการเดินทางจากมาตรการปิดพรมแดน

ข้อกล่าวหาเหยียดเชื้อชาติ

ในกรณีซึ่งไม่เกี่ยวกันกับเรื่องนี้เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา หน่วยงานกิจการภายในออสเตรเลียได้ถูกบังคับให้ยอมรับ “ความผิดพลาดในอำนาจตัดสิน (jurisdictional error)” ในความเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ

เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองได้รับแจ้งว่า ชายเหล่านั้นถูกยกเลิกวีซ่าแล้ว เนื่องจากไม่ได้เดินทางมากับ “ผู้ร่วมเดินทางที่กำหนดไว้” ตามที่ระบุไว้ในใบยื่นขอวีซ่า แต่ในเวลาต่อมาเจ้าหน้าที่ยอมรับต่อหน้าศาลสหพันธรัฐในเมลเบิร์นว่า การตัดสินใจยกเลิกวีซ่าดังกล่าวเป็นผลมาจาก “ความผิดพลาดในอำนาจตัดสิน”

สุเรช ราจัน (Suresh Rajan) ประธานสภาชุมชนชาติพันธุ์แห่งเวสเทิร์นออสเตรเลีย กล่าวว่า เขามีความกังวลเกี่ยวกับ “แนวโน้มที่น่ากังวล” จากกองกำลังพิทักษ์พรมแดนออสเตรเลีย ที่เกี่ยวข้องกับแนวทางการยกเลิกวีซ่าท่องเที่ยว

“มันไม่ปรากฏว่าพวกเขาใช้กฎเหล่านี้กับผู้ที่มีผิวขาวจากภูมิหลังทางวัฒนธรรมแองโกล-เซลติก (Anglo-Celtic” คุณราจันกล่าว

“ดูเหมือนว่าพวกเขาจะใช้กฎเกณฑ์เหล่านี้กับผู้คนที่อาจมีสีผิวคล้ำกว่า หรือมาจากภูมิหลังหลากวัฒนธรรม”

“นี่เป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างแท้จริง มันจำเป็นต้องได้รับจัดการแก้ไขอย่างรวดเร็ว”

ในการให้สัมภาษณกับ เอสบีเอส นิวส์ แอนดรูว์ ไจลส์ กล่าวว่า เขาต้องการให้สิ่งตกทอดในฐานะรัฐมนตรีตรวจคนเข้าเมืองกลายเป็นโครงการอพยพย้ายถิ่นที่มี “ความชัดเจน” ของ “มูลค่าการสร้างชาติ” จากการอพยพย้ายถิ่นมายังออสเตรเลีย และการสนับสนุน “อย่างใหญ่หลวง” ที่มันจะมอบให้ให้

เช่นเดียวกับหลาย ๆ ครอบครัวที่มีญาติอยู่ในต่างแดนในช่วงการระบาดของโควิด-19 คุณเอ็นโดไม่สามารถเดินทางพบกับพี่น้อง รวมถึงน้องและหลานพี่สะใภ้ของเขาในออสเตรเลียได้ เนื่องจากมาตรการจำกัดห้ามการเดินทางในช่วงการแพร่ระบาดใหญ่

คุณเอลลี กล่าวว่า เธอยังมีปัญหาทางสุขภาพที่ทำให้เกิดอาการบ้านหมุนเรื้อรัง ทำให้เธอรู้สึกท้อแท้จากการขึ้นเครื่องบิน ทำให้การเดินทางมายังอินโดนีเซียนั้นยากลำบาก

คุณเอ็นโด กล่าวว่า เขาเพียงหวังให้วีซ่าท่องเที่ยว และการแบนจากการเดินทางมาออสเตรเลีย 3 ปีเป็นอย่างอื่น เพื่อให้เขาใช้เวลากับครอบครัวได้

“(ผม) หวังว่า (ผม) จะกลับมาได้ใหม่อีกครั้งเหมือนปกติ เพื่อให้ (ผม) ได้มาเที่ยวออสเตรเลีย” คุณเอ็นโดกล่าว

Share
Published 19 October 2022 7:05pm
By Tom Stayner
Presented by Tinrawat Banyat
Source: SBS


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand