Explainer

ทำอะไรได้/ไม่ได้หลังฉีดวัคซีนโควิดแล้ว

ผู้คนกลุ่มแรกในออสเตรเลียจะได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ในไม่กี่สัปดาห์นี้แล้ว แต่หลังจากนั้นจะเป็นอย่างไรต่อไป?

Woman getting vaccinated

What you can and can't do after you've had the coronavirus vaccine Source: SBS News

เราจะมีภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีนหรือไม่?

ตั้งแต่ต้นปี 2020 ผู้คนหวังจะมีวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสำหรับเชื้อไวรัสโคโรนา เพื่อช่วยนำชีวิตปกติกลับมา การฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ผู้คนกลุ่มแรกในออสเตรเลีย โดยจะเป็นวัคซีนของไฟเซอร์-ไบออนเทค จะเกิดขึ้นแล้วในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้

ขณะนี้ วัคซีนต้านเชื้อไวรัสโคโรนาที่ใช้กันทั้งหมดทั่วโลก ต้องฉีด 2 โดส โดยเว้นระยะห่างกัน 2-3 สัปดาห์ แต่การปกป้องคุณจากเชื้อหลังฉีดวัคซีนแล้วไม่ได้เกิดขึ้นทันที

ดร.ไคลี ควินน์ นักภูมิคุ้มกันวิทยา จากมหาวิทยาลัยอาร์เอ็มไอที กล่าวว่า ใช้เวลาราว 2 สัปดาห์ที่ร่างกายจะเริ่มผลิตสารภูมิต้านทาน (แอนติบอดี) ได้เพียงพอที่จะปกป้องตนเองจากเชื้อไวรัสได้ แต่การ ‘ปกป้อง’ ไม่จำเป็นต้องหมายความว่า ‘มีภูมิคุ้มกัน’
Dr Kylie Quinn, an immunologist from RMIT.
Dr Kylie Quinn, an immunologist from RMIT. Source: RMIT
“มีหลายระดับที่แตกต่างกันไปสำหรับประสิทธิภาพ” ดร.ควินน์ บอกกับ เอสบีเอส นิวส์ “บางวัคซีนสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ทั้งหมดซึ่งเป็นสิ่งที่เราเรียกว่า  ภูมิคุ้มกันอย่างสมบูรณ์ (sterilising immunity วัคซีนที่ทำให้ร่างกายสามารถหยุดไม่ให้ไวรัสเข้ามาในเซลล์และแบ่งตัวได้เลย) ซึ่งยากที่จะทำสำเร็จได้ในวัคซีนต่างๆ”

“ภูมิคุ้มกันระดับต่อมาคือ การที่เราอาจไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ แต่เชื้ออาจไม่สามารถพัฒนาต่อไปจนก่อให้เกิดโรคหรือทำให้เราเจ็บป่วย”

“และในระดับรองลงมาที่ต่ำกว่านั้นคือ การที่เราอาจสามารถติดเชื้อได้ แต่เราจะสามารถป้องกันไม่ให้เชื้อพัฒนาต่อไปจนเกิดโรคที่ร้ายแรง”

เราจะยังคงแพร่เชื้อโควิดได้หลังฉีดวัคซีนแล้วหรือเปล่า?

ใช่ มีความเป็นไปได้

ยังคงเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่า วัคซีนของออสเตรเลียจะป้องกันการติดเชื้อได้ทั้งหมด หรือเพียงแค่ป้องกันไม่ให้การติดเชื้อนำไปสู่การเจ็บป่วยที่รุนแรง

หากเป็นไปตามกรณีหลัง นั่นหมายความว่า วัคซีนจะยับยั้งไม่ให้คุณเจ็บป่วย แต่มันอาจไม่ได้หยุดยั้งให้คุณรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายและแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น

แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ควรก่อให้เกิดความตื่นตระหนก ดร.ควินน์ กล่าวว่า คำถามเช่นนี้ เป็นสิ่งธรรมดาที่เกิดขึ้นในการเริ่มฉีดวัคซีนตัวใหม่ทั้งหมดให้ประชาชน

“ในการแพร่เชื้อ เราจำเป็นต้องมีเชื้อในร่างกายมากพอที่จะนำไปติดผู้อื่นอย่างได้ผล และขณะนี้ เรายังไม่มีสถิติใดๆ ในเรื่องนี้สำหรับวัคซีนโควิดต่างๆ”

“สำหรับวัคซีนใดๆ ก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นหลังฉีดให้ประชาชนแล้วคือระยะที่ 4 ซึ่งเมื่อวัคซีนออกไปสู่ชุมชนแล้ว และเรากำลังเฝ้าสังเกตดูว่าผู้คนมีการตอบสนองต่อวัคซีนอย่างไร เชื้อไวรัสมีปฏิกิริยาต่อระดับภูมิคุ้มกันที่เพิ่มขึ้นในประชากรอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่ค่อนข้างปกติ”

วัคซีนจะช่วยปกป้องเราได้นานเพียงไร?

นี่เป็นอีกคำถามหนึ่งซึ่งนักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถตอบได้ในขณะนี้ แม้ว่าผลการทดลองทั้งหมดจะชี้ถึงระดับการปกป้องที่ดีหลายเดือนหลังฉีดวัคซีนแล้ว

วัคซีนทำงานโดยแนะนำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายรู้จักกับโครงร่างของเชื้อไวรัส ระบบภูมิคุ้มกันถูกลวงให้คิดว่านั่นเป็นเชื้อไวรัสจริงๆ และตระหนักว่าโครงร่างของเชื้อเป็นอันตรายและเริ่มสร้างสารภูมิคุ้มกัน (แอนติบอดี) เพื่อปกป้องร่างกายจากเชื้อ

นั่นหมายความว่า หากเราติดเชื้อจากเชื้อไวรัสจริงๆ ในอนาคต ระบบภูมิคุ้มกันของเราจะรู้วิธีในการต่อสู้กับเชื้อ

ดร.ควินน์ กล่าวว่า อายุขัยของสารภูมิคุ้มกันเหล่านั้นทั้งหมดนี้จะขึ้นอยู่กับความจำด้านภูมิคุ้มกันของร่างกาย

“ความจำด้านภูมิคุ้มกันคือ เซลล์ภูมิคุ้มกันของเราสามารถรับรู้และจดจำการติดเชื้อได้มากน้อยเพียงไร เพื่อที่เซลล์เหล่านั้นจะสามารถรับมือกับเชื้อได้ในหลายเดือนหรือหลายปีต่อมา”

“เราไม่รู้ว่าความทรงจำด้านภูมิคุ้มกันจะยาวนานเท่าไรสำหรับวัคซีน SARS-CoV-2 แต่เรากำลังได้ข้อมูลค่อนข้างดีจากผู้ที่ติดเชื้อหรือได้รับการฉีดวัคซีนราว 8-9 เดือนก่อน และยังคงมีความจำด้านภูมิคุ้มกันในระดับที่ดีมาก ดังนั้น จึงน่าจะเป็นสัญญาณที่ดี”

จะเกิดอะไรขึ้นหากมีเชื้อสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นเรื่อยๆ ?

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ได้มีเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ผุดขึ้นมาในประเทศอังกฤษ แอฟริกาใต้ และบราซิล

เชื้อสายพันธุ์ใหม่เหล่านี้มีการกลายพันธุ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งทำให้เชื้อสามารถแพร่กระจายจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งได้ง่ายขึ้น แต่ยังไม่มีหลักฐานว่าเชื้อเหล่านี้ทำให้เกิดความเจ็บป่วยที่รุนแรงขึ้น

เชื้อสายพันธุ์ใหม่ก่อให้เกิดความท้าทายคือ ทำให้ยากขึ้นสำหรับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่จะตระหนักว่ามีเชื้อเข้ามาในร่างกายและต่อสู้กับเชื้อ แต่ ดร.ควินน์ กล่าวว่า นี่ไม่ได้ทำให้วัคซีนของในขณะนี้ไร้ประโยชน์

“ในจุดนั้น เราสามารถปรับวัคซีนของเราและเปลี่ยนแปลงวัคซีนได้ เช่นเดียวกับที่เราทำสำหรับเชื้อไข้หวัดใหญ่ ซึ่งต่างกันไปในแต่ละปี” ดร.ควินน์ กล่าว

“เรามีการออกแบบวัคซีนที่ดีมากสำหรับเรื่องนี้ วัคซีน mRNA (ซึ่งรวมถึงวัคซีนของไฟเซอร์/ไบออนเทค) และวัคซีนโนวาแวกซ์นั้น เหมาะอย่างยิ่งสำหรับเรื่องนี้”

เมื่อใดที่เราจะมีภูมิคุ้มกันหมู่?

ภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) คือเมื่อชุมชนทั้งหมดได้รับการปกป้องจากเชื้อไวรัสตัวใดตัวหนึ่ง เนื่องจากมีผู้คนมากพอที่เคยติดเชื้อหรือได้รับการฉีดวัคซีน

นั่นทำให้เชื้อไวรัสมีแนวโน้มที่จะไม่สามารถแพร่กระจายต่อไปได้ เนื่องจากมีคนไม่มากพอที่จะเป็นผู้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย

แต่ต้องมีคนกี่คนที่ได้รับการฉีดวัคซีน จึงจะทำให้ออสเตรเลียมีภูมิคุ้มกันหมู่?
Professor Sharon Lewin.
Professor Sharon Lewin. Source: The Peter Doherty Institute for Infection and Immunity
ศ.ชารอน วีลิน ผู้อำนวยการสถาบันด้านโรคติดเชื้อและภูมิคุ้มกัน ปีเตอร์ โดเฮอตี กล่าวว่า จำนวนผู้คนที่มากพอจนทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้นั้น จะขึ้นอยู่กับว่าวัคซีนของออสเตรเลียจะสามารถขัดขวางการติดเชื้อได้อย่างสิ้นเชิง หรือเพียงแค่ยับยั้งไม่ให้ป่วยหนักเท่านั้น

“สมมุติว่า การฉีดวัคซีนยับยั้งไม่ให้คุณติดเชื้อและลดโอกาสในการติดเชื้อของคุณลงอย่างมาก ถ้าเป็นเช่นนั้น โดยเฉลี่ย จำเป็นต้องมีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนราวร้อยละ 60-70 (ของจำนวนประชากร)” ศ.ลีวิน บอกกับ เอสบีเอส นิวส์

“หากวัคซีนมีประสิทธิภาพเล็กน้อยในการยับยั้งการติดเชื้อ ถ้าเช่นนั้น ก็ต้องฉีดวัคซีนให้คนจำนวนมากขึ้น”

โฆษกของกระทรวงสาธารณสุขของสหพันธรัฐ กล่าวว่า รัฐบาล “ดำเนินการได้ตามแผน” ที่จะเสร็จสิ้นการฉีดวัคซีนให้ประชาชนภายในเดือนตุลาคม

หากเป็นไปตามกำหนด ภูมิคุ้มกันหมู่อาจเกิดขึ้นได้จริงภายในสิ้นปีนี้ หากประชาชนมากพอได้รับการฉีดวัคซีน

แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างภูมิคุ้มกันโรค กล่าวว่า เราไม่ควรคำนึงถึงแต่เรื่องภูมิคุ้มกันหมู่มากจนเกินไป

“สิ่งที่เรารู้คือ เรามีวัคซีนที่หยุดยั้งไม่ให้คนเจ็บป่วยและต้องไปโรงพยาบาล และนั่นเป็นสิ่งสำคัญอย่างใหญ่หลวง เพราะนั่นเป็นสิ่งที่เราวิตกอย่างมากตอนนี้” ศ.ลีวิน กล่าว

เราจะสามารถเลิกการรักษาระยะห่างทางสังคมได้หรือไม่หลังฉีดวัคซีนแล้ว?

ยังเลิกไม่ได้ และคงต้องทำต่อไปสักระยะ

ในออสเตรเลียและประเทศอื่นๆ องค์กรด้านสุขภาพต่างๆ กำลังแนะนำให้ทุกคนยังคงรักษาระยะห่างทางสังคมต่อไป พร้อมยังคงปฏิบัติตามมาตรการด้านความปลอดภัยต่อไป หลังได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว

ศ.ลีวิน กล่าวว่า มาตรการเหล่านั้นน่าจะคงอยู่ต่อไปจนกว่าทางการมีข้อมูลมากขึ้นเกี่ยวกับวัคซีน

“คุณควรยังคงรักษาระยะห่างทางสังคมต่อไป ล้างมือ และอยู่บ้านหากป่วย และไปรับการตรวจเชื้อหามีอาการ เพราะเรายังคงไม่รู้ว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพหรือไม่และมีมากน้อยเพียงใดในการลดการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด” ศ.ลีวิน กล่าว
คุณอาจได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งหมายความว่า คุณจะได้รับการปกป้องไม่ให้ต้องไปโรงพยาบาล ซึ่งเราคิดว่ามีประสิทธิภาพเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่คุณอาจยังคงติดเชื้อไวรัสได้ ดังนั้นจึงสามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้
นั่นหมายความว่า ขณะที่คุณอาจไม่ป่วย แต่คนที่คุณอาจนำเชื้อไปติด ยังคงป่วยได้ หากพวกเขายังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน

เมื่อใดที่เราจะได้รับอนุญาตให้เดินทางไปต่างประเทศได้?

ดูเหมือนว่าการปิดพรมแดนระหว่างประเทศของออสเตรเลีย จะเป็นหนึ่งในสิ่งสุดท้ายที่จะเปลี่ยนแปลงหลังการฉีดวัคซีนให้ประชาชนแล้ว

เอสบีเอส นิวส์ สอบถามกระทรวงสาธารณสุขสหพันธรัฐว่า มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาใดๆ สำหรับเริ่มเปิดการเดินทางระหว่างประเทศ หลังประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว

“เนื่องจากความไม่แน่นอนในขณะนี้ ว่าการฉีดวัคซีนจะสามารถหยุดยั้งบุคคลที่ฉีดวัคซีนแล้วไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้หรือไม่ และขณะที่โควิด-19 ยังคงเป็นโรคที่มีนัยสำคัญในโลก ความเสี่ยงด้านสาธารณสุขที่มาจากการเดินทางระหว่างประเทศยังคงสูง” โฆษกกระทรวง กล่าว

“ขณะที่ยังคงไม่มีการตัดสินใจอย่างเป็นทางการใดๆ รัฐบาลคาดว่า ขณะที่โควิด-19 ยังคงก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญต่อสุขภาพของประชาชนทั่วโลกและในออสเตรเลีย ผู้ที่เดินทางกลับมายังออสเตรเลียจะยังคงต้องผ่านกระบวนการลดความเสี่ยงที่เหมาะสม รวมทั้ง การมีผลตรวจโควิด-19 เป็นลบก่อนขึ้นเครื่องบินเดินทางเข้ามา และการกักกันโรคภาคบังคับเมื่อเดินทางมาถึง เพื่อลดความเสี่ยงต่อชุมชน”

ขณะที่ไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการใดๆ เกี่ยวกับการเปิดพรมแดนระหว่างประเทศ ศ.ลีวิน กล่าวว่า ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การฉีดวัคซีนกันอย่างกว้างขวางจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำการเดินทางระหว่างประเทศกลับมาอีกครั้ง

“สำหรับชาวออสเตรเลีย การเดินทางไปที่อื่นหลังได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว จะช่วยให้คุณสบายใจได้อย่างมากว่า หากคุณสัมผัสเชื้อไวรัส คุณจะไม่ป่วยจนต้องลงเอยในโรงพยาบาล ดังนั้น มันจะเป็นมาตรการป้องกันที่ดีเยี่ยมที่จะทำ” ศ. ลีวิน กล่าว

“ฉันคิดว่า เมื่อคุณได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว จะมีข้อจำกัดน้อยลงสำหรับผู้ที่เดินทางออกนอกประเทศ”

แต่สำหรับการเดินทางกลับมายังออสเตรเลียอาจเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

“จนกว่าเราจะรู้ว่าวัคซีนป้องกันการติดเชื้อได้ จะมีความเป็นไปได้เสมอที่ผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วจะยังคงเป็นพาหะนำเชื้อไวรัส ซึ่งหมายความว่า มีแนวโน้มที่พวกเขาจะยังคงต้องถูกกักกันโรคต่อไป” ศ.ลีวิน กล่าว

“แต่อาจมีการเปลี่ยนแปลงว่าจะกักกันโรคกันแค่ไหน ขณะนี้ เรากักกันโรคสำหรับทุกคนที่เดินทางเข้ามาจากประเทศใดๆ ก็ตาม ซึ่งนั่นอาจเปลี่ยนแปลง เราจะมีระดับของการกักกันโรคที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าคุณได้รับการฉีดวัคซีนหรือยัง หรือขึ้นอยู่กับประเทศที่คุณได้เดินทางไป”
ประชาชนในออสเตรเลียต้องอยู่ห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร คุณสามารถตรวจดูว่ามีข้อจำกัดใดบ้างที่บังคับใช้อยู่ในรัฐและมณฑลของคุณ 

หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้ติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 8 February 2021 1:55pm
Updated 8 February 2021 2:00pm
By Claudia Farhart
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS News


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand