ทำไมบางคนจึงต่อต้านการสวมหน้ากากอนามัย

ขณะที่หลายพื้นที่ทั่วออสเตรเลียได้ขอความร่วมมือประชาชนให้สวมหน้ากากอนามัย รวมถึงมีการออกมาตรการบังคับใส่ในบางพื้นที่ แต่ยังมีผู้คนบางส่วนที่ต่อต้านแนวคิดดังกล่าว เอสบีเอส นิวส์ พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อไขข้อสงสัย

Face masks will become mandatory in Melbourne on Thursday.

Face masks will become mandatory in Melbourne on Thursday. Source: AAP

วันนี้ (23 ก.ค.) มาตรการบังคับสวมใส่หน้ากากอนามัยในพื้นที่สาธารณะ ได้มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่เวลา 23:59 น. ของเมื่อคืนวันพุธที่ผ่านมา (22 ก.ค.) ในพื้นที่มหานครเมลเบิร์น และพื้นที่ปกครองส่วนท้องถิ่นมิตเชลล์ ไชร์ ขณะที่รัฐนิวเซาท์เวลส์ ได้ขอความร่วมมือให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย ในกรณีที่ไม่สามารถรักษาระยะห่างทางสังคมได้

แต่สำหรับบางคน อย่าง ซิกกี อัลเบิร์ตส์ (Ziggy Alberts) นักดนตรีชาวออสเตรเลีย ได้วิพากษ์วิจารณ์มาตรการสวมหน้ากากอนามัยภาคบังคับ โดยระบุว่าเป็นการคุกคามสิทธิส่วนบุคคล

ส่วนผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียที่ไม่เห็นด้วยกับการสวมใส่หน้ากากอนามัยบางคน ได้แชร์ทฤษฎีสมคบคิดที่ว่า หน้ากากอนามัยจะทำให้เกิดการเป็นพิษจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงเป็นเครื่องมือในการควบคุมความคิดของประชาชนจากรัฐบาล

ดร. แคลร์ ฮุกเกอร์ (Dr Claire Hooker) จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ กล่าวว่า มีผู้คนบางส่วนที่อาจไม่เห็นประโยชน์ทางสุขภาพของการสวมหน้ากากอนามัยอย่างชัดเจน จากการส่งสารด้านสุขภาพที่เปลี่ยนแปลง และความเข้าใจต่อไวรัสนี้ของประชาชนที่พัฒนาขึ้น

เธอกล่าวเสริมว่า ผู้คนบางส่วนที่อาจต่อต้านการสวมหน้ากากอนามัย มองว่าเป็นช่องทางในการใช้อำนาจเพื่อบังคับควบคุม

ประเด็นนี้ได้แบ่งผู้คนออกเป็นหลายฝ่าย มีผู้คนจำนวนมากรู้สึกไม่พอใจ เมื่อพบเห็นผู้คนเพิกเฉยต่อคำแนะนำด้านสาธารณสุขในการสวมใส่หน้ากากอนามัย

“สำหรับบางคน การสวมใส่หน้ากากอนามัย ทำให้พวกเขารู้สึกว่าสถานการณ์กลับมาอยู่ในการควบคุม และบ่อยครั้งที่ผู้คนกลุ่มนี้จะรู้สึกโกรธเคือง เมื่อพบเห็นใครก็ตามที่ไม่สวมหน้ากากอนามัย” ดร.ฮุกเกอร์กล่าวกับเอสบีเอส นิวส์​

“มันจะเป็นเรื่องที่ฝืนความเข้าใจของพวกเขา เมื่อรู้ว่าสำหรับบางคน การไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย เท่ากับว่าทุกสิ่งทุกอย่างกลับมาอยู่ในการควบคุม ทั้งการมีชีวิตเป็นของตัวเอง และการเลือกที่จะทำสิ่งต่าง ๆ”

ดร.ฮุกเกอร์ กล่าวอีกว่า การพูดคุยเรื่องของหน้ากากอนามัยในออสเตรเลียนั้นเป็นเรื่องใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ออสเตรเลียได้ประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดโดยไม่ต้องใช้หน้ากากอนามัย

“บางประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีประวัติที่ยาวนานในการสวมหน้ากากอนามัยทุกฤดูหนาว หรือทุกครั้งที่คุณเป็นหวัด ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ยังคงพูดคุยเรื่องนี้ในความเกี่ยวโยงกับไวรัสโคโรนาอย่างยาวนาน เพราะพวกเขารู้สึกว่ามันมีความจำเป็นมาตั้งแต่แรก” ดร. ฮุกเกอร์กล่าว
People wearing face masks are seen during a lockdown in Melbourne.
People wearing face masks are seen during a lockdown in Melbourne. Source: AAP
ขณะที่รัฐวิกตอเรีย ได้ปรับเปลี่ยนคำแนะนำเกี่ยวกับหน้ากากอนามัย จากข้อมูลและงานวิจัยต่าง ๆ ในต่างประเทศที่มากขึ้น มาเป็นหลักฐานสนับสนุน 

“มีบทเรียนจากนานาประเทศที่เพิ่มมากขึ้นว่า พื้นที่เขตปกครองต่าง ๆ ที่รับมือกับสถานการณ์ไวรัสได้ดีนั้น มีการประกาศใช้มาตรการสวมหน้ากากอนามัยภาคบังคับ” ศาสตราจารย์เบรตต์ ซัตทัน ประธานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขรัฐวิกตอเรียกล่าว 

“และสำหรับพื้นที่ซึ่งไม่ได้ประกาศใช้มาตรการดังกล่าว ก็เป็นพื้นที่ซึ่งกำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่มีความเลวร้ายอยู่ในขณะนี้”

แม้แต่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐ ฯ ที่ก่อนหน้านี้ต่อต้านการสวมใส่หน้ากากอนามัยก็ได้เปลี่ยนท่าที และขอความร่วมมือให้ประชาชนสวมใส่ เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความรักชาติ

ดร. เฟรเซอร์ ทัลล์ (Dr. Fraser Tull) จากมหาวิทยาลัยโมแนช กล่าวว่า มันอาจใช้เวลาสักระยะ ในการทำให้พฤติกรรมใหม่นี้กลายเป็นความเคยชิน

“มันจะใช้เวลาประมาณ 2 – 3  เดือน ในการทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนเป็นความเคยชินในแบบที่ว่าไม่ต้องคิดถึงข้อดีข้อเสียอะไร พวกเขาเพียงสวมใส่จนเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวัน” ดร. ทัลล์ กล่าวกับเอสบีเอส นิวส์ 

“ผมคิดว่าในระยะแรกตอนนี้ คาดว่าพฤติกรรมนี้มีความเป็นไปได้มากที่ผู้คนจะปฏิบัติตาม มากกว่าพฤติกรรมอื่น ๆ เช่น การไปตรวจหาเชื้อ มันเป็นที่พบเห็นได้ทั่วไปในที่สาธารณะ คุณไปที่ไหนคุณก็พบเจอ”
Masks will become mandatory in Melbourne as of Thursday.
Masks will become mandatory in Melbourne as of Thursday. Source: AAP
แม้ความกังวลว่าจะถูกปรับเป็นเงิน $200 ดอลลาร์โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจหากไม่สวมหน้ากากนั้น เป็นแรงจูงใจที่ทำให้คนปฏิบัติตาม ดร. ทัลล์ กล่าวว่า มาตรการนี้จะได้ผลมากขึ้นผ่านแรงกดดันทางสังคม

“มันมีผลที่ตามมาโดยทันที หากคุณออกไปในที่สาธารณะและผู้คนส่วนมากสวมใส่หน้ากาก แต่คุณไม่ได้ใส่ มันชัดเจนอยู่แล้ว และคุณก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงแรงกดดันจากสังคมได้” ดร. ทัลล์​กล่าว

นายรอน บอร์แลนด์ (Ron Borland) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา และรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์เพื่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น กล่าวว่า การสวมใส่หน้ากากทำให้การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นเป็นเรื่องยาก เนื่องจากการแสดงสีหน้าเป็นส่วนสำคัญในการสื่อสารของมนุษย์ 

“เรามีความต้องการทางสังคมในระดับสูงที่จะเห็นหน้าผู้อื่น มันคือการมองเห็นและรับรู้ความรู้สึกของผู้คน และมันเป็นส่วนสำคัญในการพบปะทางสังคมของเรา” ศาสตราจารย์บอร์แลนด์กล่าว

“การสวมใส่หน้ากากเป็นเหมือนกับการบอกผู้อื่นว่า ‘ฉันไม่ต้องการเข้าสังคม’ ในกรณีของไวรัสโคโรนานั้น นั่นเป็นสิ่งที่เราต้องการที่จะบอกกับผู้คน”

ศาสตราจารย์บอร์แลนด์ยังกล่าวอีกว่า ประโยชน์ของการสวมใส่หน้ากากอนามัยนั้นมีมากกว่าเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ในการลดการแพร่กระจายของละอองฝอยที่มีเชื้อไวรัสโคโรนา

“การสวมใส่หน้ากากจะทำให้ผู้คนคิดถึงระยะห่างระหว่างบุคคล และการเว้นระยะห่างทางสังคม ดังนั้น มันจึงมีประโยชน์อย่างแท้จริงในการสวมใส่หน้ากาก นอกเหนือจากการลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของไวรั สิ่งนี้ยังทำให้ผู้คนคิดว่า พวกเขาควรปฏิบัติตนอย่างไรเพื่อลดความเสี่ยง” ศาสตราจารย์บอร์แลนด์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์บอร์แลนด์เสริมว่า การทำให้พฤติกรรมกลายเป็นความเคยชินเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และเขาหวังว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐวิกตอเรียจะไม่เรียกค่าปรับจากประประชาชนที่ไม่ได้สวมใส่โดยทันที แต่เริ่มด้วยการใช้วิธีการตักเตือนเป็นอันดับแรก


ประชาชนในออสเตรเลียต้องอยู่ห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร คุณสามารถตรวจดูว่ามีข้อจำกัดใดบ้างที่บังคับใช้อยู่ในรัฐและมณฑลของคุณ 

การตรวจเชื้อไวรัสโคโรนาขณะนี้สามารถทำได้ทั่วออสเตรเลีย หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้ติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080

รัฐบาลสหพันธรัฐออสเตรเลียยังได้มีแอปพลิเคชัน COVIDSafe เพื่อติดตามและแจ้งเตือนผู้ที่พบปะใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งคุณสามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้จากแอปสโตร์ (app store) สำหรับโทรศัพท์มือถือของคุณ อ่านเกี่ยวกับแอปพลิเคชันนี้ 

คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 23 July 2020 1:03pm
Updated 23 July 2020 4:18pm
By Jarni Blakkarly
Presented by Tinrawat Banyat


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand