คุณต้องประกอบอาชีพเสริมเพื่อให้มีเงินพอกับรายจ่ายหรือเปล่า?

Couple in bed surrounded by computers

มีผู้คนในออสเตรเลียจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ต้องทำงานหลายงานท่ามกลางวิกฤตค่าครองชีพ Source: Getty / Peter Cade/Getty Images

ข้อมูลใหม่จากสำนักงานสถิติออสเตรเลียพบว่า มีผู้คนในออสเตรเลียจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ต้องทำงานหลายงานท่ามกลางวิกฤตค่าครองชีพ


คุณเป็นผู้หนึ่งที่ต้องประกอบอาชีพเสริมเพื่อจะมีรายได้เพียงพอกับรายจ่ายหรือเปล่า?

คุณไม่ใช่คนเดียวที่ทำเช่นนั้น เพราะข้อมูลใหม่จากสำนักงานสถิติแห่งออสเตรเลีย (เอบีเอส) ชี้ว่า มีผู้คนในออสเตรเลียจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ที่ต้องทำงานหลายงาน เพื่อรับมือกับแรงกดดันด้านค่าครองชีพในปัจจุบัน

เอบีเอสประมาณการว่า มีผู้คนในออสเตรเลีย 947,300 คนที่ทำงานหลายงานในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นสถิติใหม่ที่สูงที่สุด

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าราคาค่าสินค้าที่แพงขึ้นและค่าจ้างที่แน่นิ่งกำลังผลักดันให้ผู้คนต้องทำหลายงาน เพื่อจะได้มีเงินพอจ่ายสำหรับสิ่งจำเป็น

คุณเกร็ก เจริโค ผู้อำนวยการด้านนโยบายศูนย์ด้านงานในอนาคต ของสถาบันออสเตรเลีย (Australia Institute) กล่าวว่า การที่มีผู้คนมากขึ้นทำงานหลายงานมาจากปัจจัยหลายอย่างที่เพิ่มแรงกดดันต่อครัวเรือน

"มีการเพิ่มขึ้นของงานพาร์ทไทม์และงานแคชวล มีการลดลงของค่าจ้างสำหรับผู้คนในแง่เงินที่ได้รับสำหรับงานที่พวกเขาทำอยู่ นอกจากนั้นก็มีค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น เมื่อสิ่งเหล่านั้นประกอบเข้าด้วยกัน เราจึงเห็นคนจำนวนมากต้องทำงานมากกว่าหนึ่งงานเพื่อจะมีรายได้พอกับรายจ่าย" คุณเจริโค กล่าว
เอบีเอสประมาณการว่ามีผู้คนออสเตรเลีย 13 ล้านคนที่ทำงานเพียงงานเดียว ซึ่งหมายความว่า 6.6 เปอร์เซ็นต์ของคนทำงานทั้งหมดกำลังทำงานหลายงาน

ก่อนการระบาดของโควิด-19 สัดส่วนของผู้คนที่ทำงานหลายงานอยู่ระหว่าง 5-6 เปอร์เซ็นต์ แต่สัดส่วนดังกล่าวได้เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่เดือนธันวาคม 2021

คุณเรเชล บาร์โทโล เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กและคุณแม่ลูกสองผู้หนึ่ง กล่าวว่า ค่าอาหารสด ค่าของชำ และค่าสิ่งจำเป็นอื่น ๆ ที่เพิ่มขึ้น ทำให้เธอและสามีต้องเพิ่มพูนทักษะอาชีพและหางานพิเศษทำเพื่อให้มีรายได้พอกับค่าใช้จ่าย

"ค่าซื้อของชำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และสิ่งต่างๆ ไม่ใช่แค่เพิ่มขึ้น 30 เซนต์หรือ 20 เซนต์ แต่เพิ่มขึ้นเป็นดอลลาร์ อย่างค่าซื้อของชำแต่ละครั้งของเราเพิ่มขึ้นประมาณอย่างน้อย 100-150 ดอลลาร์ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา" คุณบาร์โทโล กล่าว
อย่างค่าซื้อของชำแต่ละครั้งของเราเพิ่มขึ้นประมาณอย่างน้อย 100-150 ดอลลาร์ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
เรเชล บาร์โทโล เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กและคุณแม่ลูกสอง
ข้อมูลจากเอบีเอสล่าสุดนี้ยังแสดงให้เห็นว่า ค่าครองชีพต่อปีสำหรับครัวเรือนที่เป็นลูกจ้างในออสเตรเลียเพิ่มขึ้น 9.6 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดเท่าที่เอบีเอสเคยเห็นมานับตั้งแต่เริ่มบันทึกสถิติในปี 1999

คุณบาร์โทโล เป็นเจ้าของสถานออกกำลังกายในเมืองนาวรา (Nowra) ในพื้นที่เซาท์โคสต์ (South Coast) ของรัฐนิวเซาท์เวลส์ แต่หลังโควิดระบาดซึ่งส่งผลอย่างมากต่อรายได้ของธุรกิจ ประกอบกับภาวะเงินเฟ้อ จึงบีบคั้นให้เธอต้องประกาศขายธุรกิจ

แม้คุณบาร์โทโล จะยังคงทำงานเต็มเวลาที่สถานออกกำลังกายของเธออยู่ แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้เธอเรียนจบอนุปริญญาด้านบริการชุมชน และเธอแบ่งเวลาที่ว่างจากงานประจำไปทำงานให้บริการการกุศลต่าง ๆ
ในขณะเดียวกัน สามีของเธอซึ่งทำงานเต็มเวลาเช่นกัน ก็จำเป็นต้องรับงานพิเศษอะไรก็ได้ที่ทำได้ เพื่อหารายได้เสริมให้กับครอบครัว

ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่ดูเหมือนจะขัดแย้งกันเอง คือ มีแรงกดดันทางการเงินที่เพิ่มขึ้นอย่างมากต่อครัวเรือน ขณะที่ปัจจุบันมีอัตราการว่างงานต่ำทั่วประเทศ

ข้อมูลล่าสุดของเอบีเอสชี้ว่า อัตราการว่างงานในออสเตรเลียสำหรับเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 3.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งใกล้เคียงกับ 3.4 เปอร์เซ็นต์ ของเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่กลางปีทศวรรษ 1970

คุณเกร็ก เจริโค ผู้อำนวยการด้านนโยบายศูนย์งานในอนาคต ของสถาบันออสเตรเลีย (Australia Institute) กล่าวว่า ถ้าพิจารณาเฉพาะจำนวนผู้คนในออสเตรเลียที่มีงานทำเพียงอย่างเดียวก็จะทำให้พลาดข้อมูลชิ้นสำคัญ

"มันไม่ได้บอกเราว่างานเหล่านั้นเป็นงานพาร์ทไทม์ หรือฟูลไทม์ หรือมีรายได้ดี หรือไม่ดี สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับข้อมูลด้านการทำงานหลายงานที่เพิ่งออกมานี้แสดงให้เห็นว่า คนที่กำลังทำงานฟูลไทม์ก็จำเป็นต้องหางานอื่นทำ ดังนั้น ไม่ใช่แค่กรณีของคนที่ทำงานพาร์ทไทม์ 2 งานหรือ 3 งาน แต่มีคนที่ทำงานฟูลไทม์และต้องทำงานเพิ่มหลายชั่วโมงด้วย" คุณเจริโค จากสถาบันออสเตรเลีย กล่าว
คนที่กำลังทำงานฟูลไทม์ก็จำเป็นต้องหางานอื่นทำ ดังนั้น ไม่ใช่แค่กรณีของคนที่ทำงานพาร์ทไทม์ 2 งานหรือ 3 งาน แต่มีคนที่ทำงานฟูลไทม์และต้องทำงานเพิ่มหลายชั่วโมง
เกร็ก เจริโค จากสถาบันออสเตรเลีย (Australia Institute)
ด้านคุณบาร์โทโล คุณแม่ลูกสองกล่าวว่า ส่วนหนึ่งที่ยากลำบากที่สุดในการต่อสู้ทางการเงินของเธอคือ ผลกระทบจากแรงกดดันค่าครองชีพที่มีต่อลูก ๆ ของเธอ

"มันยากสำหรับสมองน้อย ๆ ของพวกเขาที่จะเข้าใจเรื่องเงินและการบริหารงบประมาณ ลูกชายคนโตของฉันกำลังจะไปค่ายที่โรงเรียนและต้องใช้เงิน 200 ดอลลาร์สำหรับสองวัน และเขาก็บอกว่า ‘ผมจะไม่ไปเพราะผมรู้ว่าแม่และพ่อกังวลเรื่องเงิน’ ฉันก็ไม่อยากให้ลูกวัย 10 ขวบรู้สึกแบบนั้น เขาไม่ควรรู้สึกว่าเขาต้องเสียสละบางอย่าง เพื่อพวกเราจะได้มีเงินพอต่อไปอีกสัปดาห์" คุณแม่ลูกสองผู้นี้กล่าว

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand