เคล็ดลับรักษาสุขภาพในช่วงล็อกดาวน์

?elbourne exercise

การเดินและวิ่งออกกำลังกายช่วงล็อกดาวน์ในเมลเบิร์น Source: Daniel Pockett/Getty Images

จากการขยายเวลาล็อกดาวน์ในเมลเบิร์นและซิดนีย์ ทำให้ยิมและสถานที่ออกกำลังกายอื่นๆ ยังคงปิดให้บริการ การขาดการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและการถูกจำกัดเวลาในการออกจากบ้านมีผลกระทบทั้งสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตใจ อ่านเคล็ดลับรักษาสุขภาพร่างกายและจิตใจในช่วงล็อกดาวน์


แพทย์หญิงทามาร่า คาแวแนตต์ (Tamara Cavenett) นักจิตวิทยาและประธานสมาคมจิตวิทยาแห่งออสเตรเลีย กล่าวว่าแทบทุกคนในออสเตรเลียได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทางใดทางหนึ่ง

“ในภาวะล็อกดาวน์ เราได้ฟังปัญหามากมายเกี่ยวกับความกลัวเรื่องที่พวกเขาจะเจ็บป่วย กลัวผลกระทบต่อครอบครัว ความกังวลเรื่องระบบสาธารณสุขและความสามารถที่จะจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้น และยังมีเรื่องผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน สิ่งที่พวกเขาทำ ที่ที่พวกเขาจะไป ข้อจำกัดทั้งหมด และแน่นอนความเหนื่อยล้าจากโลกออนไลน์ สำหรับผู้ที่ไม่ต้องถูกล็อกดาวน์ มันมีเรื่องของความไม่แน่นอนว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต หลายคนวางแผนเดินทาง แผนการทำงานซึ่งต้องชะงักและเปลี่ยนไป เป็นผลจากการระบาด มันมีผลกระทบในวงกว้าง”

คุณเซซิล เซย์ (Cecile Sy) อาสาสมัครของบียอนด์ บลู (Beyond Blue) ผู้เคยประสบภาวะซึมเศร้าในอดีต เธออาศัยอยู่ในแถบพาร์รามัตตา (Parramatta) หนึ่งในเขตเทศบาลที่มีเคสผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงและมีมาตรการเข้มงวด
ฉันคิดว่าสิ่งสำคัญคือการยอมรับว่าเราเป็นแค่มนุษย์คนหนึ่ง บางครั้งฉันรู้สึกว่า ฉันกดดันตัวเองให้ไม่เป็นไร และมันไม่ควรเป็นอย่างนั้น ฉันต้องทำความเข้าใจและตระหนักว่าฉันกำลังรู้สึกอย่างไร โดยเฉพาะฉันอาศัยอยู่ในเขตเทศบาลที่มีการระบาดสูง การล็อกดาวน์ในซิดนีย์ขยายเวลาเป็นครั้งที่สามแล้ว จุดหนึ่งฉันตื่นเต้นว่าการล็อกดาวน์กำลังจะสิ้นสุดลงแล้ว แต่มันก็มีการขยายเวลา ดังนั้นมีบางวันที่ยากกว่าวันอื่นๆ
คุณเซยกล่าวว่าครั้งหนึ่งในช่วงล็อกดาวน์ เธอกลัวที่จะติดไวรัสมากจนไม่ออกจากบ้านเป็นเวลา 2 อาทิตย์ติดกัน

police melb restrictions
ตำรวจควบคุมการรวมกลุ่มตามมาตรการป้องกันโควิด-19 Source: WILLIAM WEST/AFP via Getty Images


“ฉันเคยชอบออกไปนอกบ้าน ฉันเคยไปสวนสาธารณะแทบทุกวัน มีอยู่ครั้งหนึ่งฉันไม่ออกจากบ้านเลย ฉันไม่อยากแม้แต่จะไปซื้อของที่ร้าน ฉันคิดว่าเพราะว่าความกลัว ผู้คนพูดถึงเคสโควิดที่เพิ่มขึ้น ฉันเริ่มหวาดระแวง และเห็นได้ชัดว่ามันไม่ช่วยอะไร อย่างน้อยฉันควรจะกล้าพอที่จะออกไปสวนสาธารณะ สำหรับฉัน การไปสวนสาธารณะนับเป็นการปลดปล่อยครั้งใหญ่”

แพทย์หญิงคาแวแนตต์กล่าวว่า ผู้คนเสพติดการค้นหาอัปเดตข่าวล่าสุดในโซเชียลมีเดียและการดูข่าวตลอดเวลา แต่แท้จริงแล้วมันอาจทำให้รู้สึกแย่ลง

“สิ่งหนึ่งที่ฉันอยากให้หลายคนคำนึงถึงคือ พวกเขาใช้ข่าวอย่างไร ไม่ว่าจะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ พิจารณาดูว่ามันทำให้คุณวิตกกังวลมากขึ้นหรือไม่ หรือมีความรู้สึกแย่ลงหรือไม่ และคุณใช้เวลากี่ชั่วโมงในการเช็คข่าว พิจารณาการใช้โซเชียลมีเดียของคุณ สิ่งที่ฉันมักบอกทุกคนคือดูว่าสิ่งที่คุณทำนั้นกระทบกับคุณอย่างไร หากมันมากเกินไป หากมันทำให้คุณรู้สึกแย่ ก็ลดการใช้อุปกรณ์บางอย่างสักครู่ เพื่อให้ตัวคุณมีเวลาพักใจบ้าง”

นายแพทย์แกรนท์ บลาชกี (Grant Blashki) หัวหน้าที่ปรึกษาของบียอนด์ บลู กล่าวว่าสิ่งสำคัญคือการให้ความสำคัญต่อสิ่งที่สามารถควบคุมได้

“สิ่งที่คุณควบคุมได้ในชีวิตของคุณคืออะไร? เน้นสิ่งที่คุณควบคุมได้ พยายามใช้ชีวิตแบบมีกิจวัตร ออกกำลังกาย นอนหลับให้เพียงพอ ดูแลความสัมพันธ์ โทรหาครอบครัวหรือเพื่อนๆ ตื่นมาในตอนเช้าและพูดว่า ‘โอเค วันนี้เราจะทำให้ดีได้อย่างไร?’ ผมคิดว่าการสร้างกิจวัตรเป็นสิ่งสำคัญมาก ‘ตอน 11 โมงเข้า ฉันจะไปเดิน ตอนเที่ยงฉันจะโทรหาแม่’ ให้มันมีความต่อเนื่องมากกว่าที่จะไม่มีกำหนดเวลา”


นายแพทย์บลาชกีกล่าวว่า สำหรับคนที่ทำงานจากบ้าน การสามารถแยกชีวิตส่วนตัวกับชีวิตทำงานได้เป็นสิ่งสำคัญมาก
หลายคนทำงานจากที่บ้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่ความเสี่ยงคือมันอาจกลายเป็นเหมือนคุณใช้ชีวิตอยู่ในที่ทำงาน งานจะคืบคลานเข้ามาในชีวิตคุณในรูปของอีเมล และคุณรู้สึกว่าไม่ได้หยุดพัก สิ่งที่ผมทำและแนะนำคือ คุณต้องสร้างขอบเขตที่ชัดเจนว่าเวลาไหนคือเวลาทำงานและเวลาไหนคือเวลาพักผ่อน
แพทย์หญิงคาแวแนตต์กล่าวว่า การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่สำคัญมากในระหว่างการล็อกดาวน์ ไม่ใช่แค่เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นของคุณ แต่ยังเพื่อสุขภาพจิตใจที่ดีขึ้นด้วย

“เราทราบว่าการออกกำลังกายนั้นมีผลที่ดีต่อสุขภาพจิตใจ และมันเป็นหนึ่งในสิ่งที่คุณควรทำ หากคุณยังไม่เคยทำมาก่อน ควรเริ่มทำ หาวิธีที่ที่คุณสามารถออกกำลังกายหรือมีส่วนร่วม และดูว่าสภาพจิตใจเป็นอย่างไรเมื่อออกกำลังกาย อะไรที่ทำให้คุณรู้สึกดี อะไรที่ชอบทำ การออกไปเดินหรือวิ่งเป็นหนึ่งในสิ่งที่คุณควรทำเป็นประจำ เพราะเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับสิ่งที่เคยเป็น มันยังเป็นประโยชน์ในการรักษาระดับเอ็นดอร์ฟินและรักษาสุขภาพจิตใจโดยรวม”

ศาสตราจารย์แคสแซนดรา โซเคอ (Cassandra Szoeke) กล่าวว่า ผลวิจัยชี้ว่าการออกกำลังกายทุกวันช่วยปรับปรุงสุขภาพร่างกาย

“สิ่งที่น่าสนใจในการทำวิจัยกว่า 30 ปี ที่เราคาดว่าการออกกำลังกายอย่างหนัก เช่น การไปยิม การว่ายน้ำ จะช่วยให้สุขภาพดีขึ้น เราพบว่าคนที่มีสุขภาพดีเช่นกัน คือคนที่ออกกำลังกาย 7 วันติดต่อกัน และไม่จำเป็นต้องเป็นการออกกำลังกายอย่างหนัก คนที่เดินทุกวันเป็นเวลา 45 นาทีถึง 1 ชั่วโมงมีสุขภาพดีเช่นกัน ตราบใดที่พวกเขาทำแบบนี้เป็นเวลา 7 วันต่ออาทิตย์ หากคุณไม่ได้ออกกำลังกายแบบที่คุณเคยทำ อย่าเครียด พยายามกระฉับกระเฉงทุกวันก็พอ”

healthy food
การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ช่วยรักษาสุขภาพ Source: Trang Doan /pexels


สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งคือการให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหาร นายแพทย์บลาชกีอธิบาย

“ในทางจิตวิทยา ใจของเราบอกว่า ชีวิตฉันถูกจำกัด แล้วฉันจะหาความสุขได้ที่ไหนล่ะ? ดังนั้นมันง่ายมากที่จะรับประทานมากเกินไป หรือหลายคนดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากในตอนนี้ ในขณะที่เรากำลังเครียด ทำบริเวณบ้านให้คุณสามารถตัดสินใจเลือกได้ดี อย่าซื้ออาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพไว้ในบ้าน”

คุณเซย์ กล่าวว่าการระบาดครั้งนี้ทำให้เธอตระหนักถึงหลายสิ่งที่เธอเคยมองข้ามไป เช่นการพูดคุยกับเพื่อนหรือการไปดูหนัง และมันยังทำให้เธอได้ใกล้ชิดกับคนที่เคยเป็นคนแปลกหน้าสำหรับเธออีกด้วย

“ฉันเคยไปยิมประจำ และมีหลายคนในยิมที่ฉันไม่เคยพูดคุยด้วย ในช่วงล็อกดาวน์ทุกคนต้องเข้าคลาสออนไลน์ และฉันได้เห็นหน้าและชื่อของพวกเขา ฉันรู้สึกว่า ฉันได้ใกล้ชิดกับพวกเขามากขึ้น ฉันรู้ว่าพวกเขาทำงานอะไร อะไรทำนองนี้”

คุณเซย์ยังออกกำลังกายทุกวันและเริ่มวาดภาพ ค้นพบสิ่งใหม่ในช่วงของการระบาด


คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand