สรุปการสำแดงสินค้าจากไทย: เลี่ยงค่าปรับนับแสนเหรียญหรือจำคุกถึงสิบปี

Image of fermented fish called "Pla Ra" in plastic bags

ปลาร้า "Pla Ra" or fermented fish Source: Heinrich Damm via Wikimedia Commons/CC BY 2.0

EXCLUSIVE: เรามีสรุปที่จะช่วยให้ท่านคลายความวิตกกังวลในทุกๆ ครั้งที่เดินทางจากประเทศไทยสู่ออสเตรเลีย เพราะกฎต่างๆ ของการผ่านเข้าประเทศออสเตรเลียนั้นเข้มงวดเป็นอย่างยิ่งในเรื่องการกักกันวัสดุซึ่งอาจมีเชื้อโรคหรือพาหะของโรคแอบแฝงอยู่


กดปุ่ม (▶) ด้านบนเพื่อฟังการพูดคุยรายละเอียดเรื่องนี้อย่างสนุกสนานเป็นภาษาไทย (19 นาที)

เรื่องราวนี้ในฉบับภาษาอังกฤษ

‘Confiscated or destroyed’: Five things not to bring into Australia

สำหรับชาวไทย สินค้าไทยๆ นั้นช่างยั่วยวนใจให้ซื้อหา และก็น่านำติดตัวมาออสเตรเลียเป็นอย่างยิ่ง ทว่าการผ่านเข้าเมืองก็มีกฎที่เข้มงวดเป็นอย่างมากในเรื่องของการกักกันวัสดุต่างๆ ที่อาจมีเชื้อโรคหรือพาหะของโรคแอบแฝงอยู่

เอสบีเอส ไทย ได้จัดระเบียบหมวดหมู่สินค้าซึ่งเป็นที่นิยมอย่างสูงของชาวไทย และนำไปสอบถามเป็นกรณีพิเศษกับหัวหน้าการปฏิบัติการเกี่ยวกับความปลอดภัยทางชีวภาพแห่งกระทรวงเกษตรและทรัพยากรน้ำของสหพันธรัฐฯ คุณนิโค พาโดแวน (Nico Padovan, Head of Biosecurity Operations at the Department of Agriculture and Water Resources)  ว่าท่านจะต้องทำอย่างไรเกี่ยวกับสิ่งของอันเป็นที่โปรดปรานของชุมชนไทยแต่ละประเภท

คุณนิโคชี้แจงกับเอสบีเอส ไทย ว่าในแต่ละปีนั้นประเทศออสเตรเลียรองรับผู้โดยสารทางอากาศจำนวนกว่า 100,000 คนและพัสดุไปรษณีย์จำนวนกว่า 500,000  ชิ้นจากประเทศไทย และการฝ่าฝืนกฎการกักกันทางชีวภาพนั้นอาจทำให้ท่านมีโทษปรับเป็นจำนวนเงินตั้งแต่ $420 ดอลลาร์ไปจนถึงหลายแสนดอลลาร์ หรือโทษจำคุกได้สูงสุดถึงสิบปี
“การฝ่าฝืนกฎการกักกันทางชีวภาพนั้นอาจทำให้ท่านมีโทษปรับเป็นจำนวนเงินตั้งแต่ $420 ดอลลาร์ไปจนถึงหลายแสนดอลลาร์ หรือโทษจำคุกได้สูงสุดถึงสิบปี”
หากอ้างอิงจากเว็บไซต์ของกระทรวงเกษตรและทรัพยากรน้ำ ออสเตรเลียเป็นหนึ่งในประเทศเพียงไม่กี่ประเทศทั่วโลกในปัจจุบันซึ่งยังเข้าข่ายว่าปลอดจากสัตว์ไม่พึงประสงค์ตลอดจนโรคของพืชและสัตว์ที่รุนแรง เนื่องจากสภาพทางภูมิศาสตร์อันเป็นเกาะตั้งอยู่ห่างไกล โดยออสเตรเลียมีมูลค่าการส่งออกจากอุตสาหกรรมการเกษตรที่สูงถึง $32 พันล้านดอลลาร์ นอกจากนั้นแล้วสิ่งแวดล้อมของประเทศก็ยังมีลักษณะที่เฉพาะตัว ไม่ว่าจะในแง่ของสัตว์พื้นเมือง พืชพื้นเมือง อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และวิถีชีวิตที่ไม่เหมือนใครของชาวออสเตรเลีย ทำให้ทางกระทรวงฯ นั้นมีความรับผิดชอบต่อชายแดนที่มีความยาวถึง 60,000 กิโลเมตร ซึ่งหากเทียบกันแล้ว ก็เป็นระยะทางที่มากกว่าเส้นรอบวงของโลกถึง 1.5 เท่า

สำหรับชาวไทย โดยส่วนใหญ่แล้วก็มักจะเดินทางมาถึงออสเตรเลียที่สนามบินต่างๆ เรามาดูกันว่าคุณนิโค พาโดแวนมีคำแนะนำให้กับเอสบีเอส ไทยเป็นพิเศษ เกี่ยวกับสินค้ายอดนิยมต่างๆ ของคนไทยอย่างไร

กลุ่มที่ 1 อาหารทะเลต่างๆ: ปลาและผลิตภัณฑ์จากปลา รวมถึงเนื้อปลา ปลาหมึก กุ้ง ไม่ว่าจะสด หรือแห้ง (มักจะบรรจุพลาสติก)ผลิตภัณฑ์จากการหมักเช่นปลาร้า น้ำปลาหรือกะปิ

ต้องสำแดงในทุกกรณี ทั้งนี้หากเป็นสินค้าที่ผ่านกระบวนการและบรรจุเพื่อการค้าก็จะมีความเสี่ยงที่ต่ำกว่า ในการผ่านพรมแดน

“ตัวอย่างของปัญหาที่อาจเกิดขึ้นเช่นเมื่อไม่นานมานี้ มีการระบาดของไวรัสจุดขาวในกุ้ง (White Spot Virus) ในบริเวณพื้นที่รอบๆ แม่น้ำโลแกนของรัฐควีนส์แลนด์ ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับฟาร์มเลี้ยงกุ้งในพื้นที่ดังกล่าว” คุณนิโค พาโดแวนเล่า
Image of fermented fish
ปลาร้า (Image source: Heinrich Damm via Wikimedia Commons/CC BY 2.0) Source: Image source: Heinrich Damm via Wikimedia Commons/CC BY 2.0
กลุ่มที่ 2 เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์:รวมถึงเนื้อสัตว์แห้ง หรือฝอย

ต้องสำแดงในทุกกรณี โดยจะขึ้นอยู่กับว่าเนื้อสัตว์เช่นเนื้อหมูหรือเนื้อวัวนั้น ได้ผ่านกระบวนการเช่นไรมาแล้วบ้าง หากผ่านกระบวนการที่เหมาะสมแล้วก็อาจผ่านเข้าประเทศได้ และเชื้อโรคซึ่งแฝงมากับเนื้อสัตว์ต่างๆ นั้น ถึงแม้ว่าจะรับประทานไปแล้ว เศษอาหารที่ทิ้งเป็นขยะ ก็ยังสามารถแพร่กระจายเชื้อโรค และอาจติดต่อไปยังวัวหรือหมูในประเทศออสเตรเลียได้ในที่สุด
Image of fragrant pork floss
หมูหยอง (Image source: Eddie Khoo via Wikimedia Commons/CC BY-SA 3.0) Source: Eddie Khoo via Wikimedia Commons/CC BY-SA 3.0
กลุ่มที่ 3 พืช:เมล็ดพันธุ์พืช หน่อ ต้นอ่อน กิ่งก้าน ใบ หรือราก รวมถึงเมล็ดข้าวหรือธัญพืช

คุณนิโคย้ำว่าต้องสำแดง ในทุกกรณี เนื่องจากเป็นกลุ่มซี่งมีความเสี่ยงสูงที่จะมีสิ่งมีชีวิตหรือเชื้อโรคอันไม่พึงประสงค์ซึ่งอาจไม่สามารถผ่านเข้าเมืองได้ในหลายๆ กรณี โดยเมื่อเร็วๆ นี้มีการระบาดของแมลงวันผลไม้ไปยังหลายพื้นที่ของประเทศซึ่งไม่เคยพบแมลงวันผลไม้มาก่อน และยกตัวอย่างว่าเพียงแค่อุตสาหกรรมการปลูกแอปเปิลของประเทศออสเตรเลียนั้นก็มีมูลค่าสูงถึง 500 ล้านดอลลาร์ต่อปี
“แค่อุตสาหกรรมการปลูกแอปเปิลของประเทศออสเตรเลียนั้นก็มีมูลค่าสูงถึง 500 ล้านดอลลาร์ต่อปี” คุณนิโค พาโดแวนกล่าวกับ เอสบีเอส ไทย"
สำหรับเมล็ดพันธุ์พืชนั้น ท่านไม่สามารถนำเข้าประเทศได้ด้วยตนเอง เนื่องจากมีขั้นตอนพิเศษในการนำเข้าเมล็ดพันธุ์พืชโดยผ่านทางสถานที่กักกันพิเศษที่นครเมลเบิร์น (Post Entry Quarantine Facilities) เพื่อเป็นการป้องกันเชื้อโรค และการนำเข้าจะต้องทำอย่างเป็นกิจจะลักษณะทางการค้าเท่านั้น ตัวอย่างของโรคซึ่งแฝงมากับเมล็ดพันธุ์พืชหรือเมล็ดธัญพืชที่สร้างความเสียหายได้ร้ายแรงเป็นวงกว้างได้แก่โรคคาร์นัล บันต์ (Karnal bunt) ซึ่งเกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่ง (Tilletia indica)
Image of bamboo shoots
หน่อไม้ (Image source: Pixabay) Source: Pixabay
“หากไม่แน่ใจให้ตรวจสอบที่เว็บไซต์ของกระทรวงฯ หรือ โทร. ถาม ที่หมายเลข 1800 900 090 ก่อน”
กลุ่มที่ 4 ผลไม้: ผลไม้สด แห้ง มะขาม น้ำมะขาม มะขามสกัด ผลไม้ดอง ผลไม้กระป๋อง ผลไม้เชื่อม ผลไม้อัดแผ่น อัดแท่งหรือผลไม้กวน

คุณนิโคกล่าวว่าต้องสำแดงทุกกรณีเช่นเดียวกัน เนื่องจากผลไม้นั้นมีสัตว์หรือโรคที่ไม่พึงประสงค์แฝงอยู่ และอาจแพร่ออกสู่พื้นที่การปลูกพืชไม่ว่าจะในครัวเรือนหรือทางการค้าได้โดยตรงและง่ายดายเป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่นการระบาดของโรคแคงเกอร์ในพืชตระกูลส้มที่ทางตอนเหนือของรัฐควีนส์แลนด์ ที่ทำให้สูญสิ้นทรัพยากร และแรงงานในการควบคุมโรคซึ่งเป็นไปอย่างยากลำบาก
Image of a durian
ทุเรียน (Image source: Pixabay) Source: Pixabay
กลุ่ม 5 แมลง:แมลงทอด หนอนทอด ไข่มดแดงหรือตัวอ่อนของมดแดงไม่ว่าจะสดหรือบรรจุกระป๋อง

ต้องสำแดง แต่หากผ่านกระบวนการปรุงที่เหมาะสมแล้วก็อาจสามารถนำเข้าได้ โดยเฉพาะเมื่อผ่านกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมมาแล้ว

คุณนิโคอธิบายว่าขณะนี้ประเทศออสเตรเลียเผชิญกับมดแดงไฟต่างถิ่น (Red imported fire ants ) ที่เข้ามาตั้งรกรากและแพร่พันธุ์ โดยต้องใช้เงินในการกำจัดเป็นจำนวนหลายร้อยล้านดอลลาร์ อีกทั้งยังมีปัญหากับมดเหลือง (Yellow ants) และมดไฟฟ้า (Electric ants) ในพื้นที่ทางตอนเหนือของออสเตรเลีย
Image of fried insects
แมลงทอด (Image source: Vijinathkv via Wikimedia Commons/CC BY-SA 3.0) Source: Vijinathkv via Wikimedia Commons CC BY-SA 3.0
กลุ่ม 6 เครื่องปรุงต่างๆ: พริกป่น น้ำพริก ส่วนผผสมจากสมุนไพร น้ำมันต่างๆ ส่วนผสมจากสัตว์ (เช่น หมู ปลา หรือกุ้ง) ผงปรุงรสต่างๆ

ต้องสำแดง โดยกลุ่มนี้มักเป็นปัญหาเนื่องจากไม่สามารถทำการพิสูจน์ทราบได้เลยว่า จริงๆ แล้วส่วนผสมของเครื่องปรุงต่างๆ นั้นประกอบด้วยอะไรบ้าง อาจจะฟังดูแล้วน่าเสียดาย แต่คุณนิโคเน้นย้ำว่า “เครื่องปรุงซึ่งทำเองที่บ้านนั้นจะมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกห้ามนำเข้าประเทศ เมื่อเทียบกับเครื่องปรุงที่ผ่านกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม” หากเครื่องปรุงมีฉลากทางการค้าซึ่งระบุส่วนประกอบโดยละเอียด การจะได้รับอนุญาตให้นำเข้าก็จะขึ้นอยู่กับส่วนผสมของเครื่องปรุงนั้นๆ
“เครื่องปรุงซึ่งทำเองที่บ้านนั้นจะมีความเสี่ยงสูงกว่าที่จะถูกห้ามเข้าประเทศ เมื่อเทียบกับเครื่องปรุงที่ผ่านกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม”
กลุ่ม 7 เครื่องครัว: ครกและสาก เครื่องจักสานต่างๆ กระติ๊บ หวดนึ่งข้าวเหนียว

ต้องสำแดง เนื่องจากอาจมีสัตว์ไม่พึงประสงค์ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า บางกรณีผู้เข้าเมืองสามารถเลือกที่จะใช้บริการเอกชนเพื่อกำจัดสัตว์ไม่พึงประสงค์ได้ แต่กระบวนการดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่หลักหลายร้อยดอลลาร์ และวัสดุที่ผ่านกระบวนการแล้วก็อาจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยสิ้นเชิงในบางกรณี นอกจากนั้นท่านก็จะไม่สามารถนำวัสดุต่างๆ ติดตัวออกออกจากสนามบินไปกับท่านได้โดยทันที
Image of traditional Southeast-Asian rice steamers
หวดนึ่งข้าวเหนียว (Image source: Feral Arts via Wikimedia Commons/CC BY 2.0) Source: Feral Arts via Wikimedia Commons/CC BY 2.0
ตรวจสอบการนำสิ่งต่างๆ เข้าประเทศออสเตรเลียที่เว็บไซต์  หรือโทร 1800 900 090

หากท่านต้องการใช้บริการล่ามแปลภาษา ให้โทรไปที่หมายเลข 13 14 50 แล้วค่อยให้ล่ามต่อสายของท่านไปยังหมายเลขของหน่วยงานด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ (1800 900 090)

กดปุ่ม (▶) ด้านบนเพื่อฟังการพูดคุยรายละเอียดเรื่องนี้อย่างสนุกสนานเป็นภาษาไทย (19 นาที)

ติดตามฟังรายการ เอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี เวลา 22.00 น.

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand