วิเคราะห์เลือกตั้ง 66 กับนักวิชาการไทยในออสเตรเลีย

Aim Sinpeng.jpg

Credit: Michelle_Macdonald

ดร. เอม สินเพ็ง อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยซิดนีย์วิเคราะห์จุดเด่นของการเลือกตั้งครั้งนี้ กระแสพรรคต่างๆ และบทบาทของเทคโนโลยีกับการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทย


ดร.เอม สินเพ็ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยซิดนีย์ พูดถึงการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทยที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม ศกนี้ ว่าทั้งคนไทยในประเทศไทยและคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศต่างตื่นตัวกับการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นอย่างมาก

“คิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้คนตื่นตัวกันมาก มีคนไปลงเลือกตั้งในต่างประเทศเยอะ เพราะมีข่าวว่าจะมีเลือกตั้งมานานพอสมควรเลยเหมือนจะมีการ build up ว่าจะมีเลือกตั้งแล้วนะ โดยเฉพาะในกลุ่มที่ได้เลือกตั้งเป็นครั้งแรก”

จุดเด่นการเลือกตั้งครั้งนี้

ดร.เอม เปิดเผยว่าการเลือกตั้งทุกครั้งมีความสำคัญเท่ากันหมด แค่ครั้งนี้อาจมีจุดเด่นในเรื่องจำนวนพรรคการเมืองที่มากขึ้น การกาบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และการแข่งขันด้านนโยบายของพรรคต่างๆ มากขึ้น
การเลือกตั้งครั้งนี้มีจุดเด่นคือมีพรรคการเมืองเพิ่มขึ้นหลายพรรค มีตัวเลือกมากขึ้น เรามีใบเลือกตั้ง 2 ใบ มีการคิดถึงเรื่องยุทธศาสตร์มากขึ้น และ split vote จะมีผลกระทบอย่างไร และก็มีความตื่นตัวเรื่องนโยบายมากขึ้น

กระแสพรรคไหนมาแรง

ดร.เอม ชี้ว่ากระแสโซเชียลมีส่วนทำให้บางพรรคมีความโดดเด่นขึ้นมาในช่วงก่อนเลือกตั้งในขณะที่บางพรรคที่เคยเป็นพรรคเดียวกันมาก่อนแต่มาแยกตัวในการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่การชูนโยบายที่คล้ายกันอาจทำให้คนไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่างสองพรรค
ใน 2-3 อาทิตย์ที่ผ่านมาก้าวไกลมาแรง กระแสโซเชียลสนับสนุนพรรคมากขึ้น อาจเป็นเรื่องของนโยบาย หรือผู้สมัครหลายคนดีเบตเก่งทำให้คนรู้สึกตื่นเต้น อาจเป็นแนวโน้มที่ดีของพรรค
Thai Elec กงสุลใหญ่ web.png
กงสุลใหญ่ประจำออสเตรเลียเชิญชวนคนไทยไปใช้สิทธิลงทะเบียนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร Source: Supplied, Pixabay / กงสุลซิดนีย์แจ้งลงทะเบียนขอเลือกตั้งนอกประเทศได้ถึงแค่ 9 เม.ย.

“พรรคอื่นๆ ที่น่าสนใจคือ พรรคพลังประชารัฐ กับรวมไทยสร้างชาติ เพราะว่าเคยอยู่ด้วยกันมากก่อนเลยไม่แน่ใจว่าฐานเสียงของใครจะไปทางไหนเรื่องจากนโยบายก็ใกล้เคียงกัน อาจมีคนไม่เข้าใจว่าแตกต่างกันยังไง”

The King Maker ตัวแปรสำคัญของการจัดตั้งรัฐบาล

ดร.เอม กล่าวว่าสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการเลือกตั้งที่ผ่านมาคือพรรคที่ได้คะแนนโหวตมากที่สุดอาจจะไม่ได้จัดตั้งรัฐบาลเสมอไป เพราะพรรคขนาดกลางและไม่เข้าข้างฝ่ายใดเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล อย่างเช่นพรรคภูมิใจไทย ไทยสร้างไทย ชาติพัฒนากล้า และประชาธิปัตย์
ตรงนี้น่าสนใจเพราะจำได้ว่าการเลือกตั้งคราวที่แล้ว พรรคภูมิใจไทยพูดก่อนเลยว่า พรรคเราเป็นพรรค king maker ถ้าเราไปข้างไหนพรรคนั้นจะได้เป็นรัฐบาล ซึ่งก็เกิดขึ้นจริงๆ

"ครั้งนี้มีพรรคที่เป็น king maker อยู่หลายพรรค ไม่แน่ใจว่าพรรคที่อยู่ตรงกลางจะตัดสินใจยังไง จะมี deal making อะไรเกิดขึ้น"

ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยในหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา

ดร.เอม ชี้ว่าการเมืองไทยมาการเปลี่ยนแปลงขนาดจุลภาคเกิดขึ้นตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา มันเป็นการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ แต่มีความสำคัญกับการเมืองไทย ทั้งในเรื่องนโยบาย และการมีประสบการณ์ทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ ประสบการณ์เหล่านี้ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และสร้างเสริมความเข้าใจทางการเมืองของประชาชนมากขึ้น 
คนไทยเริ่มสนใจนโยบายมากขึ้น หลายพรรคตั้งใจพูดนโยบายให้มีความแตกต่างไม่ใช่แค่พูดสโลแกน
 “และการที่เรามีเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีความตื่นตัวทางการเมือง ได้มีประสบการณ์โดยตรงหรือโดยอ้อมทางการเมือง เช่นการเรียกร้อง การประท้วง ประท้วงทางอินเตอร์เน็ต มันสร้างเสริม ความรู้ความเข้าใจทางการเมืองมากขึ้น

การใช้เทคโนโลยีกับผลกระทบของการเลือกตั้ง

ดร. เอม สินเพ็ง อธิบายว่า การที่ประชาชนจำนวนมากเข้าถึงเทคโนโลยีทำให้พวกเขาเข้าถึงข้อมูล ข่าวสารทางการเมืองได้รวดเร็วและง่ายดายกว่าสมัยก่อน และทำให้คนรุ่นใหม่รับข้อมูลเหล่านี้เพื่อนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจว่าจะเลือกใครหรือพรรคใด

 “ประเทศไทยมีคนเข้าถึงสื่อโซเชียลและอินเตอร์เน็ตมากกว่า 75 เปอร์เซนต์ของประชากร มันเป็นการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างใหญ่ เป็น structure change”
“การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีกับการเมืองจะเห็นได้ชัดจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว เพราะมันเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พรรคอนาคตใหม่ได้คะแนนเสียงเยอะ โดยเฉพาะฐานเสียงที่มาจาก Twitter และการเข้าถึงเทคโนโลยีทำให้คนในประเทศได้รับข่าวสาร ได้คิด ได้ตัดสินใจว่าจะโหวตให้ใครมันก็อาจขึ้นอยู่กับสิ่งที่เขาอ่าน หรือสิ่งที่ถกเถียงกันในโซเชียล”

การเมืองกับคนรุ่นใหม่

ดร.เอม วิเคราห์ว่าการที่คนรุ่นใหม่ได้เข้ามามีประสบการณ์ทางการเมืองไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมมากขึ้นซึ่งต่างจากคนรุ่นก่อนที่อาจไม่ได้มีประสบการณ์เข้าร่วมทางการเมืองบ่อยครั้งนัก ประสบการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันระหว่างคนสองรุ่นอาจส่งผลให้ชุดความคิดในเรื่องการเมืองต่างกัน

“การที่คนรุ่นใหม่ได้ take action ทางการเมืองไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม มันเป็นประสบการณ์การทำกิจกรรมทางการเมืองที่แตกต่างจากสมัยก่อน ซึ่งสมัยก่อนเราต้องลงไปทำแบบ face to face แต่สมัยนี้เราสามารถทำกิจกรรมการเมืองอยู่กับบ้านได้ เราเป็น anonymous ไม่มีใครรู้ว่าเราเป็นใครก็ได้”

“ประสบการณ์เหล่านี้ทำให้เรารู้ว่าเราเป็นใคร มีอุมการณ์อย่างไร เราต้องการอะไรกับประเทศ ถ้าเทียบกับรุ่นพ่อแม่เค้าอาจไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง นอกเหนือไปจากการเลือกตั้งซึ่งนานๆ มีที มันเป็นประสบการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า”

อนาคตการเมืองประเทศไทยหลังเลือกตั้ง

ดร.เอม มองว่าการเติบโตของการเมืองและประชาธิปไตยในไทยขึ้นอยู่กับกระบวนการเลือกตั้งว่าจะยุติธรรมเพียงใด และประชาชนจะยอมรับผลการเลือกตั้งนั้นได้หรือไม่ ไม่ว่าพรรคที่ตนเลือกอาจไม่ได้จัดตั้งรัฐบาลก็ตาม
ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นยังไงขึ้นอยู่กับว่าประชาชนจะยอมรับผลการเลือกตั้งที่ยุติธรรมได้แค่ไหนแม้ว่าพรรคที่ตนเลือกจะแพ้ จุดนี้เป็นจุดสำคัญที่จะทดสอบคนรุ่นใหม่ด้วยว่า ถ้าพรรค progressive ไม่ได้เป็นรัฐบาลแล้วการเลือกตั้งมันไม่มีปัญหา เป็นไปค่อนข้างราบรื่นแล้วจะรับได้ไหม
 “จะเป็น Political maturity ที่คนรุ่นใหม่ต้องยอมรับแล้วเดินต่อไป ต้องเข้าใจว่าการเมืองไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว"


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์


บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่

Share
Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand