พิษโคโรนาทำนักเรียนต่างชาติตกงาน เสี่ยงไม่มีที่อยู่

international students rental issues

International students are facing many issues. Source: Getty Images

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาส่งผลกระทบต่อนักเรียนต่างชาติในออสเตรเลียเป็นจำนวนมาก พวกเขาสูญเสียงานและอาจไม่มีที่พักอาศัย หลายรายไม่สามารถกลับประเทศของตนได้


กดปุ่ม 🔊ที่ภาพด้านบนเพื่อฟังรายงา

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาส่งผลกระทบต่อนักเรียนต่างชาติจำนวนมาก พวกเขาสูญเสียงานและอาจไม่มีที่พักอาศัย นักเรียนต่างชาติซึ่งเป็นผู้ถือวีซ่าชั่วคราวนั้นไม่เข้าข่ายที่จะได้รับความช่วยเหลือจากโครงการเงินสงเคราะห์ลูกจ้าง JobKeeker package มูลค่า หนึ่งแสนสามหมื่นล้านดอลลาร์ และพวกเขายังไม่ได้รับการปกป้องในโครงการช่วยเหลือผู้เช่าบ้านอีกด้วย

ผลกระทบจากพิษไวรัสโคโรนาต่อนักเรียนต่างชาติ

นักเรียนต่างชาติจำนวน 565,000 คน ในออสเตรเลียส่วนใหญ่ทำงานในอุตสาหกรรมการบริการและร้านค้าปลีก ซึ่งเป็นภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดนี้อย่างมาก ตัวอย่างเช่น คุณ แอนเดรีย อันดราเด วัย 21 ปี นักศึกษาจากประเทศอิตาลี ซึ่งอาศัยในประเทศออสเตรเลียมาตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว และจากผลของมาตรการที่บังคับใช้เพื่อจำกัดการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนา ตอนนี้สถานการณ์ของเธอก็คล้ายกับนักเรียนต่างชาติคนอื่นๆ คือ เธอตกงานและเมื่อปราศจากความมั่นคงด้านการเงิน เธอเกิดความกลัวว่าเธออาจจะต้องไร้ที่อยู่อาศัย  เธอกล่าวว่า

“ฉันไม่สามารถจ่ายค่าเช่าบ้าน ไม่สามารถซื้ออาหารได้ เราพยายามที่จะเจรจากับเจ้าของบ้านแต่พวกเขาไม่สามารถช่วยเหลือพวกเราได้" 

 นักเรียนต่างชาติไม่สามารถกลับประเทศได้

เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว นายสกอต มอริสสัน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าถ้านักเรียนต่างชาติไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ในการอาศัยในออสเตรเลีย พวกเขาควรจะกลับบ้าน แต่นักเรียนต่างชาติจำนวนมากไม่สามารถกลับประเทศของพวกเขาได้ คุณ นิค ฮานนา ทนายความชี้ว่า

“นักเรียนต่างชาติจำนวนมากไม่สามารถที่จะกลับบ้านได้ ตัวอย่างเช่น เรามีนักเรียนต่างชาติจากประเทศโคลัมเบียจำนวนมากในออสเตรเลีย ซึ่งตอนนี้ประเทศโคลัมเบียปิดพรมแดนไม่ให้แม้แต่พลเมืองของพวกเขากลับเข้าประเทศ และทำให้นักเรียนเหล่านี้ต้องติดอยู่ที่ออสเตรเลีย ผมได้พูดคุยกับนักเรียนต่างชาติจำนวนมากที่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่พวกเขาอาจจะไม่มีที่อยู่อาศัยในเวลาอันใกล้นี้"

ส่วน คุณ วิคกี้ ควิน นักศึกษาคณะเศรษฐศาตร์วัย 22 ปี เปิดเผยว่า เที่ยวบินที่จะกลับไปประเทศจีนนั้นมีจำกัดและมีราคาแพงอีกด้วย เธอเกรงว่าหากเธอกลับบ้าน เธออาจจะไม่สามารถกลับมาที่ออสเตรเลียเพื่อศึกษาต่อจนจบได้  เธอกล่าวว่า

 “ถ้าฉันกลับไปยังประเทศจีน และยังคงมีมาตรการการห้ามการเดินทางเข้าออก ฉันอาจจะไม่สามารถกลับมาเรียนในเทอม 2 ได้ และนั่นมันหมายถึงว่าทุกอย่างที่ฉันวางแผนเอาไว้ต้องพังทลาย”

 เสียงเรียกร้องให้ช่วยเหลือนักเรียนต่างชาติ

อุตสาหกรรมการศึกษาแก่นักเรียนต่างชาติเป็นอุตสาหกรรมส่งออกที่มีมูลค่ามากที่สุดเป็นอันดับ 3  ของออสเตรเลีย ซึ่งในแต่ละปีทำเงินเป็นมากกว่า 32,000 ล้านดอลลาร์แก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งเกิดการจ้างงานซึ่งนักเรียนเหล่านี้สามารถทำงานได้ถึง 40 ชั่วโมงในระหว่าง 2 อาทิตย์ และพวกเขายังต้องเสียภาษีให้รัฐอีกด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คริส ไรท์ ชี้ว่า ประเทศออสเตรเลียนั้นพึ่งพิงต่อภาคเศรษฐกิจการศึกษาเป็นอย่างมาก แต่ดูเหมือนว่าออสเตรเลียรู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้ติดค้างหรือมีหนี้บุญคุณอะไรกับนักเรียนเหล่านี้เลย  เขากล่าวว่า

“ผู้ย้ายถิ่นชั่วคราวเหล่านี้ได้รับการช่วยเหลือน้อยมาก และเมื่อพวกเขาได้รับความลำบากจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ รัฐบาลก็บอกว่าให้พวกเขากลับบ้านเสีย”

ด้านนาย แดน ทีฮาน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า เขาตระหนักว่าการระบาดของไวรัสจะส่งผลกระทบต่อนักเรียนต่างชาติ เขากล่าวต่อไปว่า ใครที่อาศัยอยู่ที่นี่มากกว่า 12 เดือนจะสามารถนำเงินกองทุนเกษียณของตนหรือเงินซูเปอร์แรนูเอชัน (Australian superannuation) ออกมาใช้ได้  แต่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าปัญหาการเอารัดเอาเปรียบนักเรียนต่างชาติซึ่งเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานานนั้นทำให้นักเรียนต่างชาติจำนวนมากไม่ได้รับการจ่ายซุปเปอร์แรนูเอชั่น


ส่วนเทศบาลนครเมลเบิร์นได้อนุมัติให้มีการร่างมาตรการเพื่อช่วยเหลือนักเรียนต่างชาติเหล่านี้ ส่วนมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้เสนอความช่วยเหลือทางด้านการเงิน รวมถึงการช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยและค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตบางส่วน รวมทั้งการให้ผ่อนผันค่าเล่าเรียนเป็นต้น แต่ทางมหาวิทยาลัยต่างก็ตระหนักว่านักเรียนต่างชาติยังต้องการความช่วยเหลือในด้านอื่นๆ อีกหลายด้าน ดังนั้นจึงต้องหาทางทำงานร่วมกับรัฐบาลเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้

คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand