เตือนพ่อแม่ให้ระวังลูกป่วยเป็นไข้กาฬหลังแอ่น

MENINGOCOCCAL B VACCINATION PRESSER

โรคไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal Disease) เป็นโรคที่อันตรายสำหรับเด็กเล็ก Source: AAP / DAVID MARIUZ/AAPIMAGE

มีคำเตือนให้พ่อแม่คอยสังเกตอาการโรคไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal Disease) ที่ถึงตายได้ในเวลาอันรวดเร็ว โรคนี้พบได้ในเด็กเล็กและเด็กวัยรุ่น และกำลังมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในออสเตรเลีย


ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเตือนประชาชนให้ระวังและคอยสังเกตสัญญาณและอาการของโรคไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal Disease)

มีการแจ้งเตือนประชาชนให้ระวังหลังจากจำนวนผู้ป่วยในออสเตรเลียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้น 49 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

คุณโอลิเวีย คิมเบิล คุณแม่ลูกสองจากย่านวิลตัน ชานเมืองซิดนีย์ กล่าวว่า ออสการ์ ลูกชายของเธอได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไข้กาฬหลังแอ่น ตอนอายุสิบเดือน

เธอเล่าว่า ตอนนั้นเธอไม่รู้เลยว่า ลูกชายติดเชื้อ

"ประมาณสามทุ่มครึ่งในคืนหนึ่ง ฉันได้ยินเสียงเหมือนลูกอาเจียนครั้งใหญ่และเขาก็มีไข้สูง ฉันรู้ว่าต้องมีบางอย่างผิดปกติแน่ ๆ สามีของฉันจึงอยู่กับลูกสาวที่บ้าน แล้วฉันก็พาออสการ์ไปโรงพยาบาลเพราะดูเหมือนมีบางอย่างผิดปกติ ที่โรงพยาบาลออสการ์มีหน้ากากอ็อกซิเจนเล็ก ๆ ครอบหน้า และมีเครื่องต่าง ๆ มากมายเชื่อมต่อกับร่างกายของเขา และพวกเขาก็เริ่มการรักษาออสการ์จากการป่วยเป็นโรคไข้กาฬหลังแอ่น" คุณคิมเบิล เล่าประสบการณ์

โรคไข้กาฬหลังแอ่นเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งปกติแล้วเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แต่สามารถทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการหนักได้อย่างรวดเร็ว และอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนระยะยาวได้ หากไม่ได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่เนิ่น ๆ
temperature-g6e8cb58db_1920.jpg
โรคไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal Disease) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งปกติแล้วเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แต่สามารถทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการหนักได้อย่างรวดเร็ว Source: Pixabay
เมื่อมองย้อนกลับไป คุณคิมเบิลได้แต่เสียใจว่า เธอน่าจะรู้ถึงอาการของโรคนี้มากกว่านี้ เมื่อลูกชายของเธอเริ่มมีอาการป่วย

"ฉันเคยเห็นเกี่ยวกับโรคนี้ในข่าว แต่ฉันก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรมากนัก คงเพราะมันมักเป็นสิ่งที่เราคิดว่า เรื่องแบบนั้นมันคงไม่เกิดกับเราหรอก ดังนั้นแม้ตอนแรกพวกเขาจะบอกว่าจะตรวจดูว่าลูกเป็นโรคนี้หรือเปล่า พวกเราก็ไม่ได้วิตกอะไรนัก เพราะคิดว่ามันคงไม่เกิดกับเรา คงเป็นเพราะไม่มีใครเคยพูดถึงโรคนี้ มันเป็นโรคที่เราเห็นในข่าวบางครั้งบางคราว และมันก็ไม่ใช่โรคที่เราเฝ้าระวัง" คุณคิมเบิล กล่าว
ฉันเคยเห็นเกี่ยวกับโรคนี้ในข่าว แต่ฉันก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรมากนัก คงเพราะมันมักเป็นสิ่งที่เราคิดว่า เรื่องแบบนั้นมันคงไม่เกิดกับเราหรอก
คุณ โอลิเวีย คิมเบิล ที่มีลูกชายวัยสิบเดือนป่วยเป็นโรคไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal Disease)
ทุกคนมีความเสี่ยงเป็นโรคไข้กาฬหลังแอ่นได้ แต่ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นพิเศษ ได้แก่ เด็กและทารกที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ เด็กวัยรุ่น และชนพื้นเมืองของออสเตรเลีย

หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว เช่น สูญเสียแขนขาหรืออาจเสียชีวิตได้

นั่นเป็นเหตุผลที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพสนับสนุนให้ผู้คนได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal Disease)

ศาสตราจารย์ โรเบิร์ต บอย (Robert Booy) เป็นกุมารแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ อธิบายถึงอาการของโรคนี้ในระยะแรกว่า

"อาการที่ต้องระวังนั้นเริ่มจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เจ็บคอ แต่ต่อมาจะเริ่มมีอาการมากขึ้นเฉพาะที่คือ รู้สึกว่ามือและเท้าเย็น ผิวหนังดูเป็นจุด ๆ และอาจมีผื่นขึ้นบนผิวหนังเป็นผื่นสีม่วงเม็ดเล็ก ๆ ซึ่งอาจลามไปถึงมือ เท้า ใบหน้า จากนั้นจะมีอาการช็อก รู้สึกสับสน และปัสสาวะน้อยลง จากนั้นเมื่อมีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ก็จะปวดหัวอย่างรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน และการรู้สึกตัวลดน้อยลง" ศ.บอย กล่าว
เริ่มจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เจ็บคอ ต่อมาจะเริ่มมีอาการเฉพาะที่คือ รู้สึกว่ามือและเท้าเย็น ผิวหนังดูเป็นจุด ๆ และอาจมีผื่นขึ้นบนผิวหนังเป็นผื่นสีม่วงเม็ดเล็ก ๆ จากนั้นจะมีอาการช็อก รู้สึกสับสน
ศ.โรเบิร์ต บอย กุมารแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ
ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขของรัฐบาลสหพันธรัฐระบุว่า จนถึงขณะนี้มีผู้ป่วยโรคไข้กาฬหลังแอ่นในออสเตรเลียแล้ว 67 รายในปีนี้

ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (2022) มีผู้ป่วยโรคไข้กาฬหลังแอ่น 45 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้น 49 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้
health-g3c9045bfe_1920.jpg
วัยรุ่นเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่เสี่ยงเป็นโรคไข้กาฬหลังแอ่น เช่นเดียวกับเด็กและทารกที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ และชนพื้นเมืองของออสเตรเลีย Source: Pixabay
ศ.บอย กล่าวว่า ผู้คนจากชุมชนหลากหลายวัฒนธรรมมีความเสี่ยงต่อโรคนี้เป็นพิเศษ

"หากมีคนจำนวนมากอาศัยอยู่ในที่พักเดียวกัน ก็จะมีความเสี่ยงมากขึ้นในการแพร่เชื้อสู่กันและกัน ครอบครัวหลากวัฒนธรรมจึงมีความเสี่ยงสูงกว่า ตัวอย่างคือชุมชนมุสลิม ซึ่งมีหลายครั้งที่โรคไข้กาฬหลังแอ่นแพร่กระจายในช่วงพิธีฮัจญ์ ซึ่งเป็นการแสวงบุญทางศาสนาประจำปีของชาวมุสลิม และไม่เพียงแต่สามารถทำให้เกิดการระบาดในเมืองเมกกะในซาอุดีอาระเบียเท่านั้น ผู้คนยังสามารถนำเชื้อโรคกลับมาด้วย และแพร่เชื้อต่อไปยังเด็กและวัยรุ่นในออสเตรเลียได้" ศ.บอย กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ กล่าว

ไข้กาฬหลังแอ่นเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งหมายความว่าสามารถติดต่อกันได้ ด้วยการแพร่เชื้อจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง ผ่านการพบปะกันโดยตรงอย่างใกล้ชิด

คุณคาเรน ควิก ผู้บริหารของศูนย์เยื่อหุ้มสมองอักเสบแห่งออสเตรเลีย กล่าวว่า ผู้คนจำนวนมากไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตนเองกำลังเป็นพาหะแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น

"ผู้คนจำนวนมาก ราวร้อยละ 20 ของประชากรมีเชื้อแบคทีเรียอยู่ที่ภายในจมูกหรือลำคอโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นมันจึงแพร่กระจายผ่านละอองน้ำมูกหรือละอองน้ำลายจากจมูกหรือปากของเรา จากนั้นมันก็เข้าสู่กระแสเลือดและลุกลาม ซึ่งนั่นเป็นช่วงที่ก่อให้เกิดปัญหา" คุณคาเรน ควิก จาก ศูนย์เยื่อหุ้มสมองอักเสบแห่งออสเตรเลีย อธิบาย
มันแพร่กระจายผ่านละอองน้ำมูกหรือละอองน้ำลายจากจมูกหรือปากของเรา จากนั้นมันก็เข้าสู่กระแสเลือดและลุกลาม
คุณคาเรน ควิก จาก ศูนย์เยื่อหุ้มสมองอักเสบแห่งออสเตรเลีย
การสำรวจพ่อแม่ 300 คนโดย G-S-K Australia พบว่า 74 เปอร์เซ็นต์ของพ่อแม่ไม่รู้เกี่ยวกับอาการเริ่มต้นของโรคไข้กาฬหลังแอ่น

การสำรวจยังชี้ด้วยว่า มีผู้ปกครองเพียง 44 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ทราบว่า โรคนี้สามารถส่งผลร้ายแรงได้

อาการเริ่มต้นของโรคไข้กาฬหลังแอ่นอาจถูกเข้าใจผิดว่าเป็นอาการของไข้หวัด ซึ่งคุณควิกเชื่อว่าการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาการของโรคไข้กาฬหลังแอ่นจึงสำคัญอย่างยิ่ง

"เป็นเรื่องสำคัญมากที่ผู้ปกครองจะต้องตระหนักอย่างแท้จริงถึงสัญญาณและอาการต่าง ๆ ของโรค เพราะนี่อาจส่งผลต่อความเป็นความตายได้ ตอนเช้าคุณอาจสบายดี แต่ต้องเข้าห้องไอซียูเพื่อจะยื้อชีวิตในตอนบ่าย สารของฉันถึงผู้ปกครองคือ ขอให้เชื่อสัญชาตญาณของคุณเอง ถ้าลูกของคุณมีอาการแย่ลงอย่างรวดเร็ว เพราะโรคนี้อาการทรุดลงรวดเร็วมาก ให้คุณรีบพาลูกไปพบแพทย์ ตรงไปที่แผนกฉุกเฉินเลยหากคุณสงสัยว่าเป็นโรคไข้กาฬหลังแอ่น เชื่อสัญชาตญาณของคุณเพื่อจะได้รับความช่วยเหลือทางการแพทย์ในทันที" คุณคาเรน ควิก จาก ศูนย์เยื่อหุ้มสมองอักเสบแห่งออสเตรเลีย ย้ำ
the-little-girl-gf42cffe09_1920.jpg
อาการเริ่มต้นของโรคไข้กาฬหลังแอ่นอาจถูกเข้าใจผิดว่าเป็นอาการของไข้หวัด แต่มีคำแนะนำถึงพ่อแม่ว่า ถ้าลูกอาการแย่ลงอย่างรวดเร็วและสงสัยว่าเป็นโรคไข้กาฬหลังแอ่น ให้รีบพาลูกไปแผนกฉุกเฉินที่โรงพยาบาลในทันที Source: Pixabay
ถ้าลูกของคุณมีอาการแย่ลงอย่างรวดเร็ว เพราะโรคนี้อาการทรุดลงรวดเร็วมาก ให้คุณรีบพาลูกไปพบแพทย์ ตรงไปที่แผนกฉุกเฉินหากคุณสงสัยว่าเป็นโรคไข้กาฬหลังแอ่น
คุณคาเรน ควิก จาก ศูนย์เยื่อหุ้มสมองอักเสบแห่งออสเตรเลีย
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand