วีซ่าเกษตรตัวใหม่ให้สัญญาจะแก้ไขการขาดแคลนแรงงาน แต่ถึงตอนนี้ก็ยังไปไม่ถึงไหน

โครงการวีซ่าเกษตรกรรมตัวใหม่ ซึ่งให้สัญญาว่าจะนำลูกจ้างหลายพันคนจากประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาทำงานในฟาร์มที่นี่ภายในคริสต์มาส แต่กลับพบความล่าช้าและเผชิญการบีบคั้นจากภายในรัฐบาลเอง

A fruit picker harvests oranges on a farm near Leeton, NSW.

A fruit picker harvests oranges on a farm near Leeton, NSW. Source: AAP

วีซ่าเกษตรกรรมใหม่ ที่สัญญาว่าจะนำลูกจ้างจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาทำงานฟาร์มในออสเตรเลียให้มากขึ้น โดยเคยแจ้งว่าพร้อมจะเริ่มโครงการในเดือนตุลาคม แต่สี่เดือนผ่านไป ก็ยังไม่มีแม้แต่ประเทศเดียวที่ลงนามเข้าร่วมในโครงการ

นายเดวิด ลิตเติลพราวด์ รัฐมนตรีด้านเกษตรกรรมของสหพันธรัฐ กล่าวว่า ความคืบหน้าของวีซ่าที่ประกาศไปเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ขณะนี้ขึ้นอยู่กับนางมารีส เพย์น รัฐมนตรีด้านการต่างประเทศของออสเตรเลีย

“ผมรู้สึกอัดอั้นใจเหลือเกิน เช่นเดียวกับเกษตรกรในออสเตรเลีย ทั้งๆ ที่เราพร้อมดำเนินเรื่องนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมแล้ว” เขากล่าวกับ เอสบีเอส นิวส์

"สิ่งที่เรากำลังรอคอยขณะนี้คือ รอให้มารีส เพย์น เจรจาทวิภาคีให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์"

รัฐบาลกล่าวว่า หากเจรจากันสำเร็จโครงการนี้จะเสนอให้แก่ 10 ประเทศสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ซึ่งรวมไปถึงประเทศไทย กัมพูชา บรูไน เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

ขณะนี้รัฐบาลออสเตรเลียกำลังเจรจากับสี่ประเทศ

จนถึงขณะนี้ อินโดนีเซียได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจแล้ว แต่ความคืบหน้าของอีกสามประเทศนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด

กระทรวงการต่างประเทศและพาณิชย์ของออสเตรเลีย (DFAT) บอกกับ เอสบีเอส นิวส์ ว่า กำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับ "ประเทศจำนวนไม่มากนักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" และรัฐบาลกลางกำลังตั้งเป้าที่จะบรรลุข้อตกลง "โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้"

“การเจรจาทวิภาคีกับอินโดนีเซียก้าวหน้าไปมาก” กระทรวงฯ ระบุในถ้อยแถลง
"การจะบรรลุข้อตกลงการเจรจาทวิภาคีขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศว่าจะยอมรับข้อตกลงที่ครอบคลุมพลเมืองของตนและมีความมั่นใจได้ว่าจะได้รับความคุ้มครองจากโครงการ"

เอสบีเอส นิวส์ ได้สอบถามไปยังสถานทูตหลายแห่ง ซึ่งกล่าวว่าพวกเขากำลังอยู่ระหว่างการหารือกับรัฐบาลออสเตรเลียอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีกำหนดเวลาสำหรับการตัดสินใจขั้นสุดท้าย

แต่ในช่วงแรกของโครงการจะมีลูกจ้างเข้าร่วมเพียงจำนวนไม่มากเท่านั้น

“การที่จะมีประเทศใดเข้าร่วมโครงการ จะต้องมีสิ่งที่เราเรียกว่าเป็นโครงการนำร่อง ที่จะนำลูกจ้างอาจจะเป็น 1,000, 2,000 หรือ 3,000 คนเข้ามา เพื่อจะพิสูจน์ว่าโครงการนี้ใช้การได้และมีมาตรการปกป้องลูกจ้างตามที่เราสัญญาไว้” นาย ลิตเติลพราวด์ รัฐมนตรีด้านเกษตรกรรมของสหพันธรัฐ กล่าว

แต่เรื่องนี้ก็เป็นชนวนสร้างความตึงเครียดภายในรัฐบาลระหว่างพวกลิเบอรัลส์ (Liberals) และพรรคเนชันแนลส์ (Nationals)

เอสบีเอส นิวส์ ได้พูดคุยกับ สส.พรรคเนชันแนลส์ผู้หนึ่งซึ่งกล่าวว่า โครงการนี้ไม่ได้รับการดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการเลือกตั้งระดับสหพันธรัฐใกล้เข้ามา

ความล่าช้าของโครงการนี้อาจทำให้ สส.ต่างๆ ในส่วนภูมิภาค กดดันผู้รับผิดชอบด้านนี้ในคณะรัฐบาลให้เร่งหาทางแก้ไข

'ระวังสิ่งที่คุณลงนามเพื่อเข้าร่วม'

ความกังวลหลักในหมู่ประเทศที่ได้รับการเสนอให้เข้าร่วมโครงการวีซ่านี้คือสวัสดิภาพของพลเมืองประเทศเหล่านั้น หลังมีการเปิดเผยสภาพการจ่ายค่าจ้างที่ต่ำมากในหมู่ลูกจ้างจากประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกที่ทำงานฟาร์มในออสเตรเลีย บางคนอ้างว่าได้รับค่าจ้างเพียง 100 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์เท่านั้น

สหภาพลูกจ้างแห่งออสเตรเลีย (Australian Workers Union หรือ AWU) ได้ติดต่อสถานทูตของประเทศอาเซียน (ASEAN) โดยตรงและส่งเสริมให้ประเทศเหล่านั้นอย่าลงนามเข้าร่วมในโครงการวีซ่าเกษตรกรรมนี้

“สารที่เราบอกกับพวกเขาคือ 'ระวังสิ่งที่คุณลงนามเพื่อเข้าร่วม'” นาย ดาเนียล วอลตัน เลขาธิการใหญ่ของ AWU กล่าว

"มันมีข้อจำกัดน้อยลง มีสิทธิ์ของลูกจ้างน้อยลง และสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ การปล่อยให้คนงานมากขึ้นถูกเอารัดเอาเปรียบ"

นายลิตเติลพราวด์ กล่าวว่าสหภาพแรงงานกำลังทำให้เกิดความเสี่ยงที่ข้อตกลงนี้อาจล้มเหลวได้

“ผมไม่อยากจะเชื่อเลยว่า สหภาพแรงงานไม่เพียงแต่จะบ่อนทำลายโครงการอย่างแท้จริง และยังได้ทำลาย ชื่อเสียงของฟาร์มในออสเตรเลีย และยังรวมถึงชื่อเสียงของออสเตรเลียด้วย” นายลิตเติลพราวด์ กล่าว

รัฐบาลกล่าวว่ามีมาตรการปกป้องลูกจ้างอย่างเพียงพอ

“เรากำลังเพิ่มบทลงโทษและเพิ่มกรอบการกำกับดูแลนายจ้างที่ได้รับการอนุมัติเข้าร่วมโครงการและบรรดาบริษัทจัดหาแรงงานด้วย” นายลิตเติลพราวด์ กล่าว

โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศและพาณิชย์ของออสเตรเลีย (DFAT) กล่าวว่า ข้อกำหนดขั้นต่ำสำหรับนายจ้างและมาตรการคุ้มครองลูกจ้างเป็นกุญแจสำคัญในการดำเนินโครงการนี้

“รัฐบาลมอร์ริสันจะไม่ยอมอ่อนข้อต่อการทุจริตด้านวีซ่า งานที่ผิดกฎหมาย การฉกฉวยหาประโยชน์จากลูกจ้าง หรือการจ่ายค่าจ้างต่ำกว่ามาตรฐานในทุกรูปแบบ” โฆษกกระทรวงระบุ
Cherry farmer Tom Eastlake said a lack of overseas and local workers, border closures and COVID-19 forced him to abandon stock.
Cherry farmer Tom Eastlake said a lack of overseas and local workers, border closures and COVID-19 forced him to abandon stock. Source: Supplied

'ถูกบีบให้ต้องปล่อยผลผลิตเน่าคาต้น'

ปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงานเป็นอุปสรรคอีกอย่างหนึ่งที่ภาคเกษตรกรรมที่กำลัง ความยากลำบากที่เกิดขึ้นทำให้เกษตรกรต้องปล่อยผลผลิตทิ้งไว้คาต้น

คุณทอม อีสต์เลค เกษตรกรผู้ปลูกเชอร์รี กล่าวว่า การขาดแรงงานจากต่างประเทศและแรงงานในพื้นที่ การปิดพรมแดน และโควิด-19 ส่งผลให้เขาต้องทิ้งผลผลิตไว้โดยไม่ได้เก็บไปขาย

“เราถูกบีบให้ต้องทิ้งผลผลิตไว้คาต้น 40-50 เปอร์เซ็นต์ เพียงเพราะเราไม่มีคนงานที่จะเก็บเชอร์รีเหล่านั้น” เขากล่าวกับ เอสบีเอส นิวส์

คุณ อีสต์เลค กล่าวว่าโครงการวีซ่า Pacific Australia Labour Mobility (PALM) ซึ่งคนงานส่วนใหญ่ทำงานตลอดทั้งปีนั้น ไม่เหมาะกับฟาร์มที่ปลูกพืชผลตามฤดูกาล ที่จะมีงานให้ทำเฉพาะไม่กี่เดือนต่อปีเท่านั้น

"โครงการลูกจ้างจากแปซิฟิกนั้นก็ดี โดยเฉพาะสำหรับบางอุตสาหกรรมที่สามารถดำเนินการได้ทั้งปีกับลูกจ้างประเภทดังกล่าว ซึ่งนั่นยอดเยี่ยมมาก" คุณ อีสต์เลค กล่าว

"แต่มีพืชสวนจำนวนมากที่ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้"

เขาหวังว่าจะพบวิธีแก้ปัญหานี้ได้ในไม่ช้า


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 



Share
Published 21 February 2022 3:47pm
By Krishani Dhanji
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS News


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand