ออสเตรเลียจะฉีดวัคซีนโควิดทั้งประเทศทันเดือน ต.ค.นี้หรือไม่

โครงการฉีดวัคซีนโควิดในออสเตรเลียส่อเค้าล่าช้า ท่ามกลางความขัดแย้งของการทำงานระหว่างรัฐบาลกลางและท้องถิ่น หวั่นกระทบกรอบเวลาฉีดวัคซีนทั้งประเทศปลายปีนี้

A nurse draws from a vial of Covid-19 vaccine at the Camp Hill Medical Centre n Brisbane on Monday, March 22, 2021.

A nurse draws from a vial of Covid-19 vaccine at the Camp Hill Medical Centre n Brisbane on Monday, March 22, 2021. Source: AAP

ประเด็นสำคัญ

  • เกิดความขัดแย้งในโครงการเปิดตัววัคซีนระหว่างรัฐบาลกลางและท้องถิ่น หลัง NSW-QLD แสดงความไม่พอใจกรณีถูกกล่าวหาว่ากักตุนวัคซีน
  • จำนวนประชาชนในออสเตรเลียที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วน้อยกว่า 8 แสนคน ไม่เป็นไปตามกรอบที่วางไว้ที่ 4 ล้านคนภายในสิ้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา
  • นักวิทย์วิเคราะห์ พบความเร็วในการจ่ายวัคซีนเริ่มได้จังหวะ หลังเริ่มเคลีย์ปัญหาเรื่องสต๊อกวัคซีนต่างประเทศ และสามารถผลิตในประเทศเองได้

การผลักดันการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ของออสเตรเลียในระยะแรกไม่ได้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ หลังเกิดความไม่ลงรอยกันระหว่างรัฐบาลสหพันธรัฐและรัฐบาลรัฐต่าง ๆ ระหว่างการเปิดตัววัคซีนในสัปดาห์นี้

เมื่อวันพุธที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา มุขมนตรีรัฐนิวเซาท์เวลส์และรัฐควีนส์แลนด์ ได้ออกมาตอบโต้ในกรณีข้อกล่าวหาการกักตุนวัคซีน ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นอีกครั้ง และการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีความล่าช้าในการเปิดตัววัคซีนในช่วงเริ่มต้น

จนถึงขณะนี้ มีผู้คนน้อยกว่า 8 แสนคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในออสเตรเลีย ซึ่งน้อยกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ในตอนแรก 4 ล้านคนภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ แต่อย่างไรก็ตาม นายเกร็ก ฮันท์ (Greg Hunt) รัฐมนตรีสาธารณสุขออสเตรเลีย กล่าวว่า ออสเตรเลียยังคงดำเนินการได้ตามเป้าหมาย ในการฉีดวัคซีนโดสแรกให้ครบทั้งประเทศภายในเดือนตุลาคมนี้

“เราไม่ได้เปลี่ยนกรอบเวลาใด ๆ เมื่อดูจากเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ เกี่ยวกับวัคซีน และหากต้องเปลี่ยนกรอบเวลา เราจะมีการระบุในส่วนนี้” นายฮันท์ กล่าว

แล้วเกิดอะไรขึ้นในการเปิดตัววัคซีนในออสเตรเลีย และประชาชนจะได้รับวัคซีนทันตามกรอบเวลาในตอนนี้หรือไม่

ปัญหาสต๊อกวัคซีนในต่างประเทศ

สหภาพยุโรปได้ระงับการส่งออกวัคซีนต้านไวรัสโคโรนาของแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) หลายแสนโดสมายังออสเตรเลีย หลังเกิดข้อถกเถียงในเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีน โดยระบุว่า วัคซีนจากผู้ผลิตรายดังกล่าวจะต้องมีประสิทธิภาพตามที่ระบุในสัญญาในประเทศกลุ่มแรกเสียก่อน

ศาสตราจารย์เบรนแดน เมอร์ฟี (Brendan Murphy) เลขาธิการหน่วยงานสาธารณสุขของออสเตรเลีย ได้แถลงต่อคณะวุฒิสภาพิจารณางบประมาณ โดยระบุว่า ออสเตรเลียได้พยายามหลายครั้งเพื่อให้มีการจัดส่งวัคซีนของแอสตราเซเนกาจากต่างประเทศมากขึ้น แต่ยังไม่มีความหวังว่าวัคซีนจากผู้ผลิตดังกล่าวมาถึงออสเตรเลียในเร็ว ๆ นี้  

ผศ.เดโบราห์ กลีสัน (Deborah Gleeson) จากมหาวิทยาลัยลา โทรบ (La Trobe University) กล่าวกับเอสบีเอส นิวส์ ว่า ยังคงไม่มีความชัดเจนว่า ปัญหาเรื่องสต๊อกวัคซีนในต่างประเทศจะมีบทบาทมากน้อยเพียงใดต่อความล่าช้าในการเปิดตัววัคซีนของออสเตรเลีย

แต่อย่างไรก็ตาม ผศ.กลีสัน กล่าวว่า ปัญหาสต๊อกวัคซีนในต่างประเทศจะส่งผลกับออสเตรเลียเพียงเล็กน้อย หลังหน่วยงานกำกับดูแลทางการแพทย์ได้อนุมัติการผลิตวัคซีนโควิดภายในประเทศเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้สต๊อกวัคซีนของแอสตราเซเนกาในออสเตรเลียกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง   

เธอกล่าวอีกว่า การจองสิทธิ์ผลิตวัคซีนภายในประเทศของออสเตรเลียนั้นเป็นการตัดสินใจที่ชาญฉลาด ขณะที่สต๊อกวัคซีนในหลายประเทศทั่วโลกกำลังขาดแคลนในเวลานี้

ความขัดแย้งในการทำงานของรัฐบาลสหพันธรัฐ และรัฐบาลท้องถิ่น

การวิพากษ์วิจารณ์ของสมาชิกสภาในรัฐบาลสหพันธรัฐ 2 คน ในประเด็นเรื่องความเร็วในการเปิดตัววัคซีนและการจัดเก็บ ได้นำไปสู่ความไม่พอใจจากรัฐนิวเซาท์เวลส์ และรัฐควีนส์แลนด์

“ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของเราเกี่ยวกับวัคซีนในตอนนี้ ก็คือการทำให้แน่ใจว่ารัฐและมณฑลต่าง ๆ เปิดตัววัคซีนจากสต๊อกวัคซีนที่ตนเองมี” นายแดน เทียน (Dan Tehan) รัฐมนตรีการท่องเที่ยว กล่าว

การแถลงของรัฐมนตรีด้านการท่องเที่ยว เกิดขึ้นหลังมีรายงานว่า พบข้อมูลที่รั่วไหลไปยังสำนักข่าว News Corp Australia ซึ่งเปิดเผยให้เห็นว่า รัฐนิวเซาท์เวลส์ได้ฉีดวัคซีนโควิดเป็นจำนวนเพียงครึ่งหนึ่งของโดสวัคซีนที่ได้รับมาทั้งหมด ซึ่งอาจหมายความว่ามีการกักตุนวัคซีนเกิดขึ้น

แต่ นางกลาดีส์ เบเรจิกเลียน มุขมนตรีรัฐนิวเซาท์เวลส์ กล่าวว่า รายงานฉบับดังกล่าวนั้ไม่เป็นความจริง และรัฐบาลนิวเซาท์เวลส์ก็ต้องการที่จะเร่งเปิดตัววัคซีนให้เร็วขึ้นอยู่แล้ว โดยล่าสุด เธอได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี นายสกอตต์ มอร์ริสัน เพื่อขออนุมัติการเพิ่มบทบาทของรัฐนิวเซาท์เวลส์ ในโครงการเปิดตัววัคซีนโควิด และได้เตือนว่า ออสเตรเลียอาจฉีดวัคซีนโดสแรกไม่ทันเป้าหมายในเดือนตุลาคมนี้ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลสหพันธรัฐ

“ยิ่งผู้คนได้รับวัคซีนเร็วขึ้นเท่าใด เราก็สามารถผ่อนคลายมาตรการจำกัดห้ามต่าง ๆ ได้เร็วขึ้นเท่านั้น เพื่อให้ผู้คนรู้สึกปลอดภัยขึ้นในการเดินทางต่างประเทศ และดิฉันคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องการ” นางเบเรจิกเลียน กล่าว

นางอนาสตาเซีย ปาลาเชย์ มุขมนตรีรัฐควีนส์แลนด์ กล่าวว่า เธอต้องการให้รัฐบาลสหพันธรัฐเผยแพร่ตัวเลขการฉีดวัคซีน และจำนวนวัคซีนในสต๊อกรายวัน ในทุกรัฐและมณฑลทั่วประเทศเพื่อความโปร่งใส

“เราจะเผยแพร่ตัวเลขสถิติวัคซีนของเราทุกวัน และมันจะเป็นเรื่องที่ดีหากรัฐบาลสหพันธรัฐจะทำสิ่งเดียวกันนี้ด้วย” นางปาลาเชย์ กล่าว

นักวิทย์ฯ ชี้จังหวะการจ่ายวัคซีนกำลังเร็วขึ้น

ศาสตราจารย์แมกดาเลนา พเลแบนสกี (Magdalena Plebanski) จากมหาวิทยาลัย RMIT กล่าวว่า การเปิดตัววัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ในต่างประเทศนั้น ตามปกติจะใช้เวลาราว 1 เดือนขึ้นไป ก่อนที่จะสามารถเปิดตัววัคซีนในระดับที่เร็วขึ้น ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่ปัญหาเกี่ยวกับสต็อกวัคซีนนั้นได้รับการแก้ไข

โดยเธอคาดว่า สิ่งนี้อาจเกิดขึ้นกับออสเตรเลียได้ด้วยเช่นกัน

“หากคุณดูกราฟที่แสดงจำนวนการฉีดวัคซีนต่อวัน มันจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนก่อนที่มันจะเริ่มเพิ่มขึ้น มีการเพิ่มขึ้นอย่างมากของตัวเลขการจ่ายและฉีดวัคซีนหลังจากผ่านพ้นช่วงเวลา 1 เดือนไปแล้ว” ศาสตราจารย์พเลแบนสกี กล่าว

“มันไม่มีเหตุผลอะไรที่จะเกิดความล่าช้าในจุดนี้ การเปิดตัววัคซีนนั้นกำลังได้จังหวะที่เหมาะสม และดิฉันหวังว่าปัญหาต่าง ๆ จะทยอยได้รับการแก้ไขตลอดการดำเนินโครงการนี้”  

ศาสตราจารย์พเลแบนสกี กล่าวอีกว่า ความล่าช้าในกรอบเวลาช่วงแรกนั้น สำคัญน้อยกว่าข้อเท็จจริงที่ว่า วัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพนั้นกำลังได้รับการเปิดตัวไปยังผู้คนที่ต้องการมัน

“สิ่งที่สำคัญจริง ๆ ก็คือหนทางที่วัคซีนได้รับการกระจายไปยังจุดต่าง ๆ โดยคำนึงถึงบุคลากรที่ทำงานด้านสุขภาพ และผู้คนที่ตกอยู่ในความเสี่ยงเป็นอันดับแรก นั่นจะเป็นสิ่งที่ช่วยรักษาชีวิตผู้คนได้” ศาสตราจารย์พเลแบนสกี กล่าว

“ถ้าหากเราทุกคนได้ฉีดวัคซีนโควิดภายในเดือนตุลาคมนี้ ก็ถือว่าเป็นเรื่องดี แต่ถ้าเกิดมันต้องล่าช้าไปอีก 2-3 เดือน มันก็คงต้องเป็นไปอย่างนั้น”


ประชาชนในออสเตรเลียต้องอยู่ห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร คุณควรตรวจดูว่ามีข้อจำกัดใดบ้างที่บังคับใช้อยู่ในรัฐและมณฑลของคุณ

หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้อยู่บ้านและติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080

คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 
เรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย

ผู้เดินทางมีสิทธิ์อย่างไรช่วงโควิดระบาด


Share
Published 5 April 2021 1:13pm
Updated 5 April 2021 5:30pm
By Jarni Blakkarly
Presented by Tinrawat Banyat


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand