กระแสยาจีนรักษาโควิดแรงแม้ถูกสั่งแบนในออสฯ

การสืบสวนของเอสบีเอส พบประชาชนบางส่วนในชุมชนจีนกำลังนำเข้ายาแผนโบราณที่มีการกล่าวอ้างว่าใช้รักษาโรคโควิด-19 ได้ แม้จะผิดกฎหมายในออสเตรเลีย

Traditional Chinese medicine Lianhua Qingwen

Traditional Chinese medicine Lianhua Qingwen. Source: Zhao Yadan/VCG via Getty Images

ประเด็นสำคัญ

  • ประชาชนบางส่วนในชุมชนจีนกำลังกักตุนยาแผนโบราณจีนที่ผิดกฎหมาย เพื่อ ‘ใช้รักษา’ โรคโควิด-19
  • ยา ‘เหลียนฮัวชิงเหวิน’ ถูกแบนในออสเตรเลียเนื่องจากมีส่วนผสมของอีเฟรดา (ต้นมาฮวง) ซึ่งใช้เป็นสารตั้งต้นเพื่อผลิตสารเสพติดเมทแอมเฟตามีน
  • เมื่อปีที่ผ่านมา กองกำลังพิทักษ์พรมแดนออสเตรเลีย (ABF) ตรวจยึดยาเม็ดแคปซูลที่มีส่วนผสมของอีเฟรดาได้เป็นจำนวนเกือบ 150,000 เม็ด


เหลียนฮัวชิงเหวิน เป็นยาแผนโบราณที่มีการใช้กันกันเป็นเวลานานในจีนแผ่นดินใหญ่ เพื่อรักษาอากาคล้ายหวัดหรือไข้หวัดทั่วไป โดยยาแผนโบราณจีนนี้มักถูกเปรียบเทียวว่าเหมือนกับยาพาราเซตามอล

นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ทางการจีนและนักวิทยาศาสตร์ได้กล่าวว่า ตัวยาดังกล่าวยังมีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการของโรคดังกล่าวได้ จากคำกล่าวนี้ได้ทำให้มีผู้คนในชุมชนจีนของออสเตรเลียบางส่วนเริ่มกักตุนยานี้ ที่มีอยู่ในประเทศจีนทั้งในรูปแบบการซื้อหน้าเคาท์เตอร์ และการซื้อโดยใช้ใบสั่งยา

เอมี (ไม่ใช่ชื่อจริง) ผู้ใช้งานเว็บไซต์ขายของออนไลน์สัญชาติจีนรายหนึ่ง กล่าวหลังจากที่ได้ซื้อยาที่ระบุว่า “เป็นยารักษาการต้านโรคระบาดใหญ่ (anti-pandemic treatment)” ว่า เหลียนฮัวชิงเหวิน มีประสิทธิภาพสูงมากกับอาการอย่างเช่นหวัด”
记者在维州某亚超看到连花清瘟胶囊以30澳元一盒的价格在售
เอสบีเอส ภาคภาษาจีน พบยาเหลียนหัวซิงเหวินกล่องละ $30 ดอลลาร์ ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตเอเชียในรัฐวิกตอเรีย Source: SBS Mandarin
แต่ยาแผนโบราณชนิดบรรจุแคปซูลนี้ผิดกฎหมายในออสเตรเลีย เนื่องจากมีส่วนผสมของต้นมาฮวง (อีเฟรดา) ซึ่งใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตสารเมทแอมเฟตามีนได้ โดยเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา กองกำลังพิทักษ์พรมแดนออสเตรเลีย (ABF) ระบุว่าได้ยึดของกลางเป็นยาเม็ดบรรจุแคปซูลที่มีส่วนประกอบดังกล่าวจำนวน 1.3 ล้านเม็ด และมีการตรวจพบเป็นจำนวน 3,000 ครั้ง

แต่อย่างไรก็ตาม กลับมีการตรวจพบน้อยลงเหลือเพียง 262 ครั้ง และยึดของกลางได้เพียง 150,000 เม็ดเมื่อปีที่แล้ว

จากการตรวจพบที่ลดลงอย่างมากในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา โฆษกกองกำลังพิทักษ์พรมแดนออสเตรเลีย กล่าวกับเอสบีเอส ภาคภาษาจีนกลางว่า “อาจเกี่ยวข้องกับช่วงเวลาที่เชื้อโควิด-19 แพร่ระบาด เช่นเดียวกับผลจากการตรวจยึดการนำเข้าอีเฟรดาแบบผิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก”

ชุน กวง ลี (Chun Guang Li) อาจารย์ภาควิชาเภสัชวิทยา มหาวิทยาลัยเวสเทิร์นซิดนีย์ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่สารสกัดจากต้นอีเฟรดาในยาเหลียนฮัวชิงเหวิน จะถูกนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตเมทแอมเฟตามีน อย่างไรก็ตาม เขากล่าวอีกว่า การผลิตเมทแอมเฟตามีนจากอีเฟรดาที่อยู่ในยาดังกล่าวต้องใช้เวลานานและมีค่าใช้จ่ายสูง เนื่องจากตัวยาดังกล่าวมีสารประกอบอยู่นับร้อยชนิด

“ปกติแล้ว มันง่ายกว่าถ้าใช้ยาแก้ไอแผนปัจจุบันที่ซื้อได้จากหน้าเคาท์เตอร์ ซึ่งมีแอลคาลอยด์บริสุทธิ์ของอีเฟรดา เพื่อใช้ในการผลิตยาเมทแอมเฟตามีน” ศาสตราจารย์ลี กล่าว

เอสบีเอส ภาคภาษาจีน ได้พูดคุยกับ “โอดา (ไม่ใช่ชื่อจริง)” ซึ่งขายยาเม็ดแคปซูลแผนโบราณนี้ไปหลายกล่องให้ลูกค้าหลายรายในออสเตรเลีย เธอบอกว่าส่วนหนึ่งที่เธอสั่งมาขายถูกตรวจยึดไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

“ฉันมีอีก 400 กล่องที่เพิ่งส่งมาถึง และ (หลังจากนั้น) ก็จัดส่งไปให้ลูกค้าในซิดนีย์แล้วอย่างปลอดภัย” โอดา กล่าว
Chinese travellers have been bringing Lianhua Qingwen into the country without declaring it.
ผู้เดินทางจากจีนได้นำยาเหลียนหัวซิงเหวินเข้าออสเตรเลียโดยไม่สำแดงกับเจ้าหน้าที่ศุลกากร Source: AAP
บรรดาผู้ค้าออนไลน์ตั้งราคายาเหลียนฮัวชิงเหวิน ไว้ที่ $22 ดอลลาร์ ต่อกล่อง 24 แคปซูล ซึ่งแพงกว่าราคาขายปลีกในจีนแผ่นดินใหญ่ถึง 6 เท่า

เอสบีเอส ภาคภาษาจีน ยังพบอีกว่า ซูเปอร์มาเก็ตเอเชียบางแห่งได้ลักลอบขายยานี้อย่างผิดกฎหมายในราคาถึงกล่องละ $30 ดอลลาร์

โอดา บอกอีกว่า ราคาที่เพิ่มสูงขึ้น คือเหตุผลที่เธอและผู้ค้าคนอื่น ๆ พบว่าออสเตรเลียเป็นตลาดที่น่าสนใจ

“ฉันพบว่ามันไม่สำคัญเลยหากของสักชิ้นจะถูกยึดที่ ตม. เพราะฉันก็จะได้ทุนคืนจากของที่สั่งมาขายครั้งต่อไป” โอดา กล่าว

ทั้งนี้ องค์กรกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพของออสเตรเลีย (ทีจีเอ) ได้แนะนำให้ผู้บริโภคใช้ความระมัดระวังอย่างมากเมื่อคิดจะซื้อยาบนอินเทอร์เน็ต

“ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับการกำกับดูแลโดยทีจีเอ อาจประกอบด้วยส่วนผสมอันตรายที่ไม่ได้เปิดเผย หรือปนเปื้อนจากสารพิษที่อาจมีความเสี่ยงต่อสุขภาพอย่างรุนแรง” โฆษกทีจีเอ ระบุ

การใช้อีเฟรดาในตำรับยาจีนมีประวัติอย่างยาวนาน และเกี่ยวข้องกับการใช้เพื่อรักษาโรคหอบหืด ส่วนยาเหลียนฮัวชิงเหวิน ได้รับการพัฒนาขึ้นโดย อี้หลิง ฟาร์มาซูติคอล เพื่อต่อสู่กับการแพร่ระบาดของโรคซาร์ส (SARS) ในจีนแผ่นดินใหญ่เมื่อ 18 ปีก่อน

“อีเฟรดา ไม่ใช่ยารักษาโรคโควิด-19 ที่ได้รับการรับรอง (ในออสเตรเลีย) และไม่ควรได้รับการกำหนดให้เป็นเช่นนั้น”

ทีจีเอ ระบุว่า อีเฟรดาอาจทำให้เกิดความเสี่ยงที่รุนแรงต่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ซึ่งรวมถึงการทำให้เกิดภาวะเป็นพิษต่อระบบหัวใจ (อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน) สร้างความเสียหายต่อดวงตาโดยไม่อาจรักษาได้ และทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอย่างรุนแรงจนเกิดภาวะโคมา

ข้อมูลจากทีจีเอยังระบุอีกว่า การใช้อีเฟรดาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น ภาวะความดันในเลือดสูง หัวใจล้มเหลว ความผิดปกติต่อกล้ามเนื้อ อาการชัก เส้นเลือดในสมองแตก ความผิดปกติทางจิต หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหมดสติ ไปจนถึงทำให้เกิดการเสียชีวิตได้

ศาสตราจารย์ลี กล่าวว่า มีที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของยาเหลียนฮัวชิงเหวิน ในการรักษาอาการของโรคโควิด-19 ให้ดีขึ้น เขากล่าวอีกว่า เขาทราบดีถึงการใช้ยาดังกล่าวเป็นจำนวนมากในจีนแผ่นดินใหญ่

“แต่สิ่งเดียวที่คุณต้องการก็คือใบสั่งยาจาแพทย์ แม้ว่าคุณจะเข้าถึงตัวยานี้ได้ คุณไม่ควรที่จะใช้ยานี้ด้วยตนเอง” ศาสตราจารย์ลี กล่าว

ออสเตรเลียอนุญาตให้นำเข้ายาที่ไม่ได้รับการรับรองจากทีจีเอได้ในจำนวนน้อย โดยนำเข้ามาเพื่อใช้สำหรับตนเองไม่เกิน 3 เดือน ในจำนวนโดสสูงสุดที่ผู้ผลิตยาแนะนำ โดยผู้ใช้ยาจะต้องแสดงหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรที่ออกโดยหน่วยงานที่มีอำนาจ เช่น ใบสั่งยาจากแพทย์ออสเตรเลียที่มีทะเบียน

แต่ถ้าหากนอกเหนือจากกรณีดังกล่าว ผู้นำเข้าอีเฟรดาเพื่อการค้าอย่างผิดกฎหมายจะระวางโทษจำคุกสูงสุด 25 ปี หรือโทษปรับสูงสุด $1.1 ล้านดอลลาร์ ตามประมวลกฎหมายอาญาของออสเตรเลีย

สำหรับบุคคลธรรมดา จะต้องระวางโทษจำคุก 7 ปี และปรับไม่เกิน $250,000 ดอลลาร์
连花清瘟颗粒
ยาเหลียนหัวซิงเหวินชนิดผง Source: ABF
แม้จะมีการสั่งห้ามนำเข้า แต่ยาเหลียนฮัวชิงเหวินก็ยังคงเล็ดลอดผ่านด่านศุลกากร เข้าสู่ตลาดมืด และไปอยู่ในตู้ยาสามัญประจำบ้านในออสเตรเลียได้

เอมี บอกกับเอสบีเอส ภาคภาษาจีนว่า เธอเดินทางเข้ามายังออสเตรเลียพร้อมกับยาที่ถูกสั่งห้ามนำเข้ากระเป๋าโดยไม่สำแดงกับด่านศุลกากร ขณะที่เธอเข้าใจดีถึงความเสี่ยงที่ยาจะถูกยึด และถูกระวางโทษปรับ

“มันอยู่ปน ๆ กับของใช้อย่างอื่นของฉัน เพราะฉะนั้นเจ้าหน้าที่ศุลกากรก็คงจะหามันได้ไม่ง่ายนัก”

ลิลลี (ไม่ใช่ชื่อจริง) ชาวจีนคนหนึ่ง กล่าวกับเอสบีเอส ภาคภาษาจีนว่า ทุกคนในจีนใช้ยาเหลียนฮัวชิงเหวิน โดยเธอเล่าอีกว่า ก่อนที่เธอจะย้ายมาอยู่ออสเตรเลียเมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมา มีคนบอกว่าเธอไม่สามารถนำยานี้เข้าประเทศได้อย่างถูกกฎหมาย

แต่ในที่สุดแล้ว เธอก็สามารถส่งยาบรรจุแคปซูลนี้มาให้ตัวเองได้ทางเครื่องบิน และยานี้ก็ถูกส่งมาที่หน้าประตูห้องเธอที่นครเมลเบิร์นในอีก 2 อาทิตย์ต่อมา

“ฉันได้ยินว่าสถานการณ์โควิด-19 ในออสเตรเลียแย่ขนาดไหน ฉันเลยต้องการป้องกันไว้ก่อนล่วงหน้าทุกทางเพื่อดูแลตัวเองและครอบครัวของฉันในเมลเบิร์น”


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 
เรื่องราวที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย

เบื้องลึกของช่างยนต์คนไทยในออสเตรเลีย


Share
Published 16 February 2022 3:47pm
Updated 12 August 2022 2:54pm
By Lorien Chen, Olivia Yuan, Tania Lee
Presented by Tinrawat Banyat
Source: SBS Mandarin

Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand