คุณหมอแนะอะไรที่ควรเตรียมให้พร้อมใช้ตั้งแต่ก่อนติดเชื้อ

What to prepare before having COVID?

คุณหมอแนะนำสิ่งของต่างๆ ที่ควรเตรียมไว้ให้พร้อมตั้งแต่เรายังไม่ติดโควิด Source: SBS Thai/Parisuth Sodsai

เราควรเตรียมตัวให้พร้อมก่อนการติดเชื้อโควิดอย่างไร อะไรที่เราต้องทำก่อนติดเชื้อ ยาและสิ่งของอะไรบ้าง ที่เราควรเตรียมไว้ตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อจะให้มีใช้ทันทีเมื่อติดเชื้อ และสิ่งที่ต้องเตรียมกรณีป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาล พร้อมคำอธิบายว่าถ้าเพิ่งหายจากโควิด เราจะไปรับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือบูสเตอร์ช็อตได้เมื่อใด พญ.ศิราภรณ์ ทาเกิด แพทย์ทั่วไปในเมลเบิร์น มีคำแนะนำ


กดฟังสัมภาษณ์
LISTEN TO
What to prepare now before you have COVID image

คุณหมอแนะอะไรที่ควรเตรียมให้พร้อมใช้ตั้งแต่ก่อนติดเชื้อ

SBS Thai

28/01/202218:34
คุณหมอ ศิราภรณ์ ทาเกิด ย้ำว่า สิ่งที่จำเป็นต้องทำตั้งแต่ตอนยังไม่ติดเชื้อ เพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อและช่วยให้หากติดเชื้อจะมีอาการป่วยไม่รุนแรงคือ การไปรับการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือบูสเตอร์ช็อต

“สิ่งที่หมอแนะนำให้ทุกคนยังทำอยู่คือ ให้ไปฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด ถ้าคนที่ฉีดวัคซีนไปแล้วสองเข็ม สามารถไปฉีดบูสเตอร์ได้แล้ว 3 เดือนหลังฉีดเข็มสอง ให้รีบไปฉีดกัน อันนี้สำคัญมาก”
เราสามารถไปฉีดบูสเตอร์ได้แล้ว 3 เดือนหลังฉีดเข็มสอง ให้รีบไปฉีดกัน อันนี้สำคัญมาก
การฉีดวัคซีนต้านโควิดเป็นสิ่งสำคัญที่เรายังคงต้องทำอยู่
การฉีดวัคซีนต้านโควิดเป็นสิ่งสำคัญที่เรายังคงต้องทำอยู่ Source: Pixabay
คุณหมอได้แนะนำถึงสิ่งที่ควรเตรียมไว้ติดบ้าน หากติดเชื้อโควิดและต้องกักตัว เราจะได้มีพร้อมใช้ จะได้ไม่ต้องลำบากในการจัดหาขณะที่ป่วย ซึ่งมีดังต่อไปนี้

  • ยาสามัญประจำบ้าน เช่น ยาพาราเซตตามอล ยาลดไข้ ยาแก้ปวด
  • ยาที่เราใช้ประจำหากเรามีประจำตัว
  • ยารักษาอาการไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ (cold and flu tablets)
  • ผงเกลือแร่ หรือน้ำเกลือแร่
  • ยาบรรเทาอาการเฮย์ฟีเวอร์ (hay fever อาการแพ้เกสรหรือละอองพืช) ยาแอนตีฮิสตามีน (Antihistamine ยาแก้แพ้)
  • ยาแก้ปวดท้อง ในกลุ่มที่คล้ายๆ ยาธาตุน้ำขาวในเมืองไทย
  • หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ถุงมือยาง ผ้าเช็ดทำความสะอาดฆ่าเชื้อ สเปรย์หรือน้ำยาฆ่าเชื้อปนพื้นผิว
  • ปรอทวัดไข้
  • อาหาร น้ำ ของใช้จำเป็น เช่น ผ้าอนามัย กระดาษทิชชู กระดาษชำระ หากมีลูกที่เป็นเด็กเล็ก ต้องเตรียมนมผง ผ้าอ้อมเด็ก ผ้าเช็ดทำความสะอาดสำหรับเด็กอ่อน (baby wipes) โดยมีให้เพียงพอสำหรับ 2 สัปดาห์
  • ชุดตรวจเชื้อโควิดแบบทราบผลรวดเร็ว (Rapid antigen tests) คุณหมอแนะนำว่า “กลุ่มคนที่ถือบัตรสิทธิ์ส่วนลด (concession card) เช่น คนที่ถือบัตรผู้รับเงินบำนาญ (pensioner) หรือ คนที่ถือบัตรผู้สูงอายุ (senior card) หรือผู้ถือบัตรดูแลสุขภาพ (health care card) สามารถไปขอรับชุดตรวจเชื้อโควิดแบบทราบผลรวดเร็วได้ฟรีจากร้านขายยาต่างๆ โดยรับได้ฟรี 10 ชุดต่อ 3 เดือน จึงขอให้ผู้มีบัตรเหล่านี้ลองไปถามร้านขายยาใกล้บ้านดูว่าเรามีสิทธิ์หรือไม่”
  • สิ่งที่ไม่จำเป็น แต่หากหามาใช้ได้ก็ดี คือ เครื่องวัดปริมาณออกซิเจนในเลือด (Oximeter) “หลายๆ คนถามหมอว่าควรจะมีติดบ้านไว้ไหม ถ้าเราสามารถหาซื้อได้ ก็อาจมีประโยชน์ แต่ในออสเตรเลียที่เมื่อเราติดโควิดและแจ้งไปยังส่วนกลางที่จะมีการติดตามอาการป่วยของเรา ถ้าเราติดโควิดและเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น มีโรคประจำตัวเป็นโรคหอบหืด หรือถุงลมโป่งพอง ทางรัฐบาลจะส่งเครื่องวัดปริมาณออกซิเจนในเลือด (Oximeter) ไปให้ที่บ้าน เพราะฉะนั้น อย่ากังวลมาก ถ้าเราไม่มี” คุณหมอศิราภรณ์ กล่าว
  • แผนสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน (emergency plan) คุณหมออธิบายว่า “เป็นแผนว่าถ้าเกิดเรามีเหตุจำเป็นที่ทำให้เราต้องกักตัวที่บ้าน ออกไปไหนไม่ได้เลย เราควรจะติดต่อใคร เช่น เพื่อน ญาติพี่น้อง หรือคนรู้จัก ที่เขาจะซื้ออาหารหรือซื้อของมาส่งให้เราได้ ให้จดรายชื่อไว้เลยว่าใครที่เราจะขอความช่วยเหลือได้”
  • กิจกรรมที่จะช่วยไม่ให้เราเบื่อ หากต้องกักตัวอยู่บ้าน 7 วันโดยเฉพาะคนที่อยู่คนเดียว
  • หมายเลขโทรศัพท์ของบริการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับอาการป่วย เช่น Nurse on Call (1300 60 60 24 ติดต่อได้ตลอด 24 ชั่วโมง) หมายเลขโทรศัพท์ของแพทย์จีพีประจำตัว หรือหมายเลขโทรศัพท์สายด่วนสำหรับผู้ติดเชื้อโควิดของรัฐต่างๆ หรือโทรศัพท์สายด่วนที่โทรได้จากทั่วประเทศ (National Coronavirus Helpline ที่หมายเลข 1800 020 080 ติดต่อได้ตลอด 24 ชั่วโมง)  และ 000 สำหรับการเรียกรถพยาบาล (หากพูดภาษาอังกฤษไม่คล่อง สามารถโทรหาล่ามของ TIS ที่ 131 450 เพื่อให้ล่ามช่วยในการพูดคุยกับบริการเหล่านี้ได้)
  • กรณีหากป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาล ต้องแจ้งบุคคลที่โรงพยาบาลจะติดต่อได้กรณีฉุกเฉิน “เวลาไปโรงพยาบาล เขาก็จะถาม next of kin (ผู้ที่จะติดต่อได้ในกรณีฉุกเฉิน) คือใคร เราต้องให้หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อเขาไว้ด้วย” คุณหมอกล่าว พร้อมเสริมว่า “อีกอย่างที่ต้องวางแผนไว้หากเรามีลูกหรือมีน้องหมาน้องแมว คือใครที่จะสามารถช่วยดูแลลูกเราได้ หรือช่วยดูแลสัตว์เลี้ยงของเราได้ หากเราป่วยจริงๆ จนต้องเข้าโรงพยาบาล”
ขณะที่ตอนนี้ ทั่วประเทศออสเตรเลียนั้น ผู้คนที่ฉีดวัคซีนต้านโควิดเข็มที่สองไปแล้ว 3 เดือนจะสามารถไปรับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือบูสเตอร์ช็อตได้ แต่สำหรับผู้ที่ติดเชื้อโควิดอาจมีคำถามว่า แล้วตนจะไปรับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นได้เมื่อใด คุณหมออธิบายว่า “ขณะนี้มีแนวทางปฏิบัติคือ เราจะฉีดบูสเตอร์ได้ หลังจากฉีดวัคซีนเข็มสองไปแล้ว 3 เดือนและเราหายจากอาการของโควิดแล้ว  เช่น ถ้าเราติดเชื้อไปเมื่ออาทิตย์ก่อน เรากักตัว 7 วันแล้ว หลังจากนั้นไม่กี่วันเรารู้สึกว่าเราฟื้นตัวกลับมาเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว ไม่มีอาการไอ ไม่มีอาการใดๆ และขณะนั้นผ่านไปประมาณ 3 เดือนหลังฉีดเข็มสองแล้ว ให้รีบไปรับการฉีดบูสเตอร์เลย ไม่จำเป็นต้องรอให้ผ่านไป 3 เดือนหรือ 6 เดือนหลังติดโควิด”
หากเราฟื้นตัวเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว ไม่มีอาการใดๆ และขณะนั้นผ่านไป 3 เดือนหลังฉีดเข็มสองแล้ว ให้รีบไปฉีดบูสเตอร์เลย
“หมอเห็นว่ามีคนหลายๆ คนที่เข้าใจผิดว่า ติดโควิดแล้ว จะไม่ติดอีก อันนี้ไม่จริง เพราะหมอมีคนไข้ที่ติดโควิดและหลังจากนั้นแค่ประมาณ 6 อาทิตย์ เขาก็ติดโควิดอีกเป็นครั้งที่สอง จากการวิจัยพบว่า คนที่ติดโควิดแล้วมีโอกาสติดเชื้อซ้ำมากกว่าคนที่ฉีดบูสเตอร์ (วัคซีนเข็มกระตุ้น) เพราะฉะนั้น คนที่ฉีดวัคซีน 3 เข็มให้ภูมิคุ้มกันเรามากกว่าคนที่ติดโควิดมาก่อน เพราะฉะนั้น ถ้าครบสามเดือนหลังฉีดเข็มสองแล้ว และอาการป่วยของเราหายแล้ว ให้รีบไปฉีดบูสเตอร์ค่ะ”
มีคนเข้าใจผิดว่า ติดโควิดแล้ว จะไม่ติดอีก อันนี้ไม่จริง เพราะหมอมีคนไข้ที่ติดโควิดและหลังจากนั้นแค่ 6 อาทิตย์ เขาก็ติดโควิดอีกเป็นครั้งที่สอง
ฟังคำอธิบายเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องเตรียมอย่างละเอียด พร้อมตัวอย่างของยาที่สามารถหาซื้อได้ในออสเตรเลีย รวมทั้งความเห็นของคุณหมอ กรณีบางคนจงใจที่จะติดเชื้อ เพราะคิดว่าติดแล้วจะไม่ป่วยหนักอย่างแน่นอนและจะได้มีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ  ติดตามฟังประเด็นเหล่านี้ได้จากบทสัมภาษณ์เต็มๆ ที่นี่
LISTEN TO
What to prepare now before you have COVID image

คุณหมอแนะอะไรที่ควรเตรียมให้พร้อมใช้ตั้งแต่ก่อนติดเชื้อ

SBS Thai

28/01/202218:34
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก

คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

ติดต่อสอบถามบริการสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1800 020 080

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand