ไขข้อข้องใจกับทุกความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19

Vaccine myths

Vaccine myths vs facts Source: SBS News/Nick Mooney

ในอีกไม่กี่สัปดาห์นี้ ชาวออสเตรเลียกลุ่มแรก ในการจัดลำดับความสำคัญเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันจากไวรัสโคโรนา กำลังจะได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว แต่แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศจะบอกว่า วัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ทั้งปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ แต่มีรายงานว่า ยังคงพบความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับวัคซีนที่ยังคงได้รับการบอกต่อ และไม่ได้รับการพิสูจน์ความถูกต้อง


LISTEN TO
The most common myths about the coronavirus vaccine - and why they aren’t true image

ไขข้อข้องใจกับทุกความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19

SBS Thai

15/02/202112:51
วัคซีนต้านไวรัสโคโรนา จากบริษัทไฟเซอร์-ไบออนเทค (Pfizer-BioNTech) กำลังจะมาถึงออสเตรเลียในไม่ช้า สร้างความตื่นเต้นให้กับประชาชนในประเทศไม่น้อย แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเชื่อผิด ๆ และข้อมูลที่ไม่ถูกต้องมากมายเกี่ยวกับวัคซีนต้านไวรัสโคโรนา

เราได้พูดคุยกับ ศาสตราจารย์ปีเตอร์ คอลิญอง (Peter Collignon) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดชั้นนำ จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) เพื่อเปิดโปงความเชื่อผิด ๆ ยอดนิยม 6 ข้อ เกี่ยวกับวัคซีนต้านไวรัสโคโรนา

ข้อที่ 1: ความเชื่อที่ว่า วัคซีนโควิด-19 ไม่ปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ

ความเชื่อที่ผิดนี้ มาจากเหตุการณ์การเสียชีวิตของผู้สูงอายุ 33 รายที่ประเทศนอร์เวย์ ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์หลังได้รับวัคซีนต้านไวรัสโคโรนา ของบริษัทไฟเซอร์-ไบออนเทค (Pfizer-BioNTech) โดสแรก 

โดยในเรื่องนี้ สถาบันสาธารณสุขของนอร์เวย์ (Institute of Public Health) ยืนยันว่า ไม่พบความเชื่อมโยงโดยตรง ระหว่างการเสียชีวิตของพวกเขา และวัคซีนต้านไวรัสโคโรนา แต่อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ดังกล่าวก็ได้ส่งผลกระทบกับความเชื่อมั่นต่อวัคซีนต้านไวรัสโคโรนาไปแล้ว

ศาสตราจารย์คอลิญอง กล่าวว่า ขณะที่วัคซีนโควิดจะทำให้เกิดอาการมีไข้ต่ำ ๆ ซึ่งทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในบรรดาผู้สูงอายุที่มีสุขภาพไม่แข็งแรงอยู่แล้ว ความเป็นจริงนั้นก็คือ ผู้คนเหล่านี้มีอัตราการเสียชีวิตในระดับสูง 

“สิ่งที่สำคัญเกี่ยวกับวัคซีนนั้นก็คือ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม มันจะมีผลข้างเคียงที่บางครั้งอาจเป็นอาการเพียงเล็กน้อย ไปจนถึงอาการที่รุนแรง แต่นั่นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้น้อยมาก และคุณต้องเปรียบเทียบกับอาการที่เกิดจากโรคด้วย” ศาสตราจารย์คอลิญอง กล่าว   

“หากคุณเป็นโรคอย่างโควิด-19 ขณะที่มีอายุมากกว่า 85 ปี และอยู่ในสถานดูแลผู้สูงอายุ คุณมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคนี้ถึง 1 ใน 3 และถึงแม้ว่าคุณจะมีความเสี่ยงในระดับสูงที่จะเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีน ซึ่งเกิดขึ้นได้ยาก ประโยชน์ของวัคซีนก็ยังคงมากกว่าข้อเสียของมันอยู่ดี”

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา รายงานที่ระบุอย่างเฉพาะเจาะจงว่า วัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ของไฟเซอร์-ไบออนเทค อาจไม่ปลอดภัยต่อผู้สูงอายุเริ่มมีการเผยแพร่ หลังมีเพียงประเทศเยอรมนีและฝรั่งเศสเท่านั้น ที่อนุมัติให้มีการฉีดวัคซีนดังกล่าวสำหรับประชาชนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
แต่อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์คอลิญอง กล่าวว่า การตัดสินใจเพื่ออนุมัติการใช้วัคซีนนั้น จะพิจารณาในส่วนของข้อมูลสนับสนุนว่ามีมากแค่ไหน มากกว่าในเรื่องของความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัย

“จนถึงตอนนี้ วัคซีนของแอสตร้าเซเนก้า (AstraZeneca) ยังคงไม่ได้รับการอนุมัติในหลายประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับวัคซีนของไฟเซอร์-ไบออนเทค (Pfizer-BioNTech) และเหตุผลที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า การศึกษาวิจัยหลายอย่างนั้นเสร็จสิ้นภายหลัง” ศาสตราจารย์คอลิญอง กล่าว

“ดังนั้น สิ่งที่หน่วยงานกำกับดูแลได้กล่าวก็คือ ‘จนถึงตอนนี้ เรามีข้อมูลที่ค่อนข้างสมเหตุสมผลในการฉีดวัคซีนสำหรับผู้ที่มีอายุระหว่าง 18-65 ปี’ มันไม่ใช่ว่าวัคซีนจะไม่ได้ผลสำหรับผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เพียงแต่ว่าเรามีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะมั่นใจได้ว่ามันได้ผล”  

ข้อที่ 2: ฉีดวัคซีนแล้วจะทำให้เป็นโควิด-19

ศาสตราจารย์คอลิญอนได้คำตอบง่าย ๆ สำหรับความเชื่อนี้ว่า เป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน

“วัคซีนนี้จะไม่ทำให้คุณเป็นโควิด-19 เนื่องจากมันไม่ได้บรรจุไวรัสที่มีชีวิตเอาไว้” ศาสตราจารย์คอลิญอง กล่าว

“ไม่มีวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติใด ๆ ที่มีไวรัสซึ่งมีชีวิต หรือไวรัสโควิด-19 ชนิดใดก็ตาม ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่คุณจะติดโควิดจากการฉีดวัคซีน” 

ข้อที่ 3: วัคซีนโควิด-19 ถูกสร้างเร็วเกินไป มันอาจไม่มีประสิทธิภาพ

วัคซีนต้านไวรัสโคโรนาที่กำลังจะมีการใช้งานในออสเตรเลียนั้น เป็นวัคซีนที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็วที่สุด โดยหวังผลระยะยาว ขณะที่วัคซีนรักษาโรคอื่น ๆ นั้น ใช้เวลาในการพัฒนานับสิบปี

แต่จากการเสียชีวิตที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และการที่ทุกสิ่งต้องหยุดชะงักจากไวรัสโควิด-19 นั้น นักวิทยาศาสตร์กลับสามารถพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสดังกล่าวให้แล้วเสร็จได้ภายในเวลาน้อยกว่า 12 เดือน 

ศาสตราจารย์คอลิญอง กล่าวว่า ระหว่างที่กระบวนการเก็บข้อมูลนั้นยังคงดำเนินต่อไป วัคซีนต้านไวรัสโคโรนาเหล่านี้นั้นมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพอย่างไม่มีข้อสงสัย 

“เราได้ก้าวไปข้างหน้า และทำได้สำเร็จอย่างรวดเร็วกว่าปกติ แต่เรายังคงต้องเก็บข้อมูลความปลอดภัยอย่างเพียงพอ รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีน และจากข้อมูลที่เราเก็บได้ในตอนนี้ถึอว่าอยู่ในจุดที่ดี” ศาสตราจารย์คอลิญอง กล่าว     

“แต่หากถามว่าเราต้องการข้อมูลมากกว่านี้หรือไม่ ใช่ เราต้องการข้อมูลเพิ่ม เนื่องจากยังมีกลุ่มอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 80 ปีขึ้นไป ซึ่งเราต้องการข้อมูลในส่วนนี้เป็นอย่างมาก และในส่วนของเด็กด้วยเช่นกัน ซึ่งเราไม่มีข้อมูลในส่วนนี้เลย”

ข้อที่ 4: ถ้าวัคซีนของแอสตร้าเซเนก้าได้ผลแค่ 60-70% มันจะป้องกันโควิดไม่ได้

วัคซีนต้านไวรัสจากอ็อกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซเนก้า ได้เป็นฐานรากของโครงการวัคซีนต้านไวรัสโคโรนาของออสเตรเลีย จากการทำข้อตกลงระหว่างบริษัทผลิตวัคซีน CSL ในการผลิดวัคซีนภายในประเทศจำนวน 50 ล้านโดส

ขณะที่ข้อมูลเบื้องต้นของวัคซีนจากไฟเซอร์-ไบออนเทค ได้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสถึง 95% วัคซีนจากอ็อกซ์ฟอร์ดและแอสตร้าเซเนก้านั้น มีประสิทธิภาพอยู่ที่ 60-70% 

แต่อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์คอลิญอง กล่าวว่า แม้วัคซีนจากอ็อกซ์ฟอร์ดและแอสตร้าเซเนก้า จะไม่สามารถหยุดยั้งการติดเชื้อทั้งหมดได้ มันก็ยังสามารถป้องกันผู้คนจากอาการเจ็บป่วยที่รุนแรง รวมถึงสามารถเก็บรักษาและขนส่งได้ง่ายกว่าวัคซีนของไฟเซอร์ 

“วัคซีนของแอสตร้าเซเนก้านั้นไม่สามารถป้องกันโควิดได้ดีเท่ากับวัคซีนของไฟเซอร์ แต่ดูเหมือนว่ามันจะสามารถป้องกันการเจ็บป่วยอย่างรุนแรง และการเสียชีวิตได้อย่างดีเยี่ยม ซึ่งคุณต้องจำเอาไว้ว่านั่นเป็นสิ่งที่เรากังวลมากที่สุด” ศาสตราจารย์คอลิญอง กล่าว

“ดังนั้น ในส่วนของการป้องกันไม่ให้เกิดการเสียชีวิต ผมคิดว่ามันสามารถทำได้ดีกว่า 60% อาจจะเป็น 80 – 90% ก็ว่าได้” 

ข้อมูลล่าสุดจากสหราชอาณาจักรแสดงให้เห็นว่า วัคซีนของแอสตร้าเซเนก้าสามารถหยุดยั้งการติดเชื้อได้ 82% เมื่อฉีดวัคซีนเป็นจำนวน 2 โดส ในระยะเวลาห่างกัน 12 สัปดาห์ แทนที่จะเป็นระยะห่าง 4 สัปดาห์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการหยุดการติดเชื้อเพียง 62%

แต่ ศาสตราจารย์คอลิญอน กล่าวว่า หากวัคซีนสามารถป้องกันการเสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาได้ การติดเชื้อในอนาคตก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องกังวล  

โควิด-19 นั้น มีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าโรคไข้หวัดใหญ่ประมาณ 5 – 10 เท่า  ดังนั้น หากเรามีสิ่งใดก็ตามที่สามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้ที่ 80 - 90% ซึ่งเป็นสิ่งที่วัคซีนของแอสตร้าเซเนก้าจะสามารถทำได้ ก็คือว่าคุ้มค่าที่เรามีมัน” ศาสตราขารย์คอลิญอน กล่าว

“หน้ากากอนามัยก็เป็นอีกเครื่องมือที่ดี หากเกิดการแพร่เชื้อในชุมชนในระดับสูง แต่นั่นจะลดโอกาสในการเสียชีวิตของคุณได้เพียง 15 – 20% ดังนั้น หากคุณมีสิ่งที่สามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้ 60 - 90% คุณคงโง่เขลาหากไม่ใช้สิ่งนั้นด้วย เพราะมันจะสามารปกป้องคุณได้มากกว่าการพึ่งพาหน้ากากอนามัยเพียงอย่างเดียว” 

ข้อที่ 5: หากเคยเป็นโควิด-19 แล้ว ไม่ต้องฉีดวัคซีน

ในจุดนี้ ก็ไม่ถือว่าเป็นความเชื่อที่ผิดซะทีเดียว จริงอยู่ที่ว่า หากคุณหายป่วยจากไวรัสโควิด-19 ระบบภูมิคุ้มกันของคุณจะพัฒนาแอนติบอดีที่จำเป็นในการป้องกันร่างกายของคุณจากการติดเชื้อในอนาคต ซึ่งเป็นแอนติบอดีชนิดเดียวกับที่วัคซีนจะสร้างให้กับร่างกายคุณ

แต่ปัญหาก็คือ เรายังไม่รู้ว่าแอนติบอดีเหล่านั้นจะอยู่ในร่างกายได้นานแค่ไหน

ศาสตราจารย์คอลิญอง กล่าวว่า ข้อมูลเกี่ยวกับแอนติบอดีจนถึงในตอนนี้ ระบุว่ามันจะสามารถอยู่ในร่างกายได้อย่างน้อย 1 ปี และวัคซีนจะเป็นสิ่งที่ขยายเวลาของมันออกไปให้นานขึ้นเท่านั้น  

“หากคุณมั่นใจว่าเคยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื่องจากมีผลการตรวจหาปฏิกิริยาที่ใช้ในการเพิ่มปริมาณของ DNA (PCR test) เป็นบวก คุณอาจไม่ต้องไปรับวัคซีนโควิดเป็นคนแรก ๆ ก็ได้” ศาสตราจารย์คอลิญอง กล่าว

“และจนถึงขณะนี้ ก็ยังคงไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่แสดงให้เห็นถึงอันตรายจากการไปรับวัคซีนซ้ำอีกครั้ง และตามทฤษฎี มันสามารถขยายเวลาในการปกป้องของแอนติบอดีให้นานขึ้นไปอีก โดยเฉพาะหากคุณไปรับวัคซีนกระตุ้นทุก ๆ  2 - 3 ปี”

ข้อที่ 6: วัคซีนโควิดจะทำให้โอกาสในการตั้งครรภ์ลดลง

ไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่ระบุว่า วัคซีนต้านไวรัสโคโรนาที่มีการใช้งานอยู่ หรืออยู่ในระหว่างการพัฒนานั้นจะส่งผลต่อการตั้งครรภ์

ความเชื่อผิด ๆ นี้ มีที่มาจากข้อเท็จจริงที่หลายประเทศต่างแนะนำว่า ผู้หญิงไม่ควรฉีดวัคซีนในขณะตั้งครรภ์ เนื่องจากวัคซีนยังไม่ได้รับการทดสอบกับผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ นี่ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เนื่องจากการในทดลองวัคซีนส่วนมากในประวัติศาสตร์นั้น จะไม่ทำการทดลองในผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ 

ศาสตราจารย์คอลิญอง กล่าวว่า ข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์หลังการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโคโรนา จะได้รับการเปิดเผยในอีกไม่เดือนหรืออีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยเขาคาดว่าผลลัพธ์นั้นคงไม่มีอะไรที่ต้องประหลาดใจ   

ผมไม่คิดว่าจะมีเหตุผลใด ๆ ที่วัคซีนโควิดจะส่งผลต่อความสามารถในการตั้งครรภ์ในอนาคต อันที่จริงแล้ว ผมคิดว่าโควิด-19 ต่างหากที่จะส่งผลในส่วนนี้ หากคุณมีอาการป่วยที่รุนแรง จนระดับออกซิเจนในเลือดของคุณต่ำลง รวมถึงทำให้ไตของคุณมีปัญหา” ศาสตราจารย์คอลิญอง กล่าว


 

ประชาชนในออสเตรเลียต้องอยู่ห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร 

หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้อยู่บ้านและติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand