Explainer

ชาวออสเตรเลียหลายล้านคนจะลงประชามติเป็นครั้งแรกปีนี้ มันคืออะไร?

ชาวออสเตรเลียจะเข้าคูหาลงประชามติที่จะมีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี ประชามติคืออะไร และคะแนนเสียงของคุณสำคัญอย่างไร

Graphic artwork showing a hand putting a vote in a ballot box, the front page of the Constitution of Australia, Parliament House in Canberra and the Australian flag.

เร็วๆ นี้ชาวออสเตรเลียจะต้องไปลงประชามติเรื่องคณะที่ปรึกษาเสียงชาวพื้นเมืองต่อรัฐสภา (Indigenous Voice to Parliament)

ประเด็นสำคัญ
  • ชาวออสเตรเลียจะเข้าคูหาเพื่อลงประชามติเป็นครั้งแรกในรอบกว่าสองทศวรรษ
  • การทำประชามติเป็นหนทางเดียวที่รัฐบาลจะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้
  • ต่อไปนี้คือข้อมูลว่าการลงประชามติคืออะไร มีวิธีการอย่างไร และเหตุใดคะแนนเสียงของคุณจึงสำคัญ
ชาวออสเตรเลียหลายล้านคนจะเข้าคูหาเพื่อลงประชามติ ซึ่งจะตัดสินว่าคณะที่ปรึกษาเสียงชาวพื้นเมืองต่อรัฐสภา หรือที่เรียกว่า Indigenous Voice to Parliament จะได้รับการระบุลงในรัฐธรรมนูญของประเทศหรือไม่

เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่เทศกาลการ์มา (Garma) ประจำปี ในนอร์เทิร์น เทร์ริทอรี นายกรัฐมนตรีแอนโทนี อัลบานีซี ได้เปิดเผยถึงคำถามที่ "ไม่ซับซ้อนเลย" ที่เขาตั้งใจจะถามชาวออสเตรเลียในการลงประชาติ

คำถามดังกล่าวยังไม่มีการระบุอย่างเป็นทางการ แต่ชาวออสเตรเลียอาจถูกถามว่า: "คุณสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจัดตั้ง (คณะที่ปรึกษา) เสียงของชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรส (Aboriginal and Torres Strait Islander Voice) หรือไม่?"
นายอัลบานีซีกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า การลงประชามติครั้งนี้จะจัดขึ้นช่วงใดช่วงหนึ่งระหว่างเดือนตุลาคมถึงธันวาคมปีนี้

หากมีการลงประชามติเกิดขึ้น นี่จะเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 23 ปีที่ชาวออสเตรเลียออกเสียงลงประชามติ โดยสำหรับหลายๆ คนแล้ว นี่จะเป็นการลงประชามติครั้งแรกของพวกเขา

การลงประชามติคืออะไร มีวิธีการทำงานอย่างไร และเหตุใดคะแนนเสียงของคุณจึงมีความสำคัญ

ประชามติคืออะไร?

การลงประชามติ (referendum) เป็นการถามผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งชาวออสเตรเลีย ซึ่งมีอำนาจเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญได้ โดยรัฐธรรมนูญก็คือหลักเกณฑ์ที่กำหนดวิธีการปกครองประเทศ

ศ.แอนน์ ทูมีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญเป็น "เอกสารที่มีอำนาจมากที่สุดของประเทศ"

การทำประชามติเป็นหนทางเดียวที่รัฐบาลจะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้

“อำนาจขั้นสูงสุดในการควบคุม (รัฐธรรมนูญ) เป็นของประชาชน เพราะคุณไม่สามารถเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญได้ หรือแม้แต่เปลี่ยนคำพูดในรัฐธรรมนูญก็ทำไม่ได้ นอกเสียจากว่าคุณจะได้รับความเห็นชอบจากประชาชนออสเตรเลียผ่านการลงประชามติ” ศ.แอนน์ ทูมีย์ กล่าว

"หมายความว่าทุกวันนี้ชาวออสเตรเลียมีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ"
A man and a woman cast votes in a polling station.
Former Australian diplomat Philip Flood and his wife, Carole, cast their votes in Australia's last referendum in 1999. Source: Getty / PA / Michael Stephens

การลงประชามติมีกระบวนการอย่างไร?

ก่อนที่จะจัดให้มีการลงประชามติ จะต้องมีการผ่านร่างกฎหมายในสภาสูงและสภาล่างของรัฐสภาเสียก่อน เพื่ออนุมัติให้มีการลงคะแนนเสียงเกิดขึ้น

หากร่างกฎหมายดังกล่าวได้รับการอนุมัติ รัฐบาลจะกำหนดวันที่ชาวออสเตรเลียจะเข้าคูหาลงคะแนนเสียง ภายในระยะเวลา 2-6 เดือน หลังร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านการอนุมัติ

เช่นเดียวกับการเลือกตั้ง การลงประชามติดำเนินการโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งออสเตรเลีย (Australian Electoral Commission) โดยผู้ลงคะแนนเสียงจะถูกถามคำถามให้เลือกตอบว่าเห็นด้วย (Yes) หรือไม่เห็นด้วย (No) ซึ่งพวกเขาจะกรอกลงในบัตรเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้ง

การลงประชามติจะประสบความสำเร็จได้นั้น จำเป็นต้องได้รับคะแนนเสียงที่เรียกกันว่า "เสียงข้างมากสองขั้นตอน" (double majority)

“คุณจำเป็นต้องมีเสียงสนับสนุนจากคะแนนเสียงข้างมากของประเทศ บวกกับคะแนนเสียงส่วนใหญ่ในรัฐและมณฑลต่างๆ เป็นส่วนใหญ่” ดร.พอล คิลเดีย ผู้อำนวยการโครงการประชามติและการเลือกตั้งของ Gilbert + Tobin Center of Public Law กล่าว

ดังนั้น หากผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่ในระดับประเทศลงคะแนนเสียงว่า เห็นด้วย (Yes) แต่ไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ของรัฐและมณฑลต่างๆ การลงประชามติดังกล่าวก็ล้มเหลว ในทำนองเดียวกัน หากรัฐส่วนใหญ่ลงคะแนนเสียงว่า เห็นด้วย (Yes) แต่ผู้ลงคะแนนเสียงส่วนใหญ่ในระดับประเทศลงคะแนนเสียงว่า ไม่เห็นด้วย (No) การลงประชามติก็ล้มเหลวเช่นกัน

เราเพิ่งมีการลงมติสาธารณะเรื่องการแต่งงานของคนเพศเดียวกันเมื่อเร็ว ๆ นี้ไม่ใช่หรือ?

ใช่ ออสเตรเลียได้จัดให้มีการลงประชาพิจารณ์ (plebiscite) ระดับชาติในปี 2017 เกี่ยวกับว่าคนเพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันได้หรือไม่ แต่ประชาพิจารณ์ไม่เหมือนกับประชามติ (referendum)

ประชาพิจารณ์ (plebiscite) ตั้งคำถามเชิงนโยบายให้ชาวออสเตรเลียตอบ แต่ไม่ได้เป็นประเด็นที่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงในรัฐธรรมนูญ
A man holds a sign that says 'YES equality', while others hug and gather around.
ผู้สนับสนุนการทำประชาพิจารณ์เรื่องการแต่งงานของคนเพศเดียวกันในปี 2017 รณรงค์อย่างหนักให้ประชาชนเห็นด้วยก่อนการลงประชาพิจารณ์ Source: AAP / Danny Casey
ผลของการลงประชาพิจารณ์ก็ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่เป็นแนวทางด้านนโยบายที่รัฐบาลควรพิจารณาจะทำ เมื่อรัฐบาลตัดสินใจจะออกกฎหมายบางฉบับ

การลงประชาพิจารณ์ (plebiscite) เกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่าการลงประชามติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับรัฐ ซึ่งชาวออสเตรเลียเคยถูกถามเกี่ยวกับมุมมองของพวกเขาเรื่องเวลาออมแสง (daylight savings) และกฎหมายเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

การลงประชามติ (referendum) ครั้งล่าสุดก่อนหน้านี้ของออสเตรเลียจัดขึ้นในปี 1999 เมื่อผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งถูกถามว่าออสเตรเลียควรเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐหรือไม่ และควรแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อแทรกคำนำ (preamble) หรือไม่ ในระดับประเทศนั้นร้อยละ 54.87 ลงคะแนนเสียงไม่เห็นด้วย (No) สำหรับการเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐ และร้อยละ 60.66 ลงคะแนนเสียงไม่เห็นด้วย (No) สำหรับคำถามเรื่องคำนำในรัฐธรรมนูญ

การลงประชามติครั้งอื่นๆ เป็นอย่างไรในอดีต?

การลงประชามติที่ผ่านมาของออสเตรเลียไม่ประสบความสำเร็จมากนัก

นับตั้งแต่ก่อตั้งสหพันธ์ในปี 1901 และก่อตั้งรัฐธรรมนูญ ออสเตรเลียได้ลงประชามติไปแล้ว 44 ครั้ง มีเพียง 8 เท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ

“หากเราย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของเรา มันบอกเราว่าการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญในประเทศนี้เป็นเรื่องที่ยากมาก” ดร. คิลเดีย กล่าว

ศ. ทูมีย์ กล่าวว่ามีเหตุผลหลายประการที่ทำให้อัตราความสำเร็จต่ำ แต่เหตุผลที่สำคัญที่สุดคือผู้คนลังเลใจที่จะปูทางให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญหากไม่จำเป็น

“หากผู้คนไม่มั่นใจและไม่สบายใจที่จะทำการเปลี่ยนแปลง ก็เพราะพวกเขารู้สึกว่าพวกเขาไม่มีความรู้เพียงพอเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและกระบวนการว่าทำงานอย่างไร พวกเขาจึงถูกดึงดูดจากแนวคิดที่ว่า 'ถ้าไม่รู้ ก็โหวต No'”

“พวกเขากลัวที่จะโหวต Yes ให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ หากพวกเขารู้สึกไม่มั่นใจว่ามันจะมีความหมายอย่างไรในอนาคต”

“ถ้าคุณเติมบางอย่างลงในรัฐธรรมนูญ มันอาจจะถูกตรึงไว้ตรงนั้นเป็นเวลานาน อาจจะ 50 ปี หรืออาจจะ 100 ปี และถ้าคุณทำผิดพลาด นั่นก็อาจเป็นปัญหาได้”

เพื่อหลีกเลี่ยงความลังเลใจในการโหวต Yes เธอกล่าวว่าควรมีการลงทุนด้านการศึกษาให้มากขึ้นในโรงเรียนเกี่ยวกับการลงประชามติและรัฐธรรมนูญ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ผู้คนรู้สึกหวาดกลัวเกินไปที่จะทำการเปลี่ยนแปลง

นี่มันงานของนักการเมืองไม่ใช่เหรอ? พวกเขาตัดสินใจกันเองไม่ได้เหรอ?

ในขณะที่บางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สามารถเปลี่ยนข้อความในรัฐธรรมนูญได้โดยไม่ต้องใช้เสียงของประชาชน ดร. คิลเดียกล่าวว่า เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ชาวออสเตรเลียจะต้องแสดงความคิดเห็นในสังคมประชาธิปไตย

“เรานำเรื่องการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญให้อยู่ในมือของประชาชน ซึ่งมีเหตุผลที่ดีสำหรับเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นไปได้มากว่าการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญนั้นจะคงอยู่ตลอดไป หรืออย่างน้อยที่สุดก็จะคงอยู่จะเป็นเวลายาวนานอย่างมาก” ดร. คิลเดีย กล่าว
“สำหรับการเปลี่ยนแปลงขั้นรากฐานเช่นนี้ … มันสมเหตุสมผลแล้วที่เราจะทำให้มันผ่านกระบวนการที่ยากขึ้น และเราจึงต้องขอความชอบธรรมพิเศษที่มาจากคะแนนเสียงของประชาชนเท่านั้น”

ดร.คิลเดียกล่าวว่า การขยายอำนาจให้นักการเมืองเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญได้เป็นเรื่องอันตราย

"หากเราปล่อยเรื่องให้อยู่ในมือของนักการเมือง นั่นเป็นอำนาจที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับพวกเขาที่จะสามารถเปลี่ยนกฎพื้นฐานของชุมชนการเมืองของเรา ที่จะคงอยู่ในอนาคต"

จะเกิดอะไรขึ้นหากการลงประชามติล้มเหลว?

การลงประชามติสามารถจัดขึ้นอีกครั้งได้หากครั้งนี้ไม่สำเร็จ และสามารถใช้คำที่แตกต่างออกไปเพื่อพยายามปรับให้มีโอกาสสำเร็จมากขึ้น

แต่ ศ.ทูมีย์ กล่าวว่า ส่วนใหญ่แล้วการลงประชามติเป็น "เกมที่ยิงนัดเดียว"

“หากชาวออสเตรเลียลงมติไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอ โอกาสที่รัฐบาลต้องการให้ดำเนินการลงประชามติเรื่องนี้อีกครั้งเป็นไปได้น้อย เว้นแต่รัฐบาลจะมั่นใจอย่างมากว่าจะประสบความสำเร็จ” ศ.ทูมีย์ กล่าว

"เมื่อมันไม่ประสบความสำเร็จ คุณต้องทิ้งช่วงไปเป็นระยะนานพอสมควร เพื่อตั้งต้นใหม่ก่อนที่จะลองอีกครั้ง"

แต่เธอกล่าวว่า สิ่งสำคัญคือเราต้องตระหนักว่า รัฐบาลสหพันธรัฐมีแนวโน้มว่าจะไม่จัดการลงประชามติ หากกังวลว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ

"ฉันเชื่อว่า รัฐบาลจะระมัดระวังอย่างมาก โดยพยายามทำให้แน่ใจว่ามีเสียงสนับสนุนจากชุมชนมากอย่างมีนัยสำคัญ ก่อนที่จะมีการลงประชามติจริงๆ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่ว่านั้น"

การลงประชามติเป็นหน้าที่ภาคบังคับหรือเปล่า?

เป็นหน้าที่ภาคบังคับ เช่นเดียวกับการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ชาวออสเตรเลียที่มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งทุกคนจะต้องไปลงประชามติ หากไม่ได้ลงคะแนนเสียงโดยไม่มีคำอธิบายที่สมเหตุสมผล ก็อาจถูกปรับ 20 ดอลลาร์
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 27 February 2023 2:27pm
By Rayane Tamer
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand