รัฐบาลมอร์ริสันถูกวิจารณ์ท่าทีต่อการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ

สภาสหภาพแรงงานแห่งออสเตรเลียวิจารณ์โจมตีรัฐบาลที่แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราสูง

Prime Mininister Scott Morrison.

Australian Prime Minister Scott Morrison. Source: AAP

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลมอร์ริสันออกมาเตือนให้ใช้ความระมัดระวังในการพิจารณาข้อเสนอปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำของออสเตรเลีย โดยอ้างอิงข้อกังวลเรื่องการสร้างตำแหน่งงาน

รัฐบาลตั้งข้อสังเกตถึงแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังไม่มีความแน่นอนทั้งภายในประเทศและทั่วโลก โดยระบุในเอกสารที่ยื่นต่อคณะกรรมาธิการด้านการจ้างงานที่เป็นธรรม หรือ แฟร์เวิร์ก (Fair Work Commission) เพื่อประกอบการพิจารณาทบทวนรายปีว่า

“ต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้นในช่วงเวลาอันท้าทายเช่นนี้ อาจสร้างข้อจำกัดอย่างยิ่งต่อการฟื้นฟูธุรกิจรายย่อย และอาจทำให้การจ้างงานในภาคส่วนนี้ยิ่งซบเซาลง”

รัฐบาลเสนอให้ใช้แนวทาง “ระมัดระวัง” ที่ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างตำแหน่งงานและความสามารถในการอยู่รอดของธุรกิจผ่านแผนดำเนินงานฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตไวรัสโคโรนา

“ความเสี่ยงจากการระบาดในประเทศและอุปสรรคขัดขวางที่เกิดขึ้นกับหลายประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ หมายความว่า สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจยังคงไม่มีความแน่นอน” รัฐบาลระบุ

“แม้จะเริ่มกระจายวัคซีนแล้ว แต่การระบาดของโควิด-19 ที่อาจทำให้ต้องใช้มาตรการควบคุมเพิ่มเติมนั้นยังคงเป็นความเสี่ยงที่สำคัญ”
สภาสหภาพแรงงานแห่งออสเตรเลีย (Australian Council of Trade Unions: ACTU) ซึ่งผลักดันการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มอีก 26 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์ ออกมาโจมตีเอกสารท่าทีของรัฐบาล

นายสกอตต์ คอนนอลลี (Scott Connolly) ผู้ช่วยเลขาธิการสภาสหภาพแรงงาน กล่าวว่า บริษัทห้างร้านมีกำไรเพิ่มขึ้น แต่พรรคร่วมรัฐบาลกลับต้องการให้อัตราค่าจ้างถดถอยลงในทางปฏิบัติ

“อย่าหลงเข้าใจผิดไป ถึงรัฐบาลจะไม่กล้ากล่าวออกมาตรง ๆ แต่วันนี้รัฐบาลไฟเขียวให้คณะกรรมาธิการแฟร์เวิร์กแช่แข็งค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งเป็นที่พึ่งพิงของแรงงานกว่า 1 ใน 5 นายคอนนอลลีกล่าวเมื่อวันอังคาร (6 เม.ย.)

[รัฐบาลบอกว่า]เลิกโครงการจ๊อบคีพเปอร์ได้เพราะเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว แต่แรงงานกลับไม่ควรได้ค่าจ้างเพิ่มเพราะเศรษฐกิจยังคงสั่นคลอน พวกเขาจะเหมาเอาทั้งสองทางแบบนี้ไม่ได้”

ค่าจ้างขั้นต่ำของออสเตรเลียปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.75 มาอยู่ที่ 753.80 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์ หลังการพิจารณาทบทวนเมื่อปีที่แล้ว แต่สำหรับแรงงานส่วนใหญ่การปรับเพิ่มเป็นไปโดยล่าช้า บ้างไม่ต่ำกว่าสามเดือน

เมื่อปี 2019 ค่าแรงขั้นต่ำปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ซึ่งลดลงจากอัตราปีก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5
สหพันธ์เกษตรกรแห่งชาติ (National Farmers Federation) ต้องการให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไว้เท่าเดิมจนกว่าเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นและตลาดมีความผันผวนลดลง โดยเน้นย้ำว่า การฟื้นฟูเศรษฐกิจจำเป็นต้องมาควบคู่กับการกระจายวัคซีนไวรัสโคโรนา

แรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนักจากสถานการณ์โรคระบาด ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีก ร้านอาหาร โรงแรมและที่พัก ศิลปะ นันทนาการ การท่องเที่ยว และการบิน ปีที่แล้วต้องรอปรับค่าจ้างเพิ่ม โดยเพิ่งได้รับอัตราใหม่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

สมาคมผู้ค้าปลีกแห่งออสเตรเลีย (National Retail Association) ยังเรียกร้องให้ชะลอการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับแรงงานในภาคธุรกิจค้าปลีกไปจนถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน

ส่วนสมาคมอุตสาหกรรมร้านอาหารและธุรกิจจัดเลี้ยงแห่งออสเตรเลีย (Restaurant & Catering Industry Association of Australia) เสนอว่า คณะกรรมาธิการแฟร์เวิร์กควรคงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเดิมไว้ หากตัดสินใจประกาศเริ่มใช้นโยบายใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 
เรื่องราวที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย

ออสฯ เล็งเพิ่มคลินิกฉีดวัคซีนอีกเท่าตัวสัปดาห์นี้


Share
Published 7 April 2021 12:13pm
By SBS News
Presented by Phantida Sakulratanacharoen
Source: AAP, SBS


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand