วิบากกรรมสอบภาษาอังกฤษยื่นวีซ่า: เตรียมสอบไม่ดี หรือระบบมีช่องโหว่

นักศึกษาและผู้อพยพในระบบวีซ่าที่มีการนับแต้มทักษะ ตั้งข้อสงสัยการสอบวัดระดับทักษะภาษาอังกฤษว่าอาจมีความบกพร่องจนเสียเปรียบ คะแนนไม่ดีขึ้นแม้ไปสอบใหม่ เช่นเดียวกับหญิงอินเดียรายหนึ่งที่ต้องสอบถึง 67 ครั้ง ด้านบริษัทจัดสอบปฏิเสธข้อกังขาแนะไปเตรียมตัวสอบให้ดี

TOEFL-PBT results are no longer accepted for Australian student visas.

Source: Getty Images

ซิมรัน (ชื่อสมมุติ) นักศึกษาต่างชาติจากประเทศอินเดีย ต้องเข้าทำแบบทดสอบทักษะภาษาอังกฤษมากถึง 67 ครั้ง ก่อนที่จะได้คะแนนจนผ่านเกณฑ์ในการขอรับสถานะประชากรถาวรออสเตรเลีย (พีอาร์) เธอเล่าว่า ต้องเสียเงินไปนับหมื่นดอลลาร์และเวลาสองปีเต็มในออสเตรเลีย รวมถึงพลาดโอกาสในตำแหน่งงานรายได้ดี

“จนถึงเดือนกรกฎาคมนี้ การผ่านแบบทดสอบภาษาอังกฤษของเพียร์สัน (Pearson’s Test of English หรือ PTE) คือเรื่องหนักอึ้งในชีวิต ฉันต้องอ่านหนังสือทั้งวันทั้งคืน แต่ก็ไม่ได้คะแนนตามที่ต้องการเสียที ฉันเริ่มรู้สึกว่าทำอะไรก็ล้มเหลวไปทุกอย่าง และก็เริ่มหายหน้าหายตาจากการพบปะคนในสังคม” ซิมรัน​ ซึ่งได้รับผลการทดสอบภาษาอังกฤษตามที่ต้องการในเดือนกรกฎาคม 2019 กล่าว

แต่ยิ่งไปกว่านั้น ก่อนที่เธอจะย้ายมายังออสเตรเลียในปี 2012 เธอเป็นผู้ฝึกสอนนักศึกษาในอินเดีย ในการทำแบบทดสอบภาษาอังกฤษ PTE และ IELTS

แต่กว่าที่เธอจะผ่านการทดสอบภาษาอังกฤษ PTE เธอหมดเงินไปกับค่าสมัครสอบและการกวดวิชาเป็นเงินมากกว่า 35,000 ดอลลาร์ เธอต้องทำแบบทดสอบถึง 67 ครั้ง กว่าจะได้รับคะแนนในระดับที่ผ่านเกณฑ์ และสามารถนำไปสมัครขอรับสถานะประชากรถาวรออสเตรเลียร่วมกับสามีของเธอ ซึ่งอาศัยอยู่ในออสเตรเลียในฐานะคู่สมรสอุปถัมภ์ (dependent spouse)

เมื่อเธอเดินทางมายังออสเตรเลีย ซิมรันตามฝันของเธอเพื่อที่จะศึกษาต่อในระดับปริญญาโทสาขาการบัญชีและทำงานไปด้วย ความหวังในการทำให้ออสเตรเลียเป็นบ้านตามที่เธอใฝ่ฝันนั้นดูสดใสในตอนแรก แต่แล้วแสงสว่างของความหวังก็ถูกเมฆดำบังบด เมื่อเธอต้องทำแบบทดสอบภาษาอังกฤษซ้ำแล้วซ้ำเล่า

“การที่ฉันสอบไม่ผ่าน อาจเป็นเพราะงานที่ฉันทำ ฉันไม่สามารถทุ่มเวลาและพลังอย่างเพียงพอเพื่อการสอบ PTE ฉันก็เลยลาออกจากงานที่ทำ” ซิมรันเล่า พร้อมเสริมว่า การตัดสินใจของเธอในตอนนั้น ทำให้สถานะทางการเงินของครอบครัวที่เปราะบางอยู่แล้วระสำระส่ายขึ้นไปอีก
IELTS
การสอบ IELTS จะเป็นการวัดระดับทักษะภาษาอังกฤษ สำหรับผู้ที่ต้องการทำงาน ศึกษาต่อ หรือทำงานโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาในการสื่อสาร Source: IELTS
เธอพยายามทำทุกอย่าง แม้กระทั่งเดินทางกลับไปอินเดียเพื่อไปเตรียมตัวสอบ

“ต้องขอบคุณสามีของฉันที่ไม่เคยถอดใจ แม้ฉันจะสอบไม่ผ่านอยู่หลายครั้ง ตอนนั้นรู้สึกอยู่อย่างเดียวว่าถูกรังแก เพื่อนฉันหลายคนก็เหมือนกันหมด คือไม่เข้าใจว่าทำไมพวกเราหลายคนไม่ได้คะแนนนตามที่ต้องการ มีเพียงคนอพยพอย่างเราที่รู้ว่าต้องดิ้นรนขนาดไหนในการจ่ายค่าสมัครสอบครั้งแล้วครั้งเล่า” ซิมรันเล่า

ค่าสมัครทดสอบทักษะภาษาอังกฤษของเพียร์สัน หรือ PTE นั้นอยู่ที่ $340 ดอลลาร์ต่อครั้ง

ความกังวลที่หลายคนพบเจอ

ซิมรันไม่ใช่เพียงคนเดียวในกรณีดังกล่าว เช่นเดียวกับนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยหลาย ๆ คน ที่ต้องการจะได้รับสถานะประชากรถาวรออสเตรเลีย ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีคะแนนในการทดสอบภาษาอังกฤษในระดับที่ผ่านเกณฑ์ ก่อนที่จะสามารถยื่นขอรับสถานะประชากรถาวร (พีอาร์) โดยขึ้นอยู่ทักษะของผุ้อพยพย้ายถิ่นแต่ละบุคคล

แต่อย่างไรก็ตาม แค่การทดสอบทักษะภาษาอังกฤษเพียงอย่างเดียวก็อาจเป็นการเดินทางที่ยาวนาน ซึ่งต่อมากลายเป็นทุกสิ่งทุกอย่างสำหรับหลายคนที่ต้องการสถานะพีอาร์ที่จะต้องผ่านไปให้ได้ แต่ก็กลายเป็นจุดจบของความฝันสำหรับอีกหลายคนเช่นกัน

ภายใต้ระบบคัดเลือกผู้อพยพย้ายถิ่นมายังออสเตรเลียด้วยระบบแต้มทักษะนั้น ผู้ที่มีทักษะภาษาอังกฤษสูงจะได้รับแต้มมากขึ้น การทดสอบทักษะภาษาอังกฤษในออสเตรเลียอย่าง PTE และ IELTS สามารถเพิ่มแต้มทักษะให้กับผู้อพยพย้ายถิ่นได้สูงสุด 20 แต้ม

จากการสัมภาษณ์นักศึกษาต่างชาติโดยเอสบีเอส ภาคภาษาปัญจาบ นักศึกษาหลายคนบอกว่า การทดสอบทักษะภาษาอังกฤษเป็นการเดินทางสู่จุดหมายที่ยากที่สุด โดยอุปสรรคหลัก ๆ ที่พวกเขาพบเจอ คือ พวกเขาไม่สามารถได้รับคะแนนการทดสอบทักษะภาษาอังกฤษ ทั้ง PTE และ IELTS ได้ตามต้องการจนต้องไปสอบใหม่หลายครั้ง ถึงแม้จะได้รับการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อในอินเดีย และได้รับการศึกษาในมหาวิทยาลัยของออสเตรเลียก็ตาม

จากการสัมภาษณ์นักศึกษาต่างชาติ 27 คน มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ได้คะแนนในระดับผ่านเกณฑ์ด้วยการสอบเพียงครั้งเดียว

ปัจจุบัน มีนักศึกษาจำนวนมากที่เลือกทำแบบทดสอบภาษาอังกฤษ PTE มากกว่า IELTS เพราะรู้สึกว่ามีความ “เป็นรูปธรรม” และ “ไม่เอนเอียง” เนื่องจากใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการตรวจข้อสอบและให้คะแนนแทนมนุษย์ แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลออสเตรเลียให้น้ำหนักกับแบบทดสอบทั้งสองชนิดอย่างเท่าเทียมกัน

การให้คะแนนของแบบทดสอบ IELTS จะเป็นระดับ (Band) ตั้งแต่ 0 – 9 ซึ่งแตกต่างจากแบบทดสอบของ PTE ซึ่งให้คะแนนเป็นแต้มตั้งแต่ 0 - 90 ส่วนขั้นตอนการทดสอบนั้น ทั้งสองชนิดมี 4 กระบวนการเช่นกัน คือ การอ่าน การเขียน การพูด และการฟัง

'การสอบใหม่จะไม่ทำให้คะแนนดีขึ้น'

ซาชา แฮมป์สัน (Sasha Hampson) หัวหน้าศูนย์ทดสอบภาษาอังกฤษเพียร์สันภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “ผู้เข้ารับการทดสอบจะได้รับการประเมินคะแนน บนพื้นฐานของประสิทธิภาพของพวกเขาในวันที่เข้ารับการทดสอบ โดยคะแนนในการทดสอบในแต่ละครั้งจะไม่เกี่ยวข้องกับคะแนนที่ได้จากการสอบในครั้งที่ผ่านมา 

เธอเสริมว่า มีเพียงร้อยละ 1 ของผู้เข้าสอบทั้งหมดที่เข้ารับการทดสอบ PTE ซ้ำเกิน 30 ครั้งขึ้นไป อย่างไรก็ตาม เธอปฏิเสธที่จะเปิดเผยจำนวนผู้เข้าสอบ PTE ทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่า เป็นข้อมูลที่ “มีความอ่อนไหวทางการค้า”

นางแฮมป์สันยังได้เน้นอีกว่า แม้การสอบ PTE จะไม่มีเกณฑ์ว่า “ผ่านหรือไม่ผ่าน” แต่การใช้คะแนนของ PTE ประกอบขั้นตอนการอพยพย้ายถิ่นของออสเตรเลียโดยทั่วไป จำเป็นจะต้องมีคะแนนตั้งแต่ 65 – 79 เป็นต้นไป    

ด้าน นายวอร์วิก ฟรีแลนด์ (Warwick Freeland) กรรมการผู้จัดการ IELTS จาก IDP Education กล่าวว่า ผู้เข้าสอบควรเตรียมตัวให้พร้อมก่อนเข้าทำแบบทดสอบ

“ผู้เข้าสอบ IELTS ส่วนมากที่มาเข้าสอบนั้นมาสอบวัดระดับเพียงครั้งเดียว หากพวกเขาไม่ได้คะแนนตามที่ต้องการ พวกเขาควรหยุด และขอรับความช่วยเหลือจากทีมผู้เชี่ยวชาญของเรา เพื่อให้เข้าใจได้ดีขึ้นว่าควรที่จะปรับปรุงในส่วนใด มากกว่าการไปทำแบบทดสอบซ้ำ ๆ และคาดหวังผลลัพธ์ที่แตกต่าง” นายฟรีแลนด์กล่าวกับเอสบีเอส ภาคภาษาปัญจาบ

นายฟรีแลนด์เน้นย้ำว่า มันเป็นเรื่องจำเป็นที่ผู้ที่จะเข้าสอบต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจกับรูปแบบของข้อสอบ แต่เตรียมตัวให้พร้อมไว้ล่วงหน้า
IELTS exam sheet
Source: Alberto G. on Flickr
อย่างไรก็ตาม มีผู้เข้าสอบบางส่วนที่มองว่า รูปแบบข้อสอบและระบบการให้คะแนนเป็นอุปสรรค์กั้นขวางความสำเร็จของพวกเขา

เมื่อ ‘ชีวิตคู่’ ถูกตัดสินด้วยผลสอบ

กัลดีพ (ชื่อสมมุติ) มีความฝันที่มาอาศัยอยู่ในออสเตรเลีย เมื่อเขาเลือกที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยในออสเตรเลียเมื่อปี 2015 แต่การเติมเต็มความฝันจะยังไม่สำเร็จ จนกว่าเขาจะผ่านการสอบทักษะภาษาอังกฤษแบบ PTE ซึ่งจะทำให้เขาสามารถยื่นขอสถานะพีอาร์ได้

กัลดีพ สำเร็จการศึกษาแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา และได้พยายามสอบทักษะภาษาอังกฤษ PTE ถึง 11 ครั้ง เขาเล่าว่า เขาไม่เข้าใจเกณฑ์การให้คะแนนของปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้ในการตรวจข้อสอบ

“ผมจะได้คะแนนดีในหัวข้อการวัดระดับส่วนมาก แต่จะได้คะแนนน้อยในหัวข้อหนึ่ง เมื่อผมไปสอบใหม่อีกครั้ง ผมตกใจมากที่พบว่า คะแนนในหัวข้อวัดผลที่ผมทำได้ดีในครั้งก่อนกลับลดลงมา” กัลป์ดีพกล่าว ระหว่างที่กำลังรอผลสอบ PTE ครั้งล่าสุด และหวังว่าคะแนนจะผ่านเกณฑ์ เพื่อที่จะได้ไปสมัครของรับสถานะพีอาร์ได้

“ผมหมั้นกับคู่ครองของผมมาเกือบ 1 ปีแล้ว ครอบครัวของคู่หมั้นผมยืนกรานว่า การแต่งงานของเราจะเกิดขึ้นได้หลังจากที่ผมได้เป็น PR ชีวิตผมในตอนนี้ขึ้นอยู่กับผลสอบ PTE ระบบที่เราติดอยู่ในตอนนี้กำลังให้คุณค่าไปที่การทดสอบทักษะภาษาอังกฤษอย่างมาก”

ว่าด้วยเรื่องคะแนนสอบ

ผู้เข้าสอบวัดระดับทักษะภาษาอังกฤษหลายคนที่สอบ PTE หรือ IELTS หลาย ๆ รอบ บอกว่า พวกเข้าไม่เข้าใจระบบการให้คะแนนและรูปแบบการทดสอบได้ ซึ่งนายฟรีแลนด์จาก IDP แนะนำว่า ความเข้าใจในเรื่องนี้ จะเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จในการสอบวัดระดับ

นักศึกษาที่มาเข้าสอบวัดระดับทักษะภาษาอังกฤษส่วนมาก ขาดคะแนนไปเพียง 1 – 2 คะแนน ก็จะได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ หลายคนเชื่อว่า คะแนนการทดสอบใน 4 กลุ่มทักษะนั้น ดูเหมือนจะเป็นการสลับตัวเลขคะแนนในแต่ละกลุ่มทักษะ เมื่อนำผลสอบมาเทียบกันกับคะแนนในครั้งก่อน   

ตัวอย่างเช่น เมื่อซิมรันบอกว่า ในการสอบครั้งหนึ่ง เธอได้คะแนน 17 จาก 90 ในหมวดการสะกดคำ แต่ได้ 90 จาก 90 ในหมวดการเขียน ทำให้เธอเกิดคำถามว่า คะแนนการเขียนเธอดีได้อย่างไร ในเมื่อการสะกดคำเป็นสิ่งที่เธอไม่ถนัด 

นายฟรีแลนด์ได้กล่าวในส่วนนี้ว่า “เช่นเดียวกับการสอบใด ๆ ก็ตาม แต่ละคนมีปัจจัยเฉพาะตัวที่อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพในวันที่ทำแบบทดสอบ การสอบ IELTS นั้นมีการเดิมพันที่สูง เรารู้ดีว่ามันเป็นเรื่องน่ากังวล” 

ทั้งนายฟรีแลนด์ และนางแฮมป์สัน ได้แนะนำให้ผู้ที่จะเข้าสอบใช้ความช่วยเหลือที่อยู่บนเว็บไซต์ของแบบทดสอบทักษะภาษาอังกฤษทั้งสองให้เป็นประโยชน์

ทั้งนี้ ในส่วนของการสอบ PTE นางแฮมป์สันกล่าวว่า การเข้าสอบซ้ำ ๆ โดยเฉพาะถ้าห่างจากการสอบครั้งก่อนไม่มาก ไม่ใช่วิธีที่ได้ผลในการทำให้คะแนนสอบนั้นดีขึ้น

ข้อด้อยในการสอบพูดภาษาอังกฤษ

ผู้เข้าสอบหลายคนตั้งข้อสงสัยว่า อาจมี “ช่องโหว่” ในการให้คะแนนการทดสอบการพูดของแบบทดสอบทักษะภาษาอังกฤษ PTE และ IELTS

กัลดีพแสดงความกังวลว่า เสียงรอบข้างในระหว่างการทดสอบในห้องสอบนั้น ส่งผลกระทบในแง่ลบในขั้นตอนการทดสอบการพูด ของแบบทดสอบทักษะภาษาอังกฤษ PTE 

“หากการสอบการพูดทำในห้องเก็บเสียง ก็จะเป็นผลดีต่อนักศึกษา เพราะบ่อยครั้งที่ไมค์โครโฟนจะจับเสียงของผู้เข้าสอบคนอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้กับคุณ เนื่องจากไม่มีระบบตัดเสียงรอบข้างอย่างเพียงพอ” กัลดีพกล่าว พร้อมเน้นว่า นี่เป็นส่วนที่บกพร่องมากที่สุดในระบบการให้คะแนนการทดสอบทักษะภาษาอังกฤษแบบ PTE        

ขณะที่นักศึกษาคนอื่น ๆ เชื่อว่า พวกเขาได้รับคะแนนในส่วนการพูดไม่ดี เพราะสำเนียงจากภาษาแม่ที่ปนอยู่ในการพูดภาษาอังกฤษ

สำหรับการสอบแบบ PTE นางแฮมป์สันปฏิเสธอย่างเต็มที่ต่อความเข้าใจในส่วนนี้ และกล่าวว่า โครงสร้างโปรแกรมการให้คะแนนในส่วนของการพูดของ PTE นั้นได้รับการฝึกฝนจากกลุ่มภาษามากถึง 120 กลุ่ม และสามารถรับรู้ภาษาอังกฤษได้ในหลายสำเนียง

เธอเสริมว่า “มีผู้เข้าสอบ PTE เชื้อชาติอินเดียเป็นจำนวนมากกว่าเชื้อชาติใด ๆ ในโลก”

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 24 January 2020 12:29pm
Updated 7 March 2020 8:33pm
By Ruchika Talwar
Presented by Tinrawat Banyat
Source: SBS Punjabi

Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand