1 ใน 3 ของผู้หญิงทั่วโลกเป็นเหยื่อความรุนแรง

องค์การอนามัยโลกชี้ ผู้หญิงทั่วโลกเกือบ 1 ใน 3 เคยถูกใช้ความรุนแรงทางกายหรือทางเพศในช่วงชีวิต และพฤติกรรมรุนแรงเช่นนี้ยิ่งพบมากขึ้นช่วงโรคระบาด

A file photo of women and children walking down a street in Rizal, Philippines on 16  January, 2021.

A file photo of women and children walking down a street in Rizal province, Philippines on 16 January, 2021. Source: Getty

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) รายงานว่า 1 ใน 3 ของผู้หญิงมีประสบการณ์ถูกใช้ความรุนแรงทางกายหรือถูกข่มเหงทางเพศ ซึ่งการระบาดของไวรัสโคโรนาทำให้ปัญหานี้ยิ่งร้าวลึกขึ้น

พบว่า ราวร้อยละ 30 ของผู้หญิงอายุ 15 ปีขึ้นไป หรือประมาณ 736 ล้านคน เคยเผชิญความรุนแรงลักษณะนี้ในช่วงชีวิต ส่วนใหญ่จากน้ำมือของคู่ครองหรือคนรัก

“ความรุนแรงต่อสตรีพบในทุกประเทศทุกวัฒนธรรม ทำร้ายผู้หญิงหลายล้านคนรวมถึงครอบครัวของพวกเธอ” ดร.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ระบุในถ้อยแถลง พร้อมทั้งเสริมว่าปัญหานี้ “ยิ่งทรุดหนักจากภาวะโรคระบาดโควิด-19”
ดร.คลอเดีย การ์เซีย-โมรีโน (Claudia Garcia-Moreno) ผู้เขียนร่วมของรายงาน ยอมรับว่าผู้เชี่ยวชาญยังรอข้อมูลฉบับสมบูรณ์ที่แสดงให้เห็นผลกระทบของโรคระบาด แต่ชัดเจนว่าวิกฤตทางสาธารณสุขครั้งนี้ส่งผลเชิงลบ

“เราทราบว่าสำหรับผู้หญิงหลายคน สถานการณ์อาจย่ำแย่ลง” ดร. การ์เซีย-โมรีโน กล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี

ขณะเดียวกัน แรงกดดันและความเครียดจากการอยู่บ้านกับบุตรหลานตลอดจนปัญหาท้าทายอื่น ๆ ยังเพิ่มความเสี่ยงให้การข่มเหงทารุณปะทุขึ้นใหม่อีกด้วย

“ผู้หญิงที่อยู่ในสถานการณ์ความรุนแรงถูกกักขังอยู่ในสถานการณ์เหล่านั้น... ฉับพลันทันใดพวกเธอก็กลับโดดเดี่ยวกว่าเดิม และต้องเผชิญหน้ากับคู่ครองที่ใช้ความรุนแรงอยู่ตลอด”

‘สูงเกินยอมรับ’

รายงานฉบับดังกล่าวใช้ข้อมูลจากทั่วโลกช่วงปี 2000-2018

ดร.การ์เซีย-โมรีโน กล่าวว่าเป็นที่ชัดเจนว่า “อัตรา[การใช้ความรุนแรง]สูงเกินยอมรับได้ และต้องมีการดำเนินการโดยเร่งด่วน”

การข่มเหงทารุณโดยคู่ครองคือรูปแบบความรุนแรงต่อสตรีที่พบมากที่สุดทั่วโลก ส่งผลต่อร้อยละ 26 ของผู้หญิงและวัยรุ่นอายุ 15 ปีขึ้นไป

ผู้หญิงร้อยละ 6 เคยถูกประทุษร้ายทางเพศโดยบุคคลอื่นที่ไม่ใช่สามีหรือคู่ครอง

รายงานยังระบุด้วยว่า การตีตราทางสังคมในประเด็นนี้อาจหมายความว่าตัวเลขที่แท้จริงน่าจะสูงกว่านี้มาก
ผลการศึกษาที่น่ากังวลข้อหนึ่งคือ ความรุนแรงที่กระทำโดยคู่ครองมักเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ของชีวิต เกือบ 1 ใน 4 ของวัยรุนหญิงอายุ 15-19 ปีที่เคยอยู่ในความสัมพันธ์เคยถูกแฟนหนุ่มใช้ความรุนแรงทางกายหรือทางเพศ

“น่าหวั่นใจอย่างยิ่งที่ความรุนแรงซึ่งผู้ชายกระทำต่อผู้หญิงนั้น นอกจากไม่ลดน้อยลงแล้วยังปรากฏในรูปแบบเลวร้ายที่สุดต่อหญิงสาวอายุ 15-24 ปีที่อาจเป็นแม่วัยรุ่นด้วย นั่นคือสถานการณ์ก่อนคำสั่งห้ามออกจากบ้านช่วงโรคระบาด เราทราบว่าผลกระทบมากมายจากโควิด-19 ก่อให้เกิด ‘โรคระบาดเงา’ หรือก็คือจำนวนรายงานความรุนแรงทุกรูปแบบต่อผู้หญิงที่เพิ่มมากขึ้น” นาง Phumzile Mlambo-Ngcuka ผู้อำนวยการบริหารองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) กล่าว

“ทุกรัฐบาลควรดำเนินการอย่างเข้มแข็งในเชิงรุกเพื่อแก้ไขปัญหานี้ และให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมด้วย”

ดร.การ์เซีย-โมรีโน กล่าวว่า แม้ระดับความรุนแรงต่อสตรีจะ “สูงเกินยอมรับไม่ว่าที่ใดก็ตาม” แต่ยังคงมีความแตกต่างชัดเจนระหว่างภูมิภาค
โดยทั่วไป ประเทศยากจนเผชิญระดับความรุนแรงสูงกว่าประเทศที่ร่ำรวยกว่า รายงานระบุว่าภูมิภาคโอเชียเนียมีอัตราสูงที่สุด โดยผู้หญิงอายุ 15-49 ปีสูงสุดถึงร้อยละ 51 มีประสบการณ์ความรุนแรงจากคู่ครองในช่วงชีวิต

ความรุนแรงเช่นนี้พบในระดับสูงเช่นกันในเอเชียใต้และแอฟริกาทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา ขณะที่ยุโรปใต้มีอัตราต่ำสุดที่ร้อยละ 16

“นี่อาจสะท้อนให้เห็นบางส่วนของความสามารถของผู้หญิงในการออกจากความสัมพันธ์รุนแรง ระดับการเข้าถึงบริหารและความคุ้มครองทางกฎหมาย” ดร.การ์เซีย-โมรีโนกล่าว

ด้าน ดร.ทีโดรส ย้ำความจำเป็นที่ต้องมีการดำเนินการเร่งด่วนเพื่อรับมือปัญหานี้ โดยกล่าวว่า “ความรุนแรงต่อสตรีต่างจากโควิด-19 ตรงที่หยุดยั้งด้วยวัคซีนไม่ได้” หากแต่รัฐบาลและชุมชนต้องพยายาม “ปรับเปลี่ยนทัศนคติอันตราย ปรับปรุงการเข้าถึงโอกาสและบริการสำหรับสตรีและเด็กหญิง รวมถึงบ่มเพาะความสัมพันธ์ที่ดี ที่เคารพซึ่งกันและกัน”
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 27 May 2021 6:24pm
By SBS News
Presented by Phantida Sakulratanacharoen
Source: AFP, SBS


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand