'คำสั่งคุ้มครองจากความรุนแรงในครอบครัว' คืออะไร

could_the_coronavirus_pandemic_see_more_people_suffer_from_domestic_violence

Source: EyeEm

'คำสั่งคุ้มครองจากความรุนแรงในครอบครัว' เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเพื่อใช้ป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกกระทำรุนแรงต่อไป คำสั่งคุ้มครองคืออะไร ยื่นคำร้องขอได้อย่างไร เอสบีเอส นิวส์ มีคำอธิบายจากผู้เชี่ยวชาญ


ประเด็นสำคัญ

  • คำสั่งคุ้มครองจากความรุนแรงในครอบครัว มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวจากการถูกกระทำรุนแรงเพิ่มเติมจากเดิม
  • กระบวนการยื่นคำร้องขอคำสั่งคุ้มครองมีขั้นตอนแตกต่างกันไปแล้วแต่รัฐและมณฑล
  • คำสั่งคุ้มครองจะระบุเงื่อนไขให้ผู้ต้องหาปฏิบัติตาม หากพิสูจน์ได้ว่าฝ่าฝืนเงื่อนไขอาจมีโทษปรับหรือจำคุก

คำสั่งคุ้มครองจากความรุนแรงในครอบครัว มีชื่อเรียกต่างกันในแต่ละรัฐ

  • Domestic Violence Order (รัฐควีนส์แลนด์ มณฑลนครหลวงออสเตรเลีย และมณฑลนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี)
  • Intervention Order (รัฐวิกตอเรียและรัฐเซาท์ออสเตรเลีย)
  • Apprehended Domestic Violence Order (รัฐนิวเซาท์เวลส์)
  • Family Violence Order (รัฐแทสมาเนีย)
  • Family Violence Restraining Order (รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย)
ทั้งหมดมีวัตถุประสงค์เดียวกันคือ เพื่อคุ้มครองเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวจากการกระทำทารุณ ข่มเหง หรือคุกคามเพิ่มเติมจากเดิม

คุณนาตาชา แมกรอว์ (Natasha McGrow) ทนายความที่ปรึกษาประจำศูนย์บริการด้านกฎหมายสำหรับสตรี รัฐควีนส์แลนด์ (Women's Legal Service Queensland) กล่าวว่า สัญญาณบ่งชี้ว่ากรณีใดควรใช้คำสั่งคุ้มครองจากความรุนแรงในครอบครัวขึ้นอยู่กับสภาวการณ์แวดล้อม แต่มักมีจุดร่วมกันอย่างหนึ่ง

"ถ้ามีอะไรทำให้คุณรู้สึกกลัว ไม่สบายใจ วิตกกังวล รู้สึกว่าอาจเกิดเรื่องเลวร้ายหรืออาจถูกทำร้าย หรือกังวลความปลอดภัยของลูก นั่นอาจเป็นสัญญาณว่าคุณควรทำอะไรสักอย่างได้แล้ว" คุณแมกรอว์กล่าว
กระบวนการยื่นคำร้องขอคำสั่งคุ้มครองจากความรุนแรงในครอบครัวมีขั้นตอนแตกต่างกันไปแล้วแต่รัฐและมณฑล

คุณจาโคบา บราส์ช (Jacoba Brasch) ประธานสภาทนายความแห่งออสเตรเลีย กล่าวว่า การเริ่มกระบวนการยื่นคำร้องทำได้ผ่านสองแนวทางหลัก

"วิธีปกติคือ เพื่อนบ้านหรือตัวคุณเรียกตำรวจ จากนั้นตำรวจจะประเมินสถานการณ์ แล้วยื่นคำร้องขอคำสั่งคุ้มครองในนามของคุณ หรือคุณอาจไปกรอกแบบฟอร์มที่ศาลด้วยตัวเองหรือทางออนไลน์ และคุณสามารถยื่นคำร้องเป็นการส่วนตัวได้" คุณบราส์ช อธิบาย

สำหรับผู้ที่ต้องการยื่นคำร้องเป็นการส่วนตัว ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าควรขอคำปรึกษาจากบริการช่วยเหลือด้านความรุนแรงในครอบครัวก่อน เพื่อให้มั่นใจว่าจะเป็นแนวทางดำเนินการที่ปลอดภัยที่สุด

คุณมีฮาล มอร์ริส (Michal Morris) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ inTouch ศูนย์พหุวัฒนธรรมต่อต้านการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งทำงานร่วมกับผู้หญิงที่เป็นผู้อพยพย้ายถิ่นฐานหรือผู้ลี้ภัย เล่าว่า

"สิ่งที่เราทำเมื่อมีผู้หญิงมาขอความช่วยเหลือคือ เราจะนั่งฟังเรื่องราวของเธอ เราจะให้เวลาเธอเล่าประสบการณ์ของเธอ จากนั้นเจ้าหน้าที่ของเราจะประเมินสถานการณ์ของเธอ ดูว่าอะไรคือจุดเสี่ยง ช่วยให้เธอปลอดภัยขึ้น"
Be of those who lend a hand where they can
Closeup shot of two unrecognizable people holding hands in comfort Source: Getty Images
"คำสั่งคุ้มครองจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่เราสามารถใช้ประเมินความเสี่ยงได้ กล่าวคือ หากมีคำสั่งศาลแล้วผู้หญิงคนนี้จะอยู่ในสถานะปลอดภัยขึ้นหรือไม่ ซึ่งถ้าเราและเจ้าตัวเชื่อว่าจะเป็นเช่นนั้น เราจะช่วยกันทำเรื่องขอคำสั่งศาล"

คุณมอร์ริสยังเพิ่มเติมอีกว่า ผู้หญิงที่มาขอรับการสนับสนุนจาก inTouch ราวร้อยละ 40 มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว (Interim Intervention Order) อยู่แล้ว

"นอกจากกลุ่มนี้ ยังมีอีกประมาณร้อยละ 10 ที่มาหาเราโดยยังไม่มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว แต่เมื่อเราคุยกับพวกเธอ พิจารณาเป้าหมายและเรื่องราวของพวกเธอแล้ว เราเชื่อว่าพวกเธอควรได้รับคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว" คุณมอร์ริสกล่าว

เมื่อยื่นคำร้องขอคำสั่งคุ้มครองจากความรุนแรงในครอบครัว หากกระทำเป็นการส่วนตัวมีหลักฐานหลายประเภทที่ใช้ประกอบคำร้องได้

คุณนาตาชา แมกรอว์ แนะนำว่า ภาพถ่ายรอยแผลบนร่างกายหรือความเสียหายต่อทรัพย์สินอาจใช้เป็นหลักฐานได้

"ถ้าคุณมีภาพบันทึกหน้าจอข้อความเชิงข่มขู่หรือเหยียดหยาม นี่ก็เป็นหลักฐานได้เช่นกัน ในแง่การข่มเหงทางการเงิน คุณอาจแสดงหลักฐานว่ามีการถอนเงินออกจากบัญชีไปใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่สมควร หรือตัวคุณเองไม่มีอำนาจบริหารจัดการเงินเลย"
คุณโทมัส สปอว์ (Thomas Spohr) นักกฎหมายจาก Legal Aid NSW หน่วยงานให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายของรัฐนิวเซาท์เวลส์

กล่าวว่า คำสั่งคุ้มครองจะระบุเงื่อนไข (condition) ว่าผู้ต้องหา (defendant) ควรปฏิบัติตัวอย่างไร

"เงื่อนไขอาจระบุว่า ผู้ต้องหาต้องไม่ทำร้าย ลวนลาม คุกคาม หรือทำลายข้าวของ ซึ่งอาจหมายความว่าคนพวกนี้ไม่สามารถไปสถานที่บางที่ได้ เช่น ห้ามไปที่บ้าน โรงเรียน หรือที่ทำงานของบุคคลที่ได้รับการคุ้มครอง" คุณสปอว์ กล่าว

คุณนาตาชา แมกรอว์ อธิบายว่า เมื่อยื่นคำร้องขอคำสั่งศาลแล้ว บุคคลในคำร้องจะมีโอกาสปรากฎตัวในศาลเพื่อคัดค้านหรือยินยอมตามคำร้อง ซึ่งหากเลือกคัดค้านก็จะเข้าสู่ขั้นตอนพิจารณาไต่สวนคดีเต็มรูปแบบ

"ตรงนี้คือขั้นตอนที่ทั้งสองฝ่ายต้องรวบรวมหลักฐานทั้งหมด เอกสารและหลักฐานทั้งหมดที่เกี่ยวกับคดี เรียกพยาน สุดท้ายทั้งสองฝ่ายจะมีโอกาสถามค้านอีกฝ่าย แล้วผู้พิพากษาจะพิจารณาตัดสิน" คุณแมกรอว์กล่าว

"ถึงกระนั้นประเด็นหลักคือ 'ใครต้องการการคุ้มครองที่สุด และเมื่อพิจารณาสภาวการณ์แล้วจำเป็นและสมควรออกคำสั่งคุ้มครองหรือไม่' ดังนั้น ส่วนใหญ่หากพบว่ามีการใช้ความรุนแรงในครอบครัวจริง ผู้พิพากษาก็จะออกคำสั่งอยู่ดี"
คุณโทมัส สปอว์ ชี้แจงว่า การปรับเปลี่ยนเมื่อปี 2017 ส่งผลให้คำสั่งคุ้มครองจากความรุนแรงในครอบครัวส่วนใหญ่เป็นที่ยอมรับและมีผลบังคับใช้ได้ทั่วทุกรัฐและมณฑล

"ตัวอย่างเช่น ถ้าผมได้รับคำสั่งคุ้มครองในรัฐนิวเซาท์เวลส์ โดยทั่วไปแล้วคำสั่งจะมีผลในรัฐวิกตอเรียด้วย ผลข้ามรัฐของคำสั่งคุ้มครองมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะสำหรับคนที่เดินทางไปมาหรืออาศัยในบริเวณที่เรียกกันว่า ชุมชนพรมแดนระหว่างรัฐ" 

หากพิสูจน์ได้ว่าผู้ต้องหาฝ่าฝืนเงื่อนไขในคำสั่งคุ้มครองอาจมีโทษปรับหรือจำคุก แต่คุณสปอว์เตือนว่า ใช่ว่าบทลงโทษจะยับยั้งคนเหล่านี้ได้ทุกกรณี

"สำหรับการฝ่าฝืนบางจำพวก คำสั่งคุ้มครองไม่ใช่สิ่งที่จะหยุดพวกเขาได้ หากเขาจะใช้ความรุนแรงให้ได้ ถึงรู้ว่ากำลังฝ่าฝืนคำสั่งก็คงไม่ต่างกันเท่าไรนัก"

ด้านคุณนาตาชา แมกรอว์ มองว่า คำสั่งคุ้มครองจากความรุนแรงในครอบครัวอาจไม่ได้รับประกันว่าเหยื่อจะปลอดภัยจากผู้กระทำผิด แต่ก็ยังคงเป็นเครื่องมือที่สำคัญ
"ถ้าเป็นกรณีที่พวกเขาล้ำเส้นหรือดุเดือดขึ้นเพราะความสัมพันธ์ดำเนินมาถึงจุดจบโดยที่ปกติไม่ได้เป็นแบบนั้น ก็เป็นไปได้ว่าอาจจะเข้าข่าย คำสั่งคุ้มครองช่วยได้ตรงนี้"

คุณมีฮาล มอร์ริส เห็นด้วยว่า คำสั่งคุ้มครองตอบสนองวัตถุประสงค์อีกอย่างหนึ่งสำหรับผู้หญิงจำนวนหนึ่งที่ inTouch ให้ความช่วยเหลือ

"ถ้าคุณถือวีซ่าที่คู่ครองเป็นสปอนเซอร์แล้วคุณเผชิญความรุนแรงในครอบครัว คุณมีโอกาสให้หน่วยงานมหาดไทยของออสเตรเลียหรือรัฐบาลรับรองว่าคุณอยู่ในความสัมพันธ์อย่างถูกต้องและถูกใช้ความรุนแรงในครอบครัว คุณอาจมีสิทธิ์เปลี่ยนจากวีซ่าสปอนเซอร์เป็นวีซ่าถาวร" คุณมอร์ริส กล่าว

"ผู้หญิงที่เราช่วยเหลือหลายคนมีคำสั่งคุ้มครองเป็นหลักฐานแสดงต่อรัฐบาล ซึ่งยอมรับได้ เพราะหมายความว่าตำรวจหรือศาลพิจารณาแล้วว่าผู้หญิงคนนี้ประสบกับความรุนแรงในครอบครัว"

หากคุณต้องการข้อมูลหรือความช่วยเหลือเกี่ยวกับกรณีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว สามารถติดต่อบริการ 1-800 RESPECT ที่หมายเลข 1800 737 732


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand