นายจ้างเจ้าเล่ห์ทำลูกจ้างอดได้วีซ่า

NEWS: ตัวแทนดำเนินการด้านวีซ่าเผยกับเอสบีเอส ปัญจาบี ถึงตัวอย่างการฉ้อฉลของนายจ้างที่สปอนเซอร์วีซ่าให้ลูกจ้างผู้อพยพย้ายถิ่น ประกอบกับระยะเวลาการพิจารณาวีซ่าที่ยาวนาน ส่งผลให้ลูกจ้างหลายรายถูกปฏิเสธวีซ่าเนื่องจากธุรกิจปิดกิจการ

Australian Visa

Australian Visa Source: SBS

You can read the full story in English

“เหมือนใกล้จะเป็นจริง แต่แล้วก็ห่างไกลออกไปอีก” นี่คือสิ่งที่ เวย ‘มิรา’ เชน ลูกจ้างหญิงสาวชาวจีน กล่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ของเธอ หลังจากถูกปฏิเสธในสมัครขอวีซ่าถาวรของออสเตรเลียถึง 2 ครั้ง แม้ว่าจะได้รับการสปอนเซอร์การทำงานจากนายจ้างที่มีชื่อเสียงก็ตาม

เชน วัย 29  ได้งานทำในตำแหน่งรองหัวหน้า เชฟ ที่ร้านอาหาร เจมีส์ อิตาเลียน เรสเทอรองต์ ในซิดนีย์ ระหว่างที่ไปฝึกงานช่วงกำลังเรียนด้านนี้อยู่ และต่อมาเธอถูกย้ายไปทำงานที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในเพิร์ท ซึ่งขาดแคลนเชฟที่มีประสบการณ์ ในเดือนธันวาคม 2015 บริษัทได้สปอนเซอร์เธอภายใต้โครงการวีซ่าการทำงานในพื้นที่ส่วนภูมิภาคโดยมีนายจ้างสปอนเซอร์ (Regional Sponsored Migration Scheme) หรือวีซ่าอาร์เอสเอ็มเอส เพื่อจะได้วีซ่าถาวร

ฉันบินไปยังเพิร์ทเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่นั่น เพียง 2 สัปดาห์หลังเรียนจบ เชน กล่าวกับ เอสบีเอส ปัญจาบี

ขณะที่รอการพิจารณาวีซ่าพีอาร์ที่เธอสมัครไปนั้น บริษัทคีสโตน กรุป ที่เป็นเจ้าของร้านอาหาร เจมีส์ อิตาเลียน เรสเทอรองต์ 6 สาขาในออสเตรเลีย เข้าสู่กระบวนการเลิกกิจการในช่วงกลางปี 2016 และไม่สามารถรับประกันการจ้างงานให้เชนได้เป็นเวลา 2 ปี อย่างที่เคยเสนอให้เธอ

“ระยะเวลาการพิจารณาวีซ่า อาร์เอสเอ็มเอส ซึ่งใช้เวลา 13 เดือนในขณะนั้น และหลังจาก 6 เดือนที่ฉันเริ่มทำงาน ใบสมัครวีซ่าของฉันก็ถูกกระทรวงตรวจคนเข้าเมืองปฏิเสธ เพราะงานของฉันไม่มั่นคง” เชน กล่าว

“ที่แย่ไปกว่านั้นอีกคือ เพิร์ท ถูกถอนออกจากพื้นที่ส่วนภูมิภาคในเดือนมีนาคม 2017 ซึ่งหมายความว่า วีซ่าอาร์เอสเอ็มเอส จะไม่ครอบคลุมถึงการทำงานในพื้นที่ของตัวเมืองเพิร์ทอีกต่อไป”
Restaurant
Pixabay Source: Pixabay
ขณะที่เชนทำงานที่ร้านอาหารดังกล่าวต่อไปในเพิร์ธ เครือร้านอาหาร เจมีส์ อิตาเลียน เรสเทอรองต์ ก็ถูกซื้อและกลับมาดำเนินกิจการอีกครั้ง และนายจ้างใหม่ก็เป็นสปอนเซอร์วีซ่าอาร์เอสเอ็มเอส ให้เชนย้ายไปทำงานที่สาขาของร้านในกรุงแคนเบอร์รา

แต่เชนก็ต้องพบกับอุปสรรคครั้งใหม่ในเดือนเมษายนปีที่แล้ว เมื่อร้านอาหารดังกล่าวในแคนเบอร์ราปิดตัวลง ก่อนที่จะเชนจะรู้ผลเรื่องวีซ่าที่เธอสมัครไป เธอกล่าวว่า พนักงานในร้านไม่ได้รับแจ้งใดๆ เลยจากนายจ้างถึงการปิดกิจการและเลิกจ้างงาน

แต่อย่างไรก็ตาม กระทรวงมหาดไทย ปฏิเสธที่จะออกวีซ่าให้เธอ แม้ว่าจะทราบว่าเชนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเธอก็ตาม

เธอได้รับผลร้ายจากการที่ธุรกิจสองแห่งซึ่งบริหารงานเครือร้านอาหารเข้าสู่กระบวนการเลิกกิจการในระยะเวลา 2 ปีครึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเหล่านี้ไม่อาจหักล้างข้อกำหนดที่ผู้ขอวีซ่าจะต้องมีนายจ้างเสนอตัวเป็นสปอนเซอร์ให้ได้ เจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทย กล่าว ขณะปฏิเสธวีซ่าของเชน

“ฉันถูกปฏิเสธวีซ่าถึงสองครั้ง ขณะทำงานให้ธุรกิจเจ้าเดียวกันที่ฉันมางานมานาน 3 ปี ใน 3 เมือง จากพื้นที่ตะวันออกไปถึงตะวันตก ตอนนี้ ฉันกลับตกอยู่ในสถานการณ์ที่ฉันถูกบีบบังคับให้ต้องออกจากประเทศโดยไม่ได้รับเงินค่าจ้างตามสิทธิที่มีเลย” เชน กล่าวอย่างไม่พอใจ

ซามูแอล เลา เป็นชายชาวมาเลเซีย ที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกับเชน ใบสมัครขอวีซ่า อาร์เอสเอ็มเอส ที่เขาสมัครไป ในเดือนมิถุนายน ปี 2016 ถูกปฏิเสธ หลังจากร้านอาหารแห่งหนึ่งในเพิร์ทที่เป็นสปอนเซอร์ให้เขาปิดกิจการลงในเดือนมีนาคม 2018 ขณะที่กำลังมีการพิจารณาวีซ่าของเขาอยู่
Samuel
นายซามูแอล เลา ที่ถูกปฏิเสธวีซ่า อาร์เอสเอ็มเอส หลังนายจ้างขายกิจการ (Image: Supplied) Source: Supplied
นายเลาวัย 37 ปี ขณะนี้ หาเลี้ยงชีพด้วยการขับรถรับจ้างกับอูเบอร์ กล่าวว่า ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เขาหวาดหวั่นกับการขอวีซ่าโดยต้องขึ้นอยู่กับนายจ้างเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

“มันไม่ยุติธรรมเลย ผมทำทุกอย่างถูกต้อง แต่นายจ้างเกิดขายกิจการ แล้วผมก็เลยแย่ไปด้วย” นายเลา กล่าว “ผมไม่อาจจะทำผ่านกระบวนการแบบนี้ได้อีกแล้ว เพราะนายจ้างเจ้าเล่ห์คนอื่นอาจทำเหมือนกันอีก”

นายเลา ขออุทธรณ์การตัดสินใจเรื่องวีซ่าของเขากับเอเอที (Administrative Appeals Tribunal) และยังขอให้รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของออสเตรเลียเข้าแทรกแซงการตัดสินใจในกรณีของเขาด้วย

นายจูจ์ฮาร์ บาจวา ตัวแทนดำเนินการด้านวีซ่า กล่าวว่า กระบวนการขอวีซ่าทุกวันนี้นั้นกินระยะเวลานานมาก

“จนกระทั่งเมื่อ 4-5 ปีก่อน วีซ่าประเภทนี้อนุมัติกันภายใน 1 เดือน แต่เมื่อเร็วๆ นี้กระทรวงมหาดไทยแสดงให้เราเห็นว่ากระทรวงวิตกเรื่องการทุจริตเกี่ยวกับวีซ่าประเภทนี้” นายบาจวา กล่าว

เขากล่าวต่อไปว่าวีซ่าที่ต้องมีนายจ้างเสนอตัวเป็นสปอนเซอร์ให้นั้นมีความเสี่ยง

“วีซ่าเหล่านี้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับนายจ้าง เราได้เห็นมาหลายกรณีแล้วที่ธุรกิจขายกิจการขณะที่กำลังอยู่กระบวนการพิจารณาการขอเป็นสปอนเซอร์ลูกจ้าง” นายบาจวา ยกตัวอย่าง

เขากล่าวว่า อัตราการปฏิเสธวีซ่า อาร์เอสเอ็มเอส นั้นสูงมาก

“เกือบ 7 ใน 10 ของใบสมัครของวีซ่า อาร์เอสเอ็มเอส ถูกปฏิเสธไม่ให้วีซ่า เนื่องจากมีความเป็นห่วงเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านการเงินของธุรกิจ และความสามารถในการจ่ายค่าจ้างลูกจ้างได้เป็นเวลา 2 ปีอย่างต่อเนื่อง”

เชน ลูกจ้างร้านอาหารชาวจีน กล่าวว่า ระยะเวลาการพิจารณาวีซ่าที่ยาวนาน ส่งผลต่อชะตากรรมของเธอที่เกิดขึ้นจากการที่นายจ้างปิดกิจการ

“ยิ่งใช้เวลานานมากเท่าไร ก็ยิ่งเสี่ยงต่อผู้สมัครมากเท่านั้น ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่สามารถเข้าไปควบคุมธุรกิจได้ ฉันไม่ได้ทำอะไรผิด แต่กลับลงเอยด้วยการต้องเสียเวลา เสียเงิน และทำงานหนักไปโดยไร้ประโยชน์ แล้วฉันก็ทำอะไรไม่ได้เลยเกี่ยวกับเรื่องนี้” เชน กล่าว

ติดตามฟังรายการ เอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี เวลา 22.00 น.

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 



Share
Published 21 January 2019 3:32pm
By Shamsher Kainth
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS Punjabi


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand