Analysis

ขอ PayID ของคุณได้ไหม?: วิธีป้องกันการถูกหลอกเมื่อขายของออนไลน์

กลการหลอกลวงเรื่อง PayID คือการที่มิจฉาชีพพยายามหลอกเอาเงินจากคุณโดยนำวิธีจ่ายเงินผ่าน PayID มาเป็นข้ออ้าง ซึ่งมีผู้คนในออสเตรเลียสูญเงินไปกับการหลอกลวงประเภทนี้แล้วกว่า 260,000 ดอลลาร์ในปี 2022

A young man holding a phone and looking at it.

More than $45 million was reported lost through fraudulent buying and selling schemes in 2022. Source: AAP / Jaap Arriens/PA/Alamy

คุณเพิ่งซื้อโซฟาใหม่ที่คุณอยากได้อย่างมาก แต่โซฟาเก่าก็ยังใช้งานได้ดีอยู่ ดังนั้น คุณจึงประกาศขายมันออนไลน์เพื่อลองหาเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ จากโซฟาตัวเก่านี้

ในแต่ละวัน มีผู้คนในออสเตรเลียหลายพันคนประกาศขายสิ่งที่พวกเขาไม่ต้องการแล้วผ่านเว็บไซต์ซื้อขายออนไลน์ เช่น Facebook Marketplace และ Gumtree มันเป็นทางเลือกที่รวดเร็วและสะดวกสบาย และยังช่วยให้เราไม่ต้องนำสิ่งของเหลือใช้ไปทิ้งลงหลุมฝังกลบขยะ

แต่น่าเสียดายที่มิจฉาชีพกำลังพุ่งเป้าอย่างต่อเนื่องไปยังผู้ซื้อและผู้ขายที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยมีผู้คนรายงานว่าถูกหลอกให้สูญเงินไปแล้วรวมกันกว่า 45 ล้านดอลลาร์จากการหลอกลวงผ่านการซื้อหรือขายของออนไลน์ในปี 2022

การที่ตลาดออนไลน์ได้รับความนิยมอย่างมากจึงทำให้กลายเป็นแหล่งที่เต็มไปด้วยมิจฉาชีพ แม้กระทั่งมีรายงานล่าสุดว่า มิจฉาชีพใช้แพลตฟอร์มเหล่านี้เพื่อทำร้ายร่างกายเหยื่อที่เป็นผู้ขายของออนไลน์

อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มสูงกว่าที่มิจฉาชีพจะพยายามหลอกเอาเงินผ่านวิธีการชำระเงินต่าง ๆ กลการหลอกลวงโดยอ้าง PayID เป็นตัวอย่างวิธีหลอกลวงที่ได้รับความนิยม โดยมีผู้คนในออสเตรเลียสูญเงินไปกับกลการหลอกลวงนี้แล้วกว่า 260,000 ดอลลาร์ในปี 2022

PayID คืออะไร?

PayID (เพย์ไอดี) เป็นรูปแบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเริ่มใช้ในออสเตรเลียในปี 2018 เพื่อลดการชำระเงินเข้าผิดบัญชีและลดการฉ้อโกง โดยแสดงชื่อผู้รับเงินให้ผู้นำเงินเข้าบัญชีได้ทราบ PayID มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้การโอนเงินง่ายขึ้น ที่สำคัญ PayID ช่วยลดความจำเป็นต้องจดจำบัญชีธนาคารและหมายเลข BSB และแก้ปัญหาการป้อนข้อมูลไม่ถูกต้อง

การที่จะมี PayID ใช้นั้น ผู้บริโภคสามารถใช้หมายเลขโทรศัพท์ อีเมล หรือ ABN เป็นข้อมูลสำหรับระบุอัตลักษณ์ได้ โดยธนาคารจะตรวจสอบยืนยันบุคคลที่เป็นเจ้าของข้อมูลนี้ จากนั้นจะเชื่อมโยงบัญชีธนาคารของบุคคลนั้นกับ PayID
หากต้องการโอนเงินโดยใช้ PayID ระบบธนาคารออนไลน์ส่วนใหญ่จะขอ PayID ของผู้รับ คุณเพียงแค่พิมพ์หมายเลขโทรศัพท์ อีเมล หรือ ABN ก็จะแสดงชื่อผู้รับที่ต้องการ หากถูกต้อง ลูกค้าสามารถอนุมัติการชำระเงินได้ หากชื่อที่แสดงไม่ถูกต้อง ลูกค้าก็สามารถยกเลิกการชำระเงินได้อย่างง่ายดาย

การหลอกลวงโดยอ้าง PayID มีวิธีการอย่างไร?

หากคุณกำลังโฆษณาขายสินค้าทางออนไลน์ มิจฉาชีพจะติดต่อคุณเพื่อซื้อสินค้าดังกล่าว พวกเขามักจะไม่ถามเรื่องราคา และแทบไม่อยากจะดูสินค้าก่อนด้วยซ้ำ ในหลายกรณี พวกเขาจะบอกว่าสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนจะไปรับของจากคุณ

มิจฉาชีพจะขอให้คุณยอมรับการชำระเงินผ่าน PayID เมื่อคุณแจ้ง PayID ของคุณให้ผู้ซื้อทราบ (โดยปกติจะเป็นหมายเลขโทรศัพท์หรืออีเมล) จากนั้นก็อาจเกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้นคือ
Examples of PayID scam messages received via Facebook Marketplace.
The popularity of online marketplaces has made them a fertile ground for fraudsters. Credit: The Conversation
มิจฉาชีพจะบอกว่าได้ชำระเงินแล้ว แต่ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากคุณไม่มีบัญชี PayID ที่เหมาะสม คุณจะได้รับแจ้งว่าคุณจำเป็นต้อง "อัปเกรด" บัญชีและ/หรือชำระเงินเพิ่มเติมเสียก่อนจึงจะได้รับเงินค่าสินค้า

หรือมิจฉาชีพจะบอกว่าพวกเขาได้จ่ายเงินเกินราคาสินค้า และขอให้คุณคืนเงินที่จ่ายเกิน หากคุณโอนเงินไปตามที่บอก คุณก็จะสูญเงินไปทันทีให้แก่มิจฉาชีพหรือสแกมเมอร์

กลการหลอกลวงอีกส่วนหนึ่งคือ มิจฉาชีพจะสร้างข้อความและอีเมลที่ดูเหมือนว่ามาจาก PayID เพื่อยืนยันการชำระเงินหรือแจ้งปัญหา น่ากลัวตรงที่ข้อความเหล่านี้อาจปรากฎอยู่ในช่องทางการรับข้อความ SMS ที่คุณเคยได้รับจากธนาคารของคุณ คุณอาจคิดว่าข้อความหรืออีเมลเหล่านั้นเป็นของจริง แต่มันเป็นของปลอมที่ถูกออกแบบมาเพื่อหลอกคุณให้โอนเงินให้แก่มิจฉาชีพหรือสแกมเมอร์

เราจะหลีกเลี่ยงการถูกหลอกเกี่ยวกับ PayID ได้อย่างไร?

มีสิ่งที่เป็นสัญญาณเตือนหลายประการที่ต้องเราระวังเมื่อขายสินค้าออนไลน์:
  • PayID เป็นบริการฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งาน ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องชำระค่าธรรมเนียมใด ๆ
  • PayID ถูกบริหารจัดการผ่านธนาคารแต่ละแห่ง PayID จะไม่สื่อสารกับลูกค้าโดยตรงผ่านข้อความ อีเมล หรือโทรศัพท์ ดังนั้นการติดต่อใด ๆ ที่ระบุว่า "มาจาก PayID" ถือเป็นของปลอม
  • ผู้ซื้อที่บริสุทธิ์ใจมักขอดูสินค้าและมารับสินค้า ผู้ซื้อที่บอกว่าจะส่งสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนไปรับสินค้าถือเป็นสัญญาณอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพวกเขาไม่เต็มใจที่จะจ่ายเป็นเงินสด

จะทำอย่างไรถ้าคุณถูกหลอกลวง?

หากคุณคิดว่าคุณตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงเกี่ยวกับ PayID คุณควรติดต่อธนาคารหรือสถาบันการเงินของคุณทันที ยิ่งคุณติดต่อเร็วเท่าไร ก็จะยิ่งดีเท่านั้น

คุณสามารถรายงานการสูญเสียทางการเงินต่าง ๆ ผ่านทาง ​​ได้ซึ่งเป็นพอร์ทัลออนไลน์สำหรับแจ้งตำรวจเกี่ยวกับอาชญากรรมทางไซเบอร์

นอกจากนั้น คุณยังสามารถ ได้อีกด้วย เพื่อช่วยในด้านกิจกรรมการให้ความรู้และสร้างความตระหนักรู้ในหมู่ประชาชนทั่วไป

หากข้อมูลส่วนบุคคลใด ๆ ของคุณรั่วไหลหรือถูกโจรกรรม คุณสามารถ ได้

สำหรับปี 2023 จนถึงขณะนี้ มีผู้คนในออสเตรเลียรายงานว่าสูญเสียเงินไปแล้วกว่า 32 ล้านดอลลาร์จากการหลอกลวงผ่านการซื้อและขายของออนไลน์ รวมถึงการหลอกลวงเกี่ยวกับ PayID ดังนั้น คุณจึงควรระมัดระวังเมื่อซื้อหรือขายสินค้าออนไลน์ และไปที่ เพื่อดูรายละเอียดเกี่ยวกับกลการหลอกลวงประเภทต่าง ๆ


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 


บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 



Share
Published 18 September 2023 1:14pm
By Cassandra Cross
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand