แฟร์เวิร์กจะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำท่ามกลางค่าครองชีพที่พุ่งสูงหรือไม่?

คณะกรรมการแฟร์เวิร์ก จะประกาศการตัดสินใจเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีก่อนช่วงกลางปีนี้ ลูกจ้างที่ได้ค่าแรงในอัตราต่ำสุดของประเทศจะได้รับความช่วยเหลือท่ามกลางสถานการณ์ค่าครองชีพที่พุ่งสูงหรือไม่?

MINIMUM WAGE

สหภาพแรงงานต่างๆ ต้องการให้ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 7 เปอร์เซ็นต์ แต่กลุ่มธุรกิจกล่าวว่า นายจ้างสามารถจ่ายได้เพียง 3.5 เปอร์เซ็นต์ Source: AAP / STEVEN SAPHORE/AAPIMAGE

ประเด็นสำคัญ
  • คณะกรรมการแฟร์เวิร์กกำลังถูกกดดันให้ประกาศเพิ่มค่าจ้าง
  • สหภาพแรงงานต่างๆ ต้องการให้ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 7 เปอร์เซ็นต์หรือเพิ่มขึ้นราว 57 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์สำหรับพนักงานฟูลไทม์
  • กลุ่มธุรกิจกล่าวว่า นายจ้างสามารถจ่ายค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นได้เพียง 3.5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
"พวกเราเป็นคนที่มีงานทำแต่ก็ยังยากจนอยู่ ... ไม่มีความสมดุลระหว่างการทำงานกับการใช้ชีวิต เพราะเราไม่มีเงินพอที่จะใช้ชีวิตได้"

ความเห็นในทำนองนี้ เช่นเดียวกับความเห็นของผู้ช่วยผู้จัดการร้านค้าปลีกที่ทำงานฟูลไทม์ผู้หนึ่ง กำลังถูกเสนอต่อคณะกรรมการแฟร์เวิร์ก ซึ่งกำลังพิจารณาว่าจะขึ้นค่าแรงให้แก่ลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างในอัตราต่ำที่สุดของออสเตรเลียหรือไม่ เพื่อเพิ่มเงินในกระเป๋าของพวกเขา

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในระดับสูงและอัตราดอกเบี้ยที่พุ่งขึ้นกำลังสร้างความยากลำบากให้แก่ครัวเรือนต่างๆ การตัดสินใจครั้งนี้ของคณะกรรมการแฟร์เวิร์กจึงเป็นเรื่องที่ยากเย็น

คณะกรรมการแฟร์เวิร์ก หรือคณะกรรมการเพื่อการจ้างงานที่เป็นธรรม (Fair Work Commission) จะแจ้งคำตัดสินการพิจารณาเรื่องค่าจ้างประจำปีก่อนกลางปี

กลุ่มธุรกิจต่างลังเลกับการขึ้นค่าจ้าง

กลุ่มนายจ้างต่างโต้แย้งว่า ธุรกิจต่างๆ สามารถจ่ายค่าแรงที่จะเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 3.5 เท่านั้นสำหรับลูกจ้างที่ได้ค่าจ้างในอัตราค่าแรงขั้นต่ำ (minimum-wage) และค่าจ้างขั้นต่ำตามประเภทอุตสาหกรรม (award-wage) รวม 2.6 ล้านคน

สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งออสเตรเลีย (ACCI) สมาคมร้านขายของชำของออสเตรเลีย และกลุ่มนายจ้างอื่นๆ กล่าวว่าอัตราการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 3.5 เปอร์เซ็นต์นั้น เหมาะสมแล้ว เมื่อพิจารณาแรงกดดันต่อภาคส่วนต่างๆ

ACCI องค์กรตัวแทนกลุ่มธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ระบุว่า ข้อเสนอของสภานั้น เทียบเท่ากับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 4 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากยังรวมถึงการเพิ่มเงินซูเปอร์ให้แก่ลูกจ้างอีก 0.5 เปอร์เซ็นต์ด้วย

ซึ่งจะส่งผลให้ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเป็น 841.04 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์

"ธุรกิจสนับสนุนการเพิ่มค่าจ้าง แต่ต้องเป็นอัตราที่สมเหตุสมผลและมีความรับผิดชอบ" นายแอนดรูว์ แมคเคลลาร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ ACCI กล่าวว่า

สมาคมค้าปลีกแห่งออสเตรเลียได้เรียกร้องให้เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 3.8 เปอร์เซ็นต์

ขณะที่ค่าครองชีพลดลงบ้าง แต่ก็ยังคงสูงอยู่

อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 7.4 เปอร์เซ็นต์สำหรับช่วงหนึ่งปีจนถึงเดือนธันวาคม 2022 ตามดัชนีราคาผู้บริโภครายไตรมาสของสำนักงานสถิติแห่งออสเตรเลีย

แต่ลดลงมาอยู่ที่ 6.8 เปอร์เซ็นต์สำหรับช่วงหนึ่งปีจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2023 ตามตัวบ่งชี้รายเดือนของสำนักสำนักงานสถิติแห่งออสเตรเลีย และคาดว่าจะลดลงต่อเนื่อง

ขึ้นค่าจ้างกี่เปอร์เซ็นต์จึงจะดีตามความเห็นของสหภาพแรงงาน?

เมื่อคำนึงถึงตัวเลขอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบัน สหภาพแรงงานกล่าวว่า ACCI และสมาคมร้านขายของชำของออสเตรเลีย กำลังโต้แย้งให้มีการลดมูลค่าที่แจ้งจริงของค่าจ้าง (real pay cut) 1,500 ดอลลาร์ต่อปีสำหรับลูกจ้างฟูลไทม์ที่ได้ค่าจ้างตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำ

ซึ่ง ACCI และสมาคมร้านขายของชำของออสเตรเลียเสนอ เท่ากับการมีรายได้ลดลงราว 1,350 ดอลลาร์

สหภาพแรงงาน ACTU ได้เสนอให้มีการเพิ่มอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 7 เปอร์เซ็นต์ หรือเพิ่มขึ้นราว 57 ต่อสัปดาห์ หรือ 3,000 ต่อปีสำหรับลูกจ้างฟูลไทม์ที่ได้ค่าจ้างตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำ
สหภาพแรงงานโต้แย้งว่าอัตราการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต้องสอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน

ปีที่แล้ว กลุ่มนายจ้างโจมตีการตัดสินใจของคณะกรรมการแฟร์เวิร์ก ที่เสนอให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5.2 เปอร์เซ็นต์ และ 4.6 เปอร์เซ็นต์สำหรับค่าจ้างขั้นต่ำตามประเภทอุตสาหกรรม (award-wage)

ในปีที่แล้ว กลุ่มนายจ้างกล่าวว่า อัตราที่เสนอนี้จะทำให้มีความเสี่ยงในการจ้างงาน และกระตุ้นให้เกิดเงินเฟ้อ

การโต้แย้งในทำนองเดียวกันนี้ได้เกิดขึ้นในปีนี้เช่นกัน

สหภาพแรงงานโต้แย้งว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อคือผลกำไรของบริษัท เนื่องจากบริษัทต่างๆ กำลังได้ประโยชน์จากห่วงโซ่อุปทานที่ตึงตัว (tight supply chains) ส่วนใหญ่เนื่องมาจากสงครามในยูเครน

นางแซลลี แมคมานัส เลขาธิการ ACTU กล่าวว่าธุรกิจต่างๆ ไม่ได้กำลังประสบความยากลำบาก

"ธุรกิจต่างไปได้ดีในช่วงการฟื้นตัวจากโควิดและช่วงเงินเฟ้อ กำไรของบริษัทเพิ่มขึ้น 18.9 เปอร์เซ็นต์ในปี 2022 การล้มละลายอยู่ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ธุรกิจจึงมีเงินพอที่จะสามารถจ่ายได้"
นายแอนดรูว์ แมคเคลลาร์ กล่าวว่า ค่าจ้างที่พุ่งสูงขึ้นจะสร้างแรงกดดันให้กับธุรกิจขนาดเล็กและธุรกิจครอบครัวในช่วงเวลาที่พวกเขาสามารถจ่ายได้น้อยที่สุด

“ภาคส่วนที่ต้องพึ่งพาค่าจ้างขั้นต่ำตามประเภทอุตสาหกรรม เช่น ภาคที่พัก ภาคการบริการ การค้าปลีก ภาคธุรการ ภาคศิลปะ และภาคนันทนาการ ต่างก็ประสบกับผลกำไรที่ลดลงในช่วงสองปีที่ผ่านมา” นาย แมคเคลลาร์ กล่าว

ธนาคารกลางแห่งออสเตรเลียกล่าวในแถลงการณ์ล่าสุดสัปดาห์ที่แล้วว่า การเติบโตของค่าจ้างนั้น "สอดคล้องกับเป้าหมายเงินเฟ้อ ทั้งนี้หากผลิตภาพเพิ่มขึ้น"
Workplace Relations Minister Tony Burke - a former union advocate for retail workers.
นาย โทนี เบิร์ก รัฐมนตรีด้านแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งเป็นอดีตตัวแทนสหภาพแรงงานด้านลูกจ้างค้าปลีก กล่าวว่า ค่าจ้างกำลังตามไม่ทันค่าครองชีพ
ธนาคารกลางคาดว่าการเติบโตของค่าจ้างจะเพิ่มขึ้นตามตลาดแรงงานที่ตึงตัวและอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น

แต่ธนาคารกลางก็จับตาดูความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ “wage-price spiral” ซึ่งเป็นวัฏจักรการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างและราคาสินค้าเป็นวงจรต่อเนื่องกัน เนื่องจากกำลังการผลิตสำรองที่จำกัดในระบบเศรษฐกิจและอัตราการว่างงานที่ต่ำเป็นประวัติการณ์

ลูกจ้างที่ได้ค่าแรงขั้นต่ำกำลัง 'วิ่งตามรถเมล์'

นางแซลลี แมคมานัส เลขาธิการ ACTU กล่าวว่า ไม่มีภาวะ “wage-price spiral” (การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างและราคาสินค้าเป็นวงจรต่อเนื่องกัน) หลังจากการตัดสินใจเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อปีที่แล้ว

“การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 5 เปอร์เซ็นต์ในปีที่แล้วแทบไม่มีผลกระทบต่อการเติบโตของค่าจ้างโดยรวม นายจ้างไม่ควรได้รับอนุญาตให้รีไซเคิลเหตุผลเดิมๆ มาอ้างเพื่อขอลดมูลค่าที่แท้จริงของค่าจ้าง (real wage) ให้น้อยลงไปอีก” นาง แมคมานัส กล่าว

แม้ว่ารัฐบาลพรรคแรงงานจะไม่ได้ระบุตัวเลขเปอร์เซ็นต์ที่แน่นอนไว้ แต่วางแนวทางที่รัฐบาลต้องการคือ "รัฐบาลออสเตรเลียแนะนำให้คณะกรรมการแฟร์เวิร์กต้องทำให้แน่ใจได้ว่ามูลค่าที่แท้จริงของค่าจ้าง (real wage) สำหรับลูกจ้างค่าแรงขั้นต่ำในออสเตรเลียจะไม่ก้าวถอยหลัง"

นาย โทนี เบิร์ก รัฐมนตรีด้านแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งเป็นอดีตตัวแทนสหภาพแรงงานด้านลูกจ้างค้าปลีก อธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้มีรายได้น้อยว่า "เหมือนกับเมื่อคุณพยายามวิ่งไล่ตามรถบัส และรถบัสกำลังแล่นไปอย่างเร็วกว่าที่คุณจะวิ่งตามได้"

“ขณะที่มีบิลเก็บเงินเข้ามา ค่าจ้างของผู้คนก็ตามไม่ค่อยจะทันอยู่แล้ว เราจึงต้องการทำให้แน่ใจได้ว่าคนงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำเหล่านั้นสามารถตามทัน และสุดท้ายแล้วก็ช่วยพาพวกเขากลับขึ้นรถบัสได้”

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 


Share
Published 10 April 2023 2:45pm
By SBS News
Presented by Parisuth Sodsai
Source: AAP


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand