ค่าครองชีพพุ่งทำผู้คนในออสเตรเลียสะท้าน

David works 40-hours a week busking in Melbourne and is struggling to make ends meet (SBS)  .jpg

คุณเดวิดทำงานเล่นดนตรีตามท้องถนนเพื่อหารายได้ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ยังมีเงินไม่พอรายจ่าย Credit: SBS

ประชาชนในออสเตรเลียกำลังต้องปรับตัวรับมือค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น บ้างก็ทำงานหลายชั่วโมงมากขึ้น บ้างก็ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่าย


โดยเฉลี่ยผู้คนในออสเตรเลียกำลังทำงานหลายชั่วโมงมากขึ้นกว่าในช่วงก่อนเกิดโควิดระบาดใหญ่

ถึงกระนั้น ผู้คน 1 ใน 4 ก็พบว่าเป็นเรื่องยากที่จะมีเงินเพียงพอกับรายจ่ายจากรายได้ที่พวกเขามี

อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นและอัตราเงินเฟ้อทำให้บางครัวเรือนลำบากหนัก และทำให้ครัวเรือนอื่นๆ เริ่มวิตก โดยผู้คนจำนวนมากถูกบีบให้ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่าย

คุณเดวิดทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยเล่นดนตรีตามท้องถนนเพื่อหารายได้ และเขากำลังประสบความยากลำบากในการหาเงินมาให้พอกับรายจ่าย

“วิธีแก้ปัญหาคือต้องไปที่ร้านขายของลดราคาและไปที่องค์กรการกุศลซัลโล (salvos) เป็นบางครั้งเพื่อรับแจกอาหารทำนองนั้น มันทำให้ผมต้องยอมอยู่ที่ไหนก็ได้ที่หาได้สำหรับเรื่องที่พัก ซึ่งมันทำให้ผมตกอยู่ในสถานการณ์ที่หมิ่นเหม่กับเจ้าของบ้านให้เช่า” คุณเดวิด กล่าว

การศึกษาวิเคราะห์ในโครงการใหม่ของมหาวิทยาลัยออสเตรเลียน เนชันแนล ยูนิเวอร์ซิตี (Australian National University หรือเอเอ็นยู) พบว่าผู้คนในออสเตรเลียมากกว่า 1 ใน 4 ประสบความยากลำบากที่จะมีรายได้เพียงพอกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น
ค่าจ้างและเงินเดือนของผู้คนกำลังถูกกัดกร่อนจากการเพิ่มขึ้นของราคาสิ่งต่างๆ และนั่นส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อผู้มีรายได้น้อย
ศาสตราจารย์นิโคลัส บิดเดิล
แม้ว่าผู้คนจะทำงานกันหลายชั่วโมงมากกว่าเมื่อก่อนก็ตาม ศาสตราจารย์นิโคลัส บิดเดิล ผู้ร่วมวิจัยในโครงการนี้กล่าว

“จากงานที่ผู้คนทำนั้น ค่าจ้างและเงินเดือนของพวกเขากำลังถูกกัดกร่อนจากการเพิ่มขึ้นของราคาสิ่งต่างๆ และนั่นส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อผู้มีรายได้น้อย” ศ.บิดเดิล กล่าว
เมื่อต้นปีนี้ ในช่วงเดือนมกราคม ผู้คนในออสเตรเลีย 37 เปอร์เซ็นต์ กล่าวว่า ราคาสิ่งต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นเป็น "ปัญหาใหญ่อย่างมาก"

เมื่อมาถึงเดือนตุลาคม จำนวนผู้คนในออสเตรเลียที่คิดว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่อย่างยิ่ง พุ่งขึ้นเป็น56.9 เปอร์เซ็นต์
ฉันจึงรู้สึกได้ถึงผลกระทบต่อเงินในกระเป๋าอย่างแน่นอนทีเดียว
คุณซาราห์ คุณแม่คนหนึ่ง
คุณซาราห์ คุณแม่คนหนึ่งที่ทำงานนอกบ้านด้วย สังเกตเห็นว่าสินค้าประเภทอาหารและของชำนั้นมีราคาสูงขึ้น ดังนั้น เธอจึงปรับเปลี่ยนอาหารที่เธอจัดหาให้แก่ครอบครัว

“แน่นอนว่าต้องมองหาของราคาถูก ซึ่งอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากที่สุดเสมอไป และลูกสาวคนหนึ่งของฉันเป็นโรคเซลีแอค (celiac แพ้กลูเตนในอาหารประเภทข้าว) ดังนั้นจึงไม่อาจทำได้เสมอไป ฉันจึงรู้สึกได้ถึงผลกระทบต่อเงินในกระเป๋าอย่างแน่นอนทีเดียว” คุณซาราห์ กล่าว

สภาบริการสังคมแห่งออสเตรเลียกำลังเรียกร้องให้เพิ่มเงินสนับสนุนด้านรายได้

คุณแคสซานดรา โกลดี ซีอีโอ ของสภา กล่าวว่า กลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่สุดในสังคมควรได้รับความสำคัญสูงสุดในด้านความช่วยเหลือ

“เพิ่มความช่วยเหลือด้านรายได้เพื่อให้ครอบคุลมสิ่งจำเป็นและทำทุกอย่างที่เราทำได้เพื่อรับมือกับราคาสิ่งต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นในตลาด แรงกดดันด้านอุปทาน และโดยเฉพาะแก้ปัญหาด้านค่าที่อยู่อาศัย” คุณโกลดี จากสภาบริการสังคมแห่งออสเตรเลีย กล่าว
แต่รัฐบาลสหพันธรัฐของออสเตรเลียได้ปัดตกเรื่องการออกมาตรการใหม่เพื่อช่วยเหลือด้านค่าครองชีพ

นาย จิม ชาลเมอร์ส รัฐมนตรีคลังเตือนว่า การแจกเงินสดอาจกระตุ้นให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นและผลักดันราคาสิ่งต่างๆ ให้สูงขึ้นด้วย

“เรารู้ว่าผู้คนกำลังประสบความยากลำบากอย่างเหลือเชื่อ และสิ่งเลวร้ายที่สุดที่เราอาจก่อให้เกิดขึ้นคือทำให้ชีวิตของผู้คนยากลำบากมากขึ้นไปอีก จากการที่งบประมาณแผ่นดินที่ขยายตัว ซึ่งจะเพิ่มแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อ” นายชาลเมอร์ส รัฐมนตรีคลัง กล่าว

คุณลูซี วัย 60 ปีเศษ ผ่านประสบการณ์การใช้ชีวิตในช่วงที่การเงินฝืดเคืองช่วงปีทศวรรษ 1980 และ 1990

เธอมีคำแนะนำนี้สำหรับคนรุ่นใหม่

“อดทนต่อไป สถานการณ์นี้จะไม่คงอยู่ตลอดไป เราเพียงแค่ต้องใช้ความสามารถของเราในการล้มแล้วลุกได้ไว (resilience) และเรียนรู้วิธีรับมือสถานการณ์ให้ได้สักระยะ” คุณลูซี ให้แง่คิดกับทุกคน


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 


บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 


Share
Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand