การมีผู้ย้ายถิ่นกลับเข้ามาจะยุติอัตราการว่างงานที่ต่ำในออสเตรเลียหรือไม่?

นโยบายการปิดพรมแดนของออสเตรเลียยับยั้งไม่ให้ผู้คนหลายพันคนเข้ามายังตลาดแรงงานที่นี่ แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้อัตราการว่างงานต่ำในขณะนี้

การมีผู้ย้ายถิ่นกลับเข้ามาจะยุติอัตราการว่างงานที่ต่ำในออสเตรเลียหรือไม่?

การมีผู้ย้ายถิ่นกลับเข้ามาจะยุติอัตราการว่างงานที่ต่ำในออสเตรเลียหรือไม่? Source: SBS News / Jono Delbridge

อัตราการว่างงานต่ำของออสเตรเลียยังคงดำเนินไปต่อเนื่อง แต่นักวิเคราะห์กล่าวว่าง่ายเกินไปที่จะสรุปว่านั่นมาจากการไม่มีผู้ย้ายถิ่นฐานเดินทางเข้ามาเพียงอย่างเดียว

นั่นเป็นเพราะการปิดพรมแดนระหว่างการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ประกอบกับนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ และการลดหย่อนนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลาย ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการที่อัตราการว่างงานต่ำในออสเตรเลียขณะนี้

นักวิเคราะห์บ่งชี้ว่า นี่ยังหมายความว่า การฟื้นตัวของระดับการย้ายถิ่นฐานเข้ามายังออสเตรเลียที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ไม่น่าจะส่งผลให้อัตราการว่างงานพุ่งสูงขึ้น

สถิติอย่างเป็นทางการที่เปิดเผยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน 2022 แสดงให้เห็นว่าอัตราการว่างงานของออสเตรเลียทรงตัวที่ร้อยละ 3.9 ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยต่ำเท่ากับช่วงเดือนพฤษภาคมในปี 1974

แต่คำถามที่ยากจะระบุได้คือจำนวนการย้ายถิ่นฐานสุทธิที่ลดลงสู่ระดับติดลบในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 นั้นมีบทบาทมากน้อยเพียงใดที่ทำให้อัตราการว่างงานในออสเตรเลียต่ำเช่นนี้

ตามความเห็นของ ศาสตราจารย์โรเบิร์ต เบรอนิก (Robert Breunig) ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายภาษีและเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล สังกัดวิทยาลัยครอว์ฟอร์ด ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) นั้น การปริมาณการเข้ามาของผู้ย้ายถิ่นฐานเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อัตราการว่างงานในขณะนี้ต่ำ

“แน่นอนว่าการย้ายถิ่นมีบทบาททำให้อัตราการว่างงานต่ำ เราจึงมีคนงานที่เข้ามายังออสเตรเลียน้อยลงมาก” ศ.เบรอนิก บอกกับ เอสบีเอส นิวส์

“มีคนงานน้อยลงหลายแสนคน ดังนั้นตัวเลขจึงค่อนข้างมาก ซึ่งนั่นทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานอย่างมีนัยสำคัญในส่วนต่างๆ ของเศรษฐกิจ”

อัตราการว่างงานลดลงอย่างต่อเนื่องจากระดับช่วงการระบาดใหญ่ของโควิดที่สูงถึง 7.5 เปอร์เซ็นต์ในเดือนกรกฎาคม 2020 และลดลงมาแตะระดับ 4 เปอร์เซ็นต์เป็นครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้

นอกจากการมีผู้ย้ายถิ่นฐานเดินทางเข้ามาลดลงแล้ว ปริมาณการย้ายถิ่นฐานสุทธิของออสเตรเลียยังติดลบด้วย โดยมีผู้คนกว่า 89,900 คนย้ายถิ่นฐานออกไปจากออสเตรเลียมากกว่าผู้ที่เดินทางเข้ามาในช่วงปี 2020-21 เนื่องจากการปิดพรมแดนระหว่างประเทศ

นี่ส่งผลให้คนงานที่มีศักยภาพหลายพันคนในต่างประเทศถูกหยุดยั้งไม่ให้เดินทางเข้ามาเป็นกำลังแรงงานในออสเตรเลียได้

แต่ศ.เบรอนิก กล่าวว่า อัตราการว่างงานที่ลดลงนั้น ไม่สามารถอธิบายได้ทั้งหมดว่ามาจากการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์การย้ายถิ่นฐาน โดยอธิบายว่าอาจเป็นสาเหตุเพียง "ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง"

เขากล่าวว่า นี่เป็นเพราะเมื่อโควิด-19 ระบาด ในขณะที่บางคนมีแนวโน้มที่จะรับงาน ซึ่งตามปกติจะทำโดยลูกจ้างผู้ย้ายถิ่น แต่ก็เป็นจำนวน “เล็กน้อยเมื่อเทียบกับสัดส่วนโดยรวมของกำลังแรงงาน” และมุ่งเน้นไปที่เฉพาะบางภาคส่วน เช่น อุตสาหกรรมด้านการบริการ (hospitality)

'การมีผู้ย้ายถิ่นเดินทางเข้ามาอีกครั้งไม่น่าจะมีผลกระทบอย่างหนักต่อค่าจ้างและการจ้างงาน'

มาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่มากมายอย่างไม่เคยมีมาก่อนของรัฐบาลออสเตรเลีย และธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศใช้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นประวัติการณ์นั้น ก็ส่งผลกระทบอย่างมากต่อตลาดแรงงานเช่นกัน

คุณเบรนเดน โคตส์ นักเศรษฐศาสตร์ แห่งสถาบันแกรตแทน กล่าวถึงการปิดพรมแดนของออสเตรเลียว่า มีผลกระทบ ‘เพียงเล็กน้อย’ ต่อการว่างงาน

“ผลกระทบของการปิดพรมแดนต่ออัตราการว่างงานนั้นน้อยมาก เมื่อเทียบกับผลกระทบจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมหภาคในช่วงเศรษฐกิจถดถอยจากโควิด” คุณโคตส์ กล่าว

เขากล่าวต่อไปว่าผลกระทบของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจเหล่านี้ได้เพิ่มความต้องการแรงงานราว 7-8 เท่าของผลกระทบจากการปิดพรมแดนระหว่างประเทศ

“เมื่อผู้ย้ายถิ่นฐานเดินทางกลับเข้ามา พวกเขาจะช่วยบรรเทาการขาดแคลนแรงงานบางส่วน สำหรับผู้ที่มีประสบการณ์ในด้านการบริการต้อนรับและด้านเกษตรกรรมในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้านี้” คุณโคตส์ กล่าว

“แต่ผมไม่คาดหวังว่ามันจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อค่าจ้างหรือการจ้างงานโดยรวมสำหรับชาวออสเตรเลีย”

"ผู้ย้ายถิ่นช่วยเพิ่มทั้งอุปสงค์ด้านแรงงานและอุปทานด้านแรงงาน"

ทั้งนี้เนื่องจาก ผู้เดินทางเข้ามาใหม่ในออสเตรเลียยังบริโภคสินค้าและบริการในอัตราที่สูงกว่าชาวออสเตรเลียอย่างน้อยในระยะหนึ่งโดยทั่วไป ซึ่งก่อให้เกิดความต้องการในตลาดแรงงาน

นับตั้งแต่การหยุดชะงักอย่างสิ้นเชิงของโครงการย้ายถิ่นฐาน ระดับการเดินทางเข้ามาของผู้ย้ายถิ่นประเภทต่างๆ ได้แสดงสัญญาณการฟื้นตัวและคาดว่าจะถึงจำนวน 41,000 คนในปีงบประมาณนี้

นี่ส่งผลให้จำนวนผู้เดินทางมายังออสเตรเลียในแต่ละเดือนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนกว่า 651,000 คนในเดือนพฤษภาคมของปีนี้

แต่สถิติยังคงต่ำกว่าจำนวนผู้คนราว 2 ล้านคนที่เดินทางมาถึงออสเตรเลียในแต่ละเดือนก่อนเกิดโควิดระบาด
รองศาสตราจารย์ แอนนา บูเชอร์ นักวิเคราะห์การย้ายถิ่นจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ กล่าวว่า ผู้ย้ายถิ่นจำนวนมากขึ้นไม่จำเป็นต้องหมายถึงการแข่งขันกันมากขึ้นสำหรับตำแหน่งงานในออสเตรเลีย

“การว่างงานจะเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่หากเราเพิ่มการย้ายถิ่น? ฉันคิดว่านั่นไม่ใช่ข้อสรุปเสมอไป” รศ.บูเชอร์ กล่าว

“นั่นไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการอยู่ผิดที่ผิดทาง (ของผู้ย้ายถิ่น) เลย สิ่งที่ฉันเป็นห่วงคือวีซ่าผู้สำเร็จการศึกษา (post-graduate visa) และผู้ถือวีซ่าเวิร์กกิงฮอลิเดย์”

นี่เป็นเพราะผู้ย้ายถิ่นมักเข้าไปเต็มเต็มแรงงานทักษะที่ไม่สามารถหาคนงานในท้องถิ่นทำได้ และยังสามารถทำหน้าที่เป็นตัวเพิ่มการจ้างงานอื่นๆ ผ่านการจ้างงานของพวกเขาเองได้อีกด้วย

เป็นครั้งที่สี่นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 4 หรือต่ำกว่า

ศ.บูเชอร์ กล่าวว่า แรงกดดันต่อค่าจ้างและอัตราเงินเฟ้อในระบบเศรษฐกิจยังทำหน้าที่เป็นเครื่องจูงใจให้ผู้คนมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานอีกด้วย

“มีหลายวิธีที่ (รัฐบาล) จะสามารถกำหนดเป้าหมายในเรื่องนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันกับแรงงานในประเทศ” ศ.บูเชอร์ กล่าว

"หวังว่ามันจะช่วยหลีกเลี่ยงการโต้แย้งที่แฝงความเกลียดกลัวชาวต่างชาติอยู่เล็กน้อยที่ว่า วิธีที่ดีที่สุดในการลดการว่างงานคือการหยุดรับผู้ย้ายถิ่นฐาน"




คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 17 June 2022 2:48pm
Updated 17 June 2022 2:56pm
By Tom Stayner
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS News

Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand