ห่วงสาวเอเชียลำบากหนักเมื่อสามีสูงอายุตายในออสเตรเลีย

กลุ่มพิทักษ์สิทธิทางกฎหมายในออสเตรเลียต่างกล่าวว่า มีผู้หญิงจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ส่วนใหญ่มาจากประเทศในเอเชีย ซึ่งแต่งงานกับชายชาวออสเตรเลียสูงอายุ แต่ไม่มีชื่อในพินัยกรรมของสามี

Migrant women are being left out of their older husbands' wills.

Migrant women are being left out of their older husbands' wills. Source: Getty

มีความเป็นห่วงว่า มีผู้หญิงชาวเอเชียจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ย้ายมาอาศัยอยู่ในออสเตรเลีย โดยแต่งงานกับชายที่อายุห่างจากตนมาก ซึ่งผู้หญิงเหล่านี้ไม่น้อยกำลังประสบความยากลำบากหลังสามีของพวกเธอเสียชีวิต

ทนายความในรัฐวิกตอเรียหลายคน กล่าวว่า พวกเขาได้เป็นตัวแทนทางกฎหมายให้แก่หญิงผู้อพยพย้ายถิ่นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ไม่มีชื่อในพินัยกรรมของสามีของพวกเธอ

คุณแอนดรูว์ เมลิวนาส ทนายความด้านกรณีพิพาทเกี่ยวกับพินัยกรรมของบริษัทเมาริส แบล็กเบิร์น (Maurice Blackburn) กล่าวว่า ในกรณีที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ ผู้หญิงเหล่านั้นย้ายมาอยู่ในออสเตรเลียหลังจากได้พบกับสามีของพวกเธอออนไลน์ และชายสูงอายุเหล่านั้นจำนวนมากมีอดีตคู่ครองและมีบุตรจากการแต่งงานครั้งก่อนๆ จึงนำไปสู่ข้อพิพาทเกี่ยวกับพินัยกรรม

“ผู้หญิงเหล่านั้นไม่มีทรัพยากรด้านการเงินหนุนหลังพวกเธอ มันไม่ใช่ว่าพวกเธอมีทรัพย์สินมั่งคั่งจากจีน เวียดนาม หรือฟิลิปปินส์” คุณเมลิวนาส กล่าว

“พวกเธอมักเดินทางมาที่นี่เพื่อชีวิตที่ดีกว่า ดังนั้นในความสัมพันธ์ของพวกเธอ จึงมีความไม่สมดุลของอำนาจอย่างแท้จริง” คุณเมลิวนาส กล่าว
ผู้หญิงเหล่านี้มักกระทำหน้าที่ที่ถูกคาดหวัง เช่น การทำอาหาร ทำความสะอาดบ้าน และไปจ่ายตลาดสำหรับครอบครัว

“มะเร็งดูเหมือนจะเป็นสาเหตุที่พบได้ทั่วไป (สำหรับการเสียชีวิตของสามีของพวกเธอ) ดังนั้น หญิงเหล่านี้จึงรับบทบาทเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยไปพร้อมกัน” คุณเมลิวนาส กล่าว

แต่เมื่อสามีของพวกเธอเสียชีวิตลง ผู้หญิงเหล่านี้ต้องประสบความเดือดร้อน โดยได้รับความช่วยเหลือน้อยมากในออสเตรเลีย และภรรยาบางคนยังอาศัยอยู่อย่างโดดเดี่ยวในพื้นที่ห่างไกล

“พวกเธอยังไม่มีโอกาสพบปะสังสรรค์กับผู้คนชาติเดียวกัน”

อุปสรรคทางภาษาและการขาดความเข้าใจในระบบกฎหมายของออสเตรเลียและไม่รู้สิทธิของตนในฐานะภรรยา อาจนำไปสู่ความล่าช้าในการขอรับความช่วยเหลือได้

“มีข้อจำกัดด้านเวลาในการขอโต้แย้งพินัยกรรม และโชคร้ายที่หลายครั้งมันสายไปแล้ว” คุณเมลิวนาส กล่าว

‘เคว้งคว้างและโดดเดี่ยว’

ศูนย์บริการกฎหมายสปริงเวลโมนาช ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีชุมชนหลากวัฒนธรรมอาศัยอยู่มากมายทางตะวันออกเฉียงใต้ของในเมลเบิร์น ได้จัดการอบรมให้ความรู้ทางกฎหมายให้แก่ชุมชนเกี่ยวกับพินัยกรรม

คุณแอชลีห์ นิวน์แฮม ผู้จัดการด้านยุทธศาสตร์และการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า ใครก็ตามที่คู่ครองเสียชีวิตควรขอความช่วยเหลือด้านกฎหมาย

“เช่นว่า คุณถือวีซ่าคุ้มครองชั่วคราวและคู่ครองเสียชีวิต คุณจะมีสิทธิได้รับเงินเก็บหลังเกษียณของคุณหรือไม่ ทำนองนั้น ดังนั้น จึงสำคัญมากที่คุณจะต้องได้รับคำแนะนำทางกฎหมายเกี่ยวกับสถานการณ์เฉพาะของคุณ”

เธอเล่าถึงผู้หญิงคนหนึ่งจากประเทศปากีสถาน ที่มีบุตรเกิดในออสเตรเลียหนึ่งคน แต่เมื่อสามีเสียชีวิตลง เธอก็ถูกทิ้งให้รู้สึกเคว้งคว้างและโดดเดี่ยว

“เธอประสบความยากลำบากในการเข้าถึงมรดกของสามี เขาไม่มีพินัยกรรม และฉันคิดว่าครอบครัวของเขาก็ไม่ได้ช่วยเหลืออะไรเธอเลย” คุณนิวน์แฮม กล่าว

“พวกเขาทำให้มันยากลำบากสำหรับเธอที่จะรู้ว่าตนเองมีสิทธิอะไร ดังนั้น จึงสำคัญอย่างยิ่งที่เธอต้องได้รับการแนะนำไปยังบริการ ที่สามารถเชื่อมโยงเธอให้แก่บริการทางกฎหมายได้ เพื่อเธอจะได้รู้ว่าเธอมีสิทธิอะไรบ้าง”
ในการกรณีของหญิงผู้นี้ คุณนิวน์แฮมเล่าว่า เธอถือวีซ่าชั่วคราว 5 ปี และใช้รถยนต์ของสามี ขณะที่เธอถูกปรับและต้องแสดงใบมรณะบัตรของสามีเพื่อพิสูจน์สถานการณ์ของตน

คุณนิวน์แฮม จึงแนะนำให้ผู้หญิงที่อยู่กับคู่ครองในออสเตรเลีย ต้องตรวจสอบรายละเอียดวีซ่าและเงื่อนไขในวีซ่าของตนเอง เพื่อลดความเสี่ยงต่างๆ

“เรารู้ว่ามีผู้หญิงจำนวนมากที่มายังออสเตรเลียด้วยวีซ่า ที่พวกเธออาจคิดว่าเป็นวีซ่าคู่ครอง แต่ความจริงแล้วอาจเป็นเพียงวีซ่าท่องเที่ยว”

“เพราะวีซ่าคู่ครองนั้นแพงมาก และมักมีความเปราะบางสำหรับผู้หญิงที่เดินทางมาอยู่ในออสเตรเลียและพูดภาษาอังกฤษได้จำกัด บ่อยครั้ง ก็มีช่องว่างทางอายุระหว่างพวกเธอและคู่ครอง” คุณนิวน์แฮม กล่าว

ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย

ในสถานการณ์ที่พินัยกรรมของสามีไม่ได้ทิ้งทรัพย์สินให้แก่ภรรยาอย่างพอเพียง บ้านที่ทั้งคู่เคยอาศัยอยู่ด้วยกันอาจต้องถูกขายเพื่อหาเงินมาจ่ายหนี้สิน

“นี่อาจเป็นเรื่องที่สร้างความประหลาดใจอย่างมากให้แก่พวกเธอ (ภรรยา) เมื่อโดยมากแล้วลูกคนหนึ่งจากการแต่งงานครั้งก่อนของสามีเป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดก ซึ่งหันมาบอกเธอว่า ‘ฉันขอแจ้งให้คุณรู้ว่าคุณมีเวลา 3 เดือน เราวางแผนจะขายบ้านของพ่อและคุณจำเป็นต้องย้ายออกไป’” คุณเมลิวนาส กล่าว

ทนายความด้านกรณีพิพาทเกี่ยวกับพินัยกรรมของบริษัทเมาริส แบล็กเบิร์น (Maurice Blackburn) ผู้นี้กล่าวว่า ผู้หญิงเหล่านี้ที่มีภูมิหลังจากชุมชนหลากภาษาและวัฒนธรรม มักไม่มีประวัติการเช่าบ้านในออสเตรเลีย ซึ่งอาจเป็นปัญหา

“บ่อยครั้งผู้หญิงเหล่านี้ไม่เคยทำงานในออสเตรเลีย พวกเธอไม่มีรายได้ ภาษาก็ไม่ดี ดังนั้น เมื่อพวกเธอไปหาเรียลเอสสเตทเอเจนต์ที่ดูแลที่พักให้เช่า แล้วบอกว่าพวกเธอกำลังมองหาห้องเช่า พวกเธอจะเป็นตัวเลือกที่ไม่น่าดึงดูดใจเลยสำหรับเจ้าของบ้านเช่า”

คุณเมลิวนาส กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม ศาลมักให้ความสำคัญอันดับแรกและให้การปกป้องแก่คู่ครอง เพื่อให้พวกเธอมีที่อยู่อาศัย

แต่เขาขอให้มีการพูดคุยกันอย่างเปิดอกระหว่างภรรยาและสามี เพื่อป้องกันการพิพาทเรื่องทรัพย์สินหลังการเสียชีวิต

Image

“ควรจะมีเงินทุนสักก้อนที่จะสามารถสร้างรายได้เล็กน้อยให้แก่ผู้หญิงเหล่านี้” คุณเมลิวนาส กล่าว

“สิ่งสำคัญที่สุดคือหลังคาคุ้มศีรษะสำหรับพวกเธอ และจากนั้นควรมีทรัพยากรทางการเงินเล็กน้อย เพื่อสนับสนุนพวกเธอให้สามารถยังชีพได้”

คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 6 July 2020 2:31pm
Updated 6 July 2020 4:02pm
By Stephanie Corsetti
Presented by Parisuth Sodsai


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand