วิธีรับมือกับความเจ็บป่วยจากศูนย์รับเลี้ยงเด็ก

Australia Explained Childcare sicknesses

การดูแลสุขภาพเมื่อฝากเด็กไว้ที่ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก Credit: Hispanolistic/Getty Images

ผู้ปกครองที่เป็นผู้ย้ายถิ่นหรือผู้ปกครองมือใหม่อาจกังวลถึงปัญหาในการฝากลูกไว้ที่ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก หากเกิดปัญหาเรื่องสุขภาพที่ศูนย์ฯ จะรับมืออย่างไร? ฟังหรืออ่านรายละเอียดเรื่องนี้ได้


ประเด็นสำคัญ
  • การนำเด็กๆ ไปฝากที่ศูนย์รับเลี้ยงเด็กช่วยให้ผู้ปกครองสามารถกลับไปทำงานได้
  • ผู้ปกครองมือใหม่และผู้ย้ายถิ่นอาจกังวลกับการเจ็บป่วยของเด็กๆ ที่ติดมาจากศูนย์ฯ
  • ผู้ย้ายถิ่นบางรายยังไม่สามารถขอสวัสดิการช่วยค่าดูแลเด็กได้จึงต้องรับผิดชอบราคาเต็มจำนวน
  • การแยกเด็กที่ป่วยออกจากศูนย์น เป็นหน้าที่ในการดูแลเด็กคนอื่นๆ

กด ▶ ฟังพอดคาสต์ด้านบน

ผู้ย้ายถิ่นมักขาดครอบครัวที่คอยช่วยดูแลลูกขณะที่ไปทำงาน
การศึกษาระดับปฐมวัย (early childhood) จึงเป็นหนทางในการช่วยให้ผู้ปกครองสามารถกลับไปทำงานได้

การฝากลูกๆ ไว้ที่ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก (childcare or daycare) จึงเป็นทางเลือกที่นิยมและยังช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กๆ ด้วย

และการศึกษาปฐมวัยยังช่วยเตรียมเด็กๆ ให้พร้อมเข้าเรียนทั้งทางด้านสังคมและด้านวิชาการเช่นกัน

คุณหมออามีร์ ซาอีดุลลาห์ (Amir Saeedullah) แพทย์รักษาโรคทั่วไป (GP) ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาเด็กอายุ 6 เดือนถึง 5 ปี ที่เมืองเมลเบิร์นกล่าวว่า

“บ้านเป็นสถานที่ที่เด็กๆ จะได้พบเจอกับผู้ใหญ่ไม่กี่คนเท่านั้น แต่ในสภาพแวดล้อมของศูนย์ดูแลเด็ก เด็กๆ จะได้พบกับเด็กคนอื่นและผู้ใหญ่ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เด็กๆ อาจป่วยได้”
แม้ว่าโรคภัยไข้เจ็บส่วนใหญ่ที่เกิดในศูนย์รับเลี้ยงเด็กไม่น่ากังวลมากนัก แต่บางโรคก็ติดต่อรุนแรงได้
การติดเชื้อจะแตกต่างไปตามฤดูกาล ในฤดูหนาวการติดเชื้อที่เรามักพบคือ การติดเชื้อทางเดินหายใจและโรคหูน้ำหนวก ฤดูร้อนมักจะมีผู้ป่วยเรื่องทางเดินอาหาร
จากข้อมูลของคุณหมอซาอีดุลลาห์ เด็ก 20-30 คนจาก 100 คนที่อยู่ในศูนย์รับเลี้ยงเด็กมักเจอปัญหาการติดเชื้อเหล่านี้

ซึ่งมักเป็นการติดเชื้อแบบเซลฟ์-ลิมิตติง (self-limiting) คืออาการสามารถทุเลาลงได้เองโดยไม่ต้องรับการรักษาแบบเฉพาะเจาะจง

“เด็กๆ ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ไม่ต้องรับยาปฏิชีวนะ (antibiotics) ผู้ปกครองควรศึกษาเรื่องการให้ยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล (paracetamol) หรือ ไอบูโพรเฟน (ibuprofen)”
Australia Explained Childcare sicknesses
ผู้ย้ายถิ่นใหม่มักกังวลเมื่อลูกป่วย เพราะไม่มีความช่วยเหลือ Credit: MoMo Productions/Getty Images
คุณนิกิตาเป็นคุณแม่มือใหม่ที่มีลูกอายุ 18 เดือนและเริ่มฝากลูกไว้ที่ศูนย์ฯ ไม่กี่เดือนก่อน

“ลูกชายของเราไปศูนย์ฯ สัปดาห์ละครั้ง และเขาก็ติดหวัดอย่างหนัก 2 ครั้ง ซึ่งแพทย์จีพีต้องสั่งยาปฏิชีวนะและเสตียรอยด์ (steroid) เพราะยาพาราเซตามอลและไอบูโรเฟนไม่เพียงพอ เขายังติดโรคมือเท้าปาก (hand-foot-and-mouth- disease) ด้วย มีตุ่มพองทั่วตัวไปหมด”

คุณนิกิตากล่าวว่าประสบการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา
ปัญหาใหญ่ที่เราเจอคือการรับโทรศัพท์จากศูนย์ดูแลหลายครั้งให้ไปรับเด็ก แม้ว่าจะมีอาการแค่น้ำมูกไหล ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างปกติเวลาอากาศหนาว
"ในฐานะผู้ปกครอง เราต้องหยุดทุกสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ ไปรับลูก และไม่สามารถพากลับไปเข้าศูนย์ได้หากไม่มีใบรับรองแพทย์ยืนยันว่าไม่ได้ป่วยเป็นอะไร”
Australia Explained Childcare sicknesses
ควรล้างมือบ่อยๆ และรักษาระยะห่างจากเด็กที่ป่วย Credit: Maskot/Getty Images/Maskot
การต้องไปรับลูกจากศูนย์รับเลี้ยงเด็กในระหว่างเวลาทำงานอาจเป็นเรื่องน่าหงุดหงิดของผู้ปกครอง

หากลูกป่วยบ่อย การขอลางานกับนายจ้างหรือการหยุดทำธุรกิจอาจเป็นเรื่องน่ากังวลของผู้ปกครองเช่นกัน

นอกจากนี้ คุณนิกิตากล่าวว่าผู้ปกครองยังคงต้องจ่ายค่าธรรมเนียมอยู่ แม้ว่าไม่ได้นำลูกไปฝากไว้ที่ศูนย์ฯ ได้เนื่องจากไม่สบาย
ผู้ย้ายถิ่นที่เพิ่งมาถึงเช่นเรายังไม่สามารถขอรับเงินสวัสดิการค่าดูแลเด็ก (childcare subsidy) ได้
"และต้องแบกรับค่าใช้จ่ายทั้งหมดราคา $125 ในกรณีของเรา คุณไม่สามารถพาลูกที่ป่วยไปศูนย์ฯ ได้ และคุณยังคงต้องจ่ายในราคาเต็มอีก”

คุณหมอซาอีดุลลาห์อธิบายถึงอาการที่บ่งชี้ว่าควรส่งเด็กกลับบ้านดังนี้

“ถ้ามีแค่น้ำมูกไหล ฉันไม่คิดว่าควรส่งเด็กกลับบ้าน แต่หากมีอาการอื่นๆ เช่น มีไข้ ไอ หรือเด็กบ่นว่าเจ็บคอ หรือดูแล้วว่าเด็กป่วยอย่างเห็นได้ชัด ฉันสนับสนุนให้ส่งเด็กกลับบ้าน”
Australia Explained Childcare sicknesses
แพทย์มักแนะนำว่าการติดเชื้อส่วนใหญ่จะบรรเทาได้เองโดยไม่ต้องรับยาเฉพาะ Credit: The Good Brigade/Getty Images
สัญญาณที่บ่งบอกถึงความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มเติมได้แก่ ไข้สูงประมาณ 39-40 องศาเซสเซียส อาการขาดน้ำเนื่องจากน้ำมูกไหล ท้องเสีย อาเจียน หรือมีผื่นขึ้น

คุณสันธู (Sandhu) อธิบายทำไมเด็กที่ไม่สบายจึงควรอยู่บ้าน
มันจะช่วยให้เด็กดีขึ้นและเป็นผลดีกับเด็กเอง ไม่อย่างนั้นเด็กอาจป่วยหนักและผู้ปกครองต้องพาไปโรงพยาบาลเพื่อรักษา และการฟื้นตัวในขั้นนี้จะใช้เวลานานกว่า
การแยกเด็กที่ป่วยออกจากศูนย์ฯ เป็นหน้าที่ของการดูแลเด็กคนอื่นๆ ด้วย

ควรล้างมือบ่อยๆ และให้รักษาระยะห่างจากเด็กที่ป่วยเป็นไข้หวัดหรือป่วยเรื่องระบบทางเดินอาหาร

คุณหมอซาอีดุลลาห์เสริมว่าโภชนาการที่ดีเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน

“เด็กที่รับประทานอาหารไม่ครบมักจะขาดสารอาหาร เช่น ธาตุเหล็กและวิตามินดี การรับประทานอาหารเสริมทั้งแบบเม็ดหรือแบบน้ำจะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้”
เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ระบบโรงเรียนของออสเตรเลีย

ควรฉีดวัคซีนให้แก่เด็กเพื่อควบคุมการติดเชื้อในหมู่เด็กเล็กและคนรอบข้าง

คุณสันธูอธิบายว่า ศูนย์ดูแลเด็กส่วนใหญ่ในออสเตรเลียมักสนับสนุนให้ฉีดวัคซีนตามที่รัฐบาลกำหนด

“ผู้ปกครองบางท่านไม่ฉีดวัคซีนให้เด็ก ซึ่งเรามีกฎและระเบียบในเรื่องนี้ เช่น หากมีโรคระบาดในศูนย์ฯ เราแนะนำให้เด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนอยู่บ้านเพราะพวกเขาไม่มีภูมิคุ้มกัน”

คุณสันธูยังแนะนำให้เด็กได้สัมผัสกับสภาพแวดล้อมธรรมชาติ เช่น สวนสาธารณะและสนามเด็กเล่น แทนการอยู่ในร่ม เพื่อให้เด็กมีภูมิคุ้มกัน

อ่านหรือฟังเรื่องการตั้งถิ่นฐานในออสเตรเลียได้อีก


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 


บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 


Share
Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand