แตกแยกหรือปรองดอง: มองต่างมุมกับการลงประชามติ Indigenous Voice to Parliament ที่ออสเตรเลีย

Voice to Parliament - Parliament House and Aboriginal Flag

ธงของชนพื้นเมืองหน้ารัฐสภาออสเตรเลีย Source: AAP / LUKAS COCH/AAPIMAGE

เมื่อปี 1967 ออสเตรเลียลงประชามติผ่านร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญให้นับรวมชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรสในสำมะโนประชากร ปี 2023 ออสเตรเลียจะลงประชามติ Indigenous Voice to Parliament เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญออสเตรเลียอีกครั้ง ฟังหรรืออ่านรายละเอียดการลงประชามติครั้งนี้ รวมถึงความคิดเห็นของผู้ที่สนับสนุนและผู้ที่คัดค้าน


กด ▶ ฟังพอดคาสต์ด้านบน


การลงประชามติเป็นการออกเสียง (vote) ระดับประเทศ เพื่อให้พลเมืองลงความเห็นต่อข้อเสนอให้เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญของออสเตรเลีย

พลเมืองออสเตรเลียที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปมีหน้าที่ในการลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิ์เลือกตั้ง รวมถึงการลงประชามติด้วย ซึ่งการเลือกตั้งและการลงประชามติถือเป็นภาคบังคับของพลเมืองออสเตรเลียทุกคน

ในวันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม คศ. 2023 ออสเตรเลียจะมีการลงประชามติ Indigenous Voice to Parliament หรือการให้เสียงของชนพื้นเมืองมีผลต่อรัฐสภา

คำถามของการลงประชามติในครั้งนี้คือ
ร่างกฎหมายที่นำเสนอ: การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อรับรองชนชาติแรกของออสเตรเลียโดยการจัดตั้งคณะกรรมการเสียงชนพื้นเมืองชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรสคุณเห็นด้วยกับข้อเสนอนี้หรือไม่?
ผู้ที่ไปลงคะแนนในการลงประชามติจะเลือกตอบว่า “เห็นด้วย (Yes)” หรือ “ไม่เห็นด้วย (No)” กับข้อเสนอเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญครั้งนี้

ข้อเสนอในการลงประชามติ Indigenous Voice to Parliament คืออะไร

เพิ่มข้อความต่อไปนี้ลงในรัฐธรรมนูญต่อจากหมวดที่ 8

หมวด 9 การรับรองชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรส (Chapter IX Recognition of Aboriginal and Torres Strait Islander Peoples)

และการจัดตั้งคณะกรรมการเสียงชนพื้นเมือง (Aboriginal and Torres Strait Islander Voice) ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ในการรับรองชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรสในฐานะชนพื้นเมืองชนชาติแรกของออสเตรเลีย

(i)               ต้องมีคณะกรรมการ ซึ่งจะเรียกว่า คณะกรรมการเสียงชนพื้นเมืองชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรส

(ii)             คณะกรรมการเสียงชนพื้นเมืองชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรสนี้อาจแถลงข้อเท็จจริงในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรสต่อรัฐสภาและฝ่ายบริหารแห่งเครือรัฐ

(iii)           รัฐสภามีอำนาจภายใต้บังคับแห่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ในการตรากฎหมายในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการเสียงชนพื้นเมืองชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรส ซึ่งรวมถึงองค์ประกอบของคณะกรรมการ หน้าที่ อำนาจ และกระบวนการต่างๆ

ร่างกฎหมาย Indigenous Voice to Parliament นี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฏรและวุฒิสภาออสเตรเลียแล้ว และจากนี้ประชาชนออสเตรเลียจะเป็นผู้ตัดสินใจ

อย่างไรก็ตามการลงประชามตินี้มีทั้งเสียงสนับสนุนและเสียงคัดค้าน

เหตุผลของฝ่ายสนับสนุนให้ออกเสียง Yes

ฝ่ายที่สนับสนุนให้ออกเสียงว่า Yes หรือเห็นด้วยกับร่างกฎหมายที่เสนอนี้เห็นว่า หากร่างกฎหมายนี้ได้รับการสนับสนุนให้ผ่าน จะสามารถสร้างเอกภาพ ความหวัง และความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกให้แก่สังคมออสเตรเลียได้

นอกจากจะรับรองและรับฟังเสียงจากชนพื้นเมืองออสเตรเลียในเชิงกฎหมายแล้ว การมีคณะกรรมการเสียงชนพื้นเมืองจะสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ดีขึ้น คณะกรรมการว๊อยส์จะสามารถให้คำปรึกษาแก่รัฐสภาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับชนพื้นเมืองออสเตรเลีย เพื่อประโยชน์ด้านการส่งเสริมสุขภาพ การศึกษา และปรับปรุงบริการต่างๆ ให้เข้าถึงได้อย่างแท้จริง

นอกจากนี้ยังเชื่อว่าการลงประชามติว๊อยซ์จะทำให้ “ปรองดองกับอดีตและก้าวไปสู่อนาคตที่ดีกว่า”

ผู้สนับสนุนที่เห็นด้วยกับการออกเสียง Yes

คุณแพต แอนเดอร์สัน หนึ่งในสมาชิกคณะทำงานการลงประชามติว๊อยซ์เชื่อว่าการผ่านร่างกฎหมายให้มีคณะกรรมการว็อยซ์จะสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้ดีขึ้น

“เมื่อเรานำคนที่เราตัดสินใจแทนเข้ามามีส่วนร่วม เราก็จะตัดสินใจได้ดีขึ้น และจัดสรรทรัพยากรทั้งหมดที่จำเป็นได้ดีขึ้น นี่เป็นพื้นฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตย”

คุณแพต แอนเดอร์สัน หนึ่งในสมาชิกคณะทำงานการลงประชามติว๊อยซ์กล่าว

คุณอ้อย ผู้สนับสนุนการลงประชามติ Indigenous Voice to Parliament เห็นว่าการแม้อดีตจะเกิดไปแล้ว แต่เชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสร้างความเท่าเทียมและสามารถสร้างความปรองดองได้

“คือก็เข้าใจนะว่าบางคนก็จะคิดว่าอะไรที่มันเกิดไปแล้วในอดีต แต่ว่า ณ ปัจจุบันเราก็ควรที่จะพยายามทำอะไรก็แล้วแต่ให้ชนพื้นเมืองเค้ารู้สึกว่าเค้าได้รับการยอมรับ มีสิทธิ์ และก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วม เป็นส่วนหนึ่งของประเทศ และทำให้ประเทศของเราเป็นหนึ่งเดียว”

คุณแตงโมเห็นว่าการมีคณะกรรมการว๊อยซ์ที่เป็นชนพื้นเมืองเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุด เนื่องจากคณะกรรมการจะสามารถแนะนำรัฐสภาเรื่องที่เกี่ยวกับชนพื้นเมืองได้
ยกตัวอย่างเช่น ถ้ารัฐบาลบอกว่าอยากจะออกนโยบายสนับสนุนคนไทย แต่ในคณะกรรมการไม่มีคนไทยอยู่ในนั้นเลย
"แม้ว่านโยบายนั้นจะส่งผลดีต่อคนไทยในภาพรวมมากน้อยแค่ไหนก็ตาม เราในฐานะคนไทยที่อยู่ออสเตรเลีย เราก็จะรู้สึกว่า เราไม่ได้มีส่วนร่วมในการออกนโยบายนี้”

รวมถึงย้ำข้อเท็จจริงว่าคณะกรรมการว๊อยซ์จะเป็นผู้ให้คำแนะนำ รัฐบาลออสเตรเลียจะยังคงเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะปฏิบัติตามหรือไม่

คุณกอ (นามสมมติ) ทำงานด้านสุขภาพและเคยอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีชนพื้นเมืองเชื่อว่าการมีคณะกรรมการว๊อยซ์เปรียบเสมือนตัวแทนของหมู่บ้านและจะสามารถปรับปรุงสุขภาพของชนพื้นเมืองให้ดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องโรคเบาหวาน

“บางครั้งเนี่ย เกี่ยวกับโรคเบาหวานมันก็รักษายาก ถ้ามีหน่วยงานเข้าไปให้ความรู้เค้า ตรงจุดๆ นี้ก็คงจะเป็นส่วนช่วยเรื่องสุขภาพให้คนพื้นเมืองดีขึ้นหน่อยค่ะ”
VOICE TO PARLIAMENT
ผู้สนับสนุนให้ออกเสียง Yes กับผู้สนับสนุนให้ออกเสียง No เดินรณรงค์สนับสนุนแนวความคิดของทั้ง 2 ฝ่าย Source: AAP / DOMINIC GIANNINI / DOMINIC GIANNINI/AAPIMAGE

เหตุผลของฝ่ายที่สนับสนุนให้ออกเสียง No

ฝ่ายที่คัดค้านการผ่านร่างกฎหมายใหมีคณะกรรมการชนพื้นเมืองว๊อยซ์เห็นว่าสิ่งนี้จะเป็นการแก้รัฐธรรมนูญครั้งสำคัญและจะมีผลกระทบเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดที่แน่นอนว่าหากร่างกฎหมายนี้ผ่านแล้วจะมีขั้นตอนต่อไปอย่างไร รวมถึงสิ่งนี้เป็นการแบ่งแยกมากกว่าการปรองดอง

ผู้คัดค้านให้เหตผลว่า ขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดที่แน่ชัดว่าการคัดเลือกสมาชิกคณะกรรมการว๊อยซ์จะทำอย่างไรและคณะกรรมการจะทำงานอย่างไร การมีคณะกรรมการว๊อยจะเป็นการแบ่งแยกเชื้อชาติมากกว่าจะสร้างความปรองดอง และเชื่อว่าสิ่งนี้จะก่อให้เกิดผลเสียต่อระบบการปกครองและการร่างกฎหมายในอนาคต

ผู้สนับสนุนเห็นด้วยกับการออกเสียง No

“หากชาวออสเตรเลียทำไปแล้วมาเสียใจทีหลัง คณะที่ปรึกษา The Voice มาพร้อมกับนโยบายไม่รับคืน เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะคงอยู่ตลอดไป”

ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน ปีเตอร์ ดัตทัน ที่คัดค้านเรื่องการลงประชามติว๊อยซ์กล่าว

คุณเอ (นามสมมติ)คิดว่าการลงประชามติยังไม่มีความชัดเจนมากพอว่าการตั้งคณะกรรมการว๊อยซ์เป็นการแก้ปัญหายังไง เพราะ ณ ปัจจุบันคนพื้นเมืองก็ได้รับสิทธิพิเศษอยู่แล้ว

“โดยปกติเนี่ย เวลาเราไปติดต่อหน่วยงานราชการจะมีคำถามว่าคุณเป็นคนอะบอริจินัลหรือเปล่า ถ้าใช่เนี่ย โดยปกติเค้าจะได้ fast track อยู่แล้ว”

คุณเอเสริมว่าการจะลดช่องว่างกับคนพื้นเมืองได้รับสิทธิพิเศษอยู่แล้วและการจะลดช่องว่างควรให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม มิใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ในฐานะผู้อพยพที่จ่ายภาษี

“เราไม่ได้รับสิทธิ์ ได้รับเสียงเพราะว่าเราเพิ่งย้ายมาอยู่ที่ประเทศนี้ ลูกๆ ของเราเกิดที่นี่ แต่ก็ไม่ได้รับสิทธิพิเศษในการเข้าไปนั่งในรัฐสภาเพื่อเป็นกระบอกเสียง เป็นตัวแทน”
ไม่ใช่ว่าเราไม่ได้นึกถึงอดีตที่ผ่านมานะคะ แต่ว่าตรงนั้นเราก็มองว่ามันเป็นเรื่องของอดีตแล้ว
อย่างไรก็ตามฝ่ายที่สนับสนุนให้ออกเสียง No มองว่าการลงประชามติว๊อยซ์สร้างการแบ่งแยกมากกว่าสร้างการปรองดองระหว่างคนที่ไม่ใช่คนพื้นเมืองกับคนพื้นเมือง และจะเป็นการสร้างอภิสิทธิ์ชน

คุณพี (นามสมมติ) หนึ่งในผู้ที่จะออกเสียง No เพราะต้องการรายละเอียดมากกว่านี้ ยังไม่ทราบว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไปหลังจากร่างกฎหมายนี้ผ่าน เนื่องจากรัฐบาลยังไม่เผยรายละเอียดได้ก่อนการลงประชามติ

“ยกตัวอย่างง่ายๆ คิดซะว่าเหมือนกับการซื้อรถ เราจะซื้อรถคันนึงไหมถ้าเรายังไม่เคยลองขับ หรือเราจะซื้อบ้านหลังนึงไหมถ้าเราไม่เคยไปดูบ้านเลย ส่วนตัวมองว่านี่เป็นหลักการเดียวกัน เพราะเราไม่เห็นหลักการหรือรายละเอียดของว๊อยซ์ว่าสามารถทำอะไร สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง

คุณพีไม่เชื่อว่าสิ่งนี้จะปิดช่องว่างได้ เนื่องจากรัฐบาลของออสเตรเลียมีชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรสที่เป็นตัวแทนของชนพื้นเมืองอยู่แล้วประมาณ 1,400 คน

“คือเรารับฟังเสียงเขา เราให้สิทธิ์เขาในการออกเสียง ออกความเห็น พี่ก็เลยมองว่า ในเมื่อเค้าให้สิทธิ์ตรงนั้นแล้ว เค้ามีสิทธิ์ทุกอย่างเท่ากับทุกๆ คน แล้วว็อยซ์จะสร้างความแตกต่างได้ยังไง”


ต้องได้คะแนนเสียง Yes เท่าไหร่ถึงจะผ่านร่างเสนอกฎหมายว๊อยซ์

ผลการออกเสียงที่จะผ่านร่างเสนอกฎหมายว๊อยซ์จะต้องได้เสียงข้างมากจาก

1. มากกว่าร้อยละ 50 จากทุกรัฐและเขตปกครอง

2. มากกว่าร้อยละ 50 จาก 4 ใน 6 รัฐ

พลเมืองออสเตรเลียทุกคนที่อายุ 18 ปีขึ้นไปสามารถไปลงประชามติที่หน่วยออกเสียงที่หน่วยใดก็ได้รัฐหรือมณฑลที่คุณอาศัยอยู่ ในวันที่ 14 ตุลาคม คศ. 2023 โดยหน่วยออกเสียงเปิดทำการตั้งแต่เวลา 8.00 น. – 18.00 น.

ตรวจสอบหน่วยออกเสียงได้ที่ aec.gov.au/where

หน่วยออกเสียงล่วงหน้าของรัฐวิกตอเรีย เวสเทิร์น ออสเตรเลีย แทสเมเนียและนอร์เทิร์น เทอร์ริทอรี เปิดตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม เป็นต้นไป

หน่วยออกเสียงล่วงหน้าของรัฐนิวเซาท์เวลส์ ควีนส์แลนด์ เซาท์ ออสเตรเลีย และมณฑลนครหลวงแคนเบอร์รา เปิดตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม เป็นต้นไป

หาข้อมูลเรื่องการลงประชามติเพิ่มเติมได้ที่ aec.gov.au


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 
 

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand