เมื่อไรออสเตรเลียจะได้วัคซีนโควิดรุ่นใหม่ที่จะเป็น ‘ตัวเปลี่ยนเกม’

Bivalent Covid19 Vaccine

วัคซีนต้านสองสายพันธุ์ชนิดใหม่ที่ถูกมองว่าจะเป็นตัวพลิกสถานการณ์ Source: iStockphoto / Getty Images

ผู้เชี่ยวชาญต่างกล่าวว่า วัคซีนต้านสองสายพันธุ์ ที่รับมือได้ทั้งเชื้อไวรัสต้นกำเนิดของโควิด-19 และเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน อาจเป็น ‘ตัวเปลี่ยนเกม’ และออสเตรเลียอาจได้รับวัคซีนเหล่านี้มาฉีดให้ประชาชนได้ในอีกไม่ช้า


วัคซีนที่ต้านทั้งเชื้อโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิมและเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน ได้รับอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลด้านยาของประเทศอังกฤษเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ที่ผ่านมา

วัคซีนที่ผลิตโดยบริษัทโมเดอร์นา (Moderna) เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นแบบสองสายพันธุ์ (bivalent booster) ซึ่งกระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสโคโรนาสองสายพันธุ์

นี่มีความหมายอย่างไรสำหรับออสเตรเลีย? อีกนานแค่ไหนที่เราจะเห็นการเริ่มฉีดวัคซีนนี้ให้แก่ประชาชนที่นี่?

กด ▶ เพื่อฟังรายงาน
thai_180822_Bivalent COVID vaccine image

เมื่อไรออสเตรเลียจะได้วัคซีนโควิดรุ่นใหม่ที่จะเป็น ‘ตัวเปลี่ยนเกม’

SBS Thai

19/08/202208:30
ศาสตราจารย์โทนี คันนิงแฮม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยไวรัสแห่งมหาวิทยาลัยซิดนีย์ กล่าวว่า วัคซีนใหม่นี้อาจเป็น ‘ตัวเปลี่ยนเกม’ หรือเป็นสิ่งที่พลิกสถานการณ์ได้

"สิ่งนี้เรียกว่าวัคซีนสองสายพันธุ์ (bivalent vaccine) เพราะประกอบด้วยตัวอย่างจากเชื้อตระกูลดั้งเดิม และจากสายพันธุ์ที่แยกออกมาของเชื้อไวรัส ซึ่งก็คือเชื้อตระกูลโอมิครอน และเนื่องจากมันผลิตแอนติบอดีในระดับที่สูงกว่าต่อโอมิครอน มันจึงมีแนวโน้มที่จะปกป้องได้ดีกว่าสำหรับการเกิดโรคที่ไม่รุนแรง และวัคซีนเหล่านี้ทั้งหมดให้การป้องกันได้อย่างดีไม่ให้เกิดโรคร้ายแรง" ศาสตราจารย์โทนี คันนิงแฮม กล่าว

วัคซีนสองสายพันธุ์ (bivalent vaccine) นี้มีการทำงานอย่างไร?

ในแต่ละโดสของวัคซีน ครึ่งหนึ่งหรือ 25 ไมโครกรัม พุ่งเป้าไปยังเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิม และอีกครึ่งหนึ่งพุ่งเป้าไปยังเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน
มันจึงรวมทั้งสิ่งที่เราเรียกว่าไวรัสบรรพบุรุษ คือโปรตีนหนามจากไวรัสบรรพบุรุษ รวมทั้งมีโปรตีนหนามจากเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนดั้งเดิม นั่นคือบีเอ.1 (BA.1)
ดร.แดเนียล เลย์ตัน
ดร.แดเนียล เลย์ตัน เป็นนักวิทยาศาสตร์อาวุโสของ CSIRO (Commonwealth Scientific and Industrial Research Organisation หรือองค์กรวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือรัฐ)

เขากล่าวว่า วัคซีนสองสายพันธุ์สามารถช่วยสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งยิ่งกว่าวัคซีนก่อนหน้านี้

"สิ่งที่เราได้เห็นในข้อมูลการวิจัยในคนคือการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน โดยเฉพาะเชื้อสายพันธุ์บีเอ.1 แอนติบอดีชนิดลบล้างฤทธิ์ (neutralising antibodies) นั้นสูงกว่าวัคซีนก่อนหน้านี้ถึงแปดเท่า นั่นจึงหมายความว่าจะมีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันและการป้องกันที่ดีขึ้นสำหรับผู้คนเมื่อติดเชื้อสายพันธุ์ย่อยก่อนหน้านี้ของโอมิครอน แต่ก็มีการทดสอบวัคซีนต่อเชื้อสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนตัวล่าสุด บีเอ 4 และ บีเอ 5 วัคซีนเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นว่าช่วยลดผลกระทบจากเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งยังคงสูงกว่าวัคซีนก่อนหน้านี้ 1.69 เท่า ดังนั้นจึงยังมีข้อได้เปรียบต่อการต้านเชื้อสายพันธุ์ที่แพร่กระจายอยู่ในปัจจุบัน" ดร.แดเนียล เลย์ตัน กล่าว
แต่การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ยังไม่สิ้นสุดลง

ในเดือนกรกฎาคม กระทรวงสาธารณสุข ประกาศว่า BA.5 ได้กลายเป็นเชื้อสายพันธุ์หลักที่ระบาดในออสเตรเลีย ซึ่งคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่ง (46.4 เปอร์เซ็นต์) ของการติดเชื้อทั้งหมด

จากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดที่อยู่ในระดับสูงทั่วโลก ดร.เลย์ตันกล่าวว่าจำนวนของเชื้อสายพันธุ์ต่างๆ ที่เราพบยังคงสูงอยู่

"ดังนั้นสำหรับผู้ผลิตวัคซีนนี่จะความหมายว่า พวกเขาจะยังคงตามหลังเชื้ออยู่เสมอและต้องพบความยากลำบากที่จะตามพวกมันให้ทัน ผมเดาว่าเมื่อเราควบคุมการระบาดใหญ่ได้ คือเมื่อประชากรทั่วโลกเริ่มมีภูมิคุ้มกันในระดับพื้นฐาน ซึ่งสามารถเริ่มป้องกันการติดเชื้อได้มากขึ้น เมื่อนั้นเราก็จะไม่มีการระบาดใหญ่อีกต่อไป จากนั้นจำนวนเชื้อสายพันธุ์ใหม่ๆ เหล่านั้นก็จะลดลง นั่นจะเป็นช่วงที่เราอาจสามารถเริ่มแซงหน้าเชื้อไวรัส" ดร.เลย์ตัน กล่าว

ออสเตรเลียอาจได้รับวัคซีนใหม่นี้มาฉีดให้ประชาชนได้ในอีกไม่นานนี้

ดร.เลย์ตันกล่าวว่าการอนุมัติวัคซีนเหล่านี้ในอังกฤษเป็นแรงจูงใจให้ออสเตรเลียปฏิบัติตาม

"ในออสเตรเลีย ทั้งไฟเซอร์และโมเดอร์นาได้รับการอนุญาตชั่วคราวสำหรับวัคซีนสองสายพันธุ์เหล่านี้แล้ว สิ่งที่เรียกว่าการกำหนดชั่วคราวหมายความว่าผู้ยื่นคำขอมีเวลาหกเดือนในการยื่นขออนุมัติชั่วคราวจากองค์กรที่มีอำนาจในตลาด ดังนั้น ในออสเตรเลีย คาดว่าเราจะได้เห็นสองบริษัทนี้ยื่นขออนุมัติสำหรับวัคซีนนี้ภายในไม่กี่เดือนข้างหน้า" ดร.เลย์ตัน กล่าว
เมื่อไรที่เราจะเริ่มเห็นการฉีดวัคซีนเหล่านี้ให้ประชาชนในออสเตรเลีย?

ศาสตราจารย์โทนี คันนิงแฮม แห่งมหาวิทยาลัยซิดนีย์กล่าวว่า จะต้องใช้เวลา 100 วันในการผลิตวัคซีนชนิดใหม่นี้

และนั่นเป็นขีดจำกัดโดยทั่วไปที่หน่วยงานที่ปรึกษาด้านวัคซีนและองค์การอนามัยโลกได้ยึดเป็นแนวทางปฏิบัติ

โมเดอร์นา กล่าวว่า บริษัทสามารถผลิตวัคซีนได้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว เช่นเดียวกันกับบริษัทไฟเซอร์

สำหรับการเริ่มฉีดให้ประชาชนนั้น ศ.คันนิงแฮมกล่าวว่าขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ

"ในออสเตรเลีย มีกระบวนการสองขั้นตอน คือ ทีจีเอ (คณะกรรมาธิการควบคุมดูแลผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพของออสเตรเลีย Therapeutic Goods Administration) จะพิจารณาความปลอดภัยและแง่มุมอื่น ๆ ของวัคซีนอย่างรอบคอบเพื่อให้แน่ใจว่าประชาชนชาวออสเตรเลียได้รับการปกป้อง และ ATAGI (กลุ่มที่ปรึกษาด้านเทคนิคเกี่ยวกับการสร้างภูมิคุ้มกันโรคแห่งออสเตรเลีย Australian Technical Advisory Group on Immunisation) ออกคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการใช้วัคซีน จากนั้น รัฐบาลซึ่งได้รับคำแนะนำจากคณะกรรมการจะตัดสินใจว่าจะซื้อและนำวัคซีนไปฉีดหรือไม่" ศ.คันนิงแฮม อธิบาย

เขากล่าวว่าวัคซีนแบบสองสายพันธุ์นี้ จะเปิดพรมแดนใหม่สำหรับอนาคตของวิทยาศาสตร์

"มันเป็นตัวเปลี่ยนเกม กี่สายพันธุ์ที่เราจะทำได้ เราจะสร้างวัคซีนสามสายพันธุ์ได้ไหม จะสร้างวัคซีนที่ต้านทั้งไข้หวัดใหญ่และโควิดในเข็มเดียวได้ไหม และผมคิดว่าเราอาจจะได้เห็นตัวอย่างเหล่านี้ในอนาคตเช่นกัน ใช่มันเป็นก้าวย่างต่อไปข้างหน้าอย่างไม่ต้องสงสัยเลย" ศ. คันนิงแฮม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยไวรัสแห่งมหาวิทยาลัยซิดนีย์ กล่าว
————————————————————————————————————————————————
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 


Share
Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand